บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    ความรู้ทั่วไประบบแฟรนไชส์
4.1K
2 นาที
21 พฤษภาคม 2552

มนุษย์เศรษฐกิจ 2.0 : ธุรกิจแฟรนไชส์ ห้าวเป้ง


สมัยนี้แทบไม่มีใครไม่รู้จักคำว่า "แฟรนไชส์" มันเป็นทางเลือกใหม่ของคนจำนวนมาก ที่อยากเป็นเจ้าของกิจการส่วนตัว แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี

ธุรกิจเกิดใหม่มีโอกาสพลาดสูง การเริ่มต้นธุรกิจโดยอาศัยแฟรนไชส์ช่วยลดโอกาสนั้นได้ เพราะเจ้าของแฟรนไชส์มีประสบการณ์ในธุรกิจนั้นมานาน จึงรู้ดีว่า อะไรบ้างที่เวิร์ค และอะไรบ้างที่ไม่เวิร์ค ผู้ซื้อแฟรนไชส์จึงไม่ต้องเริ่มต้นลองผิดลองถูกใหม่แบบเดียวกับเจ้าของแฟรนไชส์อีก แต่สามารถอาศัยโนว์ฮาวของเจ้าของแฟรนไชส์เดินหน้าต่อไปได้เลย

ชื่อเสียงของเจ้าของแฟรนไชส์เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์สามารถพึ่งพาได้ ถ้าคุณเปิดร้านกาแฟยี่ห้อของคุณเอง คุณอาจต้องใช้เวลานานมากกว่าลูกค้าจะเชื่อมั่น แต่ถ้าคุณซื้อแฟรนไชส์ยี่ห้อดังมาเปิดเลย ลูกค้าย่อมรู้สึกมั่นใจในร้านของคุณทันทีตั้งแต่วันแรกที่เปิด เพราะเขารู้จักแบรนด์นั้นดีอยู่แล้ว ร้านกาแฟของคุณก็มีโอกาสถึงจุดคุ้มทุนเร็วขึ้น

แฟรนไชส์ที่มีเครือข่ายสมาชิกมากยังก่อให้เกิดข้อได้เปรียบเรื่องต้นทุนอีกด้วย ถ้าคุณเปิดร้านอาหารของคุณเองแค่สาขาเดียวคงไม่คุ้มที่จะซื้อสื่อโฆษณาราคาแพงๆ แน่นอน แต่ถ้าเป็นเครือข่ายร้านอาหารที่มีสาขานับร้อยแห่งทั่วประเทศ การซื้อสื่อโฆษณาราคาแพงๆ ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อหารค่าใช้จ่ายออกมาเป็นต่อสาขาแล้ว จะเป็นเงินจำนวนที่ไม่มากนัก การสั่งซื้อวัตถุดิบก็เช่นเดียวกัน เครือข่ายขนาดใหญ่ย่อมมีอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์สูง เพราะมียอดสั่งซื้อใหญ่ การประหยัดต่อขนาดจึงเป็นข้อดีที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของแฟรนไชส์

เช่นนี้แล้ว เวลาที่คุณจะตัดสินใจเลือกแฟรนไชส์ คุณควรพิจารณาว่าแฟรนไชส์นั้นมีคุณสมบัติทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นมากน้อยแค่ไหน ในยุคหนึ่งที่ธุรกิจแฟรนไชส์ในบ้านเราบูมมาก มีแฟรนไชส์ใหม่เกิดขึ้นมากมายพอๆ กับจำนวนผู้ที่ต้องการซื้อแฟรนไชส์เลยทีเดียว การจะซื้อแฟรนไชส์เหล่านั้นคงต้องคิดให้หนักว่า เราจะพึ่งพาแฟรนไชส์เหล่านั้นได้มากสักแค่ไหน ในเมื่อเจ้าของแฟรนไชส์เหล่านั้นก็เพิ่งเริ่มต้นสร้าง ธุรกิจ ชื่อเสียง และเครือข่ายไม่ต่างจากเรา ประวัติที่ยาวนานของเจ้าของแฟรนไชส์เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก อย่ามัวแต่เคลิ้มกับคำพูดที่สวยหรูของเจ้าของแฟรนไชส์เกี่ยวกับอนาคต หรือตัดสินใจเลือกแฟรนไชส์ เพราะมีค่าลอยัลตี้ถูกๆ

เมื่อมองในมุมของเจ้าของแฟรนไชส์ บางทีเราอาจเกิดความระแวงสงสัยขึ้นมา ว่า ถ้าธุรกิจของเจ้าของแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่ดีจริงแล้วเจ้าของแฟรนไชส์เอาธุรกิจนั้นมาแบ่งให้คนอื่นทำทำไม เหตุใดเจ้าของแฟรนไชส์ จึงไม่สงวนธุรกิจนั้นเอาไว้ทำเองคนเดียว

ในหลายกรณีเจ้าของแฟรนไชส์มีความจำเป็นต้องแบ่งธุรกิจนั้นให้คนอื่นทำทั้งที่เป็นธุรกิจที่ดีมาก เพราะธุรกิจบางอย่างต้องใช้เม็ดเงินทุนสูงมาก ตัวอย่างเช่น ธุรกิจค้าปลีกที่ต้องขยายสาขาออกไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็วเพื่อสกัดคู่แข่งขัน ถ้ามัวแต่อาศัยทุนของตัวเองบวกกับการกู้เงินธนาคาร อาจไม่ทันกาล ทำให้สูญเสียส่วนแบ่งตลาดแบบถาวรไปได้ ถ้าลองสังเกตดูให้ดีก็จะพบว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ส่วนใหญ่มักเป็นธุรกิจค้าปลีก อาทิเช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น เพราะธุรกิจค้าปลีกเป็นธุรกิจที่มักต้องใช้เม็ดเงินลงทุนสูงมากในการขยายกิจการ เจ้าของแฟรนไชส์ยินดีมีส่วนแบ่งเค้กที่ลดลง เพื่อแลกกับการที่เค้กจะมีขนาดใหญ่มากขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้ว เจ้าของแฟรนไชส์จะมีความมั่งคั่งมากกว่า

ในแง่ของประโยชน์ต่างตอบแทน สิ่งที่เจ้าของแฟรนไชส์ต้องการจากผู้ซื้อ คือ เงินทุน ในขณะที่เจ้าของแฟรนไชส์มีโนว์ฮาวให้กับผู้ซื้อเป็นของแลกเปลี่ยน ดังนั้น บุคคลที่เหมาะสมที่สุดที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยการซื้อแฟรนไชส์มาทำจึงได้แก่บุคคลที่มีความพร้อมเรื่องเงินทุนอยู่แล้ว แต่ยังขาดไอเดียหรือระบบบริหารจัดการที่ดีอยู่ คนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนมานานจนเริ่มแก่ตัว และสามารถเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง ถ้าอยากออกมาเริ่มต้นสร้างธุรกิจเอาไว้เป็นอาชีพรองรับในวัยเกษียณ การจะเริ่มต้นลองผิดลองถูกด้วยตนเองเมื่ออายุมากแล้ว คงจะไม่เหมาะแน่ๆ พวกเขาเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มคนที่เหมาะกับการซื้อแฟรนไชส์มากที่สุด เพราะมีทุนอยู่แล้ว แต่ขาดโนว์ฮาว จึงสอดรับกับสิ่งที่เจ้าของแฟรนไชส์มองหาได้พอดี คนที่เป็นเจ้าของที่ดินทำเลทองแต่ไม่รู้จะทำธุรกิจอะไรดี ก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เหมาะกับแฟรนไชส์ด้วย (ที่จริงทำเลก็เป็นทุนรูปแบบหนึ่ง) แต่คนที่ไม่มีทุนอะไรเป็นของตนเองเลย อาจจะยังไม่ใช่คนที่เหมาะกับแฟรนไชส์

คนที่มีทุนแต่มีไอเดียกระฉูดอยู่แล้วในเรื่องการทำธุรกิจก็ไม่ใช่คนที่เหมาะจะซื้อแฟรนไชส์มาทำด้วยเช่นกัน เพราะโดยมากแล้ว เจ้าของแฟรนไชส์มักต้องเข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจแทบทุกอย่างเกี่ยวกับตัวธุรกิจมาก เพื่อให้เกิดเอกภาพภายในเครือข่ายแฟรนไชส์ทั้งระบบ ดังนั้น คนที่ชอบคิดอ่านอะไรด้วยตัวเองจะเกิดความรู้สึกอึดอัดเอาง่ายๆ เพราะรู้สึกว่าตนขาดอิสระในการตัดสินใจ บุคคลเหล่านี้เหมาะที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยตัวเองมากกว่า



อ้างอิงจาก กรุงเทพธุรกิจ

บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนพฤษภาคม 2567..
22,901
“มูฟ อีวี เอกซ์” สร้างรายได้ดีแค่ไหน! ทำไมถึงน่า..
3,022
รวม 12 แฟรนไชส์โหนกระแส คนไทยไม่เคยลืม!
1,912
จริงมั้ย? กำเงิน 15 ล้านบาท ถึงจะซื้อแฟรนไชส์ DQ..
1,849
กลยุทธ์ “แดรี่ควีน” เจ้าไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเมืองไ..
1,240
จริงมั้ย? 7-Eleven เห็นทำเลไหนดี เปิดเองแข่งสาขา..
1,189
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด