บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    ความรู้ทั่วไประบบแฟรนไชส์
307
3 นาที
18 พฤศจิกายน 2567
รู้ก่อนไม่มีเจ๊ง! “คนซื้อ-คนขาย” Do & Don't ในธุรกิจแฟรนไชส์ 
 

ในการทำธุรกิจแฟรนไชส์ ทั้งคนซื้อ (แฟรนไชส์ซี) และคนขาย (แฟรนไชส์ซอร์) ควรมีแนวทางการทำงานหรือปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ที่เหมาะสม เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทั้งสองฝ่าย มาดูกันว่าสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำของแฟรนไชส์ซีและแฟรนไชส์ซอร์ หรือ Do & Don't สำหรับทั้งสองฝ่ายมีอะไรกันบ้าง 
 
Do สำหรับแฟรนไชส์ซี (คนซื้อ)
1.ศึกษาระบบแฟรนไชส์ให้เข้าใจอย่างละเอียด
 

ก่อนซื้อแฟรนไชส์ควรทำความเข้าใจโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ที่เจ้าของแฟรนไชส์นำเสนอ เช่น ระบบการทำงานต่างๆ, รูปแบบการเปิดร้าน, ค่าใช้จ่าย, งบการลงทุน และการสนับสนุนต่างๆ จากเจ้าของแฟรนไชส์

2.วิเคราะห์ทำเลและทำความเข้าใจในตลาด
 
องค์ประกอบแรกที่เจ้าของแฟรนไชส์ใช้พิจารณาคัดเลือกผู้ซื้อแฟรนไชส์ ก็คือ ทำเลเปิดร้าน อยู่พื้นที่ไหน อำเภอไหน จังหวัดไหน ดังนั้น ก่อนจะซื้อแฟรนไชส์ควรทำการศึกษาวิเคราะห์ทำเลและตลาดในพื้นที่อย่างละเอียด ทั้งสภาพเศรษฐกิจ จำนวนประชากร กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คู่แข่ง เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการตอบสนองความต้องการของลูกค้าในพื้นที่นั้นได้

3.ปฏิบัติตามคู่มือที่แฟรนไชส์ซอร์กำหนด
 

หน้าที่อย่างแรกของแฟรนไชส์ซี ถ้าอยากประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจแฟรนไชส์ ก็คือ การปฏิบัติงานตามระบบที่แฟรนไชส์ซอร์ได้วางรูปแบบหรือกำหนดเอาไว้ในคู่มือแฟรนไชส์ เพื่อความเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกสาขา ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อลูกค้าไปใช้บริการสาขาไหนก็ตามจะได้รับสินค้าและบริการที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน 

4.ติดต่อและขอคำแนะนำเมื่อเกิดปัญหา 
 
เป็นอีกหนึ่งวิธีการทำงานของแฟรนไชส์ซีในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับแฟรนไชส์ซอร์ เมื่อเจอปัญหาในการบริการจัดการร้านหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ ควรรีบติดต่อไปยังแฟรนไชส์ซอร์เพื่อขอคำแนะนำและการสนับสนุนอย่างเร่งด่วน 

5.บริหารจัดการเรื่องเงินอย่างมีระเบียบ
 

ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ ถ้าไม่อยากให้เกิดกรณี “ขายดีแต่เจ๊ง” นอกจากแฟรนไชส์จะต้องปฏิบัติตามคู่มือแฟรนไชส์อย่างละเอียดแล้ว ยังต้องมีการคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีแผนการบริหารเงินที่ดีเพื่อลดความเสี่ยง
 

Don't สำหรับแฟรนไชส์ซี (คนซื้อ)
1.อย่าดัดแปลงระบบและรูปแบบการทำธุรกิจ
 

 
คู่มือปฏิบัติงานแฟรนไชส์ที่เขียนเอาไว้โดยแฟรนไชส์ซอร์จะต้องทำตามอย่างเคร่งครัด อย่าดัดแปลงหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานด้วยตัวเองโดยที่แฟรนไชส์ซอร์ไม่เห็นด้วย เพราะอาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์และผลประกอบการ

2.อย่าคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จทันที
 
การซื้อแฟรนไชส์ไม่ได้การันตีว่าจะประสบความสำเร็จในทันที หรือคนที่ซื้อแฟรนไชส์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสำเร็จกันทุกราย ซื้อแฟรนไชส์คาเฟ่อเมซอนต้องใช้เวลา 3 ปีในการคืนทุน หลังจากนั้นต่อสัญญาได้อีก 3 ปี (เป็นช่วงทำกำไร) คนที่จะประสบความสำเร็จในการทำแฟรนไชส์ มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ที่ตัวผู้ซื้อแฟรนไชส์เองว่าจะมีความตั้งใจมากแค่ไหน เลือกแบรนด์ที่มีโอกาส สินค้าและบริการตอบโจทย์ผู้บริโภค มีการสนับสนุนจากแฟรนไชส์ซอร์ และต้องรู้จักปรับตัวระยะยาว 

3.อย่าละเลยการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะ
 

หลายๆ แบรนด์แฟรนไชส์ที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทย จะมีโครวงการหรือกิจกรรมการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะการเรียนรู้ให้กับพาร์ทเนอร์หรือสาขาแฟรนไชส์ซีอย่างต่อเนื่อง แฟรนไชส์ซีจะไปเองหรือส่งผู้จัดการร้านไปแทนก็ได้ แต่ควรเข้าร่วมกิจกรรมของทางแฟรนไชส์ซอร์ทุกครั้ง เพื่อที่จะเรียนรู้ระบบใหม่ๆ สามารถปรับตัวได้ทัน และพัฒนาทักษะได้อย่างถูกต้อง

4.อย่าซื้อแฟรนไชส์โดยไม่ศึกษาข้อมูล
 
การซื้อแฟรนไชส์โดยไม่ศึกษาข้อมูลให้ดี อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการลงทุนสูง ไม่โดนหลอก ก็ไม่มีลูกค้า ขายไม่ได้ ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจลงทุนควรเปรียบเทียบธุรกิจแฟรนไชส์ที่ตัวเองชอบอย่างน้อย 3-5 แบรนด์ ดูงบการลงทุน ระยะเวลาคืนทุน ทำเลเปิดร้าน ลูกค้าเป้าหมายในพื้นที่ การสนับสนุนจากแบรนด์ และควรลงพื้นที่สอบถามสาขาแฟรนไชส์ วิเคราะห์จำนวนลูกค้าเข้าร้านด้วย เพื่อจะได้ธุรกิจแฟรนไชส์ที่เหมาะสมและมีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด 
 

Do สำหรับแฟรนไชส์ซอร์ (คนขาย)

1.สนับสนุนแฟรนไชส์ซีครบถ้วนเพียงพอ 
 

ก่อนจะขายแฟรนไชส์ควรวางระบบให้การช่วยเหลือและสนับสนุนแฟรนไชส์ซีอย่างครบถ้วนเพียงพอตลอดอายุสัญญาแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมก่อนเปิดร้าน พัฒนาทักษะหลังเปิดร้าน การบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่เพียงพอ การทำการตลาด จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ ตลอดจนเครื่องมือการทำธุรกิจที่จำเป็นสำหรับแฟรนไชส์ซี

2.เปิดเผยข้อมูลและสื่อสารอย่างชัดเจน
 
เป็นสิ่งที่เจ้าของแฟรนไชส์จะต้องทำมากที่สุดก่อนจะขายแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบโครงสร้างแฟรนไชส์ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ระยะเวลาคืนทุน รายละเอียดในสัญญาแฟรนไชส์ สินค้าและบริการ ลูกค้าเป้าหมาย ตลอดนโยบายการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในธุรกิจ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาเหมือนกรณี SUBWAY ที่มาตรฐานสินค้าเปลี่ยนจากการไม่ชัดเจนในการสื่อสารไปยังสาขา 

3.ตรวจสอบมาตรฐานสาขาแฟรนไชส์ซี


อีกหนึ่งหน้าที่ของแฟรนไชส์ซอร์ในการสร้างการเติบโตให้กับเครือข่ายแฟรนไชส์ นั่นคือ การมีระบบตรวจสอบมาตรฐานสาขาแฟรนไชส์ซี ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการร้าน การจัดวางสินค้าและบริการ การให้บริการลูกค้าของพนักงาน การดูแลรักษาความสะอาด ในต่างประเทศให้ความสำคัญมาก เพื่อให้ธุรกิจทุกสาขามีคุณภาพมาตรฐานและภาพลักษณ์แบบเดียวกัน

4.รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับแฟรนไชส์ซี
 
หน้าที่อีกอย่างหนึ่งที่แฟรนไชส์ซอร์ต้องทำ คือ การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับเครือข่ายแฟรนไชส์ซีแต่ละสาขา มีการติดต่อสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอกับแฟรนไชส์ซี เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดอายุสัญญา
 

Don't สำหรับแฟรนไชส์ซอร์ (คนขาย)
1.อย่าหวังผลกำไรจากแฟรนไชส์ซีอย่างเดียว
 

รายได้ของแฟรนไชส์มาจากหลายทาง อาทิ ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์แรกเข้า, ค่า Royalty Fee, ค่า Marketing Fee, ค่าวัตถุดิบและสินค้า, ค่าจัดส่งวัตถุดิบ, ค่าต่ออายุสัญญาแฟรนไชส์ ฯลฯ โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้ควรนำไปดูแลและสนับสนุนแฟรนไชส์ซีให้ประสบความสำเร็จ จะส่งผลให้ภาพลักษณ์แข็งแกร่ง แฟรนไชส์ซอร์ไม่ควรหาผลกำไรจากการขายแฟรนไชส์เพียงอย่างเดียว 

2.อย่าขายแฟรนไชส์โดยไม่รู้เรื่องแฟรนไชส์
 
ยกตัวอย่างกรณีแฟรนไชส์ “ลูกชิ้นเชฟอ้อย” ที่เป็นข่าวโด่งดังเมื่อช่วงปลายปี 2566 เป็นปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างแฟรนไชส์ซอร์กับแฟรนไชส์ โดยเชฟอ้อยไม่มีความรู้เรื่องแฟรนไชส์ดีพอ ไม่มีการสร้างระบบแฟรนไชส์ที่เพียบพร้อม ทำให้เกิดปัญหาการบริหารและจัดส่งสินค้าและอุปกรณ์ ตลอดจนปัญหาเรื่องของสัญญาแฟรนไชส์ที่ไม่กำหนดหน้าที่ของแต่ละฝ่ายชัดเจน 

3.อย่าเพิกเฉยต่อปัญหาที่แฟรนไชส์ซีรายงาน
 

ข้อนี้ถือว่าสำคัญอย่างมาก หากแฟรนไชส์ซอร์ต้องการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดอายุสัญญา โดยเมื่อมีหากมีปัญหาหรือข้อร้องเรียนจากแฟรนไชส์ซี แฟรนไชส์ซอร์ควรให้ความสำคัญและเร่งแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้แต่ละสาขาของแฟรนไชส์ซีดำเนินงานต่อไปได้โดยไม่ต้องสะดุด 
 
4.อย่าทำระบบแฟรนไชส์ซับซ้อนเกินไป
 
หลักการของระบบแฟรนไชส์ที่ดีต้องสามารถถ่ายทอดให้กับคนอื่นได้ง่าย เจ้าของธุรกิจที่อยากขายแฟรนไชส์ไม่ควรวางระบบแฟรนไชส์หรือระบบการทำงานต่างๆ ที่ซับซ้อนเกินไป จนไม่สามารถถ่ายทอดหรือสอนคนอื่นได้ เพราะถ้าแฟรนไชส์ซีปฏิบัติตามยากอาจส่งผลเสียต่อมาตรฐานของแบรนด์ในอนาคตได้ ควรทำให้กระบวนการต่างๆ ง่ายและชัดเจนที่สุด
 
สุดท้าย การทำธุรกิจแฟรนไชส์ให้ประสบความสำเร็จ แฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซีต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ติดต่อสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน หากแฟรนไชส์ซีและแฟรนไชส์ซอร์ปฏิบัติตามหลักการ Do & Don't เหล่านี้ อาจจะช่วยให้ทั้งแฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซีสามารถเติบโตและประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว

ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
 
บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ซื้อแฟรนไชส์ ไก่ย่างห้าดาว ใช้เงินเท่าไหร่ คืนทุ..
1,797
“พรีเมี่ยมคาร์แคร์” บริการครบวงจร! เน้นคุณภาพ ลง..
1,622
5 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนตุลาคม 2567
1,393
เปิดแฟรนไชส์ไหนดี Mixue vs Bing Chun คุ้มค่า น่า..
1,151
5 แฟรนไชส์ สะดวกล้าง-สะดวกชาร์จ สั่งเงินทำงาน ปี..
922
ทำเลทองในปั้ม! ขายอะไร รวยไวสุด รวม 9 แฟรนไชส์ขา..
876
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด