บทความทั้งหมด    บทความค้าขาย    การบริหารจัดการร้านค้า    การเช่าพื้นที่ หาทำเล เปิดร้าน
5.7K
7 นาที
18 พฤศจิกายน 2554
ฟังเสียงจาก "แม่กลอง" ในวันที่ตลาดน้ำ "อัมพวา" ติดลมบน
 
การท่องเที่ยวกลายเป็นรูปแบบทางเศรษฐกิจใหม่ในจังหวัดสมุทรสงครามที่กำลังเข้ามาแทนที่รายได้จากเกษตรกรรมและการประมงภายในเวลาเพียงไม่กี่ปีมานี้ จากเมื่อราวปี พ.ศ.๒๕๔๐ คนแม่กลองพยายามต่อสู้เพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวในรูปแบบเชิงนิเวศและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้วยตนเองโดยมีความช่วยเหลือจากสื่อภายนอกบ้าง  วันนี้ที่นี่เปลี่ยนแปลงไปมาก
 
แต่เดิมนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศที่นิยมเที่ยวตลาดน้ำจะไปที่ตลาดน้ำท่าคาที่ต่อเนื่องกับตลาดน้ำดำเนินสะดวกในจังหวัดราชบุรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตลาดนัดจัดสร้างเพื่อการท่องเที่ยว ส่วนตลาดน้ำอัมพวาที่เคยเป็นตลาดน้ำแบบธรรมชาติของชาวบ้านจำนวนพ่อค้าแม่ค้าทางเรือลดลงจนเปลี่ยนเป็นตลาดชายน้ำแทนและคนภายนอกไม่รู้จักมากนัก แต่อัมพวาก็ยังเป็นที่รู้จักว่าเป็นสถานที่พระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บริเวณวัดอัมพวันเจติยาราม จึงมีการสร้างอุทยาน ร.๒ ซึ่งมีงานแสดงโขนกลางแปลงเป็นประจำทุกปี โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสมยามบรมราชกุมารี เสด็จมาทอดพระเนตรเป็นประจำทุกปี อีกทั้งยังเป็นแหล่งครูดนตรีและคณะดนตรีไทยขึ้นชื่อในเขตนี้
  
หลังจากวิกฤตการณ์ทางการเงินของประเทศไทยที่เรียกว่า ต้มยำกุ้ง เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ เริ่มมีความพยายามจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในแถบจังหวัดสมุทรสงคราม โดยสถานที่แรกๆคือที่ตำบลปลายโพงพางเมื่อ ราวพ.ศ.๒๕๔๑

มีททท. กรมพัฒนาชุมชน ได้ปรับปรุงใช้บ้านทรงไทยในชุมชนเป็นบ้านพักรับรอง ต่อมา กองทุนเพื่อสังคม (SIF) ร่วมสร้างบ้านพักรับรองเพิ่มเติม รับสมัครชาวบ้านเข้าร่วมในโครงการ เน้นการเข้าพักตามบ้านชาวบ้าน ทานอาหาร นำชมหิ่งห้อยบริเวณต้นลำพูริมน้ำ จนถึงปี พ.ศ. 2544 มีชาวบ้านเข้าร่วมประมาณ 25 หลัง (จากจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 185 หลัง)
 
รูปแบบการท่องเที่ยวระยะนี้เน้นให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักในบ้านทรงไทย รวมทั้งกระจายกันไปตามบ้านของชาวบ้านที่สมัครเข้าร่วมในโครงการ โดยนักท่องเที่ยวจะมารับประทานอาหารที่บ้านพักของอดีตประธานองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการจัดการและจัดโปรแกรมท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยว โดยมีการนำชมในชุมชน แต่ปัญหาที่พบคือ ไม่ได้นำความรู้ท้องถิ่นมาใช้วางแผนการจัดการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้นักท่องเที่ยวและตัวชาวบ้านเองได้เรียนรู้และทำความเข้าใจในท้องถิ่นสำคัญ และมีรูปแบบไม่แน่ชัดในการจัดสรรผลประโยชน์
 
อย่างไรก็ตาม มีการนำแนวความคิดนี้ไปจัดการท่องเที่ยวที่ตลาดน้ำยามเย็นที่ตลาดปากคลองอัมพวาทุกศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเป็นบรรยากาศความคึกคักที่บรรดาพ่อค้า แม่ค้า พายเรือมาจอดให้ลูกค้าได้เลือกซื้ออาหาร และยังมีการจัดท่องเที่ยวชมหิ่งห้อยยามค่ำคืนที่บริเวณแหลมทวน โดยมีเรือยนต์นำเที่ยวจำนวนคืนละหลายสิบลำและมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่เติบโตควบคู่มากับการจัดตลาดน้ำยามเย็นก็คือ การบริการที่พัก ที่แต่แรกเริ่มนิยมใช้บ้านเรือนของชาวบ้านดัดแปลงเป็นที่พักอาศัย และนิยมเรียกกันว่า โฮมสเตย์ ให้ผู้มาท่องเที่ยวสัมผัสวัฒนธรรมแบบชาวสวนชาวน้ำสัมผัสชีวิตชาวบ้านอย่างแท้จริง ซึ่งได้รับความนิยมมาก โดยเริ่มที่บ้านหัวหาด ตำบลเหมืองใหม่ ในอำเภออัมพวา และบ้านทรงไทยที่ปลายโพงพาง ตำบลปลายโพงพาง โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และจากหน่วยงานราชการต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวโดยชุมชน
 
ระหว่างนั้นเองทางชุมชนในแถบตลาดเก่าอัมพวาซึ่งมีเทศบาลอัมพวาดูแลอยู่ ก็มีการทำงานร่วมกันในชื่อ โครงการสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมพื้นที่ริมคลองอัมพวา (Thailand Cultural EnvironmentProject : Amphawa Canal Community) ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสำนักงานให้ความช่วยเหลือทางวิชาการเดนมาร์ก (DANIDA) เทศบาลตำบลอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และมูลนิธิชัยพัฒนา โดยสบทบทุนกับเจ้าของอาคารในการอนุรักษ์เรือนไทย เรือนแพและเรือนพื้นถิ่น ที่มีคุณค่าทางมรดกทางวัฒนธรรม โดยการสนับสนุนของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

จนได้รับรางวัลชุมชนอนุรักษ์ดีเด่นประจำปี ๒๕๔๕ จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ไป และได้รับรางวัลชมเชย (Honourable Mention) ด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมจากองค์การยูเนสโก ภาคพื้นทวีปเอเชียแปซิฟิก(UNESCO Asia-Pacific Heritage Award)  ประจำปี 2008 หรือ ๒๕๕๑ ก็ยิ่งตอกย้ำในรูปแบบการท่องเที่ยวที่เน้นพื้นฐานทางชีวิตวัฒนธรรมรองรับมากกว่าแนวทางการท่องเที่ยวแบบอื่นๆ และทำให้กระแสการท่องเที่ยวตลาดน้ำอัมพวาและการพักแรมในช่วงวันหยุดราชการเป็นที่นิยมมากขึ้นกว่าเดิมไปอีก
  
ทุกวันนี้เทศบาลอัมพวาก็ยังเน้นรูปแบบการท่องเที่ยวที่เน้นการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่น เช่นเสนอให้ปีนี้อัมพวาเป็นแหล่งท่องเที่ยว Architect-Tourism แห่งแรกของประเทศไทย แต่การเน้นโครงสร้างพื้นฐานภายนอกโดยไม่ได้จับในประเด็นโครงสร้างทางสังคมภายในที่อาจรับผลกระทบจากการท่องเที่ยที่ชุมชนต่างๆในท้องถิ่นต้องเผชิญก็อาจจะเป็นข้อด้อยของการจัดการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นอัมพวาอย่างเห็นได้ชัด
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อกระแสการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้ได้รับความนิยมมาก อัมพวากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนในช่วงวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ เพราะเดินทางสะดวกและอยู่ใกล้กรุงเทพฯ จึงเกิดการพัฒนาที่พักแบบหลากหลายและขยายตัวไปทั่วอำเภออัมพวา บ้านเรือนถูกปรับปรุงใหม่หรือสร้างใหม่ ตลอดจนมีนักลงทุนจากต่างถิ่นเข้าไปซื้อที่ดิน ปรับเปลี่ยนรูปแบบการอยู่อาศัยของชาวบ้านมาเป็นรูปแบบกึ่งรีสอร์ท บ้างก็ทำเป็นแบบบูติคโฮเตล จนปริมาณของที่พักต่างๆ ก็เริ่มจะมีมากจนเกินความต้องการของตลาดการท่องเที่ยว
 
ธุรกิจการท่องเที่ยวดังกล่าวทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในพื้นที่ทั้งด้านบวกและลบ นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่เติบโตและเกิดธุรกิจสืบเนื่องจากการท่องเที่ยวอย่างมากมาย เช่น ตลาดน้ำ โฮมสเตย์ เรือชมหิ่งห้อยและการท่องเที่ยวสวนเกษตรอินทรีย์และสวนผลไม้แล้ว ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีส่วนเปลี่ยนแปลงวิถีเดิมของคนในชุมชนเช่นกัน
  
เดิมอัมพวามีพื้นที่ ประมาณ ๑๐๖,๓๕๒ ไร่ ในจำนวนนี้มีเนื้อที่สำหรับทำเกษตร ถึง ๘๗,๓๙๑ ไร่ แต่ในปัจจุบันมีเกษตรกรที่ทำสวนผลไม้ลดลง เพราะได้จัดสรรพื้นที่ไปทำธุรกิจอื่นที่สืบเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น รีสอร์ตและที่พักนักท่องเที่ยว เป็นต้น  ผลกระทบจากการท่องเที่ยวเกิดปัญหาต่างๆตามมา เช่น ปัญหาขยะ ควันเรือ คลื่นกระทบฝั่ง น้ำเซาะตลิ่ง เนื่องจากไม่มีการเตรียมรองรับสำหรับที่จะเกิดขึ้น ซึ่งส่วนมากเกิดจากแนวทางหรือโครงการพัฒนาของรัฐและที่เกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยว
 
กระนั้น ยังมีเสียงสะท้อนจากคนแม่กลอง ผ่านประชาคม  คนรักแม่กลอง  ต่อกรณีการจัดการท่องเที่ยวในอัมพวา เสียงของพวกเขาเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะสิ่งเหล่านี้คืออนาคตในภาพรวมของความเป็นเมืองสามน้ำ เมืองที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่เกี่ยวพันไปถึงชีวิตวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของผู้คนไม่เพียงแต่ในอำเภออัมพวาเท่านั้น แต่หมายถึงคนในแม่กลองหรือจังหวัดสมุทรสงครามทั้งหมดทีเดียว
เมืองตลาดน้ำ
 
“อัมพวา” คือบริเวณที่เคยเรียกย่านสวนเก่าแก่ในบริเวณใกล้ปากน้ำแม่กลอง  บางช้าง ส่วนชื่ออัมพวามาจากต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ค่อนข้างพบได้ยากแล้วในปัจจุบัน อีกชื่อหนึ่งคือมะเปรียงผลและลำต้นมีลักษณะเด่นเฉพาะและรสชาติคล้ายลูกมะกอก พื้นดินบริเวณนี้เหมาะแก่การเพาะปลูกยกร่องสวนแบบจีน จึงมีการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยอย่างยาวนาน นิยมปลูกสวนมะพร้าวและส้มโอมากกว่าพืชอื่นๆ ต้นมะพร้าวนั้นมีอยู่ทั่วไปและเป็นพืชหลักของสมุทรสงครามซึ่งจะเป็นรองก็เพียงแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
 
ที่นี่เป็นเมืองทางน้ำ มักมีการติดตลาดนัดเป็นกิจวัตรของชาวสวนและชาวบ้านที่จะนำของสวนมาซื้อหาแลกเปลี่ยนกัน ชาวบ้านจะรู้กันว่านัดวันไหนเมื่อไหร่ ด้วยวิถีชีวิตชาวน้ำก็จะใช้เรือพายนำสินค้าจากสวนมาที่นัดกัน โดยเฉพาะผู้หญิงซึ่งเป็นที่เลื่องชื่อในความเชี่ยวชาญทางงานสวนที่ถือว่าเป็นงานหนักและการค้าที่ได้ชื่อว่าแคล่วคล่องทีเดียว สิ่งเหล่านี้คือชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนในเรือสวนลำคลองที่กำลังจะหมดลงโดยเฉพาะที่เคยมีในเขตสวนฝั่งธนบุรีหรือทางฝั่งกรุงเทพฯ ซึ่งอีกไม่านคงเหลือไว้แต่เพียงความทรงจำ 
 
นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศมักประทับใจวิถีชีวิตของชาวตะวันออกในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเสมอ ตลาดน้ำต่างๆจึงยังคงอยู่ แม้ว่าในความเป็นจริงเมื่อมีการทำถนนมากมายแล้ว เส้นทางการคมนาคมทางน้ำรวมทั้งตลาดนัดทางน้ำมักจะหายไปจนแทบจะหมดสิ้นก็ตาม
 
ส่วนนักท่องเที่ยวคนไทยนั้น มักมีอารมณ์ร่วมในการหวลหาอดีตยามครั้งบ้านเมืองดีและยังคงใช้ชีวิตตามแม่น้ำลำคลอง เพราะเพิ่งผ่านมาเพียงไม่กี่สิบปีหลังมานี้ สภาพแวดล้อมของคนทางน้ำก็แทบจะเลือนหายไปจากความทรงจำของคนไทยเสียแล้ว  ดังนั้น  เมื่อมีการฟื้นตลาดนัดทางน้ำขึ้นมาใหม่ในหลายท้องถิ่น มันจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเมืองทางน้ำครั้งอดีตที่ฟื้นกลับมามีลมหายใจขึ้นใหม่ ตลาดน้ำและตลาดริมน้ำหลายแห่งเริ่มคึกคักเฟื่องฟูอีกครั้ง
 
ตลาดอัมพวาที่เคยคึกคักเมื่อราว ๕๐-๖๐ ปีก่อน จึงกลายเป็นตลาดน้ำที่จัดขึ้นเพื่อตอบสนองนักท่องเที่ยวคนไทยที่หยุดพักในวันหยุดราชการและเปลี่ยนจากตลาดนัดตามวิถีชีวิตของชาวบ้านในช่วงกลางวันหรือเช้าตรู่ ไปเป็นตลาดนัดยามเย็นจนถึงค่ำคืน นอกจากนี้ยังมีการบริหารนำชมหิ่งห้อยซึ่งหยุดกระพริบแสงหรือตายหายไปจากชีวิตคนเมืองนานแล้ว แต่ที่ริมน้ำในอัมพวายังมีอยู่มากมายและส่องสว่างวาบไหวราวกับแสงไฟ ในสวนมีที่ร่มรื่นและมีถนนหรือทางเดินแคบๆเป็นที่น่าพักผ่อนหย่อนใจสำหรับคนในเมืองที่กำลังขาดสีเขียวและอากาศบริสุทธิ์ เปลี่ยนชีวิตจากความแออัดมาสู่ชีวิตแบบที่คนรุ่นพ่อแม่เคยคุ้นเคย นำความหวานในอดีตกลับคืนมาสู่ชีวิตของผู้มาท่องเที่ยวได้อย่างน่าชื่นใจ
 
แต่สิ่งเหล่านี้รองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากไม่ได้อย่างแน่นอน มันจึงเป็นสภาพที่สวนทางกับความนิยม ปัจจุบันมีผู้ต้องการเที่ยวให้ได้ทุกรูปแบบในเวลาจำกัดและเร่งร้อน ซึ่งกลายเป็นปัญหาสำคัญของสังคมและที่ไปท่องเที่ยวที่อัมพวากันไม่ใช่น้อยในทุกวันนี้ 
 
จากการท่องเที่ยวอันเนิบช้า เข้าสู่ความโกลาหล
 
จากการท่องเที่ยวตลาดน้ำที่นักท่องเที่ยวต้องตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อมารอตลาดนัดของชาวบ้านตามธรรมชาติมาสู่การจัดตลาดนัดยามเย็นและสินค้าที่นำมาขายก็ไม่ได้เน้นสินค้าจากชาวสวน แต่เป็นในรูปของอาหารการกินและสินค้าย้อนยุคตามความนิยมตามยุคสมัย ผู้คนจำนวนมากจึงสามารถเดินทางไปเที่ยวตลาดน้ำอัมพวาได้ในช่วงเย็นวันหยุดตามความสะดวกของตน จนไม่เคยเห็นชีวิตของชาวสวนอัมพวาที่น่าจะเป็นสิ่งสำคัญในการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม
 
ปัญหาจากการท่องเที่ยวตลาดน้ำอัมพวาที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน สถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางวัฒนธรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ด้วยรูปแบบของบ้านเรือนแบบชุมชนริมน้ำ ตลาดนัดริมน้ำที่เคยเฟื่องฟูในอดีตและกระแสการนั่งเรือชมหิ่งห้อย กลายเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวที่กล่าวกันว่ามีจำนวนกว่า ๕ แสนคนต่อปี
 
การท่องเที่ยวแบบใหม่ได้เข้ามาแทนที่วิถีชีวิตภาคการเกษตรและการประมงดั้งเดิมของชุมชน โดยเทศบาลอัมพวาเป็นฝ่ายริเริ่มภายใต้การสนับสนุนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และองค์กรอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีการจัดงบประมาณหลายล้านบาทมาทำการปรับปรุงถนน สะพานและเขื่อน การปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพและสถาปัตยกรรมที่ได้รางวัลในระดับต่างๆ แต่ทั้งหมดทั้งมวลกับดูเหมือนจะเพิกเฉยต่อการทำความเข้าใจต่อสังคมของคนท้องถิ่นและไม่ได้จำกัดรูปแบบและจำนวนที่เหมาะสมของนักท่องเที่ยว มีแต่การสร้างสื่อประชาสัมพันธ์จนทำให้ผู้คนแห่เข้ามาท่องเที่ยวจนอาจเกินกำลังของท้องถิ่นที่จะตั้งรับ
 
ตัวอย่างจากในพื้นที่แหลมลมทวน ตำบลบ้านปรกปัจจุบันมีชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่ ๔๘ หลังคาเรือน สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของชุมชนจากการท่องเที่ยว โดยมีสาเหตุเช่นการนำเที่ยวดูหิ่งห้อยยามค่ำคืนของนักท่องเที่ยวที่ใช้เรือติดเครื่องวิ่งเร็วจนทำให้คลื่นซัดน้ำเข้าบ้าน ตลิ่งพัง การตะโกนให้คนในบ้านเรือนที่อยู่ใกล้ต้นลำพูปิดไฟช่วงที่มีการส่องไฟสปอตไลต์ขณะดูนกกระยาง ดูหิ่งห้อย อีกทั้งมีการเปิดสถานบันเทิงต่างๆ จากคนนอกชุมชน เช่น  ร้านเหล้า สร้างความรำคาญกับชุมชนหรือบ้านใกล้เรือนเคียง เจ้าของกิจการส่วนหนึ่งเป็นคนมาจากภายนอกนอกไม่ได้อยู่ในคลองอัมพวา พอปิดร้านก็เข้ามาอยู่ในเมือง ชาวบ้านจึงกลายเป็นฝ่ายต้องทนอยู่กับความอึกทึกนี้ และขาดสิทธิในการดำเนินชีวิตอย่างสงบดังที่เคยเป็นมา 
 
ชาวบ้านที่เลือกลงทุนในกิจการการท่องเที่ยวต่างๆได้ก่อให้เกิดสภาวะหนี้สินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ทั้งยังเกิดสภาพการขัดแย้งของคนในชุมชนจากการแข่งขันทางธุรกิจ ยังมีเรื่องความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เช่น สภาพต้นไม้และดินตามแนวตลิ่งพัง ขยะมูลฝอย ท่ามกลางสภาวะปัญหาเหล่านี้ หน่วยงานระดับพื้นที่ดูเหมือนยังไม่มีนโยบายใดๆเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แต่ปล่อยให้ชาวบ้านดำเนินการแก้ไขปัญหาและความขัดแย้งต่างๆ ด้วยตัวเอง
 
ผลกระทบจากการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวทางน้ำชมหิ่งห้อย ทำให้เดิมที่มีเรือพายไม่ถึง ๑๕ ลำ กลายเป็นเรือติดเครื่องมากกว่า ๑๕๐ ลำ และเรือแต่ละลำจะทำความเร็วแข่งกันเพื่อทำรอบให้ได้มากขึ้น วิ่งตั้งแต่หัวค่ำถึงเที่ยงคืนส่งเสียงสร้างความรำคาญให้ชาวบ้านทุกค่ำคืน ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในเส้นทางท่องเที่ยวจึงเริ่มตัดต้นลำพูซึ่งเป็นที่อยู่ของหิ่งห้อย อีกทั้งคลื่นที่เกิดจากเรือที่วิ่งด้วยความเร็ว ยังกัดเซาะชายฝั่งทำให้เกิดปัญหาตลิ่งพัง
 
การท่องเที่ยวและความขัดแย้งเช่นนี้ คาดว่าในไม่ช้าจำนวนหิ่งห้อยจะลดลง นักท่องเที่ยวไม่พอใจที่ไม่ได้เห็นในสิ่งที่ตนเองอยากเห็น เสียงจากเรือยนต์ทำให้เกิดปัญหาความเปราะบางทางอารมณ์ของชาวบ้านและผู้อยู่อาศัยในบริเวณที่ได้รับผลกระทบ กิจกรรมการท่องเที่ยวไม่ได้เคารพสิทธิของคนในชุมชน ทั้งเรื่องของเสียงรบกวนที่จากการเดินเรือยนต์และการรุกล้ำพื้นที่ของคนในภายใน 
 
สิ่งที่เป็นปัญหาต่อเนื่องคือ การสร้างที่พัก รีสอร์ท ร้านอาหารต่างๆ เปลี่ยนพื้นที่ซึ่งเคยเป็นสวนและสามารถรับน้ำหมุนเวียนในระบบของชาวสวนหายไป หมายถึงพื้นที่รับน้ำกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์หายไปด้วย บริเวณแหลมลมทวนมีการสร้างที่พักหรือรีสอร์ทกว่า ๒๓ แห่ง แต่จำนวนครัวเรือนหาย ไปกว่า ๔๘ ครัวเรือน  คนที่มีบ้านอยู่ริมน้ำวิตกกังวลว่าตลิ่งจะพัง เพราะคลื่นจากเรือกว่า ๔๐๐-๕๐๐ ลำวิ่งไปมา เป็นเพราะความมีอิสระของทุนจากต่างถิ่น อำนาจการจัดทำ  กรอบการท่องเที่ยว  ซึ่งรัฐมีอำนาจเต็มที่ก็ไม่เข้ามาจัดการ ชาวบ้านที่อยู่ริมน้ำ มีความคับแค้นใจมาก ความล่มสลายมาเยือนแบบไม่รู้ตัว คนชาวสวนส่วนใหญ่ต้องการขายที่และจำนวนมากขายที่ออกไปอยู่ในมือของคนต่างถิ่นไปแล้ว
 
ชาวบ้านจึงเริ่มมาคิดกันว่า ต่อไปกิจกรรมการท่องเที่ยวน่าจะไปไม่รอด การท่องเที่ยวทางเลือกก็ดำเนินต่อไปไม่ได้ จะทำอย่างไรให้คนขายที่ดินน้อยลง และถ้าอยู่กับบ้านก็จะทำงานมีรายได้พอเพียง บางคนคิดว่าานำพันธุ์มะพร้าวต้นเตี้ยมาปลูกนั้นน่าจะช่วยทำให้คนยังอยู่ติดที่ได้ เพราะการปลูกมะพร้าวสามารถนำไปทำน้ำมันมะพร้าวซึ่งกำลังเป็นผลิตภัณฑ์ออแกนิคที่ผู้คนกำลังนิยม สวนมะพร้าวตาลเมื่อทำร่องก็ทำให้เป็นพื้นที่รับน้ำเพราะน้ำไหลสะดวก คลองหรือร่องสวนก็ไม่ตื้นเขิน

ปัญหาการสูญเสียที่ดินไปให้แก่กิจกรรมการท่องเที่ยวและเปลี่ยนมือเจ้าของเป็นคนจากภายนอกที่เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมแบบสวนยกร่อง และปัญหาการย้ายถิ่นและเลิกทำสวนของคนดั้งเดิม กำลังสร้างปัญหาแก่ท้องถิ่นอัมพวาและชาวสวนทั้งระบบ ปัญหาเชิงโครงสร้างที่กินลึกเข้าไปถึงโครงสร้างทางสังคมในระดับครัวเรือนที่แก้ไขได้ยากกว่าการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่ยังพอรียกคืนหรือฟื้นได้  แต่ภูมิปัญญาชาวสวนที่สั่งสมและลองผิดลองถูกส่งผ่านกันในครอบครัวนั้น หากหมดสิ้นไปแล้วก็ไม่สามารถหาความรู้ใดไปทดแทนได้โดยง่าย
  
ท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมเป็นจริงได้หรือ กล่าวกันว่า การท่องเที่ยวอัมพวาทุกวันนี้มีจุดขายตรงที่ตลาดน้ำยามเย็น โฮมสเตย์ กิจการสปา และไปชมหิ่งห้อย แต่วิถีชีวิตของชาวบ้านจริงๆนั้น อาจสามารถทำการท่องเที่ยวในเชิงนิเวศวัฒนธรรมที่มีอะไรให้คนท่องเที่ยวได้มากกว่าสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด เพียงแต่ยังไม่มีการเผยแพร่หรือสร้างความรู้และการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวเข้าใจความเป็นเมืองแม่กลองและชีวิตชาวสวนอัมพวาได้อย่างเข้าถึงอย่างแท้จริง
 
ที่ผ่านมามีความพยายามของคนท้องถิ่นในการฟื้นแนวทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมให้กลับมาสู่อัมพวาอีกครั้งหนึ่ง เช่นที่ ศูนย์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านลมทวนซึ่งรวมกลุ่มสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยใช้เรือพาย ไม่ก่อให้เกิดเสียงรบกวนและคลื่นจากเรือ สร้างกฎกติกาให้หิ่งห้อยได้พักฟื้นบ้าง ไม่เช่นนั้นประมาณหิ่งห้อยก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ มีการวางแนวทุ่นป้องกันการลุกล้ำพื้นที่ตลอดระยะทาง ๒ กิโลเมตร ซึ่งยังขาดอีกราว ๑ กิโลเมตร ตามชายฝั่งแหลมลมทวน ซึ่งใช้ทุนจากการดำเนินการของศูนย์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านลมทวน

โครงการนี้ได้รับการตอบรับในทางที่ดี แต่ยังไม่กว้างขวางเพราะยังขาดช่องทางในการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงและการร่วมมือจากผู้ประกอบการเรือยนต์เองนั้นก็ยังอยู่ในระดับน้อย  อีกทั้งส่วนใหญ่เรือยนต์รับจ้างบ้างมาจากต่างถิ่น ซึ่งนอกจากตลาดน้ำอัมพวาแล้ว ก็ยังมีเรือยนต์รับจ้างที่มาจากตลาดน้ำดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี จึงเป็นไปได้ยากในการได้รับความร่วมมือ แม้จะได้รับการช่วยเหลือดูแลจากเรือตรวจการแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงเนื่องจากเรือตรวจการมีเพียงแค่ ๑ ลำที่เข้ามาดูแล
  
บริเวณนี้เดิมเป็นเรือกสวน มีต้นมะพร้าว และต้นมะม่วงอยู่เป็นจำนวนมาก ต้นมะพร้าวนั้นเป็นพืชหลักของสมุทรสงครามและมีอยู่ทั่วไป การท่องเที่ยวอัมพวาที่แท้จริงนั้นควรไปด้วยกันได้กับความเป็นจริงของชีวิตชาวสวน และการท่องเที่ยวสามารถทำให้ชาวสวนและชาวบ้านยังคงอยูร่วมกับการท่องเที่ยวของผู้ที่มาจากภายนอกได้
 
ผู้คนในอัมพวาหลายกลุ่มหลายท้องถิ่นเห็นพ้องกันว่า หากมีการปรับตัวของเกษตรกรผู้ผลิตมะพร้าวก็จะทำให้ชาวสวนอยู่ติดที่และไม่ขายที่ดินออกไป ปลูกมะพร้าวพันธุ์เตี้ยทำน้ำตาลมะพร้าวและสินค้าที่เป็นแบบอินทรีย์ปลอดสารพิษหรือออแกนิค สร้างสินค้าท้องถิ่นแต่เดิมซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนในสวนมาปรับให้มีการเพิ่มมูลให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างรายได้และให้เกิดการจัดการร่วมกัน มะพร้าวในสวนอัมพวาพันธุ์ดั้งเดิมนั้นสูงมาก อันตรายสำหรับแรงงานชาวสวนที่นับวันจะมีน้อยลงและความชำนาญในการขึ้นต้นมะพร้าวสูงก็ลดลงไปด้วย จึงพยายามแสวงหาสายพันธุ์เตี้ยซึ่งมีอยู่ที่สถาบันวิจัยพืชสวนที่อำเภอท่าชนะ ซึ่งมีพันธุ์มะพร้าวเตี้ยที่ให้ลูกมะพร้าวดกไม่ต่างไปจากพันธุ์พื้นเดิมของทางแม่กลองทำได้ไว แรงงานหาง่าย ชีวิตไม่เสี่ยงตกมะพร้าวตาย
 
การปรับปรุงพันธุ์พืชสวน โดยเฉพาะพันธุ์มะพร้าวนี้ดูเหมือนจะเป็นแนวทางที่คนในชุมชนหลายแห่งและหลายกลุ่มเห็นพ้องต้องกันว่า น่าจะเป็นทางเลือกในการสร้างความยั่งยืนให้กับชีวิตชาวสวนที่เหลือซึ่งไม่มีกิจการการท่องเที่ยวรองรับ และเป็นการเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนให้เกิดแก่อัมพวาได้ดีกว่าเดิม
 
เสียงสะท้อนจากคนแม่กลอง
 
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากทั้งด้านบวกและด้านลบแก่ท้องถิ่น โดยเฉพาะด้านการใช้ที่ดินและสาธารณูปโภค สาธารณูปการรวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อมในที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พื้นที่แม่กลองนั้น คนแม่กลองเป็นห่วงเรื่องคลองมากที่สุด หากคนขายที่คนมาใหม่ถมที่ ระบบไหลเวียนของน้ำก็จะถูกตัดขาดลงอย่างสิ้นเชิง การเป็นเมืองน่าอยู่ก็ต้องมาสนใจเรื่องระบบระบายน้ำให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
 
ความหวังในที่ดิน ต้องทำให้ทุกคนเห็นว่า ครัวเรือนทุกบ้านสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้จากมะพร้าวตาล เพราะคิดว่าจะปรับให้เป็นเกษตรออแกนิค การสื่อสารโดยการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานประเพณีวัฒนธรรมตามวาระของท้องถิ่น เช่นที่ แหลมใหญ่ สร้างงานก่อเจดีย์ทรายเป็นทางเลือกในการท่องเที่ยวอีกด้านหนึ่ง การพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว มีตลาดในช่วงวันอังคาร-วันพฤหัสของสัปดาห์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมให้มีมากขึ้น นอกจากการท่องเที่ยวเพียงช่วงวันหยุดราชการเท่านั้น
 
คนแม่กลองยังมีสิ่งที่อยากจะพูดถึงภาวะของผู้ถูกท่องเที่ยวและทางออกจากปัญหาความแออัดของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน โดยมองไปที่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน เพื่อชุมชนและลูกหลานในอนาคต 
 
ทิ้งท้ายจาก..อัมพวา
 
บ้านเรือนและชีวิตตามลำน้ำแม่กลองมีเสน่ห์เย้ายวนแก่ผู้ชอบชีวิตสงบนิ่งอยู่กับสายน้ำและเรือกสวน ตลาดน้ำยามเช้าของชาวสวนจึงกลายเป็นแรงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปเที่ยวชมชีวิตชาวสวนและหาซื้อของสวนติดไม้ติดมือหรือลองชิมผลไม้ อาหารต่างๆ ที่ขึ้นชื่อว่าอร่อย
 
สิ่งเหล่านี้คือการท่องเที่ยวที่เนิบช้าตามแบบฉบับของคนแม่กลอง คนมาเที่ยวก็ได้เรียนรู้ว่า ชีวิตชาวสวนนั้นขยันขันแข็งทำงานกันตั้งแต่เช้ามืดอย่างไร นอกจากนี้ ก็ยังมีการนั่งเรือเข้าไปในลำคลอง “เห็น”   “สูดอากาศ”   “ฟัง”  สำเนียงจากธรรมชาติแบบที่คนแม่กลองเป็นอยู่ น่าชื่นใจแท้
 
แต่ทุกวันนี้ แม้จะมีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่กระตุ้นให้ท้องถิ่นเปิดรับคนจากภายนอกให้เข้าไปเรียนรู้อยู่กับชาวบ้านที่เรียกว่าโฮมเสตย์ แถมกลางคืนยังได้นั่งเรือชมหิ่งห้อย ละเดินซื้อของกินที่ตลาดเย็นริมน้ำอัมพวา แต่ดูเหมือนว่ายิ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวกันแบบนี้ “ความเป็นอัมพวก” ก็ดูจะยิ่งห่างไกลออกไปจากความเข้าใจของนักท่องเที่ยว
 
ทุกวันนี้ ตลาดน้ำอัมพวากลายเป็นพื้นที่ยอดนิยม ใครไม่เคยไปอาจถูกมองว่า “ไม่ทันสมัย” คนจึงล้นตลาด แออัดยัดเยียดกันราวมีของแจกฟรีทุกเย็นวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์
ดูๆ ไปก็กลับกลายเป็นสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านที่เคยอยู่อาศัยกันเงียบๆ สงบๆ ยามค่ำคืน ทุกวันนี้คนจากภายนอกเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากอัมพวามากมาย แต่คนท้องถิ่นจริงๆดูเหมือนจะยังหาจุดลงตัวที่เหมาะสมสำหรับการจัดการเรื่องท่องเที่ยวให้มีประโยชน์กับท้องถิ่นจริงๆ โดยไม่ทำความเดือดร้อนให้ชาวบ้านซึ่งไม่ได้เป็นผู้ประกอบการมากนักไม่ได้
 
อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ได้เดินถอยไปข้างหลังแต่กำลังไปข้างหน้าค้นหาวิถีทางกันอยู่ เพียงแต่ในระหว่างทางนี้นักท่องเที่ยวเองอาจต้องช่วยกันด้วย คือควรมาเรียนรู้เพื่อรู้จักชีวิตแบบเมืองแม่กลองและอัมพวาอย่างที่เป็นจริงด้วย อย่ามาเพียงเพราะ “ความทันสมัย” เท่านั้น
 
หากมาแบบนี้คนที่นี่บอกว่าคุณจะเห็นและรักอัมพวาเหมือนนักท่องเที่ยวยุคก่อนหน้านี้ที่เคยได้เห็นและ “รัก” อย่างไม่เคยลืมเลือน
บทความค้าขายยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ทีมไหน! หา"ทำเล"ก่อนทำธุรกิจ vs เลือก "ธุรกิจ" ก..
409
บทความค้าขายมาใหม่
บทความอื่นในหมวด