บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    ความรู้ทั่วไประบบแฟรนไชส์
4.6K
2 นาที
7 กันยายน 2554

แฟรนไชส์ หรือ แชร์ลูกโซ่?

 

การขยายเครือข่าย หรือการขายแฟรนไชส์ ส่วนใหญ่ที่เกิดง่ายตายเร็วมักจะเป็นสินค้าบริโภคจำพวกอาหารและของกินเล่นทั้งไทยและเทศ

การขยายเครือข่าย หรือการขายแฟรนไชส์เฉพาะตลาดในประเทศไทย มีการเกิดและล้มตายไปหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่มีต้นกำเนิดในประเทศไทยเอง หรือสินค้าที่มีต้นกำเนิดมาจากต่างประเทศและมีชื่อเสียงคุ้นหูกันดี ส่วนใหญ่ที่เกิดง่ายตายเร็วมักจะเป็นสินค้าบริโภคจำพวกอาหารและของกินเล่นทั้งไทยและเทศ

หลายครั้งที่ข่าวฮือฮาตามสื่อทั้งหลายทั่วไปว่า สินค้าของบริโภคชนิดนั้นยี่ห้อนี้เปิดใหม่ และกำลังได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่วัยหนุ่มสาว ถึงขั้นที่ต้องต่อแถวรอซื้อราวกับญาติคนไข้เข้าคิวรอรับยาตามโรงพยาบาลของรัฐในอดีต สถานที่ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นแหล่งต้นกำเนิดในประเทศไทยของสินค้าพวกนี้ หนีไม่พ้นย่านยอดนิยมของวัยรุ่นในเมืองหลวงเช่นแถวสยามสแควร์ เป็นต้น

ภาพของคนที่เข้าคิวรอซื้อและข่าวคราว จะถูกโหมประโคมตามสื่อทุกชนิดอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคนที่เป็นผู้ทรงสิทธิ์ในสินค้านั้นๆ   เป็นผู้มีชื่อเสียงในสังคมหรูหราของประเทศอยู่แล้ว ชื่อของคนดังในสังคมจำพวกเซเลบริตี้ที่ถูกยกมากล่าวอ้าง ถึงการเข้าคิวรอคอยเพื่อจะได้ลิ้มรสสินค้านั้นๆ จะปรากฏถี่กว่าปรกติ

อาหารพื้นๆ แบบเม็กซิกัน, อาหารแป้งปั้นแบบจานด่วน, อาหารจำพวกแซนด์วิชภายใต้ตราสินค้าไทยๆ, ไอศกรีมประเภทโฆษณาว่าทำเองสูตรลับส่วนตัว, ก๋วยเตี๋ยว, ข้าวมันไก่, บะหมี่เกี๊ยว แม้กระทั่งลูกชิ้นปิ้ง ล้วนมีการขยายเครือข่ายในรูปแบบของแฟรนไชส์เกิดขึ้นในประเทศไทยมาแล้วทั้งสิ้น

ผู้ขายแฟรนไชส์ที่ดีมีจริยธรรมในธุรกิจ เมื่อได้รับเงินค่าแฟรนไชส์ไปแล้ว นอกจากจะต้องจัดส่งวัตถุดิบ, สูตรการปรุง, อบรมวิธีการและกระบวนการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังต้องมีหน้าที่ในการทำการตลาด, โฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า และบริการที่ตนเองเป็นเจ้าของสิทธิแฟรนไชส์อีกด้วย

ในขณะที่เจ้าของหรือผู้ทรงสิทธิ์แฟรนไชส์ที่เข้าข่ายหลอกลวง จะดำเนินการโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า เพียงแค่ช่วงแรกที่ต้องการให้คนสนใจธุรกิจยอมจ่ายเงินค่าแฟรนไชส์เท่านั้น หลังจากที่ได้รับเงินค่าแฟรนไชส์ไปจำนวนหนึ่งแล้ว ก็จะเลิกหรือลดการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ลงไป

การว่าจ้างคนมาเข้าคิวเพื่อซื้อสินค้าก็เลิกราหมดไป ข่าวคราวที่ฝากไปตามสื่อต่างๆ ก็ลดน้อยลงไป อีกทั้งหากยังประจวบเหมาะกับคุณภาพของสินค้า หรือรสชาติของอาหารไม่มีความโดดเด่นในตัวเอง เหมือนกับที่ได้ทำการโฆษณาตีฆ้องร้องป่าวเอาไว้ในช่วงแรกๆ คนที่ยอมจ่ายเงินค่าแฟรนไชส์ไปแล้ว ก็เท่ากับว่าตกหลุมพรางทางธุรกิจหรือโดนหลอกนั่นเอง

ทั้งนี้ หากจะว่าไปแล้วสำหรับใครก็ตามที่มีเงินเก็บเอาไว้จำนวนหนึ่ง และคิดอยากจะหาทางลงทุนทำธุรกิจเพื่อให้เงินจำนวนนั้นงอกเงยขึ้นมา จึงควรที่จะศึกษาหาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจ อย่าผลีผลามกระโจนลงไปเป็นเหยื่อจนเสียทรัพย์สินเงินทอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าร่วมลงทุนหรือร่วมธุรกิจกับสินค้าที่เพิ่งเกิดใหม่ๆ และตัดสินใจเพียงเพราะได้รับข่าวจากสื่อต่างๆ ในช่วงเปิดตัว

ซึ่งหากเป็นสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ต่างประเทศ ก็ควรที่จะตรวจสอบข่าวสารให้ดีว่าในต่างประเทศซึ่งเป็นบ้านเกิดของสินค้านั้นๆ มันดีอย่างที่เขาเอาเรื่องราวมาบอกจริงหรือไม่ หรือมีการเข้าคิวเพราะนักท่องเที่ยวถูกทัวร์ปั่นหูเอาไว้  โดยหวังผลให้คนที่ไปเที่ยวกลับมาบอกเล่ากันต่อไปในทำนองปากต่อปาก

สิ่งที่สามารถบอกได้ว่าสินค้าหรืออาหารนั้นๆ ดีจริงหรือไม่ก็คือ คนที่เข้าแถวรอซื้อหรือรอรับประทานเหล่านั้น ควรเป็นคนพื้นบ้านท้องถิ่นมากกว่านักท่องเที่ยว หากพินิจพิจารณากันอย่างรอบคอบแล้ว การจ่ายเงินเพื่อซื้อแฟรนไชส์ก็ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ แต่หากไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบ การเข้าร่วมแฟรนไชส์ก็คงไม่ต่างจากการร่วมวงเล่นแชร์ลูกโซ่หลอกลวง หรือการเข้าไปสู่วังวนของการหลอกลวงในระบบขายตรงเลวๆ ที่เป็นข่าวบ่อยครั้งนั่นเองครับ


อ้างอิงจาก คม-ชัด-ลึก

บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนพฤษภาคม 2567..
24,691
“มูฟ อีวี เอกซ์” สร้างรายได้ดีแค่ไหน! ทำไมถึงน่า..
3,828
รวม 12 แฟรนไชส์โหนกระแส คนไทยไม่เคยลืม!
2,366
จริงมั้ย? กำเงิน 15 ล้านบาท ถึงจะซื้อแฟรนไชส์ DQ..
1,914
กลยุทธ์ “แดรี่ควีน” เจ้าไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเมืองไ..
1,272
จริงมั้ย? 7-Eleven เห็นทำเลไหนดี เปิดเองแข่งสาขา..
1,244
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด