บทความทั้งหมด    บทความค้าขาย    การบริหารจัดการร้านค้า    การเช่าพื้นที่ หาทำเล เปิดร้าน
6.2K
3 นาที
27 สิงหาคม 2561
ไขข้อข้องใจ! เช่าพื้นที่ขายของในห้างฯ เริ่มอย่างไร


 
คาดการณ์ว่าพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพฯ เมื่อสิ้นปี 2561 จะมีพื้นที่กว่า 400,000 ตร.ม. พื้นที่จำนวนนี้ประมาณ 59% เป็นศูนย์การค้า ส่วนอันดับสองคือ คอมมูนิตี้มอลล์ ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าห้างสรรพสินค้าเป็นสุดยอดทำเลที่คนสนใจมาก จุดเด่นที่ทำให้พ่อค้าแม่ค้าอยากใช้พื้นที่ในห้างทำการตลาด www.ThaiFranchiseCenter.com มองว่ามีหลายข้อที่น่าสนใจ เช่น
  • ยกระดับสินค้าตัวเองให้ดูดีมีคุณภาพ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
  • คนส่วนใหญ่มักนิยมเดินห้างสรรพสินค้าเพราะสะดวกสบาย มีทุกอย่างให้เลือกทำเมื่อเปิดร้านในห้างจึงมีโอกาสสร้างกำไรจากการขายได้มากขึ้น
  • ห้างสรรพสินค้ามักมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดดึงดูดลูกค้าได้ดี
  • ไม่ต้องกังวลกับสภาพอากาศ ฟ้าร้องฝนตก แดดออก ก็ยังสามารถขายของได้ตามปกติ
อย่างไรก็ดีห้างสรรพสินค้าเองก็รู้ความต้องการของพ่อค้าแม่ค้าที่มีจำนวนมาก ดังนั้นการที่จะนำสินค้าไปขายในห้างสรรพสินค้าได้ จึงต้องมีการศึกษาข้อปฏิบัติของแต่ละห้าง ที่อาจมีข้อกำหนดที่แตกต่างกัน และเพื่อเป็นการปูทางเบื้องต้นสำหรับคนที่กำลังมองหาทำเลค้าขายในห้างสรรพสินค้า ลองมาดูกันว่าหากเราเป็นคนหนึ่งที่อยากเปิดร้านค้าขายในห้างเราต้องเรียนรู้อะไรบ้าง
 
ภาพจาก www.facebook.com/silomconnect

1. รูปแบบของการนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า
 
เราข้ามเรื่องข้อมูลของห้างสรรพสินค้าด้วยเชื่อว่า ก่อนที่จะค้าขายในห้างสรรพสินใดเราก็คงตรวจสอบแน่ใจแล้วว่าห้างสรรพสินค้านั้นน่าลงทุนเปิดร้านแค่ไหน ข้ามมาดูที่เรื่องรูปแบบเลยดีกว่า ส่วนใหญ่มี 2 แบบคือ เช่าพื้นที่กับขายฝาก
  • ขายฝาก (Gross Profit) เป็นการตกลงจ่ายค่าส่วนลดให้กับห้างสรรพสินค้า จากราคาปกติประมาณ 20-30% ขึ้นอยู่กับว่าเป็นสินค้าอะไร และทางห้างจะคอยเช็คยอดขายว่าสินค้าเราขายดีแค่ไหน ถ้าขายดีก็อยู่รอดต่อไป ถ้ายอดขายไม่ดีก็เตรียมตัวยกเลิกการขายได้
  • เช่าพื้นที่ (Space for rent)  โดยปกติจะมีให้เลือกอยู่ 4 รูปแบบคือ ร้านขนาดใหญ่ , ร้านขนาดกลาง-เล็ก, บูธหรือคีออส , ล็อค ทั้งนี้จะเลือกว่าใช้พื้นที่แบบไหนก็อยู่ที่เจ้าของสินค้าเลือกให้เหมาะสมกับสินค้าและดูเรื่องค่าเช่าพื้นที่เป็นสำคัญด้วย
ภาพจาก www.facebook.com/silomconnect

2. ศึกษาคู่แข่งของห้างในอนาคต
 
เป็นข้อมูลเชิงลึกที่รู้ไว้ก่อนจะได้เปรียบเพราะยุคนี้ห้างสรรพสินค้ามีการแข่งขันสูง หากเกิดลงทุนเปิดร้านแล้วจู่ๆ มีอีกห้างสรรพสินค้าที่เปิดใหม่ ใหญ่กว่า ดีกว่า แล้วดึงลูกค้าจากห้างที่เราขายอยู่ไปเยอะ ก็ทำให้เราเสียโอกาสได้ ดังนั้นเราต้องศึกษาคู่แข่งเหล่านี้ให้ดี ดูให้แน่ใจว่าในระยะ 3 - 5 ปี ต่อจากนี้จะมีคอมมูนิตี้มอลล์ หรือห้างอื่นใดมาเปิดใกล้เคียงหรือไม่ หากพบว่ามีข้อมูลแน่ชัดว่าจะมีห้างใหม่มาเปิดเร็วๆ นี้ก็อาจชะลอการตัดสินใจและดูท่าทีเพื่อป้องกันความผิดพลาดในการลงทุนของเราด้วย
 
ภาพจาก goo.gl/images/ZVcBB1
 
3. เตรียมข้อมูลสินค้าให้พร้อมก่อนติดต่อกับทางห้างสรรพสินค้า
 
การทำธุรกิจกับห้างสรรพสินค้าไม่ใช่เรื่องที่จะนึกทำก็ทำได้ ทุกอย่างมีระเบียบ มีขั้นตอน และเราต้องมั่นใจว่าสินค้าเรานั้นดีจริงและมีความน่าสนใจ โดยส่วนใหญ่ต้องมีการนำเสนอสินค้าให้กับทางห้างรู้ว่าเราคือสินค้าอะไร มีดีอย่างไร เราต้องเลือกสินค้าเด่นๆ ของเรามานำเสนอ รวมถึงรูปแบบร้านอาจทำในรูปของ perpective ที่เห็นแบบร่างทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และภายในร้าน นอกจากนี้เอกสารต่างๆ ต้องครบถ้วนเช่น หลักฐานการจดทะเบียน ที่ตั้งบริษัท โรงงาน ภาพกระบวนการผลิตต่างๆ 
 
 
4. ศึกษาสัญญาเช่าและกฎระเบียบต่างๆ
 
ก่อนที่จะเซ็นสัญญาเช่าพื้นที่เราต้องศึกษาสัญญาอย่างละเอียด เช่น ดูว่าค่าเช่าที่เราต้องจ่ายเป็นราคาสุทธิหรือยังไมได้รวม VAT 7% , มีการวางเงินประกันจำนวนเท่าไหร่และจะได้คืนไม่ได้คืนในกรณีใดบ้าง , มีการจ่ายล่วงหน้ากี่เดือน , ระยะเวลาของสัญญากี่ปีและหมดสัญญาแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อ ,หากมีการขอขึ้นค่าเช่าจะต้องไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์และจะทำได้ในช่วงเวลาไหนอย่างไร รวมถึงสัญญาที่ทำจะสามารถเปลี่ยนชื่อสัญญา (เซ้งต่อ) ได้หรือไม่
 
 
5. ต้นทุนโดยรวมจากการเช่าพื้นที่ภายในห้าง
 
การเปิดร้านในห้างสรรพสินค้าเราไม่ได้มีต้นทุนแค่ค่าเช่าสถานที่อย่างเดียว ผู้ประกอบการต้องพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนกลาง , ค่าที่จอดรถ , ภาษีมูลค่าเพิ่ม , ภาษีรายได้ , ภาษีโรงเรือน , ค่าความร่วมมือในการจัดกิจกรรมต่างๆ สิ่งเหล่านี้คือต้นทุนของร้านค้าที่เราต้องคำนวณเป็นอย่างดี เพื่อจะได้มั่นใจว่างานนี้เราจะไม่เสียเปรียบ ไม่ใช่ยิ่งขายกำไรยิ่งหาย ซึ่งไม่มีประโยชน์ใดๆ หากเป็นแบบนั้น
 
 
6.กฏระเบียบและข้อกำหนดของแต่ละห้าง
 
เรื่องปลีกย่อยที่หลายคนละเลย และมองว่าไม่สำคัญแต่ความจริงสำคัญไม่แพ้เรื่องการพิจารณาสัญญา ห้างสรรพสินค้าแต่ละแห่งมีกฏระเบียบที่แตกต่างเช่น บางห้างอาจกำหนดเรื่องการหยุดขายหรือการเปิดร้าน ว่าต้องเปิดร้านทุกวัน หรือเลือกหยุดแบบไหนอย่างไรได้บ้าง , รวมถึงเรื่องเวลาเข้าออกของพนักงานประจำร้าน  , การใช้อุปกรณ์ต่างๆ ภายในห้าง บางครั้งการที่ร้านค้าไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้เป็นอย่างดีก็ทำให้มีปัญหาภายหลังและคนที่เสียหายมากกว่าก็คือตัวผู้ประกอบการทั้งหลาย

ยกตัวอย่างเช่นบางห้างกำหนดว่าพนักงานต้องมาเปิดร้านก่อนเวลาห้างเปิดกี่นาทีและจะต้องปิดร้านหลังห้างปิดทำการไปแล้วกี่นาที รวมถึงบางห้างมีการหนดจุดจอดรถของพนักงาน และมีการกำหนดข้อปฏิบัติในการแต่งกาย มารยาทในการขาย รวมถึงการลงทุนที่เป็นร้านอาหารก็มีข้อกำหนดแยกย่อยในเรื่องการประกอบอาหาร การจัดการกับกลิ่นของอาหาร ซึ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตามมาตรฐานของห้างสรรพสินค้านั้น ๆ ซึ่งหากมีการร้องเรียนจากลูกค้าใดๆก็ตามเจ้าของกิจการอาจจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย
 
ภาพจาก goo.gl/images/Qq3hu7
 
7. แนวทางการส่งเสริมการตลาดของห้างสรรพสินค้า
 
แน่นอนว่าร้านค้าที่เปิดพื้นที่ในห้างย่อมหวังที่จะได้ลูกค้าเยอะๆ เนื่องจากค่าเช่าที่เชื่อได้ว่าไม่ใช่ถูกๆ ร้านค้าก็ย่อมคาดหวังสิ่งที่ทางห้างจะส่งเสริมการตลาดให้บ้าง เราควรศึกษาให้ดีก่อนทำสัญญาเช่าพื้นที่ว่าโดยปกติห้างสรรพสินค้ามีการจัดกิจกรรมบ่อยแค่ไหน และส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมแบบไหนลักษณะใด มีการประชาสัมพันธ์ดีแค่ไหน  ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีผลต่อการทำยอดขาย ห้างที่นานๆ จัดกิจกรรมทีไม่มีการโปรโมทที่ดี ขอแนะนำว่าอย่าเลือกเช่าพื้นที่เนื่องจากมีความเสี่ยงแบบได้ไม่คุ้มเสีย
 
ภาพจาก goo.gl/images/hp6nqy
 
ข้อดีของการเช่าพื้นที่ในห้างคือ มีลูกค้ามากมายที่พร้อมจะเดินมาเที่ยวห้างสรรพสินค้า แต่เราต้องเข้าใจด้วยว่าพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้บางทีก็มาเดินอย่างเดียวไม่ได้ตั้งใจมาซื้อของ ผู้ประกอบการมากมายที่บ่นเหมือนกันว่าคนเดินเยอะแต่ขายของไม่ได้ ดังนั้นนอกจากเลือกทำเลที่ตัวเองมั่นใจ เรื่องรูปแบบการขายก็เป็นสิ่งสำคัญ หรือบางทีเราก็ควรพิจารณาว่าสินค้าของเราเหมาะสมกับการขึ้นห้างหรือไม่ หากไม่ใช่ก็อย่าดันทุรัง อยู่ในจุดที่ควรอยู่ บางทีก็ขายดีมีกำไรได้มากกว่า
 

SMEs Tips
 
1. รูปแบบของการนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า
2. ศึกษาคู่แข่งของห้างในอนาคต
3. เตรียมข้อมูลสินค้าให้พร้อมก่อนติดต่อกับทางห้างสรรพสินค้า
4. ศึกษาสัญญาเช่าและกฎระเบียบต่างๆ
5. ต้นทุนโดยรวมจากการเช่าพื้นที่ภายในห้าง
6. กฏระเบียบและข้อกำหนดของแต่ละห้าง
7. แนวทางการส่งเสริมการตลาดของห้างสรรพสินค้า
 
สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมาย ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S
 
บทความค้าขายยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ทีมไหน! หา"ทำเล"ก่อนทำธุรกิจ vs เลือก "ธุรกิจ" ก..
409
บทความค้าขายมาใหม่
บทความอื่นในหมวด