บทความทั้งหมด    บทความค้าขาย    การบริหารจัดการร้านค้า    การเช่าพื้นที่ หาทำเล เปิดร้าน
4.2K
2 นาที
29 กันยายน 2556
อนาคต 'ตลาดนัดจตุจักร' ถึงเวลารัฐบาลต้อง 'เปลี่ยนใจ'

เป็นเวลาเกือบ 2 ปีมาแล้วที่ตลาดนัดจตุจักรเปลี่ยนมือผู้บริหารจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) มาเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเวลาที่ผ่านมาต่างก็มีเสียงสะท้อนในด้านต่าง ๆ มากมาย จนมีการหยิบยกปัญหาขึ้นมาเพื่อเป็นเหตุสนับสนุนว่าตลาดนัดจตุจักร ควรกลับไปอยู่ใต้การบริหารของ กทม.เหมือนเดิมหรือไม่
 
ตลาดนัดจตุจักรถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวติดอันดับ 1 ของกรุงเทพมหานคร เป็นตลาดที่มีความเป็นมายาวนานกว่า 60 ปี จากจุดเริ่มต้นที่สนามหลวง จนมาที่จตุจักรในปัจจุบัน มีจำนวนแผงค้าทั้งสิ้นกว่า 8,000 แผง มีสินค้าหลากหลายมากมาย ทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค อาหารการกิน เสื้อผ้า เครื่องประดับ สัตว์เลี้ยง ต้นไม้ งานศิลปะ สินค้าหัตถกรรมพื้นเมือง และเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น เรียกว่าหาของจากที่อื่นไม่ได้มาที่จตุจักร ไม่มีผิดหวัง
 
เดิม กทม.เป็นผู้เช่าที่ จาก รฟท. จัดการตลาดนัด บนเนื้อที่กว่า 68 ไร่ สัญญาเช่า 30 ปี บริหารจัดการจนเป็นตลาดนัดที่ใหญ่ และมีชื่อเสียงที่สุดของประเทศ แต่สัญญาเช่าที่ได้หมดลงเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 55 ซึ่งก่อนหมดสัญญา คณะรัฐมนตรีของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 54 ให้ รฟท.ทำหน้าที่บริหารจัดการตลาดนัดจตุจักร เอง เนื่องจากตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาที่ รฟท.ให้ กทม.เช่าพื้นที่นั้น ได้รับเงินค่าเช่าเพียง 147 ล้านบาท โดยมีค่าเช่าในช่วง 20 ปีแรกต่ำมาก เพียง 1.6 ล้านบาท และมีการปรับขึ้นปีละ 3.4 ล้านบาท ในช่วงปีที่ 20

ส่วนช่วง 5 ปีสุดท้ายของสัญญาเช่า แบ่งเป็น 2 ระยะ คือปี 2551-2553 ได้ค่าเช่าปีละ 20.8 ล้านบาท และ 2 ปีสุดท้าย รฟท.ได้ค่าเช่าสูงสุดปีละ 24.2 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่า รฟท.ได้ค่าเช่าเฉลี่ยตารางเมตรละประมาณ 220 บาท จึงต้องการบริหารจัดการทั้ง ๆ ที่ กทม.พยายาม เจรจาเพื่อปรับขึ้นค่าเช่าให้แต่ไม่เป็นผล
 
ดังนั้น รฟท.จึงได้เข้ามาบริหารตลาดนัดจตุจักรเองตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 55 ซึ่งช่วงปีที่ผ่านมาก็เกิดเสียงสะท้อนอย่างมากมาย ซึ่งมีทั้งสนับสนุนและต่อต้านจากผู้ค้า และเมื่อไม่นานมานี้ ทางคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ได้เรียกตัวแทน รฟท.เข้าให้ข้อมูลเรื่องการบริหารตลาดนัดจตุจักร เนื่องจากการบริหารงานของ รฟท.กว่า 1 ปีที่ผ่านมานั้น พบว่า เกิดปัญหาต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของผู้ค้า เรื่องความสะอาดภายในตลาด การบริหารจัดการ รวมไปถึงการบริหารงานที่ขาดทุนของ รฟท. ที่มีค่าใช้จ่ายในการบริหารตลาดมากถึงปีละประมาณ 400 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้เพียงปีละประมาณ 100 ล้าน จนทำให้ต้องของบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาล เพื่อนำไปแก้ปัญหาการขาดทุนที่เกิดขึ้น ซึ่งแตกต่างกับช่วงที่ กทม.บริหารตลาดนัด ที่มีรายได้ถึงปีละ 120 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเพียงปีละประมาณ 80 ล้านบาทเท่านั้น
 
จากการลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นผู้ค้าในตลาดนัดจตุจักร ถึงการบริหารงานเปรียบเทียบกับ 2 หน่วยงาน โดยผู้ค้าส่วนใหญ่มองว่าการบริหารงานที่ผ่านมาของ กทม.นั้นมีระบบระเบียบที่ดีกว่า รฟท. โดยผู้ค้าเสื้อผ้า โครงการ 6 บอกว่า เคยอยู่ภายใต้การดูแลของ กทม.มานาน ตั้งแต่ยังเปิดตลาดนัดที่สนามหลวง จึงเป็นเสมือนญาติพี่น้องกัน เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็สามารถพูดคุยกันได้ง่ายกว่า ซึ่งต่างจาก รฟท.ที่เป็นมือใหม่ในด้านนี้ ทำให้การทำงานยังไม่มีระเบียบเท่าที่ควร

อีกทั้งค่าเช่าแผงก็เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้พ่อค้า แม่ค้าส่วนใหญ่ไม่ชอบใจ เพราะในอดีตเคยจ่ายค่าเช่าในราคาประมาณ พันบาทต่อเดือน แต่เมื่อ รฟท.เข้ามาบริหารงาน ก็ขึ้นราคาเป็นหลักหมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งมองว่าเป็นราคาที่แพงเกินไปกับการขายของได้แค่ 8 วันต่อเดือนเท่านั้น อีกทั้งการบริหารงานในส่วนอื่น ๆ ของ รฟท.ก็ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ทั้งเรื่องการรักษาความสะอาดในตลาดที่ค่อนข้างปล่อยปละละเลย และเรื่องการประชาสัมพันธ์ตลาดที่มีไม่มากนัก
 
ผู้ค้างานศิลปะ โครงการ 1 ก็บอกว่า รฟท.เป็นมือใหม่ในการบริหารงาน ทำให้หลาย ๆ สิ่งยังไม่ลงตัว เช่น การประชาสัมพันธ์ตลาด มีไม่มากนัก ส่งผลต่อการค้า เนื่องจากงานศิลปะมีราคาค่อนข้างสูงทำให้ขายได้ยาก ถ้าขาดการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องก็ทำให้ตลาดไม่เป็นที่สนใจโดยเฉพาะกับชาวต่างชาติผู้ซึ่งมีกำลังซื้อสูง ส่วนในเรื่องค่าเช่าแผงนั้น ก็ยิ่งแพงขึ้นไปอีก
 
ด้านผู้ค้ารองเท้า โครงการ 5 เล่าว่า ขายของที่ตลาดนัดจตุจักรมา 7 ปีแล้ว คิดว่าการบริหารงานของ กทม. และ รฟท.ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ส่วนค่าเช่าแผงที่มีการขึ้นราคา คิดว่าก็เป็นราคาที่รับได้ เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป จะให้ราคาคงอยู่ระดับเดิมตลอดไปก็คงไม่ได้ ส่วนเรื่องการบริหารตลาดขาดทุนของ รฟท. คิดว่าไม่น่าจะขาดทุนจริง เพราะราคาค่าเช่าแผงก็เพิ่มขึ้น แต่คงเป็นเรื่องการจัดการภายในที่ยังไม่เป็นระบบมากกว่า
 
จะเห็นได้ว่าถ้าดูจากเม็ดเงินในการบริหารจัดการระหว่าง 2 หน่วยงาน การดำเนินการภายใต้การบริหารของ รฟท. ต้องนำภาษีของประเทศไปสูญเสียตรงนั้นหลายร้อยล้าน ในขณะที่ กทม.บริหารมีกำไร ร่วม 40 ล้านบาท ซึ่งก็พอจะเข้าใจว่าการดำเนินการของกทม.มีค่าใช้จ่ายน้อยเพราะใช้ทรัพยากรของกทม. ที่เป็นข้าราชการมาทำงานพิเศษ รวมทั้งคนงานทั้งพนักงานรักษาความปลอดภัย คนเก็บกวาด รถขยะ จึงทำให้มีต้นทุนต่ำ 
 
พูดง่าย ๆ ปัญหามาเฟียและกลุ่มผลประโยชน์ ในตลาดนัดไม่ว่ายุคไหน ๆ ใครบริหาร ก็ยังเป็นอยู่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นคงต้องดูที่ว่าใครทำให้ประเทศชาติสูญเสียน้อยกว่ากัน ฉะนั้นน่าจะได้เหตุผลเป็นคำตอบที่ชัดเจน ว่าผู้ที่ควรจะบริหารจัดการตลาดนัดแห่งนี้ต่อไปควรเป็นใคร ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลคงต้องตัดสินใจ

อ้างอิงจาก เดลินิวส์
 
บทความค้าขายยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ทีมไหน! หา"ทำเล"ก่อนทำธุรกิจ vs เลือก "ธุรกิจ" ก..
408
บทความค้าขายมาใหม่
บทความอื่นในหมวด