บทความทั้งหมด    บทความค้าขาย    การบริหารจัดการร้านค้า    การเช่าพื้นที่ หาทำเล เปิดร้าน
11K
2 นาที
1 พฤศจิกายน 2555
ตลาดของไทย
 
สมัยสุโขทัย 
 
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทำให้เราทราบว่า ในสมัยสุโขทัยได้มีตลาดเกิดขึ้นแล้ว เรียกว่า "ตลาดปสาน" เป็นแหล่งซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ทั้งของชาวเมืองสุโขทัยและชาวเมืองใกล้เคียง ในศิลาจารึกระบุไว้ว่า สินค้าที่ซื้อขายกันในตลาดปสานมีหลายประเภท ตั้งแต่ผลไม้ เครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ และสัตว์ที่ใช้เป็นแรงงานเป็นพาหนะ เช่น วัวและม้า ตลาดปสานนั้นตั้ง อยู่ทางตอนเหนือของเมืองสุโขทัย ลักษณะของตลาดเป็นลานกว้างๆ เหมาะสำหรับเป็นที่ชุมนุมกันของผู้ซื้อและผู้ขาย รูปแบบของตลาดเช่นนี้อาจจะเรียกได้ว่า ตลาดบก เพราะมีทำเลที่ตั้งค้าขายอยู่บนบก ตัวอย่างตลาดในสมัยสุโขทัยที่ปรากฏในหลักศิลาจารึก เช่น ตลาดป่าตองขายใบตอง ตลาดป่าพร้าวขายมะพร้าว ตลาดป่าตะกั่วขายโลหะตะกั่ว จะเห็นได้ว่าตลาดมีลักษณะการขายสินค้าเป็นแหล่งๆไป
สมัยอยุธยา 

ในสมัยอยุธยา ตลาดยังอยู่ตามชุมชนเช่นเดิม แต่รูปแบบของตลาดมีเพิ่มมากขึ้นคือ มีทั้งตลาดบก ตลาดน้ำ และตลาดนัด นอกจากนี้ ยังเกิดย่านตลาด ซึ่งหมายถึง สถานที่หรือทำเลที่มีการค้าขายทั้งแบบถาวร และแบบชั่วคราว คือมีทั้งการค้าขายทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น และตลาดที่ขายเฉพาะช่วงเช้าหรือเย็นเท่านั้น นอกจากนี้ ในย่านตลาดยังมีการสร้างโรงเรือนที่ใช้เป็นสถานที่ค้าขายและพักอาศัยด้วย ย่านตลาดนี้มักตั้งอยู่ในที่ที่มีการคมนาคมติดต่อสื่อสารสะดวก  ร้านค้าในย่านตลาดจะขายสินค้าต่างๆกันไป ทำให้เกิดสังคมที่มีลักษณะการอยู่ร่วมกันอย่าง พึ่งพาอาศัย ย่านตลาดนี้มีทั้งที่เป็นตลาดบกและตลาดน้ำ ย่านตลาดบกที่สำคัญในสมัยอยุธยา เช่น ย่านป่าขนมเป็นแหล่งทำขนมขาย มีขนมกรุบ ขนมพิมพ์ถั่ว ขนมสำปันนี ย่านป่าเตียบเป็นแหล่งทำตะลุ่ม ตะลุ่มกระจก ตะลุ่มมุก ตะลุ่มเขียนทอง พานกำมะลอและพานหมาก ย่านป่าถ่านขายผลไม้ตั้งแต่ช่วงเช้าถึงเย็น ตลาดตีทองขายทองคำเปลว ตลาดป่าชมภูขายผ้า ตลาดแฝดขายเครื่องใช้ภายในครัวเรือน ไหมลาวและไหมเขมร ตลาดน้อยตรงข้ามวัดพนัญเชิง ขายไก่และเป็ด
 
สำหรับตลาดน้ำหรือตลาดที่ค้าขายในน้ำที่ใช้เรือแพเป็นพาหนะต่างร้านค้า ก็เริ่มมีมากขึ้นในสมัยอยุธยา ในสมัยนี้มีตลาดน้ำหลายแห่ง เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยาเป็นเกาะล้อมรอบด้วยแม่น้ำ การคมนาคมจึงต้องอาศัยทางน้ำเป็นสำคัญ แหล่งชุมชนและบ้านเรือนที่อยู่อาศัยมักอยู่ริมแม่น้ำ การค้าขายจึงต้องอาศัยทางน้ำด้วยเช่นกัน ตลาดน้ำในสมัยอยุธยาที่ปรากฏในพงศาวดาร ได้แก่ ตลาดบางกะจะหน้าป้อมเพชร ตลาดปากคลองคูจามใกล้วัดพุทไธศวรรย์ ตลาดคูไม้ร้องริมคลองเมืองฝั่งเหนือ และตลาดคลองวังเดิม ส่วนตลาดนัดซึ่งจัดให้มีขึ้นเฉพาะวันที่กำหนดก็คงมีอยู่ ด้วยเช่นกัน
 
สมัยรัตนโกสินทร์ 
 
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การค้าขายไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่ในตลาดหรือย่านตลาดเท่านั้น แต่ยังมีพ่อค้าเร่ หรือพ่อค้าคนกลางนำสินค้าไปขายยังท้องถิ่นที่ห่างไกลจากตลาด ซึ่งชาวจีนเป็นผู้ริเริ่มการค้าขายในลักษณะนี้ก่อนชนชาติอื่น ชาวจีนเหล่านี้เข้ามาตั้งหลักแหล่งในเมืองไทยและยึดอาชีพค้าขาย โดยนำสินค้าหลากหลายประเภท เช่น สุรา ฝิ่น ขนมจันอับ ผัก ผลไม้ ของชำต่างๆ เช่น เกลือ หอม กระเทียม หมากพลู กะปิ น้ำตาล เคียว มีด น้ำมันก๊าด ก๋วยเตี๋ยว เนื้อหมู และเสื้อผ้า ไปขายยังหมู่บ้านต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วจะไปทางเรือ เพราะขนส่งสินค้าได้เป็นจำนวนมาก เปรียบเหมือนตลาดเคลื่อนที่ เมื่อพายเรือผ่านบ้านใดก็มักจะส่งสัญญาณ เช่น บีบแตรหรือเป่าเขาควาย เพื่อบอกให้รู้ว่าได้นำสินค้ามาขายแล้ว
 
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นช่วงระยะเวลาที่ไทยเริ่มติดต่อค้าขายกับประเทศตะวันตก ชาวตะวันตกหรือที่เราเรียกว่า "ฝรั่ง" เริ่มเข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทย โดยส่วนใหญ่เป็นพวกพ่อค้า ร้านค้าแห่งแรกของพ่อค้าชาวตะวันตกในเมืองไทย คือ ห้างฮันเตอร์และเฮย์ ของนายฮันเตอร์ พ่อค้าชาวอังกฤษ ซึ่งขายสินค้าที่เป็นที่ต้องการของชาวตะวันตก ห้างนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตลาดของชาวตะวันตกในระยะนั้นจึงเป็นร้านค้าที่เรียกว่า "ห้าง" ซึ่งในเวลาต่อมาก็เกิดขึ้นอีกหลายห้าง เช่น ห้างบอมเบย์ ห้างมัทราส
 
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้ ไทยยังคงมีสงครามกับดินแดนใกล้เคียงอยู่บ้าง และทุกครั้งที่ฝ่ายไทยชนะศึกสงคราม ก็มักจะกวาดต้อนผู้คนจากเมืองต่างๆที่ตีได้ เช่น คนลาว คนเขมร คนญวน ให้มาตั้งหลักแหล่งในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองต่างๆ เชลยที่ถูกกวาดต้อนมานี้จะอาศัยรวมกันเป็น หมู่เหล่าตามเชื้อชาติของตน จึงเกิดชุมชนลาว ชุมชนแขก ชุมชนมอญ และชุมชนเขมรขึ้น รวมทั้งชุมชนของชาวจีนที่เข้ามาค้าขายและตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯ แต่ละชุมชนต่างก็มีตลาดในชุมชนของตน โดยเรียกขานชื่อตลาด ไปตามสัญชาติเป็นย่านๆไป เช่น
  • ตลาดแขก อยู่บริเวณถนนตานี ถนนจักรพรรดิพงษ์ ถนนสาทร ถนนอิสรภาพ
  • ตลาดญวน อยู่บริเวณถนนสามเสน บางโพ
  • ตลาดมอญ อยู่บริเวณปากเกร็ด สามโคก
  • ตลาดจีน อยู่บริเวณสำเพ็ง เยาวราช ตลาดน้อย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการสร้างถนนและขุดคลอง ขึ้นหลายสายในกรุงเทพฯ เมื่อถนนตัดผ่านสถานที่ใดก็ย่อมเกิดชุมชนและความเจริญขึ้น ถนนที่สำคัญคือ ถนนเจริญกรุง ซึ่งถือว่าเป็นถนนที่ใหญ่และยาวที่สุดในสมัยนั้น อีกทั้งเป็นถนนที่ชาวตะวันตกนิยมตั้งบ้านเรือนพักอาศัยอยู่เป็นส่วนมาก
 
จึงเป็นที่ตั้งของตลาดบางรัก ซึ่งเป็นแหล่งขายอาหารขนาดใหญ่ และมีความสำคัญสำหรับชาวตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ ๕ ส่วนถนนสายอื่นๆ เช่น ถนนบำรุงเมือง พาหุรัด สี่พระยา เยาวราช ก็มีย่านการค้าของชาวตะวันตกและชาวจีนด้วยเช่นกัน ห้างของฝรั่ง เช่น ห้างแบด แมนแอนด์โก ตั้งอยู่บนถนนบำรุงเมือง ห้างบัตเลอร์ตั้งอยู่บนถนนเฟื่องนคร ห้างโฮวาร์ดเอสกินตั้งอยู่บนถนนพาหุรัด ห้างเฟรเซอร์แอนด์นีฟตั้งอยู่บนถนนสี่พระยา ส่วนห้างของชาวจีน ได้แก่ ห้างดีเซียงแอนด์ซัน ห้างฮุนชุยโห ห้างย่งหลีเส็ง ห้างเหล่านี้ส่วนใหญ่จำหน่ายสินค้าจำพวกสุรา ยารักษาโรค และพืชไร่ที่ต้องสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ
 
บทความค้าขายยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ทีมไหน! หา"ทำเล"ก่อนทำธุรกิจ vs เลือก "ธุรกิจ" ก..
409
บทความค้าขายมาใหม่
บทความอื่นในหมวด