บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    เรื่องราวความสำเร็จ
5.3K
2 นาที
8 เมษายน 2553

แฟรนไชส์ (Franchise) ธุรกิจสำเร็จรูป?

มีบุคคลได้กล่าวเอาไว้ว่า "ถ้าเราต้องการเริ่มธุรกิจด้วยตัวเราเอง โอกาสประสบความสำเร็จมี 20% ถ้าเราซื้อกิจการที่เขาดำเนินงานอยู่แล้วมาดำเนินงานต่อ โอกาสประสบความสำเร็จมี 50% แต่ถ้าเราซื้อแฟรนไชส์ โอกาสประสบความสำเร็จมีถึง 80%"

จากคำกล่าวข้างต้นนี้อาจจะทำให้ใครหลายๆคนเข้าใจว่า ธุรกิจแฟรนไชส์นั้นเปรียบเสมือนธุรกิจสำเร็จรูป ที่ถ้าหากใครได้ซื้อแฟรนไชส์ไปดำเนินธุรกิจแล้ว ก็จะประสบความสำเร็จทุกรายไป แต่อย่าลืมว่าโอกาสที่คุณจะไม่ประสบความสำเร็จจากการทำธุรกิจแฟรนไชส์นั้นยังมีอยู่ถึง 20% ดังนั้นหากใครที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ แต่ไม่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งใน 20% ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ก็ควรที่จะทราบว่าต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง แต่ก่อนอื่นคุณควรทราบถึงแนวโน้มของธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศไทยในปัจจุบันเสียก่อน ว่ามีทิศทางการเจริญเติบโตอย่างไรบ้าง

จากผลพวงทางด้านปัญหาเศรษฐกิจในหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้ที่ผันตัวเองจากการทำงานในบริษัท หันมาเริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัวเป็นจำนวนมากขึ้น ถ้าใครคนใดไม่ได้มีพื้นฐานความรู้หรือประสบการณ์ ก็คงเป็นเรื่องลำบากที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ จึงมีบุคคลส่วนหนึ่งคิดที่จะเริ่มต้นธุรกิจด้วยการซื้อแฟรนไชส์ ซึ่งมีทั้งแฟรนไชส์ที่เป็นของคนไทยเองและแฟรนไชส์จากต่างประเทศ บวกกับการสนับสนุนจากภาครัฐ

เช่น นโยบายส่งเสริม SMEs ของรัฐบาล ทำให้หลายหน่วยงานหันมาจับโครงการแฟรนไชส์ เป็นจุดในการส่งเสริม SMEs ปัจจุบันจึงมีผู้ประกอบการนิยมประกอบธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์มากขึ้น ทั้งเป็นผู้ให้สิทธิ์ (Franchiser) และผู้รับสิทธิ์ (Franchisee) ซึ่งในประเทศไทยมีธุรกิจแฟรนไชส์ อยู่ประมาณ 230 กิจการ เป็น แฟรนไชส์ของคนไทยประมาณ 140 กิจการ และมีแนวโน้มว่าในอนาคตธุรกิจแฟรนไชส์จะมีการขยายตัวกว่า 30%

จากการขยายตัวของระบบธุรกิจแบบแฟรนไชส์ดังกล่าว ส่งผลให้ในแต่ละปีมีแฟรนไชส์ใหม่ๆออกมาให้เลือกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแฟรนไชส์ของคนไทยซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแฟรนไชส์ประเภทอาหาร ตัวอย่างเช่น "หมูย่างเฉพาะกิจ" แฟรนไชส์หมูย่าง 6 รส ที่ปรับเปลี่ยนเมนูข้าวเหนียว-หมูย่างธรรมดาๆ ให้ไม่ธรรมดา ที่ใช้เวลาเพียง 2 ปี แต่สามารถขยายแฟรนไชส์หมูย่างเฉพาะกิจได้กว่า 78 แห่งทั่วประเทศ หรือการเข้ามาทำธุรกิจแฟรนไชส์ของดารานักร้อง

เช่น ข้าวมันไก่เจมส์ ของนักร้องชื่อดังเจมส์-เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ ก็เป็นการปลุกกระแสธุรกิจแฟรนไชส์ได้พอสมควร นอกจากนี้ยังมีแฟรนไชส์อื่นๆ อาทิ สะเต๊ะทูเดย์ ร้านแมลงอินเตอร์ บ้านดอยตุงคอฟฟี่ โจ๊กกองปราบ บะหมี่เกี๊ยวแชมป์โลก เฉาก๊วยธัญพืช ข้าวมันไก่หงษ์ทอง ก๋วยเตี๋ยวปลาดอกเตอร์ ก๋วยเตี๋ยวเรือคุณหมอ และอีกมากมาย

แต่แฟรนไชส์ก็ไม่ใช่ธุรกิจสำเร็จรูป ที่เป็นสูตรสำเร็จในการเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวเสมอไป เพราะปัจจุบันนี้มีธุรกิจหลายแห่งใช้คำว่า "แฟรนไชส์" มาโฆษณาเพื่อขยายธุรกิจหรือขายสินค้า โดยไม่ได้มีความรู้และระบบมารองรับ ดังนั้นถ้าหากคุณต้องการที่จะลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการศึกษาและทำความเข้าใจกับระบบแฟรนไชส์ รวมถึงธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุนเสียก่อน จะได้ไม่ต้องเสี่ยงกับปัญหาที่จะตามมาในภายหลัง

อันดับแรกคุณควรที่จะทำการตรวจสอบดูตัวเองก่อน ว่ามีความเหมาะสมกับการทำธุรกิจแฟรนไชส์มากน้อยเพียงใด พร้อมที่จะเป็นนักธุรกิจแฟรนไชส์ที่ดีได้หรือไม่ เพราะการทำธุรกิจประเภทนี้ นอกจากจะต้องมีเงินลงทุน ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญแล้ว คุณควรจะมีคุณสมบัติต่างๆเหล่านี้ด้วย 

  1. มีความรู้ ทักษะ หรือประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่จะลงทุน ถ้าคุณไม่เคยมีประสบการณ์ในธุรกิจด้านนั้นๆมาก่อน ก็ควรที่จะมีการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจกับระบบแฟรนไชส์และธุรกิจที่จะไปลงทุนพอสมควร
  2. มีความตั้งใจจริงและมุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จ ถือเป็นพลังผลักดันสำคัญที่จะทำให้คุณสามารถต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ เพื่อไปถึงจุดมุ่งหมายได้อย่างไม่ท้อถอย 
  3. เป็นผู้ที่มีความอดทน และยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น การทำธุรกิจแฟรนไชส์เป็นการทำธุรกิจระหว่างบุคคลสองฝ่าย เปรียบเสมือนการเข้าร่วมธุรกิจของคนอื่น ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น อีกทั้งจะต้องมีความอดทนต่อภาวะความเครียดและแรงกดดันต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
  4. ติดตามการเปลี่ยนแปลงและมีการเรียนรู้อยู่เสมอ ถึงแม้ว่าธุรกิจแฟรนไชส์จะมีการจัดระบบและการจัดอบรมให้ แต่ Franchisee ก็ต้องมีการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจ รวมถึงต้องมีการติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมได้
  5. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ในการดำเนินธุรกิจนั้นคุณจะต้องทำงานร่วมกับบุคคลจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นพนักงานของคุณเอง พนักงานของ Franchiser และที่สำคัญที่สุดคือ ลูกค้า

เมื่อคุณได้ทำการตรวจสอบตัวเองแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการตรวจสอบแฟรนไชส์ที่คุณจะเลือกซื้อ โดยคุณจะต้องพิจารณาเลือกแฟรนไชส์ที่มีความเหมาะสมและน่าลงทุนมากที่สุด เกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาได้แก่

  1. สินค้าหรือบริการต้องมีจุดเด่นหรือมีความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage)
  2. มีการถ่ายทอดความรู้หรือ Know-How ที่เป็นระบบ สามารถนำไปปฏิบัติได้ง่าย
  3. มีตัวอย่างของความสำเร็จในรูปของผลกำไรแสดงให้เห็น ไม่ใช่ดูจากจำนวนสาขาเพียงอย่างเดียว
  4. เป็นแฟรนไชส์ที่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจเป็นระยะเวลาพอสมควร (อย่างน้อย 2 ปี)
  5. มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี เป็นแฟรนไชส์ที่เป็นที่นิยมและยอมรับของผู้บริโภค
  6. เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเจริญเติบโตในอนาคต
  7. เป็นธุรกิจที่มีการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา
นอกเหนือจากการตรวจสอบตัวเองและการพิจารณาแฟรนไชส์ที่จะเลือกซื้อแล้ว ยังจะต้องมีการพิจารณาถึงทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม ศึกษาข้อมูลจาก Franchiser ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ มีการไปเยี่ยมชม พูดคุยกับ Franchiser และ Franchisees รายอื่นๆ เพื่อเป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจ รวมไปถึงการตรวจสอบในรายละเอียดและข้อตกลงต่างๆในสัญญา

ด้วยเหตุนี้การที่คุณซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จหรือมีชื่อเสียง ก็มิได้หมายความว่าคุณจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับรายอื่นๆ ธุรกิจแฟรนไชส์จึงไม่ใช่ธุรกิจสำเร็จรูปหรือสูตรสำเร็จในการดำเนินธุรกิจเสมอไป ถ้าหากคุณปราศจากการศึกษา วางแผน และค้นหาข้อมูลที่เพียงพอ


อ้างอิงจาก อรศิริ ลีลายุทธชัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนมิถุนายน 2567
9,020
ส่อง 72 แฟรนไชส์น่าสอยมาลงทุน ครึ่งปีหลัง 2567
5,503
กลับมาแล้วแฟรนไชส์โจ๊ก เฮลตี้ฟู้ดขายง่ายกำไรดี
1,636
เดือดแน่! 6 แฟรนไชส์ไอศกรีมและชาผลไม้ ราคาถูก จ่..
1,573
จริงมั้ย ซื้อแฟรนไชส์ ยืมจมูกคนอื่นหายใจ
837
ซื้อแฟรนไชส์ อย่าให้เป็นทาส แต่ให้เป็นนายตัวเองท..
829
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด