บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    โอกาสทางธุรกิจ    AEC
20K
3 นาที
30 กันยายน 2558
กฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์เป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ดี รัฐมีความพยายามที่จะควบคุมการประกอบธุรกิจดังกล่าวโดยการยกร่างกฎหมายในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะขึ้น โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ พ.ศ. .... เพื่อจัดระเบียบการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย

รวมทั้งเพื่อพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการประกอบธุรกิจประเภทนี้ อีกทั้งเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ให้สิทธิในการประกอบธุรกิจหรือแฟรนไชส์ซอร์และผู้รับสิทธิในการประกอบธุรกิจหรือแฟรนไชส์ซีในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ เมื่อปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ สัญญาแฟรนไชส์ซึ่งถือเป็นสัญญาประเภทหนึ่งจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เช่นเดียวกันกับสัญญาประเภทอื่นๆ

นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับ อันได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2550กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา พระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2545พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 และกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวกับธุรกิจนั้นโดยตรง เป็นต้น

กฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์

1) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่นำมาใช้บังคับกับสัญญาแฟรนไชส์ ได้แก่ หมวดว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา โดยนำมาใช้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับการเกิดสัญญา การแสดงเจตนาของคู่สัญญา การตีความสัญญา ผลของสัญญา การบอกเลิกสัญญา และการผิดสัญญา

2) พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540
หากพิจารณาฐานะของคู่สัญญาในสัญญาแฟรนไชส์แล้ว จะเห็นได้ว่า คู่สัญญาสองฝ่ายจะมีฐานะไม่เท่าเทียมกัน เนื่องจากแฟรนไชส์ซีจะมีอำนาจในการเจรจาต่อรองน้อยกว่าแฟรนไชส์ซอร์ นอกจากนี้สัญญาแฟรนไชส์ยังถือเป็นสัญญามาตรฐานและสัญญาสำเร็จรูปประเภทหนึ่งเพราะเป็นสัญญาที่แฟรนไชส์ซอร์ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือกว่าเป็นผู้กำหนดเนื้อหาสาระของสัญญา หรือข้อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้เป็นการล่วงหน้า โดยที่แฟรนไชส์ซีซึ่งเป็นผู้ที่จะเข้ามาทำสัญญาสามารถแสดงเจตนาเข้าทำสัญญาโดยไม่ต้องมีการเจรจาต่อรอง ซึ่งหากว่าข้อสัญญาดังกล่าวแฟรนไชส์ซอร์ได้เปรียบแฟรนไชส์ซีเกินสมควร ข้อสัญญาดังกล่าวถือเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ในกรณีเช่นนี้กฎหมายกำหนดให้สัญญามีผลใช้บังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น

3) กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา
สัญญาแฟรนไชส์นั้นมีความเกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าหรือบริการ และสิทธิบัตร เนื่องจากหากแฟรนไชส์ซอร์ประสงค์ที่จะให้แฟรนไชส์ซีสามารถใช้เครื่องการการค้าหรือบริการ หรือสิทธิบัตรของตนก็จะต้องมีการจดทะเบียนสัญญา

อนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าหรือบริการ หรือสิทธิบัตรกับทางราชการด้วย ส่วนที่แตกต่างกันระหว่างสัญญาแฟรนไชส์และสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา คือ แฟรนไชส์ซีจะต้องจ่ายค่าตอบแทนในการใช้สิทธิและเข้าร่วมประกอบธุรกิจ ส่วนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญานั้นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิอาจไม่จำต้องจ่ายค่าตอบแทนก็ได้ขึ้นอยู่กับการตกลงกันของคู่สัญญา

4) พระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2545
การประกอบธุรกิจแฟรนไชส์เกี่ยวข้องกับความลับทางการค้าในแง่ที่ว่า ข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ในการประกอบธุรกิจ เช่น สูตรอาหารหรือเครื่องดื่ม คู่มือการปฏิบัติงาน และรายชื่อลูกค้า อาจถือได้ว่าเป็นความลับทางการค้าของแฟรนไชส์ซอร์ที่จำเป็นจะต้องได้รับความคุ้มครอง โดยแฟรนไชส์ซีจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลความลับหรือนำข้อมูลซึ่งเป็นความลับนั้นไปใช้ในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับแฟรนไชส์ซอร์ ในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิของแฟรนไชส์ซอร์ในเรื่องดังกล่าว แฟรนไชส์ซอร์ย่อมสามารถที่จะฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนและขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการกระทำเช่นว่านั้นได้

5) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522
ธุรกิจประเภทนี้ทั้งแฟรนไชส์ขายสินค้า และแฟรนไชส์ให้บริการ ย่อมต้องมีลูกค้าหรือผู้บริโภคเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ในแง่นี้ลูกค้าหรือผู้บริโภคจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการโฆษณาสินค้าที่อาจเกินจริง การปิดฉลากสินค้า หรือการกำหนดให้ธุรกิจใดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา เป็นต้น

6) พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542
การประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ เช่นกัน โดยทั้งแฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซีจะถูกควบคุมมิให้มีการใช้วิธีการที่กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าถือว่าเป็นการผูกขาด หรือการกระทำที่เป็นการใช้อำนาจเหนือตลาด เว้นแต่มีความจำเป็นและมีเหตุผลสมควรโดยจะต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียก่อน

7) กฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวกับธุรกิจนั้นโดยตรง
การขายสินค้าและการให้บริการในธุรกิจแฟรนไชส์ นอกจากจะต้องพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวกับธุรกิจนั้นโดยตรง เช่น พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2535 เป็นต้น

ข้อจำกัดของการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ภายใต้กฎหมายไทย

ข้อจำกัดในสัญญาแฟรนไชส์ มีด้วยกันหลายประการดังนี้
  • การขาดบทบัญญัติในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลก่อนการตัดสินใจเข้าทำสัญญา จากการที่แฟรนไชส์ซอร์มีอำนาจต่อรองสูงกว่าแฟรนไชส์ซีประกอบกับเป็นฝ่ายที่เป็นผู้ร่างสัญญา และข้อกำหนดต่างๆ ในสัญญาแฟรนไชส์ขึ้น ดังนั้น แฟรนไชส์ซอร์จึงอาจปิดบังข้อมูลบางประการไม่ให้แฟรนไชส์ซีทราบ ซึ่งข้อมูลหรือข้อเท็จจริงบางอย่างอาจสำคัญถึงขนาดว่าถ้าแฟรนไชส์ซีทราบแล้วอาจตัดสินใจไม่ทำเข้าทำสัญญาด้วย
    ในเรื่องนี้ประเทศไทยไม่มีกฎหมายกำหนดบังคับให้แฟรนไชส์ซอร์ต้องเปิดเผยข้อมูลในการดำเนินธุรกิจของตนแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับในกรณีดังกล่าว เช่น บทบัญญัติเกี่ยวกับความสำคัญผิดในบุคคลหรือทรัพย์สินตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกลฉ้อฉลตามมาตรา 159 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นต้น
  • ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในสัญญาแฟรนไชส์ และข้อสัญญาที่อาจกำหนดภาระหน้าที่แก่แฟรนไชส์ซีเกินสมควร มูลเหตุในการเกิดข้อสัญญาไม่เป็นธรรมในสัญญาแฟรนไชส์ และข้อสัญญาที่อาจกำหนดภาระหน้าที่แก่แฟรนไชส์ซีเกินสมควร อาจเกิดจากอำนาจต่อรองในการเจรจาของคู่สัญญาที่แฟรนไชส์ซอร์มักจะเป็นฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่าแฟรนไชส์ซี หรือการขาดความรู้ความเข้าใจในการทำธุรกิจแฟรนไชส์
    ข้อสัญญาในลักษณะนี้มีด้วยกันหลายประการ เช่น การห้ามทำธุรกิจแข่งขัน การผูกขาดการติดต่อ ข้อตกลงพ่วงขาย การจำกัดพื้นที่และกลุ่มลูกค้า รวมไปถึงการกำหนดราคาขายสินค้าด้วย
  • ข้อจำกัดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เมื่อประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่ใช้บังคับกับการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์เป็นการเฉพาะ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาข้อกฎหมายที่เกิดขึ้นจึงทำได้โดยนำกฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหามาใช้บังคับแก่กรณี
    อย่างไรก็ดี กฎหมายที่นำมาปรับใช้ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในธุรกิจแฟรนไชส์ได้ทุกกรณี เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวย่อมมีข้อจำกัดในตัวของกฎหมายนั้นเอง นอกจากนี้ยังขาดหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมและลงโทษต่อการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์อีกด้วย

แนวทางในการแก้ไขปัญหา


การมีกฎหมายที่ใช้ในการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์เป็นการเฉพาะโดยมีบทบัญญัติในเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นก่อนทำสัญญา การจดทะเบียนแฟรนไชส์ การกำหนดหลักเกณฑ์ในการทำข้อตกลงพ่วงขาย

รวมทั้งจัดตั้งหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่ควบคุมดูแลและมีบทกำหนดโทษที่ชัดเจนกรณีที่มีการทำสัญญาหรือการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในทางธุรกิจจะสามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ได้ ดังเช่นที่หน่วยงานของรัฐพยายามที่จะผลักดันให้มีกฎหมายดังกล่าวโดยการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์

อ้างอิงจาก  กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนมิถุนายน 2567
7,561
ส่อง 72 แฟรนไชส์น่าสอยมาลงทุน ครึ่งปีหลัง 2567
4,288
กลับมาแล้วแฟรนไชส์โจ๊ก เฮลตี้ฟู้ดขายง่ายกำไรดี
1,598
เดือดแน่! 6 แฟรนไชส์ไอศกรีมและชาผลไม้ ราคาถูก จ่..
1,353
จริงมั้ย ซื้อแฟรนไชส์ ยืมจมูกคนอื่นหายใจ
815
ซื้อแฟรนไชส์ อย่าให้เป็นทาส แต่ให้เป็นนายตัวเองท..
807
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด