บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    การวางแผนธุรกิจแฟรนไชส์
6.3K
3 นาที
25 มิถุนายน 2553
แฟรนไชส์น่าลงทุนสำหรับเอสเอ็มอี ปี ’53 (ตอนที่ 1)
 

เป็นที่ทราบกันดีว่าการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์นั้น เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากผู้ลงทุนส่วนใหญ่อาจยังไม่มีความเข้าใจในระบบธุรกิจมากนัก และมีเงินทุนที่ค่อนข้างจำกัด จึงมีความสนใจลงทุนในการซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์ เพราะส่วนใหญ่แล้วมักจะมีการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ แผนการทำตลาดและเทคนิคต่างๆในการประกอบกิจการให้แก่ผู้ลงทุน

อีกทั้งยังมีหลากหลายประเภทธุรกิจให้ผู้ลงทุนได้เลือกตัดสินใจ โดยทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้ลงทุนเองเป็นหลัก ประกอบกับการพิจารณาปัจจัยอื่นๆในอีกหลายด้าน ซึ่งจะขอกล่าวถึงต่อไป อย่างไรก็ดีปัจจัยสำคัญที่มีส่วนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหันมาสนใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์มากขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าการลงทุนทำธุรกิจแฟรนไชส์นั้นมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้มากกว่าลงทุนเริ่มธุรกิจใดๆด้วยตนเอง ประกอบกับมีการส่งเสริมจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลของ สมาคมธุรกิจแฟรนไชส์และเอสเอ็มอีไทย ที่ระบุว่า ในปี 2552 ไทยมีธุรกิจแฟรนไชส์และไลเซนส์ รวมกว่า 500 ธุรกิจ มีสาขาทั้งหมดประมาณ 33,000 สาขา คิดเป็นมูลค่าประมาณ 135,000 ล้านบาท โดยคาดว่าในปี 2553 จะมีสาขาจำนวนเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีมูลค่าธุรกิจแฟรนไชส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5 จากปีที่แล้ว หรืออยู่ที่ประมาณ 160,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ภาพรวมธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยแบ่งเป็นประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และของว่าง/เบเกอรี่ รวมกันในสัดส่วนร้อยละ 50.63 รองลงมาได้แก่ ภาคบริการ  การศึกษา ความงาม และร้านสะดวกซื้อ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยจะมีการขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของเจ้าของแฟรนไชส์ และจำนวนสาขาต่างๆ แต่ขณะเดียวกันก็มีธุรกิจจำนวนไม่น้อยต้องประสบปัญหาในการดำเนินงานและปิดตัวลงไป ซึ่งจุดอ่อนสำคัญของธุรกิจแฟรนไชส์ไทย คือ ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของธุรกิจนั้นขาดความพร้อมด้านระบบบริหารจัดการ  และขาดการให้ความสนับสนุนผู้ซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์ เพราะถึงแม้ว่าในระยะเริ่มต้นของการทำธุรกิจจะประสบความสำเร็จ แต่หากเจ้าของแฟรนไชส์ไม่มีความสามารถในการบริหารสาขาลูกอื่นๆให้มีมาตรฐานได้ดีเทียบเท่ากับธุรกิจต้นแบบ ทั้งในด้านตัวสินค้า การให้บริการ และคุณภาพของพนักงาน ก็จะเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงที่ได้สั่งสมมาตั้งแต่ต้น รวมทั้งการขาดการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการตอกย้ำแบรนด์อย่างสม่ำเสมอแก่กลุ่มลูกค้า จึงอาจทำให้สูญเสียลูกค้าประจำ ขณะเดียวกันก็ไม่มีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งในระยะยาวก็อาจส่งผลให้ธุรกิจนั้นต้องปิดตัวลงได้เช่นกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าประเภทธุรกิจที่น่าสนใจลงทุนนั้น ควรมีความสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ สภาพสังคม และพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน เพราะนับว่ามีส่วนสำคัญที่ช่วยกำหนดแนวโน้มการพัฒนาของภาคธุรกิจในประเทศ ได้แก่

ธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐบาล อาทิ นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของรัฐบาล ที่มีส่วนช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการด้วยไอเดียที่แปลกใหม่ เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของธุรกิจ สร้างความแตกต่างที่ยากต่อการลอกเลียนแบบ  ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจแฟรนไชส์  เป็นต้น  ทั้งนี้ การเลือกลงทุนในธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ เป็นการสร้างความได้เปรียบแก่ผู้ประกอบการ เนื่องจากมักจะมีนโยบายอำนวยสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ควบคู่กับกับการส่งเสริมในหลายๆด้านจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดอบรมผู้ประกอบการ  การจัดงานแสดงสินค้าและบริการ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้พบปะนักธุรกิจหรือนักลงทุน เพื่อเจรจาต่อรองซื้อ-ขายสินค้า หรือตกลงทำธุรกิจร่วมกัน  เป็นต้น

ธุรกิจที่มีแนวโน้มการขยายตัวของการส่งออกเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและคู่ค้า  สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีกลยุทธ์การเจาะตลาดในต่างประเทศ

ธุรกิจที่สามารถตอบสนองสังคมปัจจุบัน และพฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่ได้ เช่น กระแสใส่ใจสุขภาพ รักสวยรักงาม สังคมของคนทำงานซึ่งมีเวลาในการดำเนินกิจกรรมลดลง และต้องการความสะดวกมากขึ้น ตลอดจนการเข้าสู่ของสังคมผู้สูงอายุมากขึ้นกว่าในอดีต จากความก้าวหน้าทางการแพทย์

ธุรกิจสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม ชูจุดยืนในการเป็นกรีนโปรดักส์ เพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจปัญหาสภาพแวดล้อม

โดยทั้งนี้สามารถยกตัวอย่างประเภทธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจลงทุน สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในปี 2553 ได้แก่

ธุรกิจอาหาร รวมเครื่องดื่ม ของว่าง และเบเกอรี่

นับเป็นธุรกิจที่มีคนต้องการลงทุนซื้อสิทธิ์มากที่สุด เพราะอาหารเป็นเรื่องใกล้ตัว และเป็นสินค้าที่ขายได้ง่าย เพียงแต่ต้องยึดถือคุณภาพ ด้วยรสชาติที่ถูกปากผู้บริโภค สะอาดและถูกหลักอนามัย ซึ่งโดยส่วนใหญ่ใช้เงินในการเริ่มลงทุนไม่มาก อาจอยู่ที่หลักพันถึง 50,000 บาท เพราะสามารถตั้งขายได้ทั่วไป ถึงแม้จะมีพื้นที่ร้านไม่มาก และหลายรายก็มีลักษณะเป็นร้านรถเข็นเล็กๆ โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการเปิดตัวธุรกิจแฟรนไชส์ขายอาหารเป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบร้านอาหาร อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารว่าง/ของทานเล่น ขนมหวาน ไอศกรีม และเครื่องดื่ม เป็นต้น

นอกจากนี้ ความใส่ใจในสุขภาพและรูปร่างของผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงาน วัยรุ่น มีผลให้เกิดธุรกิจอาหารในรูปแบบใหม่ๆ อาทิ  สินค้าเกษตรอินทรีย์ อาหารทั่วไปๆแต่มีการปรับเปลี่ยนส่วนผสม  โดยใช้ส่วนผสมที่มีประโยชน์ทดแทนส่วนผสมที่ได้จากการสังเคราะห์ เช่น ใช้พืช/สมุนไพรที่ให้สีหรือกลิ่นแทนการใช้สีอาหารหรือใส่กลิ่นสังเคราะห์ เป็นต้นนอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสของธุรกิจอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ที่เน้นชูจุดเด่นในการเป็นอาหารปราศจากไขมันและให้พลังงานที่เพียงพอต่อการใช้ในหนึ่งวัน โดยไม่เหลือพลังงานสะสมไว้ในร่างกาย รวมทั้งอาหารซึ่งเป็นสูตรเฉพาะสำหรับผู้บริโภค ที่ใช้ส่วนผสมจากผัก ผลไม้ และธัญพืชต่างๆ ซึ่งมีสรรพคุณของส่วนผสมที่แตกต่างกันเฉพาะด้าน เช่น บำรุงสายตา บำรุงผิวพรรณให้สดใส การช่วยระบบขับถ่าย บำรุงการทำงานของสมอง เป็นต้น  โดยร้านประเภทนี้อาจใช้ต้นทุนระดับกลางขึ้นไป เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์และวัตถุดิบที่ต้องคัดสรรเป็นพิเศษ รวมถึงหากเปิดเป็นร้านที่ให้ลูกค้าสามารถนั่งรับประทานที่ร้านได้ ก็จะมีค่าตกแต่งร้านเพิ่มเติมด้วย โดยเงินลงทุนอาจอยู่ที่ประมาณหลักหมื่นถึงหลักแสนบาท ตามขนาดและรูปแบบการตกแต่งร้าน

ส่วนธุรกิจร้านกาแฟสด ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการขยายตัวสูงมาก แต่ในช่วง1-2ปีนี้ได้เริ่มลดความร้อนแรงลงไป แต่ยังคงมีโอกาสในการทำธุรกิจ หากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสนใจที่จะลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ร้านกาแฟสด เพียงแต่ควรมองหาธุรกิจที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ ทั้งรสชาติกาแฟและสูตรที่แตกต่าง  รวมถึงบรรยากาศการตกแต่งร้านที่สามารถดึงดูดลูกค้า โดยควรมีทำเลที่ตั้งของร้านในแหล่งชุมชน ใกล้สถานที่ทำงาน และสถาบันการศึกษา ซึ่งนับเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของธุรกิจนี้ โดยทั่วไปเงินลงทุนในธุรกิจร้านกาแฟจะค่อนข้างสูง เนื่องจากมีต้นทุนด้านอุปกรณ์ วัตถุดิบ และการตกแต่งร้านสูง

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการทำธุรกิจจะประสบผลสำเร็จทั้งหมด หากแต่ยังมีธุรกิจเกี่ยวกับอาหารจำนวนไม่น้อยที่ทยอยปิดกิจการลงไปเช่นกัน จึงเป็นประเด็นพึงระวังสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจลงทุน ควรศึกษารายละเอียดทางธุรกิจและข้อมูลของบริษัทผู้ขายแฟรนไชส์อย่างครบถ้วน เพราะในหลายกรณีที่บริษัทผู้เริ่มต้นทำธุรกิจดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อระบายสินค้า/อาหารที่โรงงานผลิต เพื่อขยายตลาดหาลูกค้าเพิ่ม และสร้างช่องทางขายสินค้าให้มากขึ้น

โดยระยะแรกอาจมีการขยายสาขาที่รวดเร็วเกินไป อาจทำให้เจ้าของแฟรนไชส์เองยังขาดระบบการรองรับสำหรับการบริหารสาขาที่เพิ่มขึ้นนั้นได้ดีพอ เนื่องจากขาดความสามารถในการบริหารสาขาให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ทั้งในแง่คุณภาพ การรักษามาตรฐานวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อาหาร การจัดการทางด้านการเงิน การควบคุมต้นทุนการผลิต และการบริหารทำเลที่ตั้ง เป็นต้น

ธุรกิจสถาบันการศึกษา และสถาบันเสริมสร้างทักษะ

เป็นประเภทธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงที่สุดในบรรดาธุรกิจแฟรนไชส์ทุกประเภท ทั้งรูปแบบสถาบันสอนภาษาต่างๆที่ยิ่งกลายเป็นที่สนใจสำหรับนักเรียน นักศึกษา และวัยทำงาน นอกจากนี้ ยังมีสถาบันเสริมสร้างทักษะของเด็ก ที่กลายเป็นที่สนใจของผู้ปกครองมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งภาพรวมตลาดการศึกษาในประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เพราะธุรกิจการศึกษาเป็นหนึ่งธุรกิจที่มักจะไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากเหมือนกับธุรกิจอื่นๆ แต่กลับยิ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ธุรกิจขยายตัว เพราะทำให้ผู้คนต่างเร่งพัฒนาความรู้และความสามารถตนมากขึ้น เพื่อประโยชน์ในการทำงาน ส่วนสถาบันการศึกษาและเสริมสร้างทักษะสำหรับเด็กนั้น ทางผู้ปกครองก็ยังคงต้องการหาสิ่งที่ดีที่สุด เพื่ออนาคตที่ดีของบุตรหลาน

และนอกจากผู้บริโภคจะเลือกคุณภาพของแบรนด์แล้ว ทำเลที่ตั้งของสถาบันและความสะดวกในการเดินทางก็นับเป็นส่วนสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงในอันดับแรกๆในการตัดสินใจลงทุน   อีกทั้งธุรกิจสถาบันการศึกษาเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยพื้นที่ค่อนข้างมาก ต้องมีอุปกรณ์การศึกษา สื่อการเรียนการสอน และจำเป็นต้องมีการตกแต่งสถานที่ ธุรกิจนี้จึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ซึ่งอาจอยู่ที่หลักแสนถึงหลักล้านบาททีเดียว

ทั้งนี้มีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ การเลือกทำเลที่ตั้งให้เหมาะสมแก่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ความสะดวกในการเดินทาง และที่สำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจสถาบันการศึกษา คือ ปัญหาคุณภาพของบุคลากร โดยผู้ประกอบการต้องสามารถจัดหาบุคลากรที่เหมาะสมแก่การถ่ายทอดวิชา/หลักสูตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณสมบัติในการเป็นครูที่ดี โดยผู้ประกอบการควรระลึกเสมอว่า “การมีบุคลากรที่ดีจะเป็นปัจจัยหลักที่สามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าได้เป็นอย่างดี และในทางตรงกันข้ามหากบุคลากรขาดคุณสมบัติตามที่กล่าวมาแล้วนั้น ก็จะเป็นการทำลายฐานลูกค้าไปได้เช่นกัน”

 
อ้างอิงจาก Ksmecare

บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนมิถุนายน 2567
4,157
ส่อง 72 แฟรนไชส์น่าสอยมาลงทุน ครึ่งปีหลัง 2567
2,016
กลับมาแล้วแฟรนไชส์โจ๊ก เฮลตี้ฟู้ดขายง่ายกำไรดี
1,542
เดือดแน่! 6 แฟรนไชส์ไอศกรีมและชาผลไม้ ราคาถูก จ่..
1,107
จริงมั้ย ซื้อแฟรนไชส์ ยืมจมูกคนอื่นหายใจ
803
ซื้อแฟรนไชส์ อย่าให้เป็นทาส แต่ให้เป็นนายตัวเองท..
775
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด