บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    กฎหมายและข้อบังคับ    ข้อพิพาท และความลับทางการค้า
3.4K
3 นาที
1 กุมภาพันธ์ 2556
ท่านเปา..ช่วยด้วย (บทความกฎหมายแฟรนไชส์)
 


แฟรนไชซอร์ทะเลาะกับแฟรนไชซี  ถือเป็นเรื่องปกติครับ
 
แต่ปัญหาจะลุกลามใหญ่โตหรือไม่ ก็แล้วแต่ว่าข้อขัดแย้งนั้นจะจบลงอย่างไร  ถ้าแฟรนไชซอร์เอาไม้หวดแรงไปหน่อยเหมือนภราดรตีพาสซิ่งช๊อต ปัญหาก็อาจจบด้วยการเลิกสัญญา  หรือไปตีกันต่อที่ศาล  แต่ถ้าตีแบบแบ็คแฮนด์สไลด์ จบแมทส์แฟรนไชซียังเดินมาหอมแก้มจับมือ  อย่างนี้ก็แฮปปี้เอ็นดิ้ง อันหลังนี่เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากเห็น
 
ไม่มีใครอยากไปศาลหรอกครับ  แม้ว่าศาลจะสร้างให้ใหญ่โตโอ่โถงอย่างไร  หรือจะบริการดีจนได้รับเครื่องหมายไอเอสโอ 9002 ก็ตาม อย่างที่สุภาษิตจีนว่าไว้  “เป็นความกินขี้หมาดีกว่า” แหะ  แหะ   ว่าแต่ว่ากินได้ด้วยหรือครับ  ผมไม่เคยเห็น “ไทยนี้รักสงบ” เพลงชาติไทยว่าไว้อย่างนั้น ผมว่าคงจริงเพราะโดยหลักเมื่อมีปัญหาแฟรนไชซอร์จะต้องไม่นิ่งเฉย  แต่ต้องเร่งเข้ามาช่วยแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ ไม่ต้องการให้ทะเลาะ คงเป็นเหตุผลหนึ่ง  แต่ยังมีเหตุผลอื่นอีก สำคัญกว่า  เพราะถ้าทะเลาะกันกลายเป็นเรื่องปิดกันให้แซ่ดเมื่อไร  คนทั้งเมืองเป็นได้รู้หมด
 
หนังสือพิมพ์ก็จมูกไวเสียด้วย มีเรื่องเมื่อไรเดี๋ยวเดียวได้ลงหน้าหนึ่ง  จากนั้นสกู๊ปประเภทเจาะลึก….ถึงกึ๋นก็จะตามมา ลองนึกดูว่าถ้ามีเรื่องอย่างนี้ แฟรนไชซีอื่น ๆ จะเสียวสยองแค่ไหน  แล้วลูกค้าละ…..จะเสียความรู้สึกหรือเปล่า  อาจถึงขนาดไม่มาอุดหนุนก็ได้ คนที่กำลังตัดสินใจว่าจะลงทุนทำแฟรนไชส์นี้หรือเปล่า เขาคงชะงักไป ถ้ากำลังจะควักกระเป๋า  คงดึงมือกลับ  หรือถ้ากำลังจะเขียนเช็คให้  คงเลี่ยงว่าเช็คหมดยังไม่ได้ไปซื้อเล่มใหม่จากธนาคาร
 
แหม…แค่จะคว้าลูกน้อยหน่ามาโยนเล่นหน่อยเดียวเอง ทำไมกระทบทั้งแฟรนไชซอร์ แฟรนไชซี พาลลามไปถึงแฟรนไชซีอื่น  และคนนอกอีกด้วย ว่าไปแล้วจะเห็นได้ว่าทุกคนเสีย ไม่มีใครได้เลย ถ้ามีปัญหาพูดจาหาทางออกกันดี ๆ จะเยี่ยมที่สุด  จะได้ไม่มีใครเจ็บตัว
 

พูดกันมากขึ้น  ฟังกันมากขึ้น  โฆษณาออเร้นท์จำได้ไหม  ผมโฆษณาซ้ำให้เลย  ไม่คิดสตางค์ การแก้ไขข้อขัดแย้ง หรือการบริหารข้อข้อแย้งเป็นเรื่องที่แฟรนไชซอร์ต้องคิดถึงให้มาก
 
ถ้าพยายามเต็มที่แล้ว ถึงที่สุดแล้วก็ยังแก้ไม่ได้ ทางสุดท้ายที่ท่านคิด คือต้องไปศาล  ให้ท่านช่วยใช่ไหม ? ถูกครับ ไม่ก็ไม่เชิงถูกทั้งหมด  ความจริงยังมีกระบวนการอื่นที่พอจะช่วยเหลือได้โดยไม่ต้องไปศาล ต้องการบอกว่า น่าจะลองหาวิธีอื่นดูก่อน
 
ผมไม่ได้มีอคติอะไรกับศาล  ผมเองมีอาชีพที่ต้องเกี่ยวข้องกับศาล จะไปว่าผู้ร่วมวิชาชีพเดียวกันได้อย่างไร แต่ก็ยังไม่อยากให้ท่านไปศาลอยู่ดี  ถ้ามีที่อื่นที่ท่านน่าจะไปมากกว่า ถ้าไปศาล ทั้งสองฝ่ายจะคิดเหมือนกำลังจะออกรบ คงรู้สึกฮึกเหิมเหมือนตอนไทยจะรบพม่า เพียงแต่เปลี่ยนจากมีดดาบ หอก ธนูมาเป็นคำพูดที่เชือดเฉือนกันบนศาลแทน
 
แม้จะแค่คำพูด  แต่ก็ทำให้เลือดอาบได้เหมือนกัน ไม่อย่างนั้นท่านชวนจะได้ฉายาว่า ใบมีดโกนหรือครับ บนศาลนั้นจะมีสภาพเหมือนสนามรบจริง ๆ เพราะต่างฝ่ายต่างต้องชิงไหวชิงพริบกัน  แม้ท่านจะไม่ได้ทำเอง แต่ทนายของแต่ละฝ่ยเขาก็จะพยายามทำหน้าที่ด้วยการรักษาผลประโยชน์ของท่านอย่างเต็มที่
 
พูดไปก็เป็นเรื่องดีครับที่ท่านมีคนมาช่วยรักษาผลประโยชน์  แต่ผมกลัวว่าทุกฝ่ายจะเสียประโยชน์มากกว่า เพราะเสียทั้งเวลา เสียทั้งค่าใช้จ่าย และพอจบจากศาลท่านยังเสียเพื่อน โดยมีศัตรูเพิ่มขึ้นอีกหนึ่ง  ไม่เห็นดีเลยใช่ไหม ศาลเองก็คงเห็นด้วยกับข้อด้อยของระบบศาล จึงได้สร้างระบบไกล่เกลี่ย หรือพยายามชักจูงให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายยอมความกัน แต่ระบบไกล่เกลี่ยของศาลนั้น  จะมีผู้พิพากษาเป็นคนเข้ามาไกล่เกลี่ย
 

แต่ผมอยากแนะนำอีกระบบหนึ่ง คือ ระบบอนุญาโตตุลาการ พูดถึงเรื่องอนุญาโตตุลาการแล้ว มักจะไม่ค่อยใช้กันเท่าใดโดยเฉพาะกับสัญญาในประเทศ  มักจะเห็นในสัญญาระหว่างประเทศ หรือกิจการที่สลับซับซ้อนมาก ๆ  อย่างสัญญาสร้างทางด่วนที่เรียกค่าเสียหายตั้งห้าหกพันล้านนั่นไง…
 
แต่สัญญาแฟรนไชส์เมืองนอกเขามักจะมีเงื่อนไขให้ใช้ระบบอนุญาโตตุลาการด้วย และผมคิดว่าน่าจะแพร่หลายในสัญญาแฟรนไชส์ในประเทศต่อไป กระบวนการอนุญาโตตุลาการนั้น ถือว่าช่วยลบข้อด้อยของระบบศาลลงไปได้ เพราะคนที่จะมาเป็นอนุญาโตตุลาการนั้น  เป็นคนที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายช่วยกันเลือกขึ้นมา
 
วิธีพิจารณาของอนุญาโตตุลาการยังไม่ยุ่งยากเหมือนในระบบศาล  ระยะเวลาที่ใช้ก็น้อยกว่า และที่สำคัญไม่ค่อยทำให้เกิดความรู้สึกเป็นศัตรูมากนัก ก็คิดว่าน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการบริหารความขัดแย้งในธุรกิจแฟรนไชส์
 
กระทรวงยุติธรรมเองก็มีสำนักงานอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่เรื่องนี้โดยเฉพาะ  จะมีบุคลากรตลอดจนวิธีพิจารณาค่อนข้างสมบูรณ์  ถ้าท่านที่คิดจะใช้ก็น่าจะสะดวกอยู่เหมือนกัน แต่ทุกอย่างก็เหมือนเหรียญที่ต้องมีสองด้าน ถ้าตกลงใช้วิธีนี้แล้ว เมื่ออนุญาโตตุลาการตัดสินออกมาแล้ว ทุกคนก็ต้องถูกผูกมัดตามนั้น
 
แม้แต่ศาลเองยังเข้าไปแก้ไขอะไรไม่ค่อยได้เท่าไร ยกเว้นจะเห็นชัดว่าคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการขัดต่อกฎหมาย  ถ้าไม่อย่างนั้นศาลจะไม่มีสิทธิเข้าไปแตะการใช้ดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการ พูดง่าย ๆ คือศาลจะดูแต่รูปแบบ แต่ไม่ลงไปดูเนื้อหาในรายละเอียด
 
เมื่อเป็นอย่างนี้จึงต้องเลือกอนุญาโตตุลาการให้ดี อย่าให้มีปัญหาอย่างเรื่องค่าปรับมหาโหดของทางด่วน ผมเห็นตอนนี้นักกฎหมายฝ่ายรัฐบาลคิดกันหัวแทบระเบิดว่าจะทำไงดี จะได้ไม่ต้องจ่ายค่าปรับมากขนาดนั้นตามคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ ตอนนี้ศาลเองก็มีโครงการนำวิธีพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่องมาใช้ คือ จะสืบพยานติดต่อกันไปจนกว่าจะเสร็จ ก็น่าจะทำให้คดีเสร็จเร็วขึ้น  ข้อด้อยในเรื่องระยะเวลาก็อาจหมดไป
 

ดังนั้นจะเลือกใช้วิธีใดก็คงแล้วแต่แฟรนไชซอร์จะตัดสินใจ แล้วบอกคนร่างเขาจะได้ทำให้ตามที่ต้องการ ถึงตรงนี้ถ้าถามผมอีกครั้งว่าจำเป็นไหมที่ต้องมีสัญญาแฟรนไชส์ ทุกท่านก็คงต้องตอบเหมือนผมว่าจำเป็นอย่างจริงแท้  และแน่นอน แต่ขอให้จำไว้ว่าสัญญาแฟรนไชส์ควรเป็นเอกสารชิ้นหนึ่งที่เขียนบอกสิทธิ และหน้าที่ของแฟรนไชซอร์และแฟรนไชซี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในระหว่างคู่สัญญา
 
แต่จำไว้ว่าไม่ว่าคนร่างจะเก่งแค่ไหน ก็ไม่มีทางเขียนสัญญาคุ้มครองให้คุณอยู่รอดปลอดภัยจากปัญหาได้ทุกกรณี
 
ความสัมพันธ์ระหว่างแฟรนไชซอร์ และแฟรนไชซีนั้นมิได้เกิดเฉพาะจากตัวหนังสือในสัญญาเท่านั้น ในการทำธุรกิจมีมากมายหลายเรื่องที่เราต่างรู้ดีว่า  อะไรควรทำ  อะไรไม่ควรทำ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีเขียนอยู่ตรงไหนเลย
 
วัฒนธรรมในการทำธุรกิจแบบไทย ๆ ยังมีข้อแตกต่างจากของเมืองนอกเมืองนาเขาพอสมควร ของเรามีการอะลุ้มอล่วยค่อนข้างเยอะ ที่ทำ ๆ กันอยู่บางทีไม่เหมือนกับที่เขียนในสัญญาแฟรนไชส์เลยก็มี
 
แต่วันดีคืนโหดงัดสัญญามาบอกว่าทำผิดสัญญา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เห็นเคยพูดอย่างนี้เลย แล้วจะมาฟ้องศาล อย่างนี้ทำเอากาวเสื่อม มองหน้ากันไม่ติดไปหลายคู่ก็มี
ทำธุรกิจด้วยกันโอกาสที่จะทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติถ้าเราหาหนทางที่นุ่มนวล และเป็นผลดีกับทุกฝ่าย
 
ไม่จำเป็นต้องมีฝ่ายหนึ่งชนะอีกฝ่ายหนึ่งแพ้ แต่ชนะเหมือนกันทุกฝ่าย ที่เรียกว่า win-win  ไม่ดีกว่าหรือ ผมรู้เหมือนกันว่าทำยาก แต่ก็น่าลองทำดู เพราะผมรู้ว่าคุณทำได้

อ้างอิงจาก อาจารย์สมชาย รัตนซื่อสกุล
บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนพฤษภาคม 2567..
24,767
“มูฟ อีวี เอกซ์” สร้างรายได้ดีแค่ไหน! ทำไมถึงน่า..
3,875
รวม 12 แฟรนไชส์โหนกระแส คนไทยไม่เคยลืม!
2,369
จริงมั้ย? กำเงิน 15 ล้านบาท ถึงจะซื้อแฟรนไชส์ DQ..
1,918
กลยุทธ์ “แดรี่ควีน” เจ้าไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเมืองไ..
1,279
จริงมั้ย? 7-Eleven เห็นทำเลไหนดี เปิดเองแข่งสาขา..
1,254
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด