บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    โอกาสทางธุรกิจ    AEC
3.4K
3 นาที
24 ธันวาคม 2557
การเปิดเสรีธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศ ใน AEC
 
การเปิดเสรีธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศบรูไนในกรอบอาเซียน ประเทศบรูไนไม่ผูกพันการเปิดเสรีธุรกิจแฟรนไชส์ในทุกรูปแบบ

การเปิดเสรีธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศกัมพูชาในกรอบอาเซียน


ประเทศกัมพูชาผูกพันการเปิดเสรีธุรกิจแฟรนไชส์ในรูปแบบที่ 1-3 โดยมีเงื่อนไขดังนี้
  1. ผู้ประกอบการต่างชาติ ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐมีหน้าที่ในการจัดให้มีการอบรมพนักงานชาวกัมพูชาอย่างเพียงพอ รวมทั้งการสนับสนุนให้พนักงานชาวกัมพูชามีตำแหน่งที่สูงด้วย
  2. ไม่ผูกพันการเลือกปฏิบัติในส่วนของการให้เงินสนับสนุน (Subsidy) แก่ผู้ประกอบการ
  3. ไม่ผูกพันการเลือกปฏิบัติในส่วนของภาษี
  4. ผู้ประกอบการไม่สามารถถือครองกรรมสิทธิ์แต่สามารถเช่าที่ดินได้
ประเทศกัมพูชาไม่ผูกพันการเปิดเสรีธุรกิจแฟรนไชส์ในรูปแบบที่ 4 ยกเว้นการเข้า (Entry) และการพักอาศัยชั่วคราว (Temporary Stay) ของประเภทบุคคลดังต่อไปนี้
  1. ผู้เข้ามาติดต่อธุรกิจ (Business Visitors) โดยวีซ่าสำหรับผู้เข้ามาติดต่อธุรกิจมีอายุ 90 วัน สำหรับการเข้ามาในครั้งแรก 30 วัน ซึ่งสามารถต่ออายุได้
  2. ผู้เข้ามาจัดตั้งธุรกิจ (Persons responsible for setting up a commercial establishment) ซึ่งไม่มีข้อจำกัดระยะเวลาการพักอาศัยในประเทศ
  3. ผู้โอนย้ายระหว่างบริษัทข้ามชาติ (Intra-corporate Transferees) ได้แก่ ผู้บริหาร ผู้จัดการ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตให้อยู่อาศัยและทำงานให้ครั้งแรก 2 ปี ต่อได้ปีต่อปี รวมไม่เกิน 5 ปี
การเปิดเสรีธุรกิจแฟรนไชส์ของอินโดนีเซียในกรอบอาเซียน

ประเทศอินโดนีเซียไม่ผูกพันการเปิดเสรีธุรกิจแฟรนไชส์ในทุกรูปแบบ

การเปิดเสรีธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศลาวในกรอบอาเซียน
ประเทศลาวผูกพันการเปิดเสรีธุรกิจแฟรนไชส์เฉพาะสาขาสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า (Textile, Clothing และ Footwear) ในรูปแบบที่ 1-3 โดยมีเงื่อนไขดังนี้
  1. การจัดตั้งธุรกิจ (รูปแบบที่ 3) ต้องจัดตั้งในรูปแบบการร่วมทุน (Joint Venture) เท่านั้น โดยต่างชาติต้องถือหุ้นอย่างน้อยร้อยละ 30 แต่ไม่เกินร้อยละ 49 และต้องผ่านการทดสอบความจำเป็นทางเศรษฐกิจ (Economic Need Test) ก่อนที่จะจัดตั้งด้วย
  2. ไม่ผูกพันการเลือกปฏิบัติต่อผู้ประกอบการต่างประเทศในการจัดตั้งธุรกิจ
  3. ผู้ประกอบการสามารถเช่าและเช่าช่วงที่ดิน รวมทั้งมีกรรมสิทธิ์ในส่วนประกอบของที่ดินและสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ได้
  4. ผู้ประกอบการต่างชาติ ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐต้องจ่ายภาษีบนฐานกำไรในอัตราที่กำหนดในกฎหมายส่งเสริมการลงทุน
ประเทศลาวไม่ผูกพันการเปิดเสรีธุรกิจแฟรนไชส์ในรูปแบบที่ 4 ทั้งนี้
  1. ชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศลาวต้องปฏิบัติตามกฎหมายการส่งเสริมและการบริหารจัดการการลงทุนจากต่างชาติ (Promotion and Management of Foreign Investment) และกฎระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าเมือง
  2. บริษัทต่างชาติมีสิทธิที่จะจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติหากจำเป็น ทั้งนี้ ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
  3. การอำนวยความสะดวกในการเข้า การเดินทาง การอาศัย และการออกจากประเทศลาว สำหรับชาวต่างชาติและครอบครัวให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศลาวที่เกี่ยวข้อง
  4. นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติมีหน้าที่ในการพัฒนาทักษะฝีมือของพนักงานสัญชาติลาวผ่านการฝึกอบรมทั้งในประเทศลาวและในต่างประเทศ
  5. ผู้ประกอบการและลูกจ้างต่างชาติต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามอัตราภาษีที่กำหนดในกฎหมาย ซึ่งอาจแตกต่างจากอัตราภาษีของประชาชนลาวได้

การเปิดเสรีธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศมาเลเซียในกรอบอาเซียน


ประเทศมาเลเซียผูกพันการเปิดเสรีธุรกิจแฟรนไชส์ในรูปแบบที่ 1-3 โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
  1. ในการจัดตั้งธุรกิจ (รูปแบบที่ 3) ต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 51
  2. การเข้าซื้อ (Acquisition) ควบรวม (Merger) และครอบงำ (Take-over) ในกรณีดังต่อไปนี้ต้องได้รับอนุญาตจากทางการ
  3. การเข้าซื้อสิทธิออกเสียง (Voting Right) ในบริษัทสัญชาติมาเลเซียโดยชาวต่างชาติคนใดคนหนึ่งเกินกว่าร้อยละ 15 หรือโดยกลุ่มชาวต่างชาติเกินกว่าร้อยละ 30 หรือเกินกว่า 5 ล้านริงกิต
  4. การเสนอที่จะเข้าซื้อสินทรัพย์ในช่องทางต่างๆ ที่จะส่งผลให้เกิดการโอนกรรมสิทธิ์หรืออำนาจในการบริหารจัดการให้ต่างชาติ
  5. การกุมอำนาจในการบริหารจัดการในบริษัทสัญชาติมาเลเซียผ่านความตกลงการร่วมทุน (Joint Venture Agreement) ความตกลงการบริหารจัดการ (Management Agreement) ความตกลงช่วยเหลือด้านเทคนิค (Technical Assistance Agreement) หรือความตกลงอื่นๆ ทั้งนี้ โดยทั่วไปทางการจะอนุญาตการเข้าซื้อ ควบรวม และครอบงำดังกล่าว ยกเว้นในกรณีที่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศมาเลเซีย
  6. ภาครัฐอาจไม่อนุญาตการซื้อ การขาย หรือข้อตกลงอื่นๆ เกี่ยวกับที่ดิน ผลประโยชน์จากที่ดิน ซึ่งเป็นการเก็งกำไร ไม่มีประโยชน์ หรือขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศมาเลเซีย
  7. ไม่ผูกพันการเลือกปฏิบัติในกรณีของสิทธิประโยชน์ที่ให้ต่อบริษัทสัญชาติมาเลเซียนในสาขาบริการที่ภาครัฐสนับสนุน
  8. ไม่ผูกพันมาตรการสนับสนุนที่ให้ต่อชาวมาเลเซียเชื้อสาย “ภูมิบุตรา” บริษัทหรือทรัสต์ของชาว “ภูมิบุตรา” ตามเป้าประสงค์ของนโยบายเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Policy) และนโยบายการพัฒนาประเทศ (National Development Policy)
  9. บริษัทที่ภาครัฐถือหุ้นอาจพิจารณาเป็นพิเศษในการเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการซึ่งภาครัฐถือหุ้น
ประเทศมาเลเซียไม่ผูกพันการเปิดเสรีธุรกิจแฟรนไชส์ในรูปแบบที่ 4 ยกเว้นการเข้า (Entry) และการพักอาศัยชั่วคราว (Temporary Stay) ของประเภทบุคคลดังต่อไปนี้
  1. ผู้โอนย้ายระหว่างบริษัทข้ามชาติ (Intra-corporate Transferees) ได้แก่ ผู้จัดการอาวุโส และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไม่เกิน 2 คนต่อบริษัท โดยการจ้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพิ่มเติม อาจมีเงื่อนไขเพิ่มเติมในการทดสอบความจำเป็นทางเศรษฐกิจหรือการอบรมเพิ่มทักษะของพนักงานสัญชาติมาเลเซีย ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต้องมีประสบการณ์ทำงานในด้านเกี่ยวข้องที่บริษัทแม่อย่างน้อย 1 ปี
  2. บุคคลอื่นๆ รวมทั้งผู้เข้ามาติดต่อธุรกิจ โดยการเข้าและการพักอาศัยชั่วคราวของผู้โอนย้ายระหว่างประเทศและบุคคลอื่นๆ ยกเว้นผู้เข้ามาติดต่อธุรกิจจะไม่เกิน 5 ปี และระยะเวลาการพักอาศัยของผู้มาติดต่อธุรกิจจะไม่เกิน 90 วัน
การเปิดเสรีธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศเมียนมาร์ในกรอบอาเซียน ประเทศเมียนมาร์ไม่ผูกพันการเปิดเสรีธุรกิจแฟรนไชส์ในทุกรูปแบบ

การเปิดเสรีธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศฟิลิปปินส์ในกรอบอาเซียน

ประเทศฟิลิปปินส์ผูกพันการเปิดเสรีธุรกิจแฟรนไชส์ในรูปแบบที่ 1-3 โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
  1. ในการจัดตั้งธุรกิจ (รูปแบบที่ 3) ต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 51
  2. เฉพาะผู้มีสัญชาติฟิลิปปินส์และบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นสัญชาติฟิลิปปินส์เกินกว่าร้อยละ 60 สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ไม่ใช่ที่ดินสาธารณะและสามารถเช่าที่ดินสาธารณะได้ อย่างไรก็ตาม ชาวต่างชาติสามารถเช่าที่ดินที่ไม่ใช่ที่ดินสาธารณะได้
  3. ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทในสาขาที่มิใช่สาขาอุตสาหกรรมและสถาบันการเงิน ที่มีสัดส่วนการถือหุ้นโดยต่างชาติเกินกว่าร้อยละ 40 ที่ต้องการจะกู้ยืมเงินในสกุลเปโซ จะต้องมีหนี้สินไม่เกินสัดส่วนหนี้สินต่อสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่ 50:50 ณ ขณะที่ทำการกู้ยืม
ประเทศฟิลิปปินส์ไม่ผูกพันการเปิดเสรีธุรกิจแฟรนไชส์ในรูปแบบที่ 4 ยกเว้นเฉพาะการเข้ามาของผู้ไม่มีถิ่นฐานในประเทศฟิลิปปินส์ภายหลังที่สามารถชี้ให้เห็นว่าไม่มีชาวฟิลิปปินส์ที่มีความสามารถและมีความต้องการทำงานในตำแหน่งที่ต้องการในขณะนั้น

การเปิดเสรีธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศสิงคโปร์ในกรอบอาเซียน

ประเทศสิงคโปร์ผูกพันการเปิดเสรีธุรกิจแฟรนไชส์ในรูปแบบที่ 1-3 โดยมีเงื่อนไขดังนี้
  1. ชาวต่างชาติที่ต้องการจดทะเบียนบริษัทต้องมีผู้จัดการท้องถิ่น (Local Manager) ซึ่งมีสัญชาติสิงคโปร์ มีถิ่นที่อยู่ภาวรในประเทศสิงคโปร์ หรือเป็นผู้ถือใบอนุญาตการทำงานในประเทศสิงคโปร์ (Singapore Employment Pass)
  2. กรรมการอย่างน้อย 1 คนต้องมีถิ่นที่อยู่ในประเทศสิงคโปร์
  3. สาขาต่างๆ ของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ต้องมีตัวแทน (Agent) อย่างน้อย 2 คนที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศสิงคโปร์
  4. ไม่ผูกพันการให้เงินสนับสนุน ยกเว้นตามที่ได้ผูกพันไปแล้วในกรอบองค์การการค้าโลก
ประเทศสิงคโปร์ไม่ผูกพันการเปิดเสรีธุรกิจแฟรนไชส์ในรูปแบบที่ 4 ยกเว้นผู้โอนย้ายระหว่างบริษัทข้ามชาติ (Intra-corporate Transferees) ได้แก่ ผู้บริหาร ผู้จัดการ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่มีประสบการณ์ทำงานในบริษัทไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยอนุญาตให้เข้ามาครั้งแรกไม่เกิน 2 ปี ต่อได้ครั้งละ 3 ปี รวมไม่เกิน 8 ปี

การเปิดเสรีธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศเวียดนามในกรอบอาเซียน

ประเทศเวียดนามผูกพันการเปิดเสรีธุรกิจแฟรนไชส์ในรูปแบบที่ 1-3 โดยมีเงื่อนไขดังนี้
  1. ในการจัดตั้งสาขา (Branch) เพื่อให้บริการในเวียดนาม ผู้จัดการสาขา (Chief of the Branch) ต้องเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในเวียดนาม
  2. การเช่าที่ดินต้องได้รับอนุญาตโดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาการเช่าต้องสอดคล้องกับระยะเวลาของการปฏิบัติงานตามที่ระบุในใบอนุญาต ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีอำนาจพิจารณาต่ออายุได้
  3. ไม่ผูกพันการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนด้านการเงิน อาทิ การสนับสนุนด้านการเงินที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา การสนับสนุนด้านการเงินในสาขาการศึกษาและโสตทัศน์ และการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อสนับสนุนสวัสดิการ การจ้างงาน และชนกลุ่มน้อย
ประเทศเวียดนามไม่ผูกพันการเปิดเสรีธุรกิจแฟรนไชส์ในรูปแบบที่ 4 ยกเว้นบุคลากรในประเภทดังต่อไปนี้
  1. ผู้โอนย้ายระหว่างบริษัทข้ามชาติ (Intra-corporate Transferees) ได้แก่ ผู้บริหาร ผู้จัดการ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานในบริษัทอย่างน้อย 1 ปี โดยจะได้รับอนุญาตให้เข้ามาในครั้งแรก 3 ปี สามารถต่อระยะเวลาได้ตามระยะเวลาการปฏิบัติการของบริษัทนั้น ทั้งนี้ ผู้บริหาร อย่างน้อยร้อยละ 20 หรือ 3 คนต้องมีสัญชาติเวียดนาม
  2. ผู้บริหาร ผู้จัดการ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอื่นๆ จากสาขาในประเทศอื่น โดยจะได้รับอนุญาตให้เข้ามาครั้งแรก 3 ปี แต่ไม่เกินระยะเวลาที่ระบุตามสัญญาจ้าง
  3. ผู้ขายบริการ (Service Sales Persons) โดยจะได้รับอนุญาตให้พักอาศัยไม่เกิน 90 วัน
  4. ผู้เข้ามาจัดตั้งธุรกิจ (Persons responsible for setting up a commercial presence) โดยจะได้รับอนุญาตให้พักอาศัยไม่เกิน 90 วัน
  5. ผู้รับจ้าง (Contractual Service Suppliers) โดยจะได้รับอนุญาตให้พักอาศัยไม่เกิน 90 วัน
อ้างอิงจาก  กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนพฤษภาคม 2567..
24,685
“มูฟ อีวี เอกซ์” สร้างรายได้ดีแค่ไหน! ทำไมถึงน่า..
3,820
รวม 12 แฟรนไชส์โหนกระแส คนไทยไม่เคยลืม!
2,366
จริงมั้ย? กำเงิน 15 ล้านบาท ถึงจะซื้อแฟรนไชส์ DQ..
1,912
กลยุทธ์ “แดรี่ควีน” เจ้าไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเมืองไ..
1,272
จริงมั้ย? 7-Eleven เห็นทำเลไหนดี เปิดเองแข่งสาขา..
1,243
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด