บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    ความรู้ทั่วไประบบแฟรนไชส์
883
2 นาที
7 มิถุนายน 2567
จริงมั้ย ขายแฟรนไชส์ ตีหัวเข้าบ้าน
 

กุญแจสู่ความสำเร็จของธุรกิจแฟรนไชส์อยู่ที่ระบบกับคน ต้องมีความพร้อมและเดินหน้าไปด้วยกัน การขายแฟรนไชส์ต้องมีทั้งแบรนด์และระบบที่ดีให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ เพื่อให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์รู้สึกคุ้มค่ากับเงินที่เขาต้องจ่ายไป
 
แต่ที่ผ่านมาเชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเห็นข่าวธุรกิจแฟรนไชส์ปิดกิจการ เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์เอาเปรียบและโกงผู้ซื้อแฟรนไชส์ต่างๆ นานา รวมไปถึงผู้ซื้อแฟรนไชส์ไม่ได้รับการดูแลและสนับสนุนจากเจ้าของแฟรนไชส์ ปล่อยทิ้งขว้างให้ขายตามมีตามเกิด เปรียบเสมือนขายแฟรนไชส์แบบตีหัวเข้าบ้าน ธุรกิจไม่พร้อมก็อยากขาย บางแบรนด์ออกโปรโมชั่นดึงดูดใจลูกค้าให้มาซื้อแฟรนไชส์ มีเท่าไรใส่กันเต็มที่ การันตีรายได้แบบ 100% เพื่อให้ได้จำนวนผู้ซื้อแฟรนไชส์เพิ่มขึ้น
 
ตัวอย่างกรณี...ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ดารุมะซูชิ หลอกลงทุนแฟรนไชส์, ย่างให้ หลอกลงทุนแฟรนไชส์, ลูกชิ้นเชฟอ้อย ไม่ส่งอุปกรณ์ให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์, ร้านสะดวกซัก Washcoin ปิดกิจการกะทันหัน และอื่นๆ หลายแบรนด์เอาเปรียบผู้ซื้อแฟรนไชส์

 
ธุรกิจแฟรนไชส์เหล่านี้เป็นการตีหัวเข้าบ้าน เจ้าของแฟรนไชส์หวังเงินค่าแฟรนไชส์อย่างเดียว โดยที่ธุรกิจยังไม่พร้อม ระบบยังไม่ดีพอ อีกทั้งเจ้าของแฟรนไชส์ยังไม่มีความรู้เรื่องระบบแฟรนไชส์เลย พอมีคนมาขอซื้อแฟรนไชส์ก็อยากขายทันที   
 
ขายแฟรนไชส์…คนพร้อม ระบบดี พื้นฐานแน่น
 

เจ้าของกิจการที่คิดจะขายแฟรนไชส์ อันดับแรกๆ ต้องมีความพร้อมเรื่องคน ระบบแฟรนไชส์ดีมีมาตรฐาน และเจ้าของแฟรนไชส์ควรมีความรู้เรื่องระบบแฟรนไชส์เป็นอย่างดี และมีความรู้ด้านกฎหมาย หรือมีที่ปรึกษาด้านกฎหมาย เพราะจะช่วยให้เจ้าของแฟรนไชส์รู้ว่าอะไรเป็นข้อห้าม สิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ ต้องศึกษาให้รู้จริง ก่อนคิดจะขายแฟรนไชส์
 
สมมติถ้าเจ้าของแฟรนไชส์ไม่รู้กฎหมาย หากทำผิดยังพอให้อภัยได้ แต่บางรายที่จงใจ ตั้งใจ เอารัดเอารัดเอาเปรียบผู้ซื้อแฟรนไชส์ เกิดการฟ้องร้องกัน เป็นคดีความกันใหญ่โต สุดท้ายต้องล้มหายตายจากกันไป 
 
สาเหตุที่ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์หายไปจากระบบ ส่วนหนึ่งมาจากเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์มองสั้นๆ แค่ว่า “ตีหัวเข้าบ้าน” กล่าวคือ เอาไว้ก่อน ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะเป็นจะตายก็เรื่องของมัน ขายแฟรนไชส์ได้ก็พอ เขาจะทำอย่างไรก็แล้วแต่ ไม่มีระบบการสนับสนุน ไม่มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ใดๆ ให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์เลย สุดท้ายแบรนด์แฟรนไชส์จะตายไปด้วย
 
 
สำหรับผู้ซื้อแฟรนไชส์ ถ้าไม่อยากให้เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ตีหัวเข้าบ้าน ต้องเลือกดูแบรนด์ที่มีศักยภาพ มีขื่อเสียง คนรู้จัก มีความน่าเชื่อถือ ที่สำคัญจะต้องประเมินดูว่าเงินที่จ่ายไป ได้อะไรกลับมาคุ้มค่าหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นระบบแฟรนไชส์ที่ดีมีมาตรฐาน ประสบการณ์เจ้าของแบรนด์ องค์ความรู้ที่เขาถ่ายทอดให้ และคำตอบทุกอย่างที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ไม่รู้
 
สรุปก็คือ ก่อนขายแฟรนไชส์ เจ้าของแฟรนไชส์ต้องเตรียมความพร้อมทุกอย่าง ธุรกิจพร้อม คนพร้อม มีองค์ความรู้ สร้างระบบหลังบ้าน มีระบบสนับสนุนผู้ซื้อแฟรนไชส์ที่พร้อมและแน่น วิสัยทัศน์ธุรกิจต้องชัดเจน อย่ารีบฉาบฉวยตีหัวเข้าบ้าน ขายแล้วไม่ดูแลแฟรนไชส์ซีจะทำให้ธุรกิจอยู่ได้ไม่ยั่งยืน จำไว้ว่าไม่มีโมเดลแฟรนไชส์สำเร็จ 100% ต้องปรับตัวตามสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา และต้องพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ซื้อแฟรนไชส์ตลอดเวลา 
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise