บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    การวางแผนธุรกิจแฟรนไชส์
3.6K
3 นาที
29 ตุลาคม 2558
คิดก่อนเจ็บ... โยกสเต็ปก่อนจบ


“เศรษฐกิจยิ่งทรุด แฟรนไชส์ยิ่งงอก” ฟังดูแปลก แต่รับรองสตีฟ จ๊อปส์ไม่ได้กล่าวไว้ ฮา...แต่จริงครับ ในช่วงวิกฤตคนจะรอบคอบมากขึ้นในการลงทุนอีก 3 กระเบียด แล้วธุรกิจ แฟรนไชส์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (ไม่ได้หมายความว่าไม่มี) จึงกลายเป็นเป้าหลัก


บางท่านอาจหัวเราะ... เศรษฐกิจไม่ดีลงทุนทำไม แสดงว่าไม่เคยอ่านวิลเลียม เช็คสเปียร์ “ถ้าไม่กล้าก็ไม่มีวันได้” (Noting venture, noting gained) ชินอิชิ อิซูมิ (Shinichi Izumi) เคยว่าไว้ “มนุษย์หลีกเลี่ยงการต่อสู้ไม่ได้หรอก”

เลือกลงทุนกับธุรกิจแฟรนไชส์ย่อมเหมาะกับเงินเรามากกว่าจะเอาไปทิ้งน้ำกับธุรกิจที่ยังไม่เห็นฝั่งว่าจะประสบความสำเร็จได้จริง (เหมือนที่โม้ไว้) หรือไม่
ซื้อแฟรนไชส์แมค (แม้จะแพง) แต่คุ้มกว่าไปเป็นแฟรนไชซีไอติมลอดช่องเฮียใช้
ใครคือ “ลอดช่องเฮียใช้”...

“ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน” ฮา... ก็ไม่รู้จักเหมือนคุณนั่นล่ะ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า “เราจะเลือกซื้อแฟรนไชส์อะไร”  ซื้อแฟรนไชส์เหมือนเลือกซื้อกางเกงในครับ จริตแต่ละคนไม่เหมือนกัน
 
บางคนชอบสไตล์สบาย ชิวๆ มีพื้นที่เยอะๆ แนะนำบ๊อกเซอร์ครับ แต่บางคนรำคาญชอบมีกรอบ ทุกอย่างอยู่เป็นที่เป็นทาง ไม่เกะกะ แบบนี้เชิญลองบิกินี่เลยครับ
ผ่านเรื่องรูปแบบก็ยังมีเนื้อผ้าให้เลือกอีก จะเอาผ้าฝ้าย กำมะหยี่หรือไหมญี่ปุ่น มีทั้งนั้นคำถามที่ผม (ไม่ใช่กูรูแฟรนไชส์) เจอเฉลี่ย 3.2 ครั้งต่อเดือน คือ “จะซื้อแฟรนไชส์ไหนดี”  “ผมไม่แน่ใจครับ” คำตอบของผมทำเอาหลายคนสตั้นไปสิบวิ...

ปล่อยให้งงสักพัก ผมก็ยิงขวาตรงทันที “อย่าถามว่าแฟรนไชส์อะไรดี จงถามว่าแฟรนไชส์อะไรเหมาะกับผม” แล้วตามด้วยฮุคซ้ายปลายคางว่า  “และอะไรเหมาะกับคุณ คุณต้องถามตัวเอง”

เงิบครับ... เป้าหมายผมหลับกลางอากาศแบบนับสิบไม่ลุก

คำถามพวกนี้ใครจะตอบได้ “กระจ่างแจ้งดั่งแสงตะวัน” เท่าตัวคุณเอง  เวลาแวะไปตามบูธขายแฟรนไชส์ คุณก็ได้แต่ข้อมูลแฟรนไชส์นั้นเท่านั้น แถมพริตตี้ประจำบูธมักโน้มน้าว โน้มคอตีเข่า คลุกวงใน นอกจากแม่น้ำทั้งห้าแล้ว ถ้าทำได้แม่คุณพริตตี้สาวคงลากเอาฮวงโห อิระวดีและสะแกกรังเพื่อให้เราซื้อแฟรนไชส์นั้นให้ได้

ที่เราได้ยินมักเป็นข้อมูล (เฉพาะในทาง) ที่ดีเท่านั้น อาการเคลิ้มดั่งคนถูกป้ายยาแถวอนุสาวรีย์ชัย จึงเป็นอาการที่พบเห็นบ่อย ตบะแก่กล้าเท่านั้นจะผ่านค่ายกลง๊อไบ๊นี้ได้
“ควรซื้อแฟรนไชส์ยี่ห้อดังใช่ไหม” เป็นอีกคำถามที่เจอบ่อยระดับ 2.8


ถ้าดัง... เท่ากับแบรนด์ติดตลาด แฟรนไชซีเหนื่อยน้อย เห็นเงินลอยมารำไร  อืม... มีเหตุผล แต่ไม่ใช่ปัจจัยโดดในการเลือกแฟรนไชส์

แบรนด์แข็งเป็นเรื่องที่ต้องคิด แต่อย่างอื่นด้วยครับ ลงทุนเท่าไร เมื่อไรคืนทุน ใช้พนักงานเยอะไหม เราต้องเข้าไปบริหารจัดการร้านมากน้อยแค่ไหน ฯลฯ  บางแบรนด์ล็อคว่า แฟรนไชซีต้องอยู่เฝ้าร้าน 5 ชม./วัน ถ้าคุณทำไม่ได้ก็เลิกคิด...

บางแบรนด์ดังกระหึ่มกำไรเห็นๆ แต่คุณไม่ถนัด ไม่ชอบ ไม่เคยชายตามอง คุณคิดว่าทำแล้วจะสุขหรือ ลองนึกภาพนี้... ตุ้มศักดิ์หลงรักแฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยวเนื้อชื่อดัง ทุกสาขาคนตรึม ยืนรอจนแทบขี่คอ ชามล้างไม่ทันจนคนกินต้องแบกชามตราไก่จากบ้านมาเอง
ภาพตัดฉับมาที่บ้านตุ้มศักดิ์ ทั้งอากง อาม้า อาเฮีย อาตี๋ คุณนายใหญ่ คุณนายกลางและคุณนายเล็ก แถมอาซ้อ อาซิ้มในบ้านล้วนแล้วแต่กราบไหว้เจ้าแม่กวนอิม และละเว้นเนื้อวัว

“พระเจ้าช่วยกล้วยทอด พระเจ้าจอร์ชมันทอดยาก” ตุ้มศักดิ์บอกจะแต่ง เอ้ยเป็นแฟรนไชซีขายก๋วยเตี๋ยวเนื้อ นี่มันเรื่องใหญ่ขนาดจุดธูปเก้าดอกถามบรรพชน เสี่ยงเซียมซีอีกเจ็ดวัด และต้องโยนน้ำเต้าคว่ำหงายอีกสามรอบ ดีไม่ดีอาจมีกระทบกระทั่งกระแทกกระทั้นกระทุ้งกระถองกันจน UNHCR ต้องเรียกประชุมฉุกเฉินและมีมติให้ใครสักคนลี้ภัยไปนิวซีแลนด์ ฮา...

โอกาสที่สมาชิกบ้านนี้จะชูจั๊กกะแร้หนับหนุนให้ทำแฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยวเนื้อคงยากถึงยากที่สุด และมีโอกาสสูงลิ่วที่ตุ้มศักดิ์อาจถูกกระชับพื้นที่ให้นอนนอกห้องเท่านั้น
ข้อหา “เหม็นเนื้อวัว” ฮา...
 
โอ้...แม่เจ้า เหตุผลช่างประหลาดขนาดกินเนสบุ๊คหันขวับ มองแบรนด์ได้ แต่ดูความเหมาะสมด้วย จำไว้ “คุณต้องกินนอนกับธุรกิจนั้นไปอีกนาน”

เหมือนแต่งเมีย แต่งแล้วคิดจะเลิกไม่ง่ายครับ สัญญาแฟรนไชส์ที่เซ็นกันไว้มีเงื่อนไขห้อยติ่งเรื่องนี้เสมอ  กลับกันบางคนไม่ได้คิดนอกกล่องแต่คิดฉีกกล่องน่าฉงนว่า งั้นหาแบรนด์ไม่ต้องแข็งนักแต่เหมาะกับเรา ธุรกิจเพิ่งเริ่มแสดงว่ายังโตได้ นี่เรียกว่าตีลังกามอง  “พลิกวิกฤตเป็นโอกาส” “พลิกกระจาดเป็นคีออส” ฮา...

ธุรกิจร้อนแรงอาจลวกมือและดับเร็วตามหลักอนิจจัง อย่างที่หลายปีก่อน “โรตีบอย” ทำ นักลงทุนเข็ดขี้อ่อนขี้แก่จนเดี๋ยวนี้

บางคนวิเคราะห์แจกแจงเทียบเคียงสุภาษิตไทย (หรือเปล่า) ได้น่าฟัง “เจองูเจอแขกให้ตีแขกก่อน แล้วนี่เจอ “โรตี” กลับวิ่งเข้าใส่แล้วจะเหลือเหรอ” ฮา...

บางคนเสนอว่าน่าเลือกธุรกิจอาหาร “คนกินทุกวัน เจ๊งยาก” 
“ถูกเสี้ยวหนึ่งครับ” แต่ปลอดภัยสูงคู่แข่งก็เยอะ ถ้าเราปรับตัวไม่ได้ ลงทุนสูง ค่าใช้จ่ายเยอะ ดอกเบี้ยบาน แบบนี้ก็ล่องจุ๊นได้ครับ  

อีกข้อที่ผู้ลงทุนเข้าใจผิดได้ง่าย คิดว่าแฟรนไชส์เหมือนลงทุนแบบเทิร์นคีย์ (Turn Key) ทุกสิ่งสรรพสร้างได้เพราะเงินข้า แฟรนไชซอร์เตรียมทุกอย่างให้แค่จ่ายตังค์ก็ได้ครบ
แบบนี้แถวบ้านเรียก “มนุษย์มั่วครับ” ซึ่งคงเป็นญาติห่างๆ ของมนุษย์ป้าทั้งหลาย


ธุรกิจแฟรนไชส์ แฟรนไชซีต้องทำเอง แฟรนไชซอร์เขาสอน แนะนำและดูให้เราทำตามได้ เขาไม่มายืนเจ๋อข้างคุณตลอดครับ 

เมื่อลงทุนจ่ายตังค์แล้ว แฟรนไชซีเป็นเจ้าของธุรกิจนั้น จึงต้องทำเองจะวาดวิมานหรูว่า แฟรนไชซอร์จะเป็นพระเอกขี่รถถังมากู้กรุงตลอดก็ออกจะเกินไป

ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ แก้ไม่ถูก หรือแก้ถูกแต่ไม่ทันเวลาก็เจ๊งได้ครับ ธุรกิจแฟรนไชส์ไม่ได้รับรองว่าจะไม่เจ๊งนะครับ ฮา...(กริบ)
“เจ๊งมาเยอะ แบรนด์ดังก็เจ๊งได้ตามหลักความเสมอภาคภายใต้รัฐธรรมนูญ” ฮา (อีกที)...

งั้นเราเริ่มที่ธุรกิจที่เรารักเราชอบก่อนดีไหม “ดีครับ” แต่ก็มีข้อน่าคิดว่า หลายอย่างที่เรารักชอบ หรือเป็นงานอดิเรกสุดโปรด เช่น เลือกทำแฟรนไชส์เกี่ยวกับกลอฟ์เพราะชอบตีกอล์ฟ

แต่ถ้าต้องอยู่กับกอล์ฟ (ที่ไม่ใช่น้องกอล์ฟ) ตั้งแต่เช้ายันมืด ต้องตึ๊งบ้านกับธนาคาร เสียวที่สุด คือตอนกลัวที่หลุดจำนอง“ไม่รู้ว่าตอนนั้นยังจะรักน้องกอล์ฟ เอ้ย..ธุรกิจกอล์ฟอยู่หรือเปล่า” ฮา...

การเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ต้องหาธุรกิจที่เหมาะกับเรา อุปนิสัยใจคอของเรา ครอบครัวเรา วิถีชีวิตของเรา และ อะแฮ่ม... คำนวณตังค์ในกระเป๋าเราด้วยครับ เห็นคนอื่นทำแล้วดี แล้วดัง แถมได้ตังค์อีกต่างหาก แต่เราทำแล้วอาจดึ๊กดำดึ๋ยก็ได้...

แต่ละคนมีปัจจัยต่างกัน ต้องคิดและตีโจทย์ของตัวเองให้แตก ต้องขยันคุ้ยหาข้อมูลเหมือนเป็ดคุ้ยเขี่ยอาหาร เงี่ยหูฟังให้ว่องเหมือนหลังอานเฝ้าบ้าน และกล้าถามเหมือนเด็กสี่ขวบ 

เลือกให้ดี เพราะเลือกแล้วทำสัญญาแล้ว จะขยำสัญญาแฟรนไชส์ทิ้งกันง่ายๆ เหมือนกระดาษทิชชู่มันใช่เรื่องไหม สัญญาต้องเป็นสัญญา (pacta sunt servanda) ภาษิตละตินว่าไว้อย่างนั้น 


เซ็นไปแล้วทำไม่ได้ถือว่าผิดสัญญาและเสียหายแน่ ถ้าลงทุนแล้วเลิกที่เห็นๆ เลย ค่าก่อสร้างตกแต่งร้าน ค่าเครื่องมือและสารพัดอุปกรณ์ที่จ่ายไป สูญสลายในบัดดล...
แม้บางอย่างจะขายเป็นมือสอง “แต่ราคาจะหดจู๋เหมือนย่อวอลโว่เหลือแค่มอไซค์ซูซูกิ” 

ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์เขาก็ไม่คืน เคราะห์หามยามซวยอาจมีคดีฟ้องร้องตามมา แน่นอนว่า “คดีเป็นเรื่องต้องใช้เวลา แถมไม่รับรองผล”แม้ผลคดีจะไม่แน่นอน สิ่งหนึ่งที่แน่นอน คือ ค่าทนายครับ “ยังไงก็ต้องจ่าย” ฮา...

แม้มีโอกาสชนะคดีแต่ริบหรี่เต็มทน สัญญาแฟรนไชส์แฟรนไชซอร์เป็นคนร่าง แฟรนไชซีจับมาพลิกอ่านดูได้ ทำความเข้าใจได้ แต่แก้ไม่ได้ หรือแก้ยากมากครับ
นักกฎหมายบางคนเรียกสัญญาแบบนี้ว่า “สัญญาสำเร็จรูป” (Standard Form Contract) ผมเรียกว่า “สัญญาหน้าเขียว”
แหะ...แหะ...ที่จริงเขาเรียกว่า “สัญญาบีบบังคับ” (Adhesion Contract) ผมแค่นึกต่อเท่านั้นว่าถ้าบีบแล้วก็ต้องหน้าเขียว ฮา...

ยาสามัญประจำบ้านช่วยแก้โรคหน้าเขียวพอมีครับ กฎหมายข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม แต่อาจแก้ปัญหาไม่สะเด็ดน้ำ อาการช้ำเลือดช้ำหนอง และแผลตกสะเก็ดอาจหลงเหลืออยู่ได้

เพราะความสัมพันธ์แฟรนไชส์มันซับซ้อนครับ บางครั้งยากที่จะชี้ว่า ข้อสัญญาที่ให้แฟรนไชซีทำโน่นทำนี่นั้น “เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม”
 
ผมเพิ่งคุยกับแฟรนไชซอร์รายหนึ่งเมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า  “เมื่อไรที่คุณเริ่มส่ายสายตาหาจุดที่แฟรนไชซีผิดสัญญา แสดงว่าความสัมพันธ์กับแฟรนไชซีรายนั้นกำลังวิกฤต”

การทำแฟรนไชส์ไม่ใช่อะไรอื่นเลยนอกจากการบริหารความสัมพันธ์ (Franchise is nothing but relationship management)
เมื่อไรที่แฟรนไชซีเริ่มโยกสเต็ปไม่ทำตามระบบ สั่งโน่นทำนี่ สั่งนี่ทำนั่น หรือไม่ทำเลยแสดงว่าหนังใกล้จบ ความสัมพันธ์ของคุณสองคนกำลังโยกเยกเอย น้ำท่วมเมฆ กระต่ายลอยคอ....

การพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด จริงจัง จริงใจแต่ไม่ต้องจิงโจ้กระโดดไปนั่งตัก การจู๋จี๋อย่างถูกคอ (แต่ห้ามไซ้) ป้องกันปัญหาเกิดได้
เอะอะจะรบกันท่าเดียวคุ้มหรือ อาจไม่หนุกแถมเจ็บตัวทั้งคู่

ข่าวแฟรนไชซอร์ทะเลาะกับแฟรนไชซีนี่ “เป๋าฮื้อน้ำแดง” ของสื่อเลยครับ คนทะเลาะกันตีกัน ลงหน้าหนึ่งพาดหัวตัวไม้ คนทำดีลงหน้าแปดคอลัมน์จิ๋วแทบต้องใช้แว่นขยายส่อง เข้าตำรา “ทำดีโฆษณาเสียตังค์ ทำไม่ดีโฆษณาฟรีครับ” ฮา...


บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนพฤษภาคม 2567..
24,636
“มูฟ อีวี เอกซ์” สร้างรายได้ดีแค่ไหน! ทำไมถึงน่า..
3,762
รวม 12 แฟรนไชส์โหนกระแส คนไทยไม่เคยลืม!
2,341
จริงมั้ย? กำเงิน 15 ล้านบาท ถึงจะซื้อแฟรนไชส์ DQ..
1,911
กลยุทธ์ “แดรี่ควีน” เจ้าไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเมืองไ..
1,272
จริงมั้ย? 7-Eleven เห็นทำเลไหนดี เปิดเองแข่งสาขา..
1,242
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด