บทความทั้งหมด    บทความค้าขาย    การเริ่มต้นค้าขาย    ความรู้ทั่วไปการค้าขาย
6.4K
2 นาที
19 กรกฎาคม 2554

พร้อมเรียนรู้จากอดีต

แม้ภาพการบริหารของแบงก์บัวหลวง หรือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) วันนี้ จะอยู่ในมือของ "ชาติศิริ โสภณพนิช" บอสใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ ก็ตาม แต่ลึกลงไปในตัวตน และความคิดของ "ชาติศิริ" ล้วนถูกผสมผสานจากปู่ "ชิน โสภณพนิช" และ พ่อ "ชาตรี โสภณพนิช" ทั้งสิ้น

ยิ่งเฉพาะ "ชาตรี" ด้วยแล้ว เห็นจะมากเป็นพิเศษ กล่าวกันว่า สมัย "ชิน" บริหารแบงก์กรุงเทพ ต่างเจออุปสรรค และขวากหนามจากนักการทหารสมัยนั้นค่อนข้างมาก จนทำให้ "ชิน" บริหารแบงก์บัวหลวงอย่างยากลำบาก

"ชิน" เคยพูดกับคนใกล้ชิดเรื่องนี้ว่า ผมทำงานยึดหลักที่ว่า ถ้าลื้อต้องการ ลื้อเอาไป แต่ถ้าลื้อไม่เอา อั๊วก็เอามา อั๊วเสียเปรียบไม่เป็นไร

ขณะที่ "วีระ รมยะรูป" เลขาคนสนิทของ "ชิน" เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือธนราชันย์ ชิน โสภณพนิช ดังความตอนหนึ่งว่า คุณชินเป็นคนอัจฉริยะ น่าศึกษาคนหนึ่ง การทำงานใกล้ชิดท่าน ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย

"ที่สำคัญ ท่านเป็นคนมีเมตตา เผื่อแผ่ อาทร เห็นใจคนอื่น และเห็นใจคนยากจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนฝูงเก่าแก่ จนบางครั้งพวกลูกๆ ของแกเคยถามว่า ทำไมเพื่อนคุณพ่อใส่รองเท้าแตะ แต่งตัวไม่เรียบร้อย"

"คุณชินจึงบอกว่า พ่อเคยจนมาก่อน และไม่มีวันลืมเพื่อนเก่า มีอะไรช่วยเขาได้ก็ช่วย ไม่เหมือนกับเพื่อนของลูก ที่แต่งตัวดี ใส่เสื้อผ้าดีๆ เพราะเป็นลูกนายห้าง ไม่เคยเป็นจับกังอย่างพ่อ"

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เหมือน "ชิน" จะไม่สอน "ชาตรี" โดยตรง แต่เมื่อวันหนึ่ง ที่เขาก้าวเท้าเข้ามาบริหารแบงก์กรุงเทพ เขาจึงนำหลักคิดดีๆ ของ "พ่อ" มาปรับใช้

ยิ่งเฉพาะเรื่องการใช้คน ว่ากันว่า "ชาตรี" มักใช้วิธีมอบหมายงานให้คนๆ นั้นไปพิสูจน์ และหากคนๆ นั้นมีความสามารถ จัดการงานจนสำเร็จลุล่วง โดยที่คนรอบข้างไม่เสียน้ำใจ แถมเพื่อนร่วมงานยังมีจิตใจที่อยากร่วมงาน แสดงว่าคนๆ นั้นสามารถพัฒนาไปทำงานที่ใหญ่กว่านี้ และสำคัญกว่านี้ได้

โดยตัวอย่างนี้มีให้เห็นหลายคน ไม่ว่าจะเป็น "อำนวย วีรวรรณ" และ "พิสิฐ ลี้อาธรรม" กล่าวกันว่า ยุทธวิธีการใช้คนของ "ชาตรี" ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการมองเห็น และการสั่งสมประสบการณ์จากการบริหารของ "พ่อ" ด้วย

"วีระ รมยะรูป" เล่าให้ฟังถึงยุทธวิธีในการใช้คนของ "ชิน" ในหนังสือเล่มเดียวกันว่า แกฉลาดในการใช้คน โดยเฉพาะความเก่งที่เลือกคุณบุญชู โรจนเสถียร มาช่วยบริหารงาน "เพราะว่าคุณบุญชูมีระเบียบวินัย มีพื้นฐานของการเป็นนักบัญชีคือความละเอียด เมื่อให้คุณบุญชูมาเป็นรองผู้จัดการใหญ่ มอบหมายงานด้านการปกครอง จึงกลายเป็นการผสมผสานที่ประสบความสำเร็จมาก"

โดยเรื่องนี้ ผู้ตอกย้ำจนเห็นภาพต่อเนื่องคือ "ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์" คู่หูของ "วีระ" โดยเขาเล่าบอกว่า นายห้างท่านทำงานแบบสมัยเดิม วิธีการทำงานเป็นไปตามยุค ตามสมัย ท่านดูพ่อค้า ท่านก็ต้องดูโหงวเฮ้ง ดูประวัติ จนรู้จักมักคุ้น คลุกคลีลงลึกไปเลย

"ซึ่งท่านทำได้ และที่ท่านทำได้เพราะการค้าสมัยนั้นไม่ได้ใหญ่โตอะไร พอที่จะคลำให้มันลึกลงไปได้ นายห้างรู้จักลูกค้าทุกคนอย่างสนิทสนม รู้จักอุปนิสัยว่าเป็นอย่างไร ลูกเต้ามีกี่คน ท่านจำได้เหมือนกับมีคอมพิวเตอร์บันทึกเอาไว้"

ดังนั้น เมื่อ "ชาตรี" เข้ามาบริหาร เขาจึงเหมือนอย่างที่ "ชิน" เป็นคือสามารถจดจำลูกค้า จดจำพนักงาน และถ้าวันไหนอารมณ์ดี ยังแซวพนักงานบางคนอีกด้วยว่า เอ้า เปลี่ยนทรงผมอีกแล้วหรือ ทรงเก่านะสวยอยู่แล้ว เปลี่ยนทำไม แต่ว่าไป ทรงใหม่ก็เก๋ไปอีกแบบนะ

แล้วพนักงานคนนั้นก็จะหัวเราะแบบเหนียมอาย กล่าวกันว่า ในช่วงที่ "ชาตรี" บริหารแบงก์กรุงเทพ ค่อนข้างเป็นช่วงรอยต่อระหว่างการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่กำลังเปลี่ยนแปลง

หรือบางครั้งมีปัญหาอะไร "ชาตรี" จะยืนอยู่ข้างพนักงานทุกคน ขณะเดียวกัน ก็พร้อมที่จะลงมือแก้ปัญหาด้วยตนเอง เหมือนอย่างช่วงวิกฤตปี 2540 ทั้งๆ ที่ระหว่างนั้น เขาเองเริ่มถอยหลังออกไปยืนเป็นผู้มองบ้างแล้ว

โดยให้ลูกชาย "ชาติศิริ" เข้ามาเรียนรู้การบริหาร แต่ด้วยความรัก และความเป็นห่วงพนักงาน เพราะ "ชาตรี" เชื่อว่า ขวัญ และกำลังใจของพนักงานเป็นสิ่งสำคัญ ตอนนั้นแบงก์ผจญวิกฤตอย่างหนัก "ชาตรี" รู้ดีว่าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ เห็นทีคงแย่แน่ เขาจึงให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ อย่างตรงไปตรงมาว่า

"สำคัญที่สุด แบงก์ไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ ขึ้นอยู่กับตลาด และลูกค้า ถ้าลูกค้าไม่สามารถชำระเงินกู้ให้กับแบงก์ได้ จะมีเอ็นพีแอลสูงขึ้น เพราะปัญหาคืออัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ"

"ฉะนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้ ลูกค้าจะไม่สามารถชำระดอกเบี้ยได้ ผมจึงขอเรียนว่า ธนาคารสัมผัสอยู่กับลูกค้าทุกวัน ย่อมมีความรู้สึกต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด หรือธุรกิจของตัวเองได้ดีพอสมควร แต่บางครั้งต้องยอมรับว่าเครื่องมือบอกเหตุที่เกิดขึ้น อาจจะบอกไม่ชัด หรือบอกช้า จนเตรียมตัวรับมือไม่ทันเหมือนกัน"

"ผมจึงพูดอย่างไม่เป็นทางการอยู่ตลอดเวลาว่า เมื่อไหร่รัฐบาลจะทำให้ดอกเบี้ยลงได้ เพราะแบงก์ไม่ต้องการให้ดอกเบี้ยสูงขึ้นเพื่อทำกำไร แต่ต้องการให้ดอกเบี้ยลดลง ลูกค้าจะอยู่ได้มากกว่า"

ฟังเผินๆ เหมือนเป็นคำพูดธรรมดา แต่ลึกลงไปในระหว่างคำพูดที่ "ชาตรี" กล่าวออกมา ล้วนต่างมีนัยที่ซ่อนเร้นทั้งสิ้น เป็นนัยของแบงเกอร์รุ่นเก่า ที่ ณ วันนี้ ไม่แต่เพียง "ชาติศิริ" จะต้องเรียนรู้ หากแบงเกอร์รุ่นใหม่ทุกคน ยังต้องศึกษาด้วย เพราะ "ชาตรี" ไม่ใช่แค่แบงเกอร์ธรรมดา

หากยังเป็นธนราชันย์ ผู้ยึดหลัก 3 ประการในการดำเนินชีวิตคือ ขยัน ซื่อตรง มีไหวพริบ จนสามารถสร้างแบงก์บัวหลวงให้ยิ่งใหญ่จนทุกวันนี้ จนทุกวันที่ "ชาติศิริ" ได้แผ้วถางทางถอดบทเรียนธุรกิจการเงิน จนกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวของเจเนเรชั่น 3 ของตระกูลโสภณพนิชที่บริหารแบงก์บัวหลวงสืบมา และสืบไป ซึ่งไม่ธรรมดาเลย?

อ้างอิงจาก  เส้นทางเศรษฐี

บทความค้าขายยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สรุปขั้นตอนเปิดร้านในห้าง ใช้เวลาเท่าไหร่
475
บทความค้าขายมาใหม่
บทความอื่นในหมวด