บทความทั้งหมด    บทความค้าขาย    ขายตรง เครือข่าย    การบริหาร การจัดการ
5.5K
3 นาที
1 มิถุนายน 2553

สุดยอดการทำธุรกิจ
 

ผมกับเพื่อนร่วมทีมภายใต้ชื่อ “คณะที่ปรึกษาธุรกิจเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจไทย” ได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับท่านผู้อำนวยการ สุวรรณ เหรียญเสาวภาคย์ แห่ง สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ซึ่งได้ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. จัดโครงการ “เพิ่มผลผลิตภาพธุรกิจค้าปลีกธุรกิจบริการและธุรกิจภาคการผลิต” ให้กับเจ้าของธุรกิจ เอสเอ็มอี ที่มีความสนใจในการบิรหารจัดการธุรกิจของตนเอง ไปสู่ความ เป็น “Best Practice” ในทั้ง 3 สาขา ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจให้บริการ และธุรกิจภาคการผลิต

เจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอี ที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ จะได้รับการประเมินสภาพของธุรกิจในปัจจุบัน และจะมีทีมงานที่ปรึกษาธุรกิจมืออาชีพ ร่วมกับนักวิชาการจากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เข้าไปช่วยเหลือปรับปรุงธุรกิจของท่าน ในด้านที่ท่านเห็นว่ายังเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ธุรกิจของท่านเดินไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ไม่ดีเท่าที่ใจคิดอยากได้

ที่สำคัญที่สุดคือ เจ้าของธุรกิจที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะถือว่าเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ที่จะคัดเลือกผู้ประกอบการที่เป็น”ต้นแบบ”                  

โดยอาศัยหลักวิชาการบริหารจัดการที่ถูกต้อง...ไม่ขำเป็นต้องอาศัยโชคชะตา หรือหลักโหราศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว

การบริหารธุรกิจเอสเอ็มอีไปสู่ความเป็นเลิศที่จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอีได้อย่างยั่งยืน จะมีแนวทางสำคัญ 7 ด้านได้แก่

                1.บทบาทของเจ้าของกิจการ

                เจ้าของกิจการจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการนำธุรกิจของตนไปสู่ความเป็นเลิศ โดยการพัฒนาตนเองให้สามารถสร้างวิสัยทัศน์และกำหนดเป้าหมายการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมและเป็นไปได้สำหรับธุรกิจของตนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ เจ้าของกิจการยังต้องสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นในการทำธุรกิจ ต้องมีจิตสำนึกและให้ความสำคัญถึงความปลอดภัย การจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีให้กับลูกน้องหรือพนักงาน

                วิสัยทัศน์ของเจ้าของกิจการ ยังต้องรวมไปถึงการให้ความสำคัญ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกจ้างและผู้ช่วยงานมีการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง และที่สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือ การให้ความสำคัญต่อข้อบังคับพื้นฐาน กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์/การดำเนินธุรกิจ และตระหนักถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม/ชุมชนรวมถึงส่งเสริมให้ลูกจ้าง หรือผู้ช่วยงานปฏิบัติตามและทำงานอย่างมีจริยธรรม

                2.การวางแผนกิจการ

                เอสเอ็มอี ตัวอย่าง จะต้องมีการจัดทำแผนธุรกิจระยะสั้น – ระยะยาว มีการถ่ายทอดแผนธุรกิจไปสู่แผนปฏิบัติการ และมีการปฏิบัติได้อย่างครอบคลุม รวมถึงการติดตามแผนปฏิบัติการอย่างเป็นระบบ และการทบทวนการปรับปรุงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดคำนึงถึงการมุ่งเน้นถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์/บริการ เพื่อตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้า

                มีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน การลดต้นทุนการผลิต/บริการ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาผลิตภัณฑ์/บริการใหม่ การสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ เป็นต้น

                3.การมุ่งเน้นลูกค้าและตลาด

                วิธีปฏิบัติที่ดี สำหรับ “สุดยอด” เอสเอ็มอี จะประกอบด้วย การมีการจัดทำข้อมูล การตรวจสอบติดตามและการทบทวนการเปลี่ยนแปลงของลูกค้า กลุ่มลูกค้า และส่วนตลาด เพื่อวางกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการรับรู้ความต้องการของลูกค้า ทบทวนข้อมูลความต้องการ ความคาดหวัง และวิธีการตอบสนองความต้องการของลูกค้า มีการจัดทำแผนการตลาด กำหนดเป้าหมายทางการตลาด การนำไปปฏิบัติ และติดตามผล

                4.การวิเคราะห์ และจัดการความรู้

                เอสเอ็มอีที่ต้องการสู่ความเป็นเลิศจะต้องหาแนวทางเพื่อสามารถวัดผลการดำเนินงานของกิจการ มีการตรวจสอบ ติดตาม และทบทวนผลการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ มีการนำข้อมูลการการวัดผลที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ไขปรับปรุง และมีการตรวจสอบ ติดตามและทบทวนแนวทางการแก้ไขปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

                นอกจากนี้ ยังต้องมีระบบการจัดการข้อมูลด้านการเงิน การบัญชี ที่สำคัญ เช่น งบกำไร ขาดทุน งบดุล และงบกระแสเงินสดได้อย่างถูกต้องในรูปแบบที่เหมาะสมกับธุรกิจ เพื่อนำไปใช้ประกอบในการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจได้อย่างแม่นยำรัดกุม
              
                 5.การบริหารทรัพยากรบุคคล

                ได้แก่ กำหนดโครงสร้างองค์กรและบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการทำงานที่ชัดเจน มีระบบการสรรหาบุคลากรที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจ มีการอบรมและพัฒนาลูกจ้าง หรือผู้ช่วยงาน ที่สอดคล้องกับกระบวนการทำงาน มีการพิจารณาประเมินผลการปฏิงานที่ชัดเจน สอดคล้องกับการพิจารณาผลตอบแทน และการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมให้แก่ลูกจ้าง และผู้ช่วยงาน มีการเปิดโอกาสให้สามารถเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจและบุคลากร

                6.การจัดการกระบวนการและวิธีการดำเนินงาน

                มีการประสานงานและข้อมูลจากฝ่ายการตลาดเพื่อนำไปใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการ มีการวางแผนและควบคุมกระบวนการผลิตหรือการบริการ จัดทำขั้นตอนการปฏิบัติงานของกระบวนการผลิตและบริการที่ชัดเจน ที่นำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการผลิตหรือการบริการได้

                7.ผลลัพธ์ทางธุรกิจ

                เจ้าของกิจการต้องจัดให้มีตัวชี้วัดเพื่อวัดผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจ เช่นตัวชี้วัดในเรื่องของลูกค้า ได้แก่  การรักษาลูกค้า ข้อร้องเรียน ความพึงพอใจของลูกค้า เป็นต้น มีตัวชี้วัดในด้านการตลาด เช่น ตำแหน่งในตลาด ส่วนแบ่งการตลาด และยอดขาย ฯลฯ

ด้านการเงิน มีตัวชี้วัดในเรื่องต้นทุน รายรับ การเติบโตของมูลค่าสินทรัพย์ เช่น ผลตอบแทนจากการลงทุน กำไรจากการดำเนินงาน วงจรเงินสด เป็นต้น

 

อ้างอิงจาก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

บทความค้าขายยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สรุปขั้นตอนเปิดร้านในห้าง ใช้เวลาเท่าไหร่
467
บทความค้าขายมาใหม่
บทความอื่นในหมวด