บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การเริ่มต้นธุรกิจใหม่    ความรู้ทั่วไปทางธุรกิจ
278
4 นาที
28 พฤศจิกายน 2567
สุกี้ไทยเปลี่ยนมือ MK รายได้วูบ สุกี้ตี๋น้อย แซงเฉย
 

รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันตลาดชาบู-สุกี้ในบ้านเรามีมูลค่ากว่า 2.3 หมื่นล้านบาท โดย MK สุกี้ ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 มากว่า 37 ปี ด้วยจำนวนสาขาและรายได้ที่ทิ้งห่างคู่แข่งมาโดยตลอด  
 
แต่ในช่วง 2-3 ปีมานี้ พบว่าตลาดสุกี้-ชาบูในบ้านเรามีการแข่งขันกันสูงมาก มีผู้เล่นหน้าใหม่กระโดดเข้ามาชิงส่วนแบ่งในตลาด ไม่ใช่แค่นีโอสุกี้ สุกี้ตี๋น้อย ลัคกี้สุกี้ สุกี้นินจา สุกี้จินดา สุกี้ดารา เอี่ยวไถ่สุกี้โบราณ  สุกี้เรือนเพชร ยังมีอีกหลายแบรนด์ ชูจุดขายบุฟเฟ่ต์ราคาเข้าถึงง่าย เรียกได้ว่าตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคในสถานการณ์ที่ค่าครองชีพสูงขึ้น
 
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แบรนด์เล็กแบรนด์น้อยจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ทำรายได้และกำไรเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “สุกี้ตี๋น้อย” ที่มาแรงสุดๆ สามารถทำกำไรเกือบจะแซงแบรนด์ใหญ่อย่าง MK ที่เจอมรสุม “ยอดขาย-กำไร” อ่อนแรงลงไป  
 
รายได้ MK สุกี้  

 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จะมีแบรนด์ธุรกิจในพอร์ตโฟลิโอมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เอ็มเค สุกี้, ยาโยอิ, แหลมเจริญ ฯลฯ แต่กลับต้องรับมือกับยอดขายและรายได้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง 
 
เห็นได้จากผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2567 ของ MK มีรายได้จากการขายจำนวน 3,683 ล้านบาท ลดลง 10.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ถ้าเจาะลึกลงไปรายไตรมาส จะพบว่าตลอดทั้งปี 2567 ยอดขายของ MK ลดลงอย่างต่อเนื่อง
  • ไตรมาส 3 รายได้จากการขาย 3,683 ล้านบาท ลดลง 10.1% กำไรสุทธิ 341 ล้านบาท ลดลง 12.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน 
  • ไตรมาส 2 รายได้จากการขาย 4,107 ล้านบาท ลดลง 7.4% กำไรสุทธิ 401 ล้านบาท ลดลง 12.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน 
  • ไตรมาส 1 รายได้จากการขาย 3,946 ล้านบาท ลดลง 3.5% กำไรสุทธิ 347 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ “ลดลง” จากไตรมาส 4 ปี 2566 ที่กำไรสุทธิ 509 ล้านบาท 
ผลประกอบการบริษัท “เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป” เจาะลึกเป็นรายปี ย้อนกลับตั้งแต่ปี 2563 
  • ปี 2563 รายได้ 13,655 ล้านบาท กำไรสุทธิ 907 ล้านบาท
  • ปี 2564 รายได้ 11,368 ล้านบาท กำไรสุทธิ 130 ล้านบาท
  • ปี 2565 รายได้ 15,782 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,439 ล้านบาท
  • ปี 2566 รายได้ 16,973 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,681 ล้านบาท
  • ปี 2567 (9 เดือน)  รายได้ 11,735 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,088 ล้านบาท 
สำหรับผลกระทบของยอดขายไตรมาส 3 ที่ลดลง 412 ล้านบาท หรือ 10.1% บริษัทระบุว่าร้านเดิมหรือ Same store ยอดขายลดถึง 12.7% สาเหตุสำคัญมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ค่าครองชีพและภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น 
 
อย่างไรก็ตาม “เอ็มเค สุกี้” ยังเป็นแบรนด์หลักทำรายได้สูงสุด โดยปี 2566 บริษัทมีร้านเอ็มเค สุกี้ให้บริการ 450 สาขา, เอ็มเค โกลด์ 5 สาขา, เอ็มเค ไลฟ์ 4 สาขา, ร้านยาโยอิ 200 สาขา, ร้านฮากาตะ 1 สาขา, ร้านมิยาซากิ 8 สาขา, แหลมเจริญ ซีฟู้ด 45 สาขา ร้าน ณ สยาม 1 สาขา, ร้านเลอ สยาม 3 สาขา, ร้านบิซซี่ บ็อก 2 สาขา, ร้านกาแฟและเบเกอรี เลอ เพอทิท 3 สาขา ยังมีธุรกิจบริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่หรือแคเทอริงอีก

สำหรับโครงสร้างรายได้ของ “เอ็มเค กรุ๊ป” มาจากแบรนด์ร้านเอ็มเคสุกี้ 72% ยาโยอิ 18% แหลมเจริญ 7% และอื่นๆ 3% 

ธุรกิจในเครือ MK Group
 

ปัจจุบัน MK Group มี 6 กลุ่มธุรกิจในเครือ นอกจากธุรกิจเชนร้านอาหารที่มากที่สุดในประเทศไทย ดังนี้
  1. International Franchise ร้านสุกี้ MK Restaurants แบรนด์สุกี้อันดับ 1 ของไทย และร้านแหลมเจริญซีฟู้ด แบรนด์อาหารไทยซีฟู้ด
  2. M-Senko Logistic ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์แบบ One Stop Services for all Business รองรับสินค้าทั้ง Food และ Non-Food บริการขนส่งแบบ cold-chain logistics ทั่วประเทศไทย
  3. Mark One Innovation Center ผู้ผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ MK Wellness และสินค้ารีเทลในเครือ MK Group
  4. บริการ OEM/ODM ภายใต้บริษัท IFS รองรับบริการออกแบบและผลิตครบวงจร สำหรับสินค้าหมวด ซาลาเปา, ผลิตภัณฑ์สอดไส้, ขนมจีบ, เกี๊ยวซ่า, เกี๊ยวห่อ, กลุ่มชุบเกล็ดขนมปัง, กลุ่มเส้นสด 
  5. MK Food Service สินค้าและบริการด้านอาหารแบบครบวงจรสำหรับลูกค้าประเภทธุรกิจ เช่น องค์กรขนาดใหญ่ สายการบิน โรงพยาบาล และโรงเรียน
  6. พัฒนาสินค้าขายร้านค้าปลีก อาทิ น้ำจิ้มสุกี้ MK แบบขวด สุกี้พร้อมปรุง “ชุดสุกี้ลูกชิ้นรวมมิตร” ขายในร้าน 7-11
“สุกี้ตี๋น้อย” กำไร 9 เดือน 890 ล้านบาท  
 

บริษัท บีเอ็นเอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (BNN) เจ้าของธุรกิจร้านอาหาร “สุกี้ตี๋น้อย” ที่ก่อตั้งโดย “คุณเฟิร์น-นัทธมน พิศาลกิจวนิช” สรุป 9 เดือน ปี 2567 มีกำไรสุทธิ  890 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
 
ตัวเลขกำไรของสุกี้ตี๋น้อย มาจากการรายงานผลประกอบการของ บมจ. เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หนึ่งในผู้ถือหุ้น “บีเอ็นเอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป” สัดส่วน 30%  โดย 9 เดือน ปี 2567 บริษัท เจมาร์ทฯ ได้ส่วนแบ่งกำไร 267 ล้านบาท (ถือหุ้น 30%) นั่นเท่ากับว่า สุกี้ตี๋น้อยมีกำไรรวม 890 ล้านบาท 
 
สิ้นเดือนกันยายน 2567 “สุกี้ตี๋น้อย” มีสาขารวม 73 สาขา เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า จำนวน 6 สาขา โดยยังคงเปิดสาขาในต่างจังหวัดต่อเนื่อง โดยช่วงเวลาที่เหลือของปี 2567 คาดว่าจะเปิดอีก 3-4 สาขา
 
ย้อนดูรายได้และกำไร “สุกี้ตี๋น้อย”
 
  • ปี 2563 รายได้ 1,223 ล้านบาท กำไร 140 ล้านบาท
  • ปี 2564 รายได้ 1,572 ล้านบาท กำไร 148 ล้านบาท
  • ปี 2565 รายได้ 3,976 ล้านบาท กำไร 591 ล้านบาท
  • ปี 2566 รายได้ 5,244 ล้านบาท  กำไร 913 ล้านบาท
กลยุทธ์ “สุกี้ตี๋น้อย” ทำกำไรกว่า  900 ล้านบาท 
  1. สุกี้ตี๋น้อย สร้างกระแสให้กับวงการร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ ชูจุดเด่นเรื่อง “ราคา” เข้าถึงได้ง่าย เปิดให้บริการ 11.00-05.00 น. เพราะส่วนใหญ่ร้านสุกี้ตี๋น้อยจะเปิดแบบ Stand Alone มีที่จอดรถ ส่วน MK จะอยู่ในห้างเป็นหลัก 
  2. เข้าใจลูกค้า สุกี้ตี๋น้อยจะเก็บข้อมูลอย่างละเอียดว่า “ลูกค้าต้องการอะไร” เมื่อรู้ว่าลูกค้าต้องการ “ความคุ้มค่า” ราคาไม่แพง จึงเป็นที่มีของบุฟเฟ่ต์ 219 บาท/คน มีการสร้างบรรยากาศสบายๆ บริการเป็นกันเอง วัตถุดิบสดใหม่ น้ำจิ้มรสเด็ด 
  3. ขยายสาขาเพิ่มต่อเนื่องจนมี 73 สาขา ช่วยให้ร้านสุกี้ตี๋น้อยมีรายได้และกำไรเพิ่ม จากแต่ก่อนเน้นขยายสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปรับเปลี่ยนหันมาขยายสาขาตามเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดมากขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ  
ย้อนกลับมาดูปัจจัยทำรายได้-กำไร MK ลดลง 
 

ในไตรมาส 3 ปี 2567 บริษัท เอ็มเค สุกี้ (MK Restaurants Group) มีรายได้และกำไรลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลักๆ ที่มีผลต่อการลดลงของรายได้และกำไรลดลง ได้แก่

1.การแข่งขันธุรกิจร้านอาหาร
 
การแข่งขันของธุรกิจร้านอาหารในไทยสูง ทำให้รายได้และส่วนแบ่งตลาดของ MK ลดลง โดยแบรนด์อื่นๆ อาทิ นีโอสุกี้ สุกี้ตี๋น้อย ลัคกี้สุกี้ สุกี้นินจา สุกี้จินดา สุกี้ดารา ได้พยายามดึงดูดลูกค้าด้วยโปรโมชั่นและราคา จึงทำให้ MK ยอดขายลดลง 

2.ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น
 
ต้นทุนวัตถุดิบและค่าเช่าสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น แต่ MK รับราคาขายไม่ได้ เพราะราคาในปัจจุบันสูงกว่าคู่แข่งในตลาดอยู่แล้ว ยิ่งถ้า MK มีการปรับราคาขึ้น อาจทำให้ลูกค้าหายไปอีก    

3.ปัญหาเศรษฐกิจ
 
ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีความไม่แน่นอน ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ลดการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ไม่เพียงแต่ MK ที่ได้รับผลกระทบ ร้านอาหารอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบไปหมด 

4.รสชาติคุ้นเคยจำเจ 
 
MK กำลังเผชิญปัญหารอบด้าน โดยเฉพาะความอร่อยที่คุ้นเคย กลายเป็นความซ้ำซากจำเจ ทำให้ลูกค้าไม่อยากเดินเข้าร้าน สวนทางกับคู่แข่งที่พยายามสร้างสีสันและดึงดูดลูกค้าอย่างหนัก แม้ว่าเอ็มเค สุกี้จะมีแบรนด์ที่แข็งแกร่งและฐานลูกค้าประจำที่ใหญ่ แต่ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่แน่นอนและการแข่งขันในตลาดสูง ก็ยังทำให้บริษัทต้องเผชิญกับความท้าทายในการรักษาผลกำไรในระดับที่ดีได้ 

กลยุทธ์กระตุ้นยอดขาย MK สุกี้
 


1.MK เปิดบริการบุฟเฟ่ต์บางสาขา 
 
ราคาเริ่มต้น 499 บาทต่อคน สำหรับ 60 เมนู นั่งทานได้ 90 นาที ยังไม่รวมน้ำ ของหวาน และเมนูเด็ดประจำร้านอย่างเป็ดย่าง แม้การนำเสนอบุฟเฟต์เป็นเรื่องใหม่ แต่จริงๆ ให้บริการบุฟเฟต์มานานแล้วใน 14 สาขาทั่วประเทศ โดยเฉพาะในสาขาที่มีการแข่งขันสูงหรือมีผลประกอบการไม่ดี เพื่อดึงดูดลูกค้าและรักษาสาขาไว้
 
2. MK เปิดตัวชุดสุกี้ขายใน 7-Eleven 
 
เพิ่มช่องทางการขายตลอด 24 ชั่วโมง จากปกติจะทานสุกี้ต้องรอห้างเปิด และทางร้านก็ไม่ได้เปิดตลอด 24 ชั่วโมง 
 
ถ้า MK วางขาย 7-Eleven ทุกสาขา ปัจจุบัน 15,053 สาขา ถ้าขายได้สาขาละ 1 ชุด เท่ากับว่า MK จะมีรายได้ 1x69x15,053 = 1,038,657 บาทต่อวัน 
  • 1 เดือนมีรายได้ = 31,159,710 บาท
  • 1 ปีมีรายได้ = 373,916,520 บาท

หลายคนอาจมองว่าที่รายได้และกำไรของ MK ลดลง เป็นเพราะสุกี้ตี๋น้อยแย่งลูกค้าไป แต่จริงๆ แล้ว MK มีกลุ่มลูกค้าหลักอยู่แล้ว ส่วนสุกี้ตี๋น้อยก็มีลูกค้าอีกกลุ่มนึง ไม่เกี่ยวกัน ในแง่ธุรกิจของ MK ที่ผ่านมาฟาดกำไรงามๆ มาหลายสิบปีติดต่อกันแล้ว ถึงแม้ภาพรวมจะดร๊อปลง แต่ก็ยังถือว่าองค์กรยังแข็งแกร่งอยู่ เพียงแค่มีการปรับกลยุทธ์ธุรกิจนิดนึ่งน่าจะกลับมาได้ 
 
MK ตัดสินใจได้ดี ไม่จำเป็นต้องไปแข่งกับสุกี้ตี๋น้อยอะไรทั้งนั้น เพราะทำการตลาดคนละแบบ หากมองอีกมุมสุกี้ตี๋น้อยก็ไม่มีอะไรการันตีว่าธุรกิจจะยั่งยืนจริง สำหรับ MK หลายคนกินเพราะคุ้นเคยกับอาหารคุณภาพและสบายใจที่ได้กิน อาหารสดใหม่ อร่อย คุณภาพดี พนักงานน่ารัก ร้านสะอาด เมนูเยอะมีให้เลือกมากมาย น้ำจิ้มและน้ำชาอร่อย ลูกค้าอาจไม่ลดไม่เพิ่ม 
 
ส่วนสุกี้ตี๋น้อย หากมองในอนาคตให้ลึกๆ อาจจะถูกตีตลาดจากคู่แข่งกลุ่มเดียวกันมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น นีโอสุกี้ ลักกี้สุกี้ สุกี้จินดา และที่กำลังมาแรง “ฮอทพอตแมน” และคาดว่าจะมีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย 

ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
 
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
เทคนิคสร้างยอดขาย สินค้านิยมต่ำ กำไรสูง
1,696
5 อันดับ โรงงาน OEM รับผลิตครีม ผลิตเครื่องสำอาง..
999
แก่น CJ More ทำธุรกิจกำไรให้กำไร
927
กลยุทธ์ลดราคา! ร้านค้าปลีกปั้น House Brand ถัวเฉ..
608
กลยุทธ์ Hotelling model เปิดร้านข้างคู่แข่ง มีแต..
591
เปิดร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” ใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ ..
572
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด