บทความทั้งหมด    บทความค้าขาย    ขายตรง เครือข่าย    การบริหาร การจัดการ
4.5K
2 นาที
10 กุมภาพันธ์ 2553

ระวังความคิดปรุงแต่งของคุณ


ถ้าคุณโทรศัพท์ไปหาลูกค้า แล้ว ลูกค้าไม่ได้รับสาย คุณคิดว่าอย่างไร? .. “ลูกค้าไม่อยากรับสายเรา” “ลูกค้าหลบหน้าเราแน่ๆเลย” “ทำไมเขาไม่รับสายเรา เขาไม่ชอบเราหรือเปล่า?” “สงสัยลูกค้าติดธุระอยู่” .. คำตอบอาจมีมากมายหลายอย่างแล้วแต่ความคิดของแต่ละคนใช่ไหม?

ถ้าคุณไปขายของ แล้ว ลูกค้าเขายังไม่ซื้อ คุณคิดว่าอย่างไร? .. “ทำไมเขาไม่ซื้อ(วะ)?” “ฉันนำเสนอไม่ดีหรือเปล่า?” “เขาไม่ชอบเรามั้ง?” “ฉันจะทำงานนี้ได้ไหมเนี่ย?” “ทำไมฉันขายไม่เก่งเหมือนคนอื่น?” “ดวงฉันไม่ดีเลยช่วงนี้” ฯลฯ .. โอ๊ย! มีสารพัดความคิดใช่ไหม?

มันเป็นการยากที่จะ “แยกแยะ” ระหว่าง

  • 1.“สิ่งที่เกิดขึ้น” กับ
  • 2.“สิ่งที่คุณคิดหรือตีความหรือปรุงแต่ง”

เวลาที่เราเจอเหตุการณ์อะไรก็ตาม เราจะคิดหรือตีความแบบอัตโนมัติเลยโดยที่เราไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำไป! เพราะว่า .. “มนุษย์เป็นเครื่องจักรของการตีความ”

เอาล่ะ เราลองมาแยกแยะบางตัวอย่างดูนะ ..

  • 1.สิ่งที่เกิดขึ้นคือ โทรศัพท์ไปหาลูกค้า แล้วลูกค้าไม่ได้รับสาย
  • 2. สิ่งที่เราคิด/ตีความ/ปรุงแต่ง คือ ลูกค้าไม่อยากรับสายเรา ลูกค้าหลบหน้าเราแน่ๆเลยฯ

คุณรู้ไหมว่า สิ่งที่ “คุณคิด/ตีความ/ปรุงแต่ง” มันจะเป็น “ความจริง” อย่างมากเลยในโลกของคุณ .. ทำไม พูดอย่างนี้หรือ? ลองดูนะ .. ถ้าคุณเป็นคนคิดลบและคำตอบของคุณเหมือนตัวอย่างข้างต้นนี้ คุณก็จะห่อเหี่ยวหมดแรงใช่ไหม? .. และถ้ามันไม่ใช่ความจริงสำหรับคุณ ทำไมคุณถึงห่อเหี่ยวล่ะ?!? ..
คุณ “หลงเชื่อ” ความคิดของคุณว่ามันเป็นความจริง “โดยที่คุณไม่รู้ตัว” เพราะฉะนั้น “ระวังความคิดของคุณให้ดี!”


ถ้าอย่างนั้น “ลูกค้าไม่ได้รับสายแปลว่าอะไร?” .. ก็แปลว่า “ลูกค้าไม่ได้รับสายหน่ะซิ!”

ได้คุยกับพี่ท่านหนึ่ง เขาทำงานขายประกันชีวิต เขาบ่นให้ฟังว่า “ช่วงนี้ผมเครียดมาก เป็นอะไรไม่รู้ขายไม่ค่อยได้เลย ตัวเลขตก สงสัยว่า ผมคงไม่เก่ง โชคทำไมไม่เข้าข้างผมเลย มันเป็นช่วงชีวิตที่ดิ่งเหวจริงๆหรือนี่!” เสียงของเขาเต็มไปด้วยความกังวลมาก

ก็บอกวิธีการแยกแยะข้างต้นให้เขาฟัง ..

  • 1.สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ขายไม่ได้ ตัวเลขตก
  • 2. สิ่งที่คิด/ตีความ/ปรุงแต่ง คือ ไม่เก่ง โชคไม่เข้าข้าง เป็นช่วงชีวิตที่ดิ่งเหว

พอเขาได้วิธีการแยกแยะที่ชัดเจนแบบนี้ เขาก็ถึงบางอ้อเลย! เขาบอกว่า เขาหลงปรุงแต่งเรื่องราวแย่ๆแบบนี้มาตั้งนาน อยากจะหา “ไวรัส” มาเขมือบไอ้ความคิดปรุงแต่งพวกนี้จริงๆ . . ก็บอกเขาว่า พี่อยากได้ไวรัสหรือ? ถ้าอย่างนั้นฟังคำตอบให้ดีๆนะ .. ไวรัสที่จะเขมือบความคิดปรุงแต่งพวกนี้ก็คือ “สติ”

เขาบอกว่า “เอ้อ! จริงๆด้วย ผมต้องมีสติ! ดูซิเรื่องแค่นี้ยังคิดไม่ออก ผมนี่มันไม่เอาไหนเลย!” .. โอ๊ย!อยากจะบ้าตาย! พูดแค่นี้พี่เขายังตีความอีกว่า เขาไม่เอาไหนเลย.. เฮ้อ! .. มนุษย์นี่เป็นเครื่องจักรของการตีความจริงจริ๊ง!!!

ต่อจากนี้ไป เราต้องเริ่มฝึกที่จะมีสติ คอยจับความคิด อารมณ์ และความรู้สึกของเราให้ทันท่วงที เวลาที่เราเศร้า หงุดหงิด กังวล โกรธฯ แสดงว่าเรากำลังปรุงแต่งตีความอะไรบางอย่างอยู่ ให้เรามี “สติ” แล้วเรียกเอา “ปัญญา” มาพิจารณา “แยกแยะ” ระหว่าง

  • 1. สิ่งที่เกิดขึ้น กับ
  • 2. สิ่งที่เราปรุงแต่งตีความ
    หลังจากนั้นให้เราอยู่กับ “สิ่งที่เกิดขึ้น” เท่านั้น .. สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้น มันไม่ได้หมายความว่าอะไรทั้งสิ้น

ถ้า คุณมีเงินเก็บ 200,000 บาท ก็คือคุณมีเงินเก็บ 200,000 บาท หรือคุณมีหนี้ 500,000 บาท ก็คือคุณมีหนี้ 500,000 บาท มันไม่ได้หมายความว่า คุณเป็นคนจน คุณไม่มีความสามารถ คุณเป็นคนไม่ประสบความสำเร็จฯลฯ

ในด้านของสายสัมพันธ์ก็ต้องระวังเรื่องการตีความเหมือนกัน เช่น พ่อกำลังตื่นเต้นลุ้นฟุตบอลนัดสำคัญอยู่หน้าจอ TV สักครู่ลูกชายเดินมาหาเพื่อชวนพ่อไปเล่นด้วย พ่อก็บอกว่า “รอพ่อดูฟุตบอลจบก่อนนะ” ลูกชายเดินคอตกออกไปจากห้องพร้อมกับความเสียใจว่า “พ่อเห็นฟุตบอลดีกว่าเรา พ่อไม่รักเราแล้ว ฯลฯ” เห็นไหมว่า พ่อพูดแค่นี้ แต่ลูกไปตีความว่าอะไรบ้าง

เวลาที่คุณทำงานร่วมกันเป็นทีมก็ต้อง ระวัง ถ้าคุณชวนทีมงานของคุณไปร่วมงานประชุมที่สำคัญมาก แต่เขาไปไม่ได้ เพราะมีนัดกับแม่ คุณก็อาจจะคิดว่า “ดูซิ งานสำคัญขนาดนี้ยังไม่ยอมไป แล้วจะประสบความสำเร็จในอาชีพนี้ได้อย่างไร ไม่สนใจงานของตัวเองเลยฯ” ถ้าคุณมีความคิดแบบนี้ วันหลังเวลามีงานประชุมอีก คุณอยากจะชวนเขาไหม? ภาพพจน์ของเขาในสายตาของคุณเป็นอย่างไร?

ขอให้คุณฝึกการแยก แยะและอยู่กับ “สิ่งที่เกิดขึ้น” เท่านั้น พยายามจับตัวเองให้ทันหรือมีสติเตือนตัวเองให้ได้เวลาที่ “คุณคิด/ตีความ/ปรุงแต่ง” และนี่คือ “สุดยอดเคล็ดวิชา” ที่จะทำให้คุณคลายจากความเครียด ความเศร้า และความทุกข์ทั้งหลาย



อ้างอิงจาก ทวีศักดิ์ คงทรัพย์

บทความค้าขายยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สรุปขั้นตอนเปิดร้านในห้าง ใช้เวลาเท่าไหร่
467
บทความค้าขายมาใหม่
บทความอื่นในหมวด