บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    วางแผนขยายธุรกิจ    สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม
10K
7 นาที
11 ตุลาคม 2555
แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการปี 2555

ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งโรงงานที่ผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์บางแห่งถูก น้ำท่วมค่อนข้างหนัก อย่างไรก็ดี โรงงานเหล่านี้เริ่มกลับมาผลิตได้อีกครั้ง แม้ว่าจะยังไม่เต็มศักยภาพ แต่คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 นี้ โรงงานเหล่านี้จะสามารถกลับมาผลิตสินค้าได้เต็มประสิทธิภาพอีกครั้ง 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการในปี 2555 นี้ จะมีการเติบโตที่ดี โดยเฉพาะในส่วนของการนำเข้าเครื่องจักร กลที่คาดว่า มูลค่าการนำเข้าจะเร่งตัวขึ้น เนื่องจากหลายโรงงานต้องมีการนำเข้าเครื่องจักรใหม่เพื่อมาทดแทนเครื่องจักรเก่าที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ขณะที่การส่งออกเครื่องจักรน่าจะกลับมาขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ภายหลังจากที่โรงงานผลิตเครื่องจักรที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมกลับมาผลิตสินค้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกครั้ง

นอกจากนี้ เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา ยังส่งผลดีต่อผู้ผลิตเครื่องจักรกลหลายประเภท รวมถึงอุปกรณ์ที่คาดว่ายอดขายในปีนี้น่าจะเติบโตค่อนข้างดี จากความต้องการเครื่องจักรใหม่เข้ามาทดแทน และความต้องการชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์มาซ่อมแซมโรงงานและระบบเครื่องจักรกลต่างๆ ภายในโรงงานรวมทั้งการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในประเทศ ที่เป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการหันมาใช้เครื่องจักรกลแทนกำลังแรงงาน ประกอบกับตลาดต่างประเทศมีความต้องการเครื่องจักรกลอุปกรณ์และชิ้นส่วนสูง โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนด้วยกัน 
 
นอกจากนี้ การผลิตเครื่องจักรยังมีปัจจัยหนุนจากการขยายการลงทุนของบริษัทไทยและบริษัทต่างชาติในไทย โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ ที่มี แผนการที่จะเพิ่มการลงทุนในปีนี้ เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 อีกทั้งยังได้รับแรงบวกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอาเซียน ที่มีผลต่อความต้องการใช้เครื่องจักรกลเพิ่มสูงขึ้น 
 
อย่างไรก็ดี การเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะในปี 2555 นี้ น่าจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเนื่องจากปัจจัยหนุน เฉพาะธุรกิจที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มอุปกรณ์เพื่อการก่อสร้าง ที่คาดว่าในปี 2555 นี้ ความต้องการใช้ยังคงมีเพิ่มขึ้น จากปริมาณงานก่อสร้างที่ยังคงขยายตัว ทั้งจากภาคเอกชนที่ต้องซ่อมแซมโรงงานที่เสียหายจากน้ำท่วม และการขยายการลงทุนทั้งในส่วนของพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย ขณะเดียวกันโครงการก่อสร้างพื้นฐานของรัฐบาลนอกจากจะมีโครงการขนาดใหญ่ที่ดำเนินการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาแล้ว ยังมีโครงการใหม่ที่คาดว่าจะก่อสร้างในปีนี้

นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างถนนในต่างจังหวัด โครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค และโครงการซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม อาทิ ฝาย เขื่อน และการปรับปรุงถนน เป็นต้น 
 
แต่ผู้ประกอบการคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบในทางลบต่ออุตสาหกรรมในปี 2555 นี้ เช่น เสถียรภาพการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ที่ยังคงเผชิญความเสี่ยงสูงจากปัญหาเศรษฐกิจในยุโรป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุน ประกอบกับต้นทุนการผลิตสินค้าที่สูงขึ้น เนื่องมาจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ขณะที่ ราคาน้ำมันมีความผันผวน จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบที่นำมาผลิตสินค้าอาจปรับตัวขึ้นตามด้วยเช่นกัน
 
ภาวะตลาดและแนวโน้มของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการปี 2555
 
ภาพรวมของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ตามข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิต (Manufacturers) และกลุ่มผู้ค้า (Traders) โดยกลุ่มผู้ผลิตซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,335 ราย ยังจำแนกออกได้เป็นผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตร 286 ราย เครื่องจักรกลอุตสาหกรรม 896 ราย และ เครื่องมือกล 153 ราย สำหรับกลุ่มผู้ค้า มี 2,488 ราย จำแนกเป็นผู้ค้าเครื่องจักรกลการเกษตร 388 ราย เครื่องจักรอุตสาหกรรม 1,722 ราย และกลุ่มเครื่องมือกล 408 ราย สำหรับภาวะตลาด ของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลในปี 2555 นี้ จะมีความแตกต่างกันไปตามปัจจัยแวดล้อม อาทิ 
 
กลุ่มเครื่องจักรกลการเกษตร 
 
อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรในปี 2555 นี้ คาดว่าจะมีทิศทางเติบโตที่ดี ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยความต้องการใช้เครื่อง จักรกลการเกษตรในประเทศ นอกจากจะยังคงมีแรงหนุนมาจากความต้องการซื้อเครื่องจักร หรือเครื่องมือการเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมแล้ว ยังมีความต้องการใช้เครื่องมือการเกษตรเพื่อที่จะมาชดเชยกำลังแรงงานในภาคเกษตรที่หายไป และการปรับขึ้นของค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการการเกษตรรายใหญ่มีการขยายการลงทุนในเทคโนโลยีด้านการเกษตรมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันให้มีการนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้ในระดับไร่นาเพิ่มขึ้น เนื่องจากขนาดของการทำเกษตรนั้นมีพื้นที่กว้างใหญ่ขึ้น ประกอบความพยายามในการเพิ่มผลผลิตของเกษตรกรในเครือข่าย อาทิ บริษัทผู้ประกอบกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับอาหาร มีแผนที่จะจัดตั้งโรงเรียนชาวนามืออาชีพ เพื่อถ่ายทอดความรู้ การนำเครื่องจักรกลการเกษตรที่เหมาะสมมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อาทิ เครื่องเพาะกล้า เครื่องปักดำ และเครื่องเก็บเกี่ยวเป็นต้น ซึ่งนวัตกรรมต่างๆ ที่จะถ่ายทอดให้กับเกษตรกรเป็นปัจจัยที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตที่ไม่จำเป็น และเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของเกษตรกร ให้กับกลุ่มเกษตรกร ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนต่อตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรในระยะข้างหน้า 
 
สำหรับปัจจัยหนุนที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ตลาดต่างประเทศ โดยตลาดส่งออกเครื่องจักรกลการเกษตรและเครื่องมือที่สำคัญคือตลาดอาเซียน โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV คือ กัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม ที่มีการนำเข้าเครื่องจักรกลการเกษตรและเครื่องมือการเกษตรสูง นอกจากนี้ มาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่มีการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อการเกษตรจากไทยเช่นกัน และจะยังคงเป็นตลาดสำคัญในการส่งออกในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะมีอาชีพเกษตรกรรม เป็นหลัก เช่น ศรีลังกา อินเดีย บังกลาเทศ และประเทศทางแอฟริกา ก็เป็นตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรที่มีศักยภาพเช่นกัน 
 
อย่างไรก็ดี การส่งออกเครื่องจักรกลการเกษตรก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากคู่แข่งซึ่งมีความได้เปรียบเหนือไทยในบางด้าน เช่น จีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรที่มีราคาถูก ส่วนญี่ปุ่นหรือสหรัฐอเมริกา สามารถผลิตเครื่องจักรการเกษตรที่มีคุณภาพดีกว่าไทย (ซึ่งที่ผ่านมา มีบริษัทญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งฐานการผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรและอุปกรณ์ในไทยด้วยเช่นกัน) ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งเพิ่มศักยภาพสินค้าของตนให้สามารถแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่นได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกเครื่อง จักรกลการเกษตรในปี 2555 นี้ จะมีมูลค่าประมาณ 170,000 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 14.5 เพิ่มขึ้นจากที่เติบโตร้อยละ 6.4 ในปี 2554 
 
แม้ว่าไทยเป็นประเทศที่มีกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรสูง แต่การพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตร ส่วนใหญ่ยังเป็นการผลิตขั้นพื้นฐาน โดย บริษัทที่ที่มีการผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรรายใหญ่ของไทยจะเป็นบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทจากญี่ปุ่น ที่จะมีการผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดใหญ่ เช่น แทรกเตอร์ เป็นต้น ทำให้ไทยยังมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องจักรกลการเกษตรจากต่างประเทศค่อนข้างสูง เครื่องจักรการเกษตรที่นำเข้าส่วนใหญ่จะมาจากประเทศญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และอินเดีย เป็นต้น โดยการนำเข้าเครื่องจักรกลการเกษตรคิดเป็นประมาณร้อยละ 56.5 ของมูลค่าการนำเข้าและส่งออกเครื่องจักรกลการเกษตร สำหรับการนำเข้าเครื่องจักรกลการเกษตรในปีนี้ 2555 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 206,550 เติบโตร้อยละ 7.0 เพิ่มขึ้นจากที่เติบโตร้อยละ 2.1 ในปี 2555 ที่ผ่านมา

กลุ่มเครื่องจักรกลอุตสาหกรรม 
 
สำหรับทิศทางของเครื่องจักรอุตสาหกรรมในปี 2555 นี้ มีปัจจัยหนุนการเติบโตจาก กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งมีความต้องการเครื่องจักรใหม่ รวมทั้งอุปกรณ์และชิ้นส่วน เพื่อมาทดแทนหรือซ่อมแซมเครื่องจักรที่เสียหาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ และ อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนี้จะเป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญต่อกลุ่มผู้ประกอบการที่นำเข้าเครื่องจักรมาขาย ทั้งนี้ เครื่องจักรกลในอุตสาหกรรมมีการนำเข้าคิดเป็นสัดส่วน ประมาณร้อยละ 61.0 ของมูลค่าการนำเข้าและส่งออกในกลุ่มเครื่องจักรกลอุตสาหกรรม โดยในปี 2555 นี้ คาดว่าการนำเข้าเครื่องจักรกลสำหรับอุตสาหกรรมจะมีมูลค่าประมาณ 298,850 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 22.5 จากที่เติบโตร้อยละ 8.1 ในปี 2554 โดยการเติบโตจะโดดเด่นอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 
 
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา มีบริษัทต่างชาติได้เข้ามาลงทุนการผลิตเครื่องจักรกลในไทยเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการใช้ภายในประเทศ และเป็นการ ผลิตเพื่อการส่งออก เช่น การผลิตเครื่องจักรกลสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป เป็นต้น โดยเฉพาะเครื่องจักรกลที่มีความต้องการ ใช้เพื่อการผลิตในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง มีการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศและส่งออก อีกทั้งไทยยังเป็นประเทศที่มีการทำการเกษตรกรรมที่ค่อนข้างสูง ความต้องการใช้เครื่องจักรกลในอุตสาหกรรมนี้จึงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี แต่เครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้แปรรูปอาหาร และบรรจุภัณฑ์อาหาร ยังต้องการการ พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ของเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต เป็นต้น 
 
ทั้งนี้ การผลิตและส่งออกเครื่องจักรกลที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมน่าจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น จากการฟื้นตัวของโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในปี 2554 ที่ผ่านมา โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกเครื่องจักรกลอุตสาหกรรมในปี 2555 นี้ จะมีมูลค่าประมาณ 169,000 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 9.5 จากที่หดตัวร้อยละ 9.7 ในปี 2554
 
เครื่องจักรและอุปกรณ์ก่อสร้าง 
 
ในปี 2555 อุตสาหกรรมก่อสร้างยังเป็นอุตสาหกรรมโดดเด่นในปีนี้ โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากโครงการภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับโครงการภาครัฐในปี 2555 มีโครงการก่อสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่เกิดขึ้นพร้อมกันหลายๆ โครงการ โดยปัจจุบัน มีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าอยู่ 3 สาย ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค กับ บางซื่อ-ท่าพระ) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงต่อขยายวงเวียนใหญ่-บางหว้า 
 
นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พ.ศ. 2553-2572 ที่กำลังรอการ ประมูลและรอการก่อสร้าง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้คาดว่าจะสามารถก่อสร้างได้ ในปีนี้ ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ยังคงต้องติดตามความชัดเจนในแผนการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้าง ถนนหนทางในต่างจังหวัด ทั้งของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ขณะเดียวกันก็มีโครงการที่เป็นผลมาจากอุทกภัยครั้งใหญ่ที่ผ่านมา ทั้งการซ่อมแซมและฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภค เช่น ฝาย ประตูน้ำ และถนนที่เสียหายจากน้ำท่วม อีกทั้งยังมีโครงการที่จะสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วมในอนาคต โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการลงทุนด้านก่อสร้างโดยรวมในปี 2555 (ราคา ปีปัจจุบัน) จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2-10.4 จากปีก่อน มาอยู่ที่ประมาณ 898,720-908,632 ล้านบาท ซึ่สูงขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 ในปี 2554 ที่ผ่านมา 
 
ด้านโครงการภาคเอกชนในปี 2555 นี้ การพัฒนาที่อยู่อาศัยนั้นคาดว่าการเปิดโครงการใหม่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอาจชะลอตัวลงในช่วงครึ่งแรกของปี โดยผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์คงจะรอดูจังหวะและโอกาสการเปิดโครงการใหม่ เนื่องจากกิจกรรมการซื้อขายที่อยู่อาศัยในขณะนี้ค่อนข้างอ่อนตัว ผู้บริโภคยังคงรอดูสถานการณ์น้ำในปีนี้ ก่อนตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย แต่บรรยากาศตลาดที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัดกลับเติบโตค่อนข้างดี อย่างไรก็ดี การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในส่วนของพาณิชยกรรม ยังคงขยายตัว โดยในกลุ่มค้าปลีก ผู้ประกอบการรายใหญ่มีแผนที่จะขยายการลงทุนในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งมีความเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก เช่น ชลบุรี ฉะเชิงเทรา เป็นต้น 
 
สำหรับในประเทศไทยเองก็มีการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ก่อสร้าง และมีการส่งออกไปยังต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็ก อาทิ เครื่องตัดเหล็ก เครื่องดัดเหล็ก เครื่องพ่นปูนฉาบ เหล็กดัดทำปลอกเสา เครื่องตัดคอนกรีตมวลเบา และเครื่องตัดอิฐบล็อก เป็นต้น ขณะที่มีการผลิตอุปกรณ์ก่อสร้างขนาดใหญ่บางประเภท เช่น เครื่องเจาะและอุปกรณ์หัวเจาะดิน รถบดถนน และรถเครน เป็นต้น นอกจากนี้ ตลาดนำเข้า เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ก่อสร้างเป็นตลาดที่มีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ โดยในปี 2554 ที่ผ่านมา การนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับการก่อสร้างมีมูลค่าประมาณ 51,636 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 15.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ดี จากการที่ในประเทศยังมีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐและงานก่อสร้างของภาคเอกชนอีกหลายโครงการ ทำให้ความต้องการใช้เครื่องจักรกลเพื่อการก่อสร้างยังเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นจังหวะที่ดีที่ผู้ประกอบการจะมีการนำเครื่องมือ อุปกรณ์และเครื่องจักรกลเพื่องานก่อสร้างเข้ามาทำตลาด โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรกลอุตสาหกรรมก่อสร้างในปี 2555 นี้ จะมีมูลค่าประมาณ 56,550 ล้านบาท เติบโตประมาณร้อยละ 9.5 ชะลอลงจากที่เติบโตร้อยละ 15.7 ในปี 2554 
 
ขณะที่ การส่งออกเครื่องจักรกลอุตสาหกรรมก่อสร้างในปี 2555 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 20.5 ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 24.0 ในปี 2554 โดยการส่งออกที่ขยายตัวขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่เข้ามาตั้งฐานการผลิตอุปกรณ์และเครื่องจักรก่อสร้างในไทย สำหรับ ตลาดส่งออกที่สำคัญอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีการขยายตัวสูงของการลงทุนโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ เช่น อาเซียน เอเชียใต้ ตะวันออกลางและแอฟริกา เป็นต้น

กลุ่มเครื่องมือกล 

สำหรับเครื่องมือกลแม้จะมีการใช้กันในหลายๆอุตสาหกรรม แต่การผลิตเครื่องมือกลในไทยส่วนใหญ่จะมีลักษณะของการนำชิ้นส่วนเข้ามาประกอบ ไม่ ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต ซึ่งเป็นการผลิตเครื่องมือกลที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมที่ไม่ซับซ้อน (Computer Numerical Control (CNC)) แต่เนื่องจากในกระบวนการผลิตจำเป็นต้องพึ่งพาอุปกรณ์เครื่องมือกลที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีความต้องการใช้เครื่องมือกลที่มีความละเอียดสูง ทำให้มีการนำเข้าเครื่องมือกลจากต่างประเทศเพื่อนำมาใช้งานค่อนข้างสูง โดยในปี 2554 ที่ผ่านมา การนำเข้ากลุ่มเครื่องมือกลเติบโตร้อยละ 25.8 หรือมีมูลค่าประมาณ 85,480 ล้านบาท สำหรับแหล่งนำเข้าเครื่องมือกลส่วนใหญ่จะมาจากประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และจีน เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้ มีการผลิตเครื่องมือกลที่ทันสมัย มีการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมมีความ เที่ยงตรงแม่นยำของเครื่องจักรกลในการผลิต อย่างไรก็ดี คาดว่าการนำเข้าในกลุ่มเครื่องมือกลในปี 2555 นี้ น่าจะเร่งตัวขึ้น จากความต้องการสั่งเครื่องมือกลเข้ามาทดแทนที่สูญเสียจากน้ำท่วม โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการนำเข้าเครื่องมือกลในปี 2555 จะมีประมาณ 113,480 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 26.8 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2554 
 
สำหรับการผลิตเพื่อการส่งออกของไทยในกลุ่มเครื่องมือกล ผู้ประกอบการไทยคงต้องเร่งพัฒนาศักยภาพและเทคโนโลยีการผลิตให้ทัดเทียมกับ เทคโนโลยีของต่างชาติ เนื่องจากปัจจุบัน บริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริษัทจากประเทศญี่ปุ่น ทำให้มูลค่าการส่งออกเครื่องมือกลเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขณะเดียวกันการนำเข้าก็มีอัตราการเติบโตที่สูง ซึ่งหากผู้ผลิตเครื่องมือกลเอสเอ็มอีไทยไม่เร่งปรับตัวก็อาจต้องเผชิญกับภาวะการกดดันในตลาดต่อไปในระยะข้างหน้า ขณะเดียวกันผู้ผลิตเครื่องมือกลของไทย เช่น กลุ่มเครื่องเจียรไนโลหะ ที่เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เครื่องมือกลของไทยที่เป็นที่ยอมรับในเวทีนานาชาติ คงต้องหันมาพัฒนนาศักยภาพ และเทคโนโลยีของเครื่องมือกลนั้นต่อไป เพื่อให้สามารถที่จะยังคงรักษาฐานการตลาดได้ 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกเครื่องมือกลในปี 2555 นี้ จะมีมูลค่าประมาณ 32,750 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 33.1 ชะลอลงจากฐานเปรียบเทียบ ในปี 2554 ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 76.2

อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการกับ AEC
 
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะทำให้มีการเคลื่อนย้ายเสรี (free flows) ใน 5 สาขา ได้แก่ การเปิดเสรีการค้า การเปิดเสรีการค้าบริการ การเปิดเสรี การลงทุน ในสาขาอุตสาหกรรมที่ตกลงกันและการให้การปฏิบัติต่อนักลงทุนอาเซียนเช่นเดียวกับนักลงทุนในชาติตนเอง การเปิดเสรีด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย และการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ อย่างเสรี โดยให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของแต่ละประเทศ สำหรับผลกระทบจาก AEC ที่มีต่ออุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการของไทย ได้แก่
 
ผลด้านบวกของ AEC ต่ออุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการไทย 
  • โอกาสส่งออกเครื่องจักรกลไทยในตลาดอาเซียน โดยประเทศส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาทำให้มีความต้องการใช้เครื่องจักรกลเป็นจำนวนมาก และในเครื่องจักรกลเกือบทุกประเภท ทั้งเครื่องจักรกลในภาคการเกษตร ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนหลายๆ ประเทศ ส่วนใหญ่ยังมาจากภาคเกษตร ขณะที่ความต้องการเครื่องจักรกลในภาคอุตสาหกรรมที่มีเพิ่มขึ้น จากการขยายการลงทุนของประเทศในสมาชิกอาเซียนและประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกอาเซียน ที่ต้องการเข้ามาขยายฐานการลงทุนในอาเซียน 
 
สำหรับประเทศที่เป็นตลาดสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ ได้แก่ กลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ซึ่งกลุ่มประเทศ CLMV นี้ นับเป็นตลาดที่สำคัญของไทย เนื่องจากประเทศในกลุ่ม CLMV เป็นประเทศที่เริ่มมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มีการลงทุนโครงการก่อสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ซึ่งไทยได้เปรียบประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนอื่นๆ ในเรื่องของภูมิศาสตร์ที่มีเขตชายแดนต่อกัน ทำให้การที่จะขยายตลาดไปยังประเทศเหล่านี้จึงค่อนข้างง่าย 
 
โดยกลุ่มประเทศ CLMV ที่น่าสนใจขณะนี้ คือ พม่า ทั้งนี้ ภายหลังจากที่สถานการณ์ทางการเมืองในพม่าคลี่คลายลง ประกอบกับการลงทุนท่า เรือน้ำลึกที่ทวาย ทำให้พม่ากลายเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติทั้งจากนักลงทุนต่างชาติที่ใช่และไม่ใช่สมาชิกอาเซียน ซึ่งพม่าจะกลายเป็นตลาดที่สำคัญของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล อุปกรณ์และชิ้นส่วนที่สำคัญของไทย 
 
นอกจากนี้ประเทศที่สำคัญอีกประเทศหนึ่ง คือ อินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันเป็นตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญของไทย และจะยังคงเป็นตลาดที่สำคัญต่อ ไปในระยะข้างหน้า เห็นได้จากการนโยบายของอินโดนีเซียที่จะมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลายๆ โครงการภายในประเทศ นอกจากนี้ ประทศอินโดนีเซียยังเป็นประเทศที่มีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าไปลงทุนเป็นจำนวน ซึ่งรวมถึงบริษัทรายใหญ่ของไทยก็ได้มีการเข้าไปลงทุนในประเทศอินโดนีเซียเช่นกัน 
 
  • โอกาสในการขยายการลงทุนไปยังประเทศอาเซียน ทั้งนี้ การรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเขาไปลงทุนในประเทศอาเซียนด้วยกันได้สะดวกมากขึ้น 
  •  โอกาสในการสร้างพันธมิตรทางการค้าระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการทั้งในเรื่องของการเข้าไปทำตลาดในประเทศอาเซียน และการนำเข้าวัตถุดิบที่นำมาใช้ประกอบเครื่องจักรได้ง่ายขึ้น 
 
ผลด้านลบของ AEC ต่ออุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการไทย 
 
  • สินค้านำเข้าจากประเทศอาเซียนสามารถเข้ามาตีตลาดในไทย เนื่องจากสินค้านำเข้าไม่มีภาระภาษี ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องแข่งขันมากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับปัจจัยในเรื่องต้นทุนเฉพาะที่เกิดขึ้นในประเทศที่อาจทำให้ราคาเครื่องจักรของไทยสูงกว่าคู่แข่งได้ เช่น อัตราภาษีในอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ได้แก่ ภาษีนำเข้าเหล็กอะไหล่และอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตเครื่องจักรถูกจัดเก็บในอัตราภาษีที่สูงถึงร้อยละ 10 และ 30 ตามลำดับ ส่วนของการนำเข้าชิ้นส่วนหรือชุดควบคุมเครื่องจักรยังต้องเสียภาษีนำเข้าไม่ต่ำกว่า 10 และภาษีหัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 3 ขณะที่การนำเข้าเครื่องจักรสำเร็จรูปปัจจุบันได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเป็นร้อยละ 0 จึงมีผลต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ผลิตเครื่อง จักรที่มีภาระต้นทุนที่ค่อนข้างสูง 
 
นอกจากนี้ ไทยเองยังไม่มีกลไกในการป้องกันไม่ให้สินค้าคุณภาพต่ำที่มีราคาถูกเข้ามาในประเทศ ซึ่งส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยในการทำตลาด เพื่อที่จะแข่งกับสินค้าราคาถูก ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล อุปกรณ์และชิ้นส่วนของไทย เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูง โดยคู่แข่งที่สำคัญของไทย ได้แก่ จีน ที่เครื่องจักรกลจะมีราคาถูก ซึ่งจีนนั้นนอกจากจะเข้ามาบุกตลาดในไทยแล้ว ยังเป็นคู่แข่งที่สำคัญในตลาดอาเซียนด้วย

สรุป 
 
อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการไทย นับว่ามีความสามารถในการที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลาง (Hub) การพัฒนาเครื่องจักรกลและโลหะการในอาเซียน ซึ่งประเทศไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวนี้มาเป็นระยะเวลานาน ประกอบกับในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตเครื่องจักรกลและผลิตภัณฑ์โลหะในไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนักลงทุนจากญี่ปุ่น 
 
อย่างไรก็ดี การพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล อุปกรณ์และส่วนประกอบในไทยยังคงมีอุปสรรคหลายประการในการที่จะพัฒนาศักยภาพของ อุตสาหกรรมให้ทัดเทียมกับผู้ผลิตเครื่องจักรกลรายใหญ่ๆ ของโลก เนื่องจากขาดการสนับสนุนทั้งในด้านนโยบายและมาตรการทางภาษีในประเทศที่ทำให้ต้นทุนการผลิตเครื่องจักรในประเทศ สูงกว่าการนำเข้าเครื่องจักรสำเร็จรูปมาขาย เช่น การชำระภาษีหัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 3.0 ขณะที่การนำเข้าชิ้นส่วนหรือชุดควบคุมเครื่องจักรยังต้องเสียภาษีนำเข้าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10.0 เป็นต้น 
 
นอกจากนี้ ต้นทุนที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ผู้ประกอบการไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติ คือ กฏเกณฑ์การส่งเสริม การลงทุน ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการชาวต่างชาติ ทำให้สามารถนำเข้าเครื่องจักรสำเร็จ รูปจากต่างประเทศโดยสามารถของคืนภาษีในส่วนเครื่องจักรได้ และได้รับสิทธิลดหย่อนทางภาษี 
 
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามที่อาจมีผลต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมในระยะข้างหน้า โดยประเด็นที่คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ AEC หรือ การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ซึ่งจะมีผลต่อผู้ประกอบการทั้งในด้านบวกและด้านลบ โดยผลในด้านบวก ได้แก่ การนำเข้าสินค้าและวัตถุ ดิบที่จะมีราคาถูกลง เนื่องจากไม่มีอุปสรรคในด้านภาษี ขณะที่การส่งออกสินค้าของไทยไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนก็จะมีราคาที่ถูกลงเช่นกัน นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสในการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในประเทศสมาชิกอาเซียนที่น่าจะมีความคล่องตัวมากขึ้น รวมถึงการหาพันธมิตรทางธุรกิจการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน 
 
อย่างไรก็ดี AEC นั้น ไม่เพียงแต่ประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียนจะตื่นตัวเท่านั้น แต่ประเทศที่ไม่ได้อยู่ในอาเซียนก็มีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอาเซียน ซึ่งก็จะมีส่วนช่วยสนับสนุนความต้องการใช้เครื่องจักรกลในระยะข้างหน้าด้วยเช่นกัน เมื่อมีการขยายตัวของการลงทุนที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการคงจะต้องเร่งทำความเข้าใจ AEC เพื่อที่จะแสวงหาประโยชน์สูงสุดจาก AEC ซึ่งปัจจุบันโลกการค้ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทำให้การทำการค้าอาจจะไม่ได้หยุดนิ่งเพียงแต่รักษาฐานลูกค้าของตนเองในประเทศเท่านั้น แต่คงจะต้องมองในภาพกว้างมากขึ้น โดยหันมามองประเทศสมาชิกอาเซียน “As One Community” มากกว่าที่จะมองว่าเป็นคู่แข่งเท่านั้น

อ้างอิงจาก KSMECare
 
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
792
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
709
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
640
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
521
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
432
10 เรื่องจริงที่คุณไม่รู้! อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล
420
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด