บทความทั้งหมด    บทความค้าขาย    การบริหารจัดการร้านค้า    ช่องทางทำกิน
5.9K
2 นาที
20 กรกฎาคม 2558
หนทางสู่ #พ่อค้าแม่ขาย ตลาดนัด (จากประสบการณ์จริง)


สำหรับใครที่กำลังมีความคิดที่อยากจะไปขายของตลาดนัด วางแผนการขายทุกอย่างเอาไว้หมดแล้วแต่ยังลังเลใจ ขาดความมั่นใจ หรือกล้าๆ กลัวอยู่ล่ะก็ วันนี้ ThaiFranchiseCenter.com จึงอยากขอแชร์เรื่องราวและประสบการณ์ดีๆ จากการขายของตลาดนัด

ของแม่ค้าอายุน้อยไอเดียดี สุภัชญา เมฆววณ์ หรือ เมย์  วัย 23 ปี เจ้าของร้านเคสโทรศัพท์มือถือแฮนด์เมด รับออกแบบลวดลายอินดี้ได้ตามสั่งทั่วราชอาณาจักร ที่จะมาบอกเล่าตั้งแต่จุดเริ่มต้น การฟันฝ่าอุปสรรค จนกระทั่งประสบความสำเร็จในอาชีพค้าขายได้ในปัจจุบัน

 
เมย์เล่าย้อนถึงเส้นทางการเดินทางของธุรกิจตัวเองที่กว่าจะมีวันนี้ให้ฟังว่า เริ่มจากความชอบส่วนตัวที่หลงใหลในงานออกแบบ ชอบใช้เวลาว่างในการขีดเขียนภาพหรือลวดลายต่างๆ ตามจินตนาการลงบนเศษกระดาษตั้งแต่มัธยม กระทั่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้วต้องจากบ้านมาอยู่หอพัก ซึ่งทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น จึงมีความคิดว่าอยากจะหาอะไรทำที่สามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้

ความคิดทั้งหมดมาลงตัวที่การขายสมุดทำมือ เพราะไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก เธอสร้างความโดดเด่นของสินค้าที่เธอทำขายด้วยลวดลายกราฟิกบนปก ซึ่งเธอวาดมันด้วยมือและเย็บเล่มเองทั้งหมด และลองนำมาขายให้คนใกล้ตัวรวมถึงในโลกออนไลน์ก่อน ซึ่งได้รับความสนใจจากบรรดาเพื่อนฝูงและลูกค้าวัยรุ่นเป็นอย่างมาก

จากนั้นก็เพิ่มยอดขายด้วยการบริการรับออกแบบลวดลายต่างๆ ที่ลูกค้าต้องการตามสั่ง ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดตัวการ์ตูน ภาพวาดศิลปินนักร้อง หรือข้อความตัวอักษรเท่ๆ

 

“ลูกค้าจะสั่งลวดลายที่หลากหลาย แต่ที่สั่งเข้ามามากและขายดีจะเป็นลวดลายของศิลปินนักร้องวงต่างๆ ที่พวกเขาชื่นชอบ บางครั้งเราก็นำผลงานที่เป็นรูปศิลปินไปโพสโปรโมทในแฟนเพจของศิลปินด้วย เลยทำให้มีคนสนใจและสั่งทำกันมากยิ่งขึ้น เราขายที่เล่มละ 59 บาท แต่ถ้าให้ออกแบบให้จะคิด 99 บาท และมีค่าจัดส่ง 20 บาท ซึ่งได้รับเสียงตอบรับดีมากในตอนนั้น”

เธอเล่าว่า ลงทุนเพียงหลักพันแต่ได้รับรายได้ต่อเดือนเป็นหลักหมื่น และคิดว่าอยากลองมีหน้าร้านขายที่ตลาดนัดดูบ้าง จึงศึกษาหาข้อมูลว่ามีตลาดแห่งไหนบ้างที่เน้นขายงานแฮนด์เมดโดยเฉพาะ จนมารู้จักกับตลาดนัดอินดี้ หรือ Future Park Teens Pointer

“เราหาข้อมูลและสำรวจตลาดหลายแห่งจนมาเจอตลาดนี้ ซึ่งเขาค่อนข้างให้โอกาสกับนักศึกษาที่ต้องการหารายได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถเข้าไปขายกันได้ง่ายๆ เพราะตลาดแห่งนี้กำหนดอายุของผู้ที่มีสิทธิ์ขายตั้งแต่ 15-24 ปี และรับเฉพาะพ่อค้าแม่ขายที่ขายงานแฮนด์เมดที่ทำเองจริงๆ ไม่ใช่ไปรับจากที่อื่นมาขาย เราต้องส่งขั้นตอนการทำ ส่งภาพตัวอย่างสินค้าเข้าไปให้เขาพิจารณา และรอการตอบรับอนุมัติทางอีเมลประมาณ 3-4 วัน  ซึ่งที่นี่เก็บค่าเช่าที่เพียง 100 บาทเท่านั้นเอง ทำให้มีพ่อค้าแม่ขายวัยรุ่นจำนวนมากที่สนใจอยากมาขายที่นี่”


เธอจะมาขายเฉพาะวันเสาร์ ตั้งแต่เวลาบ่าย 2 ถึง 2 ทุ่ม มีวิธีการขายที่เรียบง่ายเป็นกันเองโดยปูผ้าลงกับพื้นและจัดวางสินค้าลงบนนั้นอย่างไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรมาก
เธอบอกว่า การมีหน้าร้านทำให้เธอสนุกกับการขาย ได้พบปะและพูดคุยกับลูกค้ามากหน้าหลายตา ที่สำคัญยังทำให้โอกาสทางการค้าเพิ่มสูงขึ้น จำนวนสมุดที่ขายได้ในแต่ละเดือนนั้นจึงไม่ต่ำกว่า 100 เล่ม
 
แต่ก็ใช่ว่าการขายจะราบรื่นเสมอไป เพราะเมื่อระยะเวลาผ่านไปไม่นานก็เริ่มมีร้านที่ขายสินค้าที่คล้ายคลึงกับของเธอเพิ่มมากขึ้นและมีการขายตัดราคากันเกิดขึ้น เธอจึงคิดว่าควรจะเปลี่ยนสินค้าในการขาย แต่ก็ตั้งใจว่าจะเป็นสินค้าที่มีแนวทางไม่แตกต่างไปจากการออกแบบสมุดเท่าไหร่นัก

“เราเริ่มมีความคิดว่าอยากทำอย่างอื่นขายแทนสมุด แต่คิดว่าจะต้องเป็นสินค้าที่ต้องใช้การออกแบบในการทำได้เหมือนกัน ประกอบกับช่วงนั้นเคสมือถือกำลังฮิต เราเลยเกิดไอเดียว่าอยากเพ้นท์เคสมือถือขาย จากนั้นก็เริ่มหาข้อมูลว่าจะไปรับเคสเปล่ามาจากแหล่งไหน ต้องลุงทุนเท่าไหร่ ใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง”


จากการศึกษาทำให้เธอพบแหล่งขายส่งเคสเปล่าราคาถูกอย่างเสือป่าพล่าซ่า แหล่งรวบรวมและขายส่งอุปกรณ์มือถือทุกชนิดและทุกยี่ห้อ เธอจึงไปรับสินค้ามาจากที่นั่น และเริ่มลองเพ้นท์ชิ้นงานโดยใช้ปากกาเขียนแผ่นซีดีคุณภาพดี เมื่อเพ้นท์เสร็จก็เคลือบชิ้นงานด้วยแลคเกอร์ และนำทยอยออกวางขาย ซึ่งได้รับความสนใจมากกว่าการขายสมุดหลายเท่าเลยทีเดียว เธอสร้างเอกลักษณ์ให้สินค้าของเธอให้เป็นที่จดจำด้วยการเพ้นท์ลวดลายอินดี้เท่ๆ ที่วัยรุ่นชื่นชอบ และรับออกแบบลวดลายตามสั่งด้วยเช่นกัน

“สินค้าของเราได้รับความสนใจจากวัยรุ่นหลายๆ คนที่ชอบงานวาดมือแบบขาวดำ และช่วงนั้นแทบจะมีร้านเราร้านเดียวที่เพ้นท์ขาย เรามีทั้งลูกค้าประจำและขาจร ชิ้นหนึ่งขายในราคา 350 บาท ซึ่งขายดีมากๆ อาทิตย์หนึ่งขายได้ไม่ต่ำกว่า 50 ชิ้น”
 
เธอบอกว่ากำไรจากการขายเคสแฮนด์เมดนั้นสูงมาก เสมือนว่าลงทุนเพียง 30 บาท แต่ได้กำไร 300 ในช่วงนั้นเธอจึงมีรายรับเข้ามามาก แต่การค้าขายก็ต้องสะดุดเมื่อพบเจอกับอุปสรรคอีกครั้ง


“ลูกค้าบอกกับเราว่า ลวดลายที่เพ้นท์บนเคสมันเกิดหลุดลอกหรือไม่ก็เปื้อนเมื่อใช้ไปได้สักระยะหนึ่ง เราจึงคิดแก้ไขและหางทางออกจนได้ข้อสรุปว่า เราไม่ควรใช้ปากกาเพ้นท์ลงบนวัสดุโดยตรง ควรออกแบบในโปรแกรมคอมพิวเตอร์แล้วใช้เครื่องสกรีนคงจะเหมาะกว่า”

แม้จะต้องลงทุนเพิ่ม แต่เมื่อคิดว่าจะได้สินค้าที่มีคุณภาพที่ลูกค้าประทับใจเธอจึงยอมลงทุนซื้อเครื่องสกรีนมาในราคา 30,000 บาท และมีความคิดว่าจะใช้มันต่อยอดในการสกรีนสินค้าอื่นๆ ที่เธอวางแผนจะทำขายเพิ่มในอนาคตด้วย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืด หรือจิ๊กซอว์

การค้าขายของเธอกลับมาราบรื่นและลงตัวอีกครั้ง แต่เมื่อถามถึงช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาที่ผ่านมาว่าเธอได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง เธอตอบว่า มีบางช่วงที่ขายได้น้อยเพราะคนไม่อยากจับจ่ายกันสักเท่าไหร่ แต่ก็พยายามพยุงร้านของตัวเองให้อยู่รอดด้วยเอกลักษณ์ของสินค้าที่มีสไตล์ไม่เหมือนใคร หาสินค้าที่ใกล้เคียงกับสินค้าหลักมาวางขายควบคู่ไปด้วย และพัฒนาสินค้าให้ถูกใจลูกค้าอยู่ตลอดเวลา


ปัจจุบัน เธอเป็นแม่ค้ามาเกือบ 4 ปี และมียอดขายต่อเดือน 40,000 – 50,000 บาท  ด้วยธุรกิจที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ สิ่งสำคัญที่เธออยากจะแนะนำพ่อค้าแม่ขายมือใหม่ก็คือ การเลือกขายสินค้าที่แตกต่างจากคนอื่น รู้จักสร้างเอกลักษณ์ให้คนจดจำ กล้าตัดสินใจ สำรวจตลาดและเลือกทำเลที่เหมาะกับสินค้าของตัวเองให้มากที่สุด รวมถึงไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคและมีไหวพริบที่จะแก้ไขปัญหาในทุกสถานการณ์

ทาง ThaiFranchiseCenter.com หวังว่า เรื่องราวของคุณเมย์จะเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจ ให้พ่อค้าแม่ขายที่คิดอยากจะเริ่มต้นขายของได้ลงมือทำด้วยความตั้งใจ โดยไม่ต้องลังเลใจอีกต่อไปนะคะ
       
ลิขสิทธิ์บทความ โดยทีมงาน ThaiFranchiseCenter.com

บทความค้าขายยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ทีมไหน! หา"ทำเล"ก่อนทำธุรกิจ vs เลือก "ธุรกิจ" ก..
406
บทความค้าขายมาใหม่
บทความอื่นในหมวด