บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    กฎหมายและข้อบังคับ    สัญญาแฟรนไชส์
3.3K
4 นาที
15 กันยายน 2558
เจ้าจอมจุ้น (บทความกฎหมายแฟรนไชส์)


เจ้าจอมจุ้น….จะทำแฟรนไชส์ทำไมกฎหมายต้องมายุ่งด้วย ? ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม กฎหมายจะเข้ามายุ่งกับคุณด้วยเสมอ บางครั้งก็มาตอนตื่น บางครั้งก็มาตอนเผลอ


ตัวอย่างง่าย ๆ ลืมตาตื่นนอน ยังสลึมสลืออยู่เลย ลุกขึ้นเปิดไฟเข้าห้องน้ำ ล้างหน้าแปรงฟัน คุณกฎหมายวิ่งมาตามก๊อกน้ำ ตามสายไฟเข้ามายุ่งกับคุณถึงห้อง เพราะพอคุณเอื้อมมือกดสวิทซ์ไฟ หมุนก๊อกน้ำ คุณทำสัญญาซื้อไฟจากการไฟฟ้า และซื้อน้ำจากการประปาเขาแล้ว

บางทีไม่ได้เปิดก๊อก แต่ท่อมันรั่วเอง เราไม่ได้ใช้น้ำยังต้องจ่ายเลย ไม่งั้นหลวงเขามายกมิเตอร์กลับ ได้ซักแห้งกันบ้างหรอก

ในการทำธุรกิจ บางครั้งไม่มีการทำสัญญากันเลย แค่คนซื้อคนขายคุยกันสองสามคำ คนซื้อพยักหน้า ก็ถือว่าปิดการขายได้ เงยหน้าอีกทีคุณกฎหมายก็เข้ามานั่งยิ้มเผล่ร่วมโต๊ะด้วยแล้ว บางครั้งพิธีการมากขึ้นหน่อย ก็อาจใช้ใบส่งของ ส่งของเสร็จก็เก็บสตางค์ ง่ายอะไรอย่างนั้น


 
ที่พิธีการใหญ่โตอีกหน่อยก็อาจมีใบสั่งซื้อ หรืออาจถึงขั้นทำสัญญาซื้อขายกัน ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นสัญญาพื้น ๆ เว้นแต่เป็นการซื้อขายรายใหญ่โต

อย่างถ้าผมนึกครึ้มอยากจะใช้เงินอย่างไม่มีเหตุผล ซื้อ 747 มาขี่เล่นสักลำ อย่างนี้สัญญาก็อาจมีรายละเอียดมากหน่อย แล้วแฟรนไชส์ จะทำง่าย ๆ บ้างไม่ได้หรือ ?

ได้นะได้อยู่หรอก แต่ถ้าทำกันไม่รอบคอบ ทะเลาะกันทีหลังแน่ เพราะแฟรนไชส์ไม่ใช่เรื่องแค่สั่งซื้อของ ส่งของไป เก็บเงิน….จบ

แฟรนไชส์เป็นเรื่องที่ต้องให้คนซื้อเขาใช้ระบบของแฟรนไชซอร์ ซึ่งมักจะรวมสารพัดสิ่งที่เกิดจากมันสมองของแฟรนไชซอร์ เช่น เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร โนว์ฮาว (KNOW HOW)

อย่างทำแฟรนไชส์เซเว่น คุณต้องทำป้าย แต่งร้านตามแบบของเซเว่นเขา พนักงานก็ต้องพูดสวัสดีกับลูกค้า ตามที่เขาฝึกสอนมา ลองคิดดูว่า ถ้าแฟรนไชซีเขาเอาไปใช้แล้วไปทำชุ่ย ๆ ชื่อเสียงของ แฟรนไชซอร์ก็เหม็นไปด้วย จริงไหม

เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการควบคุมกันหน่อย โดยใช้สัญญาบังคับ เพราะถ้าผิดสัญญาแล้วพูดกันไม่รู้เรื่อง ก็ขอให้ศาลช่วย คุณกฎหมายจึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำแฟรนไชส์แน่ ว่าแต่ว่าเป็นกฎหมายพวกไหนที่คนทำแฟรนไชส์ต้องดูให้ละเอียดรอบคอบ

ในแง่แฟรนไชซอร์จะได้ไม่ทำอะไรผิดกฎหมาย เพราะบางอย่างมีโทษถึงจำคุกด้วย ส่วนแฟรนไชซีก็จะได้รู้ว่าแค่ไหนทำได้ แค่ไหนทำไม่ได้เผื่อหลวมตัวเข้าไปแล้วจะได้มีทางออกเห็นมีแฟรนไชซีหลายรายบ่นว่า อึดอัดกับเงื่อนไขของแฟรนไชซอร์มากแต่ก็ต้องทนไม่กล้าทำอะไร เพราะกลัวผิดสัญญา


กฎหมายพวกไหนบ้างที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจแฟรนไชส์ ? สยามประเทศบ้านเรานี่ว่าไปแล้ว มีกฎหมายเยอะไปหมด จนบางครั้งนักกฎหมายเองยังจำได้ไม่หมดเลย เรื่องบางเรื่องจะมีกฎหมายเฉพาะของเรื่องนั้น ๆ

ถ้าอย่างนี้ก็หมูในอวย เพราะแค่ไปเปิดกฎหมายนั้นดูก็จบ

แต่สำหรับแฟรนไชส์ ไม่มีกฎหมายพูดเรื่องนี้โดยตรงเลย ขั้นแรกจึงต้องใช้กฎหมายทั่วไป แล้วดูต่อว่าแฟรนไชส์นั้นเป็นธุรกิจอะไร เกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรบ้าง จึงค่อยตามไปดูกฎหมายเรื่องนั้น ๆ อีกที เห็นไหมว่าแค่เริ่มต้นก็ซับซ้อนกว่าธุรกิจอื่นเขาแล้ว…. ธุรกิจแฟรนไชส์บางครั้งเกี่ยวข้องกับกฎหมายตั้งหลายเรื่อง ตามดูกันตาแฉะ หมดยาหยอดตาไปหลายหลอดกว่าจะดูครบ

กฎหมายหลัก ๆ หลายฉบับที่คนทำแฟรนไชส์ต้องดูให้ดีก่อน ซึ่งผมจะพูดในภาพรวมกว้าง ๆ เพราะส่วนใหญ่เป็นกฎหมายเก่าที่ออกมานานแล้ว แต่ยังมีฤทธิ์เดชอยู่ พวกเราคงทราบรายละเอียดกันมาบ้าง เพียงแต่จะขอเน้นในประเด็นที่น่าสนใจ

อันแรกนี่คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันนี้ไม่ใช่แค่เป็นกฎหมายหลักของคนทำธุรกิจแฟรนไชส์ แต่เป็นหนึ่งในเสาหลักกฎหมายของไทยแลนด์แดนออฟสไมล์เลย

กฎหมายนี้จะเข้ามาพัวพันในเรื่องที่เป็นพื้นฐานของสัญญา เช่น คนที่จะมาเซ็นสัญญามีอำนาจเซ็นได้หรือไม่ กฎหมายเขาเรียกว่า ความสามารถของคู่สัญญา

ยังมีเรื่องจะถือว่าสัญญาเกิดขึ้นเมื่อไร หรือจะเริ่มมีผลบังคับวันไหน วันที่สัญญาเกิดกับวันสัญญามีผลบังคับนี่เป็นคนละวันกันได้ สัญญาเขียนไว้แล้วถ้ามีปัญหาจะตีความอย่างไร จะเลิกสัญญาทำอย่างไร ค่าเสียหายจะคิดกันอย่างไร ฯลฯ

ถ้ามีเรื่องซื้อซื้อขายขายเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างแฟรนไชซีต้องซื้อวัตถุดิบ หรือสินค้าสำเร็จรูปจากแฟรนไชซอร์ หลักที่เกี่ยวกับซื้อขายก็จะกระโดดเข้ามาแจมด้วย

หลายอย่างเราอาจเขียนสัญญาให้ต่างไปจากที่กฎหมายบอกไว้ก็ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องสำมะคัญ ที่ภาษากฎหมายเขาเรียกว่า กฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันนี้จะเขียนสัญญาให้ต่างไปไม่ได้

แต่อะไรจะเป็นเรื่องสำมะคัญ หรืออะไรที่ไม่สำมะคัญ คงต้องขอแรงใช้หมองของนักกฎหมาย เพราะต้องไปดูว่าศาลเขาเคยตัดสินไว้ไงบ้าง บางเรื่องเคยว่าไว้อย่างหนึ่ง แต่ต่อมานึกอยากเปลี่ยน ศาลก็เคยเปลี่ยนให้เห็นมาแล้ว


เหมือนยุคหนึ่ง ศาลเคยบอกว่า การฮั้วกันเป็นเรื่องของการค้าขาย ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย คดีนี้ตัดสินออกมาแล้ว คนวิจารณ์กันตรึม แต่อยู่มาอีกยุคหนึ่ง ศาลก็บอกว่า ถ้าฮั้วกัน หลวงก็ต้องเสียเงินภาษีมาก เหมือนกับร่วมมือกันมาหลอกเอาเงินหลวงไปใช้ อย่างนี้ใช้ไม่ได้ขัดต่อความสงบฯ

ผมแอบได้ยินจำเลยกระชิบกันว่า “อุตส่าห์แอบทำกันเงียบ ๆ แล้วเชียว ไหงจึงอึกทึกครึกโครม จนทำลายความสงบไปได้ ไม่เข้าใจ” แต่ตอนนี้เพื่อนนักโทษด้วยกันคงอธิบายให้ฟังเข้าใจแล้ว ศาลไม่ต้องห่วง

ดังนั้นถ้าศาลเห็นว่าเงื่อนไขในสัญญาแฟรนไชส์ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยอย่างที่ว่า สัญญาข้อนั้นก็ใช้ไม่ได้ เรื่องพวกนี้ค่อนข้างละเอียด ให้พวกที่เรียนกฎหมายเขาปวดหัวดีกว่า

หลักเรื่องความสงบฯที่ว่านี้จะคลุมทุกเรื่อง ไม่ว่าคุณจะเขียนไว้ในสัญญาแฟรนไชส์หรือไม่ก็ตาม ถ้ามีเรื่องมาถึงศาล ๆ ต้องหาควานหากฎหมายมาตัดสินคดีคุณจนได้ เพราะศาลมีหลักอยู่ข้อหนึ่งว่า

ศาลจะปฏิเสธไม่ยอมตัดสินคดี โดยอ้างว่าเพราะไม่มีกฎหมายไม่ได้ คือบังคับศาลไว้เลยว่า ไหน ๆ เขาก็หนีร้อนมาพึ่งเย็นแล้ว ศาลต้องหาทางตัดสินให้ได้ ไม่ว่าจะมีกฎหมายเขียนไว้หรือไม่ก็ตาม ยังมีเรื่องอื่น ๆ อีกที่จะไม่มีการเขียนในสัญญา แต่กฎหมายก็ยังอุตส่าห์โผล่หน้ามาวุ่นวายกับคุณด้วย

สมมุติทำแฟรนไชส์ขายก๋วยเตี๋ยวหลอด ลูกค้าซื้อไปกินปุ๊บ วิ่งหาห้องน้ำแทบไม่ทันปั๊บ หรือก๋วยเตี๋ยวหลอดของคุณใส่ไส้แมลงสาป อย่างนี้ลูกค้าก็ฟ้องเรียกค่า หยูกค่ายาจากคุณได้ ฐ านทำอาหารไม่สะอาดให้เขากิน เขาเรียกว่าละเมิด

นี่ดีนะว่าแค่ท้องเสีย ถ้าเคราะห์หามยามซวย พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก พฤหัสซ้ำ พุธเหยียบ อังคารย่ำ คนกินเกิดถ่ายจนตาย อย่างนี้ก็มีสิทธิเข้าไปกินข้าวแดงของหลวงได้เหมือนกัน ยังมีกฎหมายอีกส่วนหนึ่งที่แยกออกเป็นเรื่อง ๆ นักกฎหมายเขาเรียกว่า “เอกเทศสัญญา”

ส่วนนี้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจแฟรนไชส์หลายอย่างทีเดียว บางครั้งมาแบบเดี่ยว บางครั้งมาแบบคู่ เผลอ ๆ มีแบบคู่ผสม หรือเดี่ยวสลับมืออีกต่างหาก อย่างเช่น

ตอนตั้งร้านอาจต้องทำสัญญาเช่า ต้องจ้างคนมาตกแต่งร้าน ต้องจ้างพนักงาน ต้องซื้อโน่นซื้อนี่เข้าร้าน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อจากแฟรนไชซอร์ หรือใครก็ตาม อาจต้องจ้างคนมาทำโฆษณา หรืออื่น ๆ อีกมากมาย นี่แค่ตอนเปิดร้านเท่านั้นนะ

พวกนี้จะตกอยู่ในบังคับกฎหมายในส่วนที่เรียกว่า เอกเทศสัญญาว่าด้วยซื้อขาย จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน ฯลฯ ทั้งสิ้น


 
กฎหมายอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวอย่างแยกไม่ค่อยออก เหมือนพวกกระโดดน้ำนอกจากตีลังกา ใส่เกลียวสองรอบแล้วยังมีซัมเมอร์ซอลอีกต่างหาก กฎหมายพวกนี้จะมาเป็นชุด เรียกว่า “กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา”

ทรัพย์สินทางปัญญาคืออะไร ?

เดิมคำนี้ตอนที่ผมเรียนกฎหมายเขาเรียกว่า “วิชาทรัพย์ไม่มีรูปร่าง” ฟังดูแล้วงงดีจริง ๆ เพราะไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่ให้ความรู้สึกเหมือนเรียนวิชาพ่อมดกับศาสตราจารย์ดับเบิลดอร์ ในแฮรี่พ็อตเตอร์เลย ผมยังเคยสงสัยว่า ถ้าเป็นทรัพย์แล้วทำไมถึงไม่มีรูปร่าง ? ของไม่มีรูปร่างก็เป็นทรัพย์ได้หรือ ?

ตอนหลังเขามาเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินทางปัญญา เข้าใจว่าเปลี่ยนตามคำในภาษาประกิด Intellectual Property ฟังดูดีแต่หาคำจำกัดความได้ยากจัง แต่เรามาพูดภาษาชาวบ้านก็แล้วกัน

ทรัพย์สินทางปัญญาคือ อะไรก็ได้ที่เราใช้สมองเราคิดออกมาเอง แล้วเอามาขายเป็นเงินได้ ของที่เราคิดออกมานี้ไม่ค่อยเหมือนของอย่างอื่นที่จับต้องได้ตามปกติ จึงต้องมีกฎหมายโดยเฉพาะของมันเอง

ตัวละครเด่น ๆ ของกฎหมายนี้ที่เรามักจะได้ยินกันเสมอ ก็คือ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้า

ความจริงตอนนี้กฎหมายในกลุ่มนี้เพิ่มสมาชิกขึ้นอีก คือ เรื่องความลับทางการค้า ซึ่งรัฐบาลเขาแยกไปเขียนเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งไปเลย คือ พ.ร.บ. ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 ซึ่งประกาศใช้ไปแล้ว คงได้พูดคุยรายละเอียดกันในตอนต่อ ๆ ไป

อีกเรื่องคือ เรื่องสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ อันนี้กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนออกกฎหมาย ใกล้คลอดแล้วครับอีกไม่นาน คงได้ใช้กัน ความแตกต่างระหว่างลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้านั้น จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก ผมจะลองยกตัวอย่างให้ดู

สมมุติว่าผมนี่จีเนียสมากเลย สามารถประดิษฐ์เครื่องมือที่หาตัวคุณทักษิณได้ไม่ว่าแกจะหลบอยู่ที่ไหน แค่เอาเครื่องของผมนี่ไปจิ้ม ๆ ดูด ๆ เดี๋ยวเดียวเครื่องก็บอกได้ เครื่องอย่างว่านี้นักวิทยาศาสตร์ที่ว่าเจ๋ง ๆ ในโลกไม่เคยมีใครคิดได้มาก่อน ผมมีสิทธิเอาเครื่องของผมนี่ไปจดสิทธิบัตร ต่อไปใครก็จะมาผลิตเครื่องนี่แข่งกับผมไม่ได้ ถ้าผมไม่ได้อนุญาต อันนี้เป็นเรื่องของสิทธิบัตร

ทีนี่ถ้าเครื่องนี้ติดยี่ห้อของผมไปด้วย ยี่ห้อของผมนี่จะเป็นเรื่องของเครื่องหมายการค้า คนอื่นจะเอาเครื่องหมายการค้าของผมไปใช้ไม่ได้

นอกจากผลิตเครื่องขายแล้ว เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ไฮเทค คนใช้อาจใช้ไม่เป็น เกิดใช้ผิดวิธีแทนที่จะเจอทักษิณ กลับเจอตู่กับเต้นนั่งยิ้มเผล่แทน ผมจึงต้องเขียนคู่มือการใช้เครื่องของผมให้คนซื้อไปใช้ด้วย

คู่มือที่ผมอุตส่าห์หลังขดหลังแข็งเขียนนี่จะเป็นลิขสิทธิ์ของผม ใครจะลอก หรือเอาไปซีร็อกขายโดยผมไม่อนุญาตไม่ได้ คงพอเห็นความสัมพันธ์ในความแตกต่างของทั้งสามเรื่องแล้วใช่ไหม

ในสัญญาแฟรนไชส์มักจะมีพวกนี้พ่วงมาด้วยเสมอ จะมากจะน้อยก็แล้วแต่ประเภทธุรกิจ บางอย่างมีแค่ลิขสิทธิ์ กับเครื่องหมายการค้าเท่านั้น แต่บางครั้งก็มีมาครบทั้งชุด ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึงเงื่อนไขของกฎหมายพวกนี้ด้วย อย่างเช่น

ถ้าต้องให้แฟรนไชซีใช้เครื่องหมายการค้า หรือสิทธิบัตรของแฟรนไชซอร์ก็ต้องจดทะเบียนสัญญานั้นกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาด้วย ไม่อย่างนั้นสัญญาจะตกเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้

ลองคิดดูว่าเราทำธุรกิจของเราอยู่ดี ๆ ก็มีคนมาบอกว่าสัญญาแฟรนไชส์ที่เสียสตางค์ไปตั้งเยอะ ใช้ไม่ได้

ไอ้หยา…. แค่คิดก็หนาวแล้ว

ในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิพวกนี้ จะเขียนเงื่อนไขทำนองจำกัดการแข่งขันทางการค้าโดยไม่เป็นธรรมไม่ได้ เช่น เขียนบังคับว่าแฟรนไชซีต้องซื้อวัตถุดิบจาก แฟรนไชซอร์เท่านั้น จะไปซื้อจากคนอื่นไม่ได้โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นต้น

ถ้าสัญญาคุณมีเงื่อนไขอะไรอย่างนี้ อาจต้องขอให้นักกฎหมายของคุณพิจารณาดูให้ดี จะได้ไม่มีปัญหาทีหลัง


ท่านใดสนใจอยากให้ร่างสัญญาแฟรนไชส์โดยถูกต้องตามหลักกฎหมายแจ้งความประสงค์ได้ที่
โทร : 02-1019187, Line : @thaifranchise
 
บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนมิถุนายน 2567
9,020
ส่อง 72 แฟรนไชส์น่าสอยมาลงทุน ครึ่งปีหลัง 2567
5,503
กลับมาแล้วแฟรนไชส์โจ๊ก เฮลตี้ฟู้ดขายง่ายกำไรดี
1,636
เดือดแน่! 6 แฟรนไชส์ไอศกรีมและชาผลไม้ ราคาถูก จ่..
1,576
จริงมั้ย ซื้อแฟรนไชส์ ยืมจมูกคนอื่นหายใจ
837
ซื้อแฟรนไชส์ อย่าให้เป็นทาส แต่ให้เป็นนายตัวเองท..
829
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด