บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    ความรู้ทั่วไประบบแฟรนไชส์
3.6K
13 นาที
11 พฤษภาคม 2560
ถาม-ตอบเรื่องแฟรนไชส์

 
หลายคนในตอนนี้ อาจมองว่าการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ในฐานะถ้าเป็นเจ้าของธุรกิจก็มีโอกาสที่จะขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนของตัวเอง ขณะที่ผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์ ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ตามแบรนด์ธุรกิจ ตามสินค้าหรือบริการที่ได้รับความนิยมในตลาด และอยู่ในความต้องการผู้บริโภค 
 
แต่การทำธูรกิจแฟรนไชส์ให้ประสบความสำเร็จ อาจไม่ใช่เรื่องที่ง่ายมากนัก ผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ รวมถึงผู้ซื้อแฟรนไชส์ จำเป็นที่จะต้องศึกหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องแฟรนไชส์ให้เข้าใจอย่างละเอียด เพราะจะช่วยให้คุณสามารถขับเคลอื่นธุรกิจแฟรนไชส์ให้ก้าวเดินไปข้างหน้าตามจุดหมายปลายได้อย่างราบรื่น
 
วันนี้ www.ThaiFranchiseCenter.com อยากจะให้ผู้ที่สนใจทำธุรกิจแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจต่างๆ รวมถึงผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์ไปทำธุรกิจ มาหาความรู้เกี่ยวกับแฟรนไชส์ และมาดูว่าการจะทำแฟรนไชส์ ต้องรู้เรื่องอะไรบ้างครับ   

1.แฟรนไชส์ คืออะไร

 
1.1 นิยามของคําว่าแฟรนไชส์ (Franchise) 
 
แฟรนไชส์ คือ กระบวนการทางธุรกิจที่องค์กรธุรกิจหนึ่ง ๆ ได้พัฒนาวิธีการและ รูปแบบ จนได้รับการพิสูจน์ด้วยระยะเวลาแล้วว่า ประสบความสําเร็จในการประกอบการและการ จัดการธุรกิจในระดับหนึ่ง และได้ถ่ายทอดสิทธิ์ในการประกอบธุรกิจ ตามวิธีการและรูปแบบดังกล่าว พร้อมกับตัวสินค้าหรือบริการให้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่น 
ภายใต้ตราหรือเครื่องหมาย การค้า / บริการอันหนึ่งอันใดโดยกระบวนการนี้เกี่ยวข้องกับการทํานิติกรรมระหว่างบุคคล 2 กลุ่ม ในข้างต้น ในบางกรณีอาจรวมถึงบุคคลอื่นด้วย 
 
1.2 นิยามของคําว่าแฟรนไชส์ซอร์
 
แฟรนไชส์ซอร์ คือ บุคคลผู้เป็นเจ้าของตราหรือเครื่องหมายการค้า/บริการ ซึ่งได้คิดค้นและพัฒนาวิธีการอันได้รับการพิสูจน์แล้วว่าประสบความสําเร็จในการประกอบการ และการจัดการธุรกิจ ที่สามารถทําเลียนและดําเนินการโดยบุคคลอื่นได้ 
 
1.3 นิยามของคําว่าแฟรนไชส์ซี
 
แฟรนไชส์ซี คือ บุคคลได้รับสิทธิ์ในการจําหน่ายและการดําเนินธุรกิจ ภายใต้รูปแบบและตราหรือเครื่องหมายการค้า / บริการอันมีแฟรนไชส์ซอร์เป็นเจ้าของ โดยแฟรนไชส์ซีที่ร่วมกิจการไม่ได้อยู่ในฐานะของพนักงานหรือลูกจ้าง แต่จะเป็นจะเป็นเจ้าของกิจการ ที่ทําหน้าที่บริหารงานสาขาตามรูปแบบที่แฟรนไชส์ซอร์กําหนดและถ่ายทอดให้ผู้ที่เป็นแฟรนไชส์ซี จําเป็นต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าพนักงานโดยปกติ เพราะผลสําเร็จหมายถึง เวลา จํานวนเงินที่ลงทุนไป 
 
2.รูปแบบของการทําแฟรนไชส์ 

 
2.1 Product / Service or Brand Franchise
 
เป็นการให้สิทธิ์ในการให้บริการหรือทําการผลิตสินค้าที่มีสูตรหรือส่วนประกอบ เฉพาะและ/หรือให้สิทธิ์ในการ จัดจําหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้า/บริการของ แฟรนไชส์ซอร์
 
2.2 Business Format Franchising
 
เป็นการให้สิทธิ์ในการให้บริการหรือทําการผลิตสินค้าที่มีสูตรหรือส่วนประกอบ เฉพาะและ/หรือจัดจําหน่ายผลิตภัณฑ์ ภายใต้รูปแบบและเครื่องหมายทางการค้า/บริการของ แฟรนไชส์ซอ โดยมีการถ่ายทอดในระบบและวิธีการดําเนินธุรกิจแบบร้านมาตรฐานซึ่งจะมีคู่มือ ประกอบเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานของทุกส่วนงานให้แฟรนไชส์ซีปฏิบัติตาม
 
2.3 Conversion Franchising
 
เป็นระบบแฟรนไชส์ที่ออกแบบเพื่อใช้กับผู้ประกอบการอิสระที่มีอยู่เดิมให้เข้าสู่ ระบบ/รูปแบบและเครื่องหมายทางการค้าเดียวกันหรือร่วมกัน ซึ่งจะให้ประโยชน์ร่วมกันในด้าน การโฆษณาที่ทําให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจการรับทําบัญชี เป็นต้น 
 
3.ประเภทของการให้สิทธิ์แฟรนไชส์ 

 
ซึ่งอาจจะแบ่งรูปแบบได้ 3 แบบ ดังนี้ 1.แฟรนไชส์แบบบุคคล (Individual Franchise or SubFranchise) 2.แฟรนไชส์แบบพัฒนาพื้นที่ (Sub-Area License or Development Franchise) และ3.แฟรนไชส์แบบตัวแทน (Master Franchise)
 
ประเภทการให้สิทธิ์ทั้ง 3 แบบนี้ มีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่ในตัวเองขึ้นอยู่กับเป้าหมายและ ลักษณะธุรกิจของแฟรนไชส์ซอร์เป็นเกณฑ์ แต่แฟรนไชส์ซอร์หลายท่านก็มีการใช้รูปแบบทั้ง 3 ผสมผสานกันในกลยุทธ์ของแฟรนไชส์ ตามแต่เงื่อนไขของธุรกิจและการตลาด รวมถึงการแข่งขัน จากนี้มาดูกันว่าการให้สิทธิ์ในแต่ละประเภทเป็นอย่างไร
 
3.1 แฟรนไชส์แบบบุคคล (Individual Franchise or Sub Franchise)
 
เป็นรูปแบบการให้สิทธิ์แฟรนไชส์แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือนิติบุคคลองค์กรหนึ่ง องค์กรใดให้ดําเนินธุรกิจภายใต้เครื่องหมายการค้า/บริการ จากแฟรนไชส์ซอเพียงแค่เฉพาะตัว เฉพาะพื้นที่ตามข้อตกลงไม่สามารถถ่ายทอดสิทธิ์ที่ได้รับมาให้กับบุคคลอื่นได้ ซึ่งมี 2 ลักษณะคือ
  • Single unit Franchise: แฟรนไชส์ซีจะได้รับสิทธิ์ในการดําเนินกิจการเฉพาะตัวได้ เพียงหนึ่งแห่ง
  • Multi unit Franchise: แฟรนไชส์ซีจะได้รับสิทธิ์ในการดําเนินกิจการเฉพาะตัวได้ หลายแห่งภายในพื้นที่กําหนด
3.2 แฟรนไชส์แบบพัฒนาพื้นที่ (Sub – Area License or Development Franchise)
 
เป็นรูปแบบการให้สิทธิ์แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือนิติบุคคลในการทําตลาดแฟรนไชส์ใน อาณาเขตที่กําหนด โดยที่แฟรนไชส์ซีจะสามารถดําเนินธุรกิจที่ได้รับสิทธิ์มาจากแฟรนไชส์ซอ มากกว่า 1 แห่ง และจะต้องขยายตลาดแฟรนไชส์ตามสิทธิ์ที่ได้รับมาภายในระยะเวลาที่ได้ตกลง กันโดยปกติไม่สามารถขายสิทธิ์ที่ได้รับมาต่อให้กับบุคคลอื่นได้
 
3.3แฟรนไชส์แบบตัวแทน (Master Franchise)
 
เป็นรูปแบบการให้สิทธิ์แก่บุคคลใดหรือนิติบุคคลหนึ่ง เป็นรายแรกในอาณาเขตระดับ ภูมิภาคหรือระดับประเทศตามที่กําหนดเพื่อให้บุคคลหรือนิติบุคคลดังกล่าวดําเนินการขยายสาขา และทําการขยายการให้สิทธิ์หน่วยย่อยทั้งแบบ Individual Franchise หรือแบบ Sub-Area License แก่บุคคลอื่นในพื้นที่ต่อไป  
 
4.ได้อะไร – เสียอะไรจากแฟรนไชส์

 
4.1 ข้อได้เปรียบของการเข้าร่วมแฟรนไชส์ คืออะไร 
 
ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่ร่วมกันของบุคคล 2 ฝ่าย โดยที่ฝ่ายหนึ่งขาดซึ่ง ความรู้ ความชํานาญ คือ แฟรนไชส์ซี และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ คือ แฟรนไชส์ซอร์ หากแฟรนไชส์ซอไม่สามารถสร้างให้แฟรนไชส์ซีประสบความสําเร็จได้ ก็เป็นการ ยากที่แฟรนไชส์ซอร์จะประสบความสําเร็จได้เช่นกัน ในทางกลับกันหากแฟรนไชส์ซีประสบความ ล้มเหลวก็ย่อมส่งผลกระทบถึงแฟรนไชส์ซอร์ได้เช่นกัน การเข้าร่วมแฟรนไชส์จึงน่าจะมีข้อได้เปรียบดังนี้ 
 
4.1.1 โอกาสแห่งความสําเร็จที่สูงขึ้น 
 
ในการทําธุรกิจใดๆ ย่อมมีความเสี่ยงที่จะไม่ประสบความสําเร็จตาม วัตถุประสงค์ที่วางไว้ เนื่องจากมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมายแต่แนวคิดของการทําแฟรนไชส์ (Franchising) คือการดําเนินธุรกิจตามวิธีที่ได้ผ่านกระบวนการพัฒนาของแฟรนไชส์ซอมาเป็น ระยะเวลาแรมปี แล้วยังสามารถดําเนินธุรกิจอยู่ได้โดยเป็นที่ยอมรับของตลาด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความชํานาญและประสบการณ์ในการประกอบการดังนั้น โอกาสของการประสบความสําเร็จในฐานะแฟรนไชส์ซีจึงนับว่ามีสูงกว่าการประกอบการธุรกิจอิสระของตนเอง 
 
4.1.2 ย่นระยะเวลาการเรียนรู้ 
 
แฟรนไชส์ซอร์ได้ทุ่มเวลาและเงินไปเป็นจํานวนไม่น้อยเพื่อที่จะสร้างและพัฒนา ระบบ พร้อมกับได้บันทึกขั้นตอน ในการดําเนินธุรกิจที่ประสบความสําเร็จมาแล้วในระดับหนึ่ง ออกมาเป็นคู่มือ ซึ่งแฟรนไชส์ซีจะได้รับประโยชน์จากการถ่ายทอด ความเชี่ยวชาญและ ประสบการณ์ความรู้ที่ถูกรวบรวมไว้นี้จากแฟรนไชส์ซอร์ ดังนั้นจึงเป็นการประหยัดเวลาในการ เรียนรู้ถึงวิธีการดําเนินธุรกิจที่ประสบความสําเร็จมาแล้ว สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ทันทีและมี โอกาสประสบความสําเร็จได้ง่ายขึ้นเนื่องจาก ไม่เกิดการลองผิดลองถูก 
 
4.1.3 เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการยอมรับ 
 
เครื่องหมายการค้า/บริการ เป็นทรัพย์สินที่สําคัญที่สุดอย่างหนึ่งของทุกๆ ธุรกิจ และเป็นสิ่งที่อาจจะเรียกได้ว่ามีค่าสูงสุดในบรรดาทรัพย์สินต่างๆ ยิ่งเมื่อธุรกิจนั้นประสบความสําเร็จ ทั้งนี้เพราะเครื่องหมายการค้าเป็นเสมือนตัวแทนของธุรกิจต่อสายตาของผู้บริโภค เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความมีคุณภาพมาตรฐาน หรือความแตกต่างใดๆ ของสินค้าหรือ บริการของแต่ละธุรกิจ ธุรกิจแฟรนไชส์ก็เช่นกัน เนื่องจากเครื่องหมายการค้าเป็นสิ่งจําเป็นที่ควบคู่ไปกับการให้สิทธิ์ 
 
ดังนั้นเมื่อธุรกิจของแฟรนไชส์ซอร์ได้ผ่านการดําเนินการมาระยะเวลาหนึ่ง ตราหรือเครื่องหมายทางการค้า/บริการของแฟรนไชส์ซอย่อมเป็นที่คุ้นเคยและยอมรับในระดับหนึ่งของผู้บริโภค ซึ่งแฟรนไชส์ซีย่อมได้รับประโยชน์จากเครื่องหมายการค้า/บริการ ที่ได้รับการ ยอมรับในตลาดแล้วไปด้วย ทําให้การเริ่มต้นธุรกิจของแฟรนไชส์ซีเป็นไปได้รวดเร็วกว่า เพราะไม่ ต้องสร้างเครื่องหมายการค้าใหม่มาทําตลาดในพื้นที่ดังกล่าว 
 
4.1.4 การประหยัดต่อขนาดจากการซื้อทีละมากๆ 
 
ผู้ประกอบกิจการขนาดย่อมโดยทั่วไป มักพบว่าเป็นเรื่องยากที่ตนจะสามารถซื้อสินค้าและบริการในราคาถูก เนื่องจากปริมาณในการสั่งซื้อที่น้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการทําแฟรนไชส์ (Franchising) แฟรนไชส์ซอร์สามารถรวบรวมความต้องการสั่งซื้อสินค้าของแฟรนไชส์ซี เข้าด้วยกันและเพิ่มอํานาจต่อรองของตน ทําให้สามารถซื้อสินค้าและบริการในต้นทุนที่ถูกลง และแฟรนไชส์ซีย่อมได้รับสินค้าหรือวัตถุดิบในราคาที่ถูกลงตามไปด้วยซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน 
 
4.1.5 การโฆษณาและสนับสนุนการขายร่วมกัน 
 
โดยทั่วไปแล้วธุรกิจที่มีขนาดใหญ่เพียงพอเท่านั้นจึงจะสามารถรองรับค้าใช้จ่ายในการโฆษณา โดยเฉพาะการโฆษณาที่อาศัยสื่อแพงๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ใด
ธุรกิจอิสระขนาดเล็กๆ เป็นจํานวนมากที่มีจํานวนสาขาไม่มาก เพราะเงินทุนไม่พอ การลงทุนค่าใช้จ่ายโฆษณายิ่งเกิดขึ้นได้ยาก โดยเฉพาะการโฆษณาในระดับภาค หรือระดับประเทศ ดังจะเห็นตัวอย่างของร้านอาหารดังๆ ในจังหวัดต่างๆ ซึ่งก็เป็นผู้นําในตลาดมีผู้คนมากมายเป็นลูกค้า แต่ก็ไม่สามารถจะลงทุนการโฆษณาเพื่อสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ใด
แต่ด้วยเหตุที่การขยายตัวของแฟรนไชส์ อยู่ภายใต้เครื่องหมายการค้าเดียวกัน และเมื่อมีจํานวนสาขาที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนของทั้งแฟรนไชส์ซอร์เองและการลงทุนของแฟรนไชส์ซี ซึ่งต่างก็เป็นเจ้าของกิจการร่วมระบบ ทําให้มีความได้เปรียบในเรื่องของความประหยัดขนาดการลงทุนด้านโฆษณา 
 
สามารถส่งผลให้แก่ระบบโดยรวมได้โดยง่าย ก่อให้เกิดทั้งภาพลักษณ์และชื่อเสียงที่ ดีกว่าร้านค้าอิสระทั่วไปที่การขยายตัวช้ากว่าเพราะเงินทุนที่จํากัดกว่า ในทํานองเดียวกัน แฟรน ไชส์ซอร์สามารถรวบรวมทรัพยากรเข้าด้วยกันเพื่อที่จะผลักดันให้เกิดการโฆษณาและส่งเสริมการ ขายร่วมกันในต้นทุนที่ต่ำ 
 
นอกจากนี้ การทําแฟรนไชส์ยังเป็นผลดีต่อการนําเสนอภาพลักษณ์ที่เข้มแข็งและสอดคล้องกัน ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าและบริการจากแฟรนไชส์ซี 

4.1.6 การถ่ายโอนความเชี่ยวชาญ 
 
โดยปกติแฟรนไชส์ซอร์จะมีการสั่งสมประสบการณ์และความชํานาญในการประกอบธุรกิจ เมื่อมีการขายสิทธิ์แฟรนไชส์ซอร์จะให้ความสนใจกับการถ่ายทอดความรู้ต่อแฟรน ไชสซี เพื่อส่งเสริมให้ประสบความสําเร็จ เนื่องจากความสําเร็จและผลกําไรของแฟรนไชส์ซอร์ ย่อมเกี่ยวโยงกับความสําเร็จของแฟรนไชส์ซีโดยตรง 
 
4.1.7 การฝึกอบรม 
 
แฟรนไชส์ซีย่อมได้รับการฝึกอบรมและแนะแนวทางจากแฟรนไชส์ซอร์ เพื่อช่วยส่งเสริมให้ประกอบการได้ดีขึ้นภายใต้มาตรฐานที่เป็นหนึ่งเดียว 
 
4.1.8 การถ่ายโอนความเชี่ยวชาญ 
 
แฟรนไชส์ซีสามารถรับการบริการช่วยเหลือจากแฟรนไชส์ซอร์ในต้นทุนที่ต่ำ ยกตัวอย่างเช่น ความช่วยเหลือในการรับสมัครพนักงาน ทําบัญชี ย้ายที่ตั้งไปสู่ทําเลที่ดีขึ้น และอื่นๆ 
 
4.2 ข้อเสียเปรียบของการเข้าร่วมแฟรนไชส์ คืออะไร? 
 
แม้ว่าการทําแฟรนไชส์ (Franchise) จะเป็นแนวคิดที่ดี แต่ก็ไม่ได้เป็นรูปแบบที่ดีที่สุด เนื่องจากการทําแฟรนไชส์ยังมีข้อจํากัด หรือไม่เหมาะสําหรับบางคน ในเรื่องต่างๆ พอสรุปได้ดังนี้ 
 
4.2.1 สูญเสียอิสระภาพในการดําเนินธุรกิจ 
 
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าแนวคิดของการทําแฟรนไชส์ คือ การดําเนินธุรกิจตามวิธีที่ได้รับการพัฒนาจากแฟรนไชส์ซอร์ การดําเนินธุรกิจตามรูปแบบที่กําหนดไว้เท่านั้น ที่จะเป็นเครื่องรับรองความสําเร็จของแฟรนไชส์ซี ดังนั้น แฟรนไชส์ซีจึงไม่มีอิสรภาพเต็มที่ต่อการตัดสินใจ อย่างเช่น ควรขายสินค้าอะไรที่ราคาเท่าใด หรือเมื่อไหร่ที่จะเสนอขายสินค้าลดราคาและอื่นๆ
 
นอกจากนี้ แฟรนไชส์ซียังไม่สามารถตัดสินใจกระทําการใดๆ เพียงลําพัง เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของแฟรนไชส์ซอร์ หรือแฟรนไชส์ซีรายอื่น ฃๆ อย่างไรก็ตามยังมีแฟรนไชส์ซอจํานวนไม่น้อยให้ความสําคัญกับการปรึกษาหารือกับแฟรนไชส์ซี อย่างสม่ำเสมอเพื่อทราบความต้องการของลูกค้าซึ่งมีความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละท้องที 
 
4.2.2 ไม่มีหลักประกันความสําเร็จ 
 
ถึงแม้จะมีโอกาสสูงในการประสบความสําเร็จจากการซื้อแฟรนไชส์ แต่อาจกล่าวได้ว่าไม่มีหลักประกันที่แน่นอนในเรื่องนี้ ทั้งที่ในแง่ของแนวคิดแล้วแฟรนไชส์นั้นจะดูดีก็ตาม เนื่องจากความเสี่ยงทางธุรกิจสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ที่ทําให้ประสบความล้มเหลว ทั้งที่เกิดจากตัวแฟรนไชส์ซีเอง หรือเกิดจากแฟรนไชส์ซอร์ 
เช่น เรื่องการขาดเงินทุนที่จําเป็นต่อการดําเนินธุรกิจ ขาดวิสัยทัศน์ในการเลือกทําเลที่ตั้ง แหล่งระบายสินค้าไม่เหมาะสม การที่แฟรนไชส์ซีไม่สามารถปฏิบัติตามระบบของแฟรนไชส์ซอร์ หรือคุณสมบัติของแฟรนไชส์ซอยังมีไม่ เพียงพอเนื่องจากมีระยะเวลาในการดําเนินงานที่ยังไม่ได้พิสูจน์ความสําเร็จหรือได้รับการยอมรับจากตลาด 
 
4.2.3 ค่าใช้จ่ายสูง
 
แฟรนไชส์ซีจําเป็นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายล่วงหน้าเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิ์ในการประกอบกิจการ นอกจากนี้แฟรนไชส์ซียังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่างเช่น เงินลงทุนเพื่อตกแต่งร้าน และค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายเป็นประจําสําหรับบริการสนับสนุน ที่ได้รับจากแฟรนไชส์ซอร์ เมื่อรวมค่าใช้จ่ายเหล่านี้เข้าด้วยกัน จะพบว่าเป็นจํานวนเงินที่สูง 
 
ดังนั้น เงินจํานวนนี้จะคุ้มค่าต่อการลงทุน ก็ต่อเมื่อแฟรนไชส์ซีได้รับผลตอบแทนที่สูงเช่นกัน อย่างไรก็ดีนับว่าเป็นสิ่งจําเป็นที่จะต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ ก่อนตัดสินใจลงนามในสัญญาที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายใดๆ ที่ต้องจ่ายให้กับแฟรนไชส์ซอร์
 
5. การทําแฟรนไชส์ (Franchising) เกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรบ้าง?


 
5.1 ระยะเวลาของข้อผูกมัด 
 
ระยะเวลาของข้อผูกมัด คือ ช่วงเวลาที่สัญญาหรือนิติกรรมมีผลบังคับใช้ระหว่างแฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซี ซึ่งโดยปกติแล้วจะถูกกําหนดโดยฝ่ายแฟรนไชส์ซอร์ สัญญานี้อาจมระยะเวลาตั้งแต่ 3 ปีจนถึง 10 ปีหรือมากกว่านั้น 
 
โดยทั่วไปยิ่งอายุสัญญานานเท่าใด ค่าใช้จ่ายในการซื้อแฟรนไชส์ก็จะยิ่งมากขึ้น และเงื่อนไขของการต่อสัญญาก็มักจะมีการระบุไว้เรียบร้อย ในบางกรณีแฟรนไชส์ซออาจอนุญาตให้มีการต่อสัญญา โดยมีระยะเวลานานเท่าเดิมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมใดๆ แต่สําหรับในบางกรณี แฟรนไชส์ซออาจเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการ ต่อสัญญาใหม่ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสําคัญที่จะศึกษาว่าช่วงระยะเวลาของข้อผูกมัดยาวนานเท่าใด สําหรับจํานวนเงินที่ต้องจ่ายไปในการซื้อแฟรนไชส์ เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียม เพื่อหาระยะเวลาในการคืนทุน 
 
5.2. ค่าธรรมเนียมเริ่มต้น (Initial / Entrant fee) 
 
ค่าธรรมเนียมเริ่มต้น คือ ค่าใช้จ่ายล่วงหน้าที่แฟรนไชส์ซีจะต้องจ่ายให้แก่แฟรนไชส์ซอร์ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ์ในการประกอบธุรกิจหรือใช้ตราหรือเครื่องหมายการค้า / บริการ ภายในระยะเวลาที่กําหนด อย่างไรก็ดี แฟรนไชส์ซอร์ส่วนใหญ่จะเสนอบริการต่างๆ เพื่อเป็นการตอบแทนกับรายจ่ายนี้ เช่น การให้ความรู้และการอบรมความช่วยเหลือในการเปิดร้านค้า หรือ ออกแบบจุดขาย (Outlet) ที่ได้แสดงการจัดวางตําแหน่งในพื้นที่ที่เหมาะสม การให้คําปรึกษา เป็นต้น 
 
สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์เพิ่มเติมต่อผู้ซื้อแฟรนไชส์ ดังนั้น ผู้ซื้อแฟรนไชส์ควรจะต้องพยายามสอบถามว่าจะได้รับข้อเสนอในบริการหรือสินค้าในลักษณะใดสําหรับจํานวนเงินที่จะต้องจ่ายไป โดยเฉพาะในช่วงแรกของการเปิดกิจการจนกระทั่งเกิดรายได้ 
 
5.3 เงินรายงวด/ค่าธรรมเนียมการจัดการ (Royalty/Management fee) 
 
เงินรายงวดหรือค่าธรรมเนียมการจัดการเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างดําเนินกิจการ ซึ่งโดยปกติแฟรนไชส์ซีจะจ่ายให้แก่แฟรนไชส์ซอร์ คิดเป็นอัตราร้อยละของยอดขายหรือรายได้ของกิจการตามรอบระยะเวลา ที่มักจะเป็นรอบรายเดือน ราย 2 เดือน หรือไตรมาส ก็เพื่อช่วยให้แฟรนไชส์ซอร์สามารถตรวจสอบหรือควบคุม ในกรณีที่แฟรนไชส์ซีมีผลประกอบการที่ไม่ดี ก็จะ ได้ดําเนินการแก้ไขได้ทันท่วงที 
 
ค่าใช้จ่ายส่วนนี้อาจจะถูกกําหนดให้คงที่ หรือผันแปรก็ได้ หรืออาจจะเป็นทั้งสองแบบรวมกัน แฟรนไชส์ซอร์อาจแลกเปลี่ยนด้วยการให้บริการต่างๆ เช่น จัด รายการโฆษณาและสนับสนุนการขาย ให้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อเปรียบก็เสมือนค่าภาษีที่ทุกคน ในฐานะพลเมืองของประเทศจ่ายให้แก่รัฐบาล เพื่อนําไปพัฒนาประเทศนั่นเอง 
 
เงินรายงวดในธุรกิจแต่ละประเภท มักจะมีความแตกต่างกันไป การตั้งระดับที่เหมาะสมของเงินรายงวดนี้จะขึ้นอยู่กับการให้บริการเพิ่มเติมของแฟรนไชส์ซอร์ ยิ่งมีการให้บริการต่างๆ มาก อัตราค่า Royalty จะยิ่งสูงขึ้น 
 
ในธุรกิจอาหารและร้านค้าปลีกต่างๆ อัตราร้อยละ ของค่า Royalty บนยอดขาย มักจะมีค่าประมาณ 4-6% ขณะที่ธุรกิจประเภทการให้บริการมัก อยู่ที่ 8-10% อย่างไรก็ตาม อัตราเฉลี่ยข้างต้นมิได้หมายความว่าเป็นอัตราที่เหมาะสําหรับธุรกิจ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับต้นทุนการดําเนินงานสนับสนุนของแต่ละธุรกิจ 
 
5.4 ต้นทุนการตกแต่งร้าน 
 
ต้นทุนการตกแต่งร้าน หมายถึง ต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการที่แฟรนไชส์ซีจะต้องเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกของร้านค้า ให้เหมือนกับที่แฟรนไชส์ซอร์กําหนด ต้นทุนนี้จะเกิดขึ้นในทําแฟรนไชส์ ดังนั้น แฟรนไชส์ซีจําเป็นจะต้องมีเงินทุนที่เพียงพอสําหรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ แม้จะต้องจ่ายไปก่อนที่จะเริ่มมีลูกค้าเข้าร้านก็ตาม 
 
5.5 ข้อตกลง 
 
ข้อตกลง คือ สัญญาตามกฎหมายระหว่างแฟรนไชส์ซอร์กับแฟรนไชส์ซี ซึ่งระบุสิทธิ์และข้อผูกมัดระหว่างสองฝ่าย รวมทั้งเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงเงื่อนไขในการสิ้นสุดสัญญา และระยะเวลาที่สัญญาบังคับใช้ ข้อตกลงนี้จะถูกเขียนโดยทนายของฝ่ายแฟรนไชส์ซอร์ ดังนั้น ผู้สนใจจะเป็นแฟรนไชส์ซีควรปรึกษาผู้มีความรู้เกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวในรายละเอียดก่อนที่จะเซ็นสัญญา เมื่อพบว่าเงื่อนไขใดมีความเข้มงวดจนเกินไป ก็ควรจะเจรจากับแฟรนไชส์ซอร์ก่อนที่จะตกลงใจทําสัญญา 
 
5.6 ทุนดําเนินการ 
 
แฟรนไชส์ซีจะต้องแบ่งสรรเงินทุนส่วนหนึ่งให้เพียงพอกับการดําเนินงานธุรกิจตามปกติ เช่น ค่าใช้จ่ายทั่วไป เงินเดือนพนักงาน การสั่งซื้อสินค้าและบริการ เป็นต้น ถึงแม้ว่าแฟรนไชส์ซอร์จะเสนอสินค่าและบริการให้ในลักษณะจ่ายเชื่อก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการเลื่อนระยะเวลาการจ่ายเงินไปเท่านั้น เมื่อถึงกําหนดเวลาแฟรนไชส์ซียังคงต้องจ่ายค่าสินค้าในที่สุด
 
5.7 เงื่อนไขการจ่ายเงิน 
 
โดยปกติแฟรนไชส์ซอร์จะกําหนดระยะเวลาการจ่ายค่าสินค้าและบริการในลักษณะเดียวกับธุรกิจอื่นๆ เช่น 30 หรือ 60 วัน 
 
5.8 พื้นที่ประกอบการ 
 
โดยทั่วไปแล้วแฟรนไชส์ซอร์ จะไม่จัดตั้งร้านภายใต้แฟรนไชส์นั้นเพิ่มขึ้น ภายในขอบเขตพื้นที่ที่ได้ระบุไว้ในข้อตกลงที่ทําไว้กับแฟรนไชส์ซี ทั้งนี้ ขอบเขตของพื้นที่การประกอบการ อาจขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจและข้อตกลง ซึ่งถ้าหากแฟรนไชส์ซอร์นั้นมีศักยภาพในการสนับสนุนแฟรนไชส์ซีได้จํานวนมาก ขอบเขตการประกอบการของแฟรนไชส์ซีก็จะเล็กลงตามไป ด้วย และรูปแบบการรับสิทธิ์ส่วนใหญ่จะเป็นแบบบุคคล (Individual Fanchise) 
 
ตรงข้ามหากแฟรนไชส์ซอร์มีศักยภาพไม่เพียงพอในการให้การสนับสนุนสมาชิกจํานวนมากได้ ขอบเขตการประกอบการของแฟรนไชส์ซีก็จะเพิ่มมากขึ้น รูปแบบการรับสิทธิ์ก็อาจจะเป็นแฟรนไชส์แบบพัฒนาพื้นที่ (Development Franchise) หรือแฟรนไชส์แบบตัวแทน (Master Franchise) 
 
แต่ไม่ว่าเงื่อนไขจะเป็นอย่างไร ที่สําคัญยิ่งกว่าคือภายในขอบเขตพื้นที่นั้นๆ จะต้องมีจํานวนลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายทางธุรกิจที่มากพอในการดําเนินธุรกิจ แฟรนไชส์ซอร์จําเป็นต้องใส่ใจหาวิธีการอ้างอิง หรือหาข้อมูลให้ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 
 
5.9 การจัดหาสินค้าและบริการ 
 
แฟรนไชส์ซอร์มักกําหนดสัดส่วนขั้นต่ำของสินค้าและบริการ ที่แฟรนไชส์ซีจะต้องได้รับจากตน และแฟรนไชส์ซอร์บางรายอาจจะกําหนดให้สินค้าและบริการทั้งหมด ต้องมาจากตน เนื่องจากเหตุผลในการคุมคุณภาพสินค้าและบริการ 
 
5.10 การปฏิบัติตามข้อตกลง 
 
แฟรนไชส์ซีจําเป็นจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของข้อตกลงอย่างเคร่งครัด เพื่อที่จะเป็นหลักประกันว่าแฟรนไชส์ซีจะไม่กระทําการใดๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และธุรกิจของแฟรนไชส์ซีรายอื่นๆ ดังนั้น แฟรนไชส์ซอร์จึงมีสิทธิ์ในการบังคับสิ้นสุดสัญญา ในกรณีที่แฟรนไชส์ซีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หลังจากที่ได้รับคําเตือนซ้ำสอง ในทางตรงกันข้ามถ้าหากแฟรนไชส์ซอร์ เป็นผู้ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเอง ฝ่ายแฟรนไชส์ซีก็มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องค่าชดเชยตามกฎหมาย 
 
5.11 เงื่อนไขสําหรับสิ้นสุดการประกอบกิจการ 
 
โดยทั่วไปการที่ข้อตกลงของแฟรนไชส์จะสิ้นสุดลง อาจเกิดจากความเป็นไปได้ 3 ประการ กล่าวคือ ประการแรกเมื่อสัญญาหมดอายุลง ประการที่สองเมื่อแฟรนไชส์ซอร์ทําการสิ้นสุดสัญญาหากมีการละเมิดข้อตกลงที่ระบุไว้ 
 
อย่างไรก็ตาม กรณีที่แฟรนไชส์ซอร์จะทําการบังคับให้สิ้นสุดสัญญาก่อนกําหนดเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ และไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก เนื่องจากจะมีการละเมิดข้อตกลงจากแฟรนไชส์ซีประจํา ประการสุดท้าย คือกรณีที่แฟรนไชส์ซีเลือกที่จะยกเลิกแฟรนไชส์ก่อนที่สัญญาจะหมดอายุ
 
6. เราจะประเมินธุรกิจแฟรนไชส์อย่างไร?

 
6.1 ประเมินชื่อเสียงและความรับผิดชอบของแฟรนไชส์ซอร์
 
ประเมินว่าแฟรนไชส์ซอร์มีชื่อเสียงหรือไม่ สามารถพึ่งพาได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ แฟรนไชส์ซอร์ที่ดี ควรมีอํานาจต่อรองได้ดีพอสมควรที่จะเอื้อประโยชน์ในสิ่งที่แฟรนไชส์ซีทําไม่ได้ เช่น อํานาจต่อรองในการเช่าสถานที่ ต่อรองกับซัพพลายเออร์ หรือสามารถมีเครดิตในการช่วยเหลือทางด้านแหล่งเงินทุน โดยอิงจากข้อมูลย้อนหลังของแฟรนไชส์ซอณื และการสังเกตจาก การพบปะพูดคุยกับแฟรนไชส์ซี ทั้งที่ประกอบกิจการอยู่และที่เลิกกิจการไปแล้ว 
 
6.2 ประเมินความต้องการสินค้าหรือบริการ 
 
การพิจารณาถึงยอดขายในอนาคตของสินค้าหรือบริการ ถ้าหากตัดสินใจเป็นแฟรนไชส์ซีนับว่าสําคัญ นอกจากนี้ ควรศึกษาว่าสินค้าหรือบริการดังกล่าวมีศักยภาพในการฃเติบโตหรือไม่ มีจุดเด่นหรือข้อแตกต่างจากผู้อื่นในจุดไหน สินค้าและบริการนั้นๆ เป็นสินค้าและบริการที่ลูกค้าให้ความนิยมมากพอ และเป็นสินค้าที่สามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง 
 
ไม่เป็น สินค้าแฟชั่นหรือขายได้เฉพาะบางที่ รวมทั้งมีการแข่งขันในตลาดมากน้อยเพียงใด ยังมีช่องทางในการทํากําไรอีกหรือไม่ ถ้าหากแฟรนไชส์ซอร์อ้างว่าสินค้าหรือบริการดังกล่าวมีลิขสิทธิ์ ก็ควรขอ หลักฐานยืนยัน และสุดท้าย ควรประเมินว่าสินค้าหรือบริการนั้นเหมาะสมกับทําเลที่ตั้งที่คาดการณ์ไว้หรือไม่
 
6.3 ประเมินยอดขาย / ผลกําไร 
 
ควรคาดการณ์ยอดขายที่จะเกิดขึ้น โดยเฉลี่ยจากยอดขายที่เป็นไปได้ ภายใต้สภาวะตลาดที่ดีที่สุดและที่แย่ที่สุด ทั้งนี้ แฟรนไชส์ซอร์ควรจะสามารถช่วยเหลือในการทําการประเมินยอดขาย และคํานวณหาระยะเวลาในการคืนทุน โดยอิงจากผลการดําเนินงานของแฟรนไชส์ซีรายอื่น 
 
6.4 ศึกษาว่าแฟรนไชส์ซีรายอื่นได้รับการบริการอย่างไร 
 
ควรแน่ใจว่าแฟรนไชส์ซอร์ สามารถให้บริการสนับสนุนที่เพียงพอต่อแฟรนไชส์ซี โดยตรวจสอบจากคําบอกเล่าของทั้งสองฝ่าย 

6.5 ประเมินจํานวนเงินที่ต้องจ่ายล่วงหน้า 
 
ควรคํานวณถึงเงินทุนก่อนแรกที่จําเป็นต้องใช้ในช่วงเริ่มต้นซื้อแฟรนไชส์ ค่าใช้จ่ายในช่วงนี้ได้แก่ค่าธรรมเนียมเริ่มต้น (Entrance Fee) ค่าตกแต่งร้านค้า ค่าเครื่องมืออุปกรณ์ ค่าเช่าถ้าหากมีการเช่าสถานที่ เงินประกันต่อธนาคารในบางกรณี เงินทุนดําเนินงาน และเงินเดือนพนักงาน เป็นต้น ทั้งนี้สามารถตรวจสอบได้จากแฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซี โดยไม่ควรลืมที่จะเปรียบเทียบกับแฟรนไชส์รายอื่นๆ ที่ดําเนินธุรกิจที่เหมือนกันหรือคล้ายกัน 
 
6.6 ประเมินจํานวนเงินที่จําเป็นภายใต้สภาวะที่เลวร้าย 
 
ผู้ประกอบการขนาดย่อมจํานวนมากประสบปัญหาล้มละลาย เนื่องจากปัญหาทางด้านกระแสเงินสด ดังนั้น เป็นเรื่องสําคัญอย่างยิ่งที่จะประเมินว่านอกจากจํานวนเงินก้อนแรก ที่ต้องจ่ายล่วงหน้าแล้ว ยังมีกระแสเงินสดเพียงพอในการดําเนินกิจการโดยเฉพาะใน 2 ปีแรกต่อไปหรือไม่ ทั้งนี้ ถ้าหากไม่สามารถประเมินได้ด้วยตนเอง ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ 
 
6.7 ศึกษาสัญญาอย่างละเอียด 
 
ควรหาคําปรึกษาด้านกฎหมายเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้
  • การสิ้นสุดสัญญาอันเนื่องมาจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
  • หน้าที่ของแฟรนไชส์ซอร์
  • ข้อจํากัดต่างๆ
  • สิทธิ์ในขอบเขตการประกอบการ
  • การระงับข้อพิพาท
  • สิทธิ์ต่างๆ ของแฟรนไชส์ซี
 7. ก่อนซื้อแฟรนไชส์ ต้องทราบอะไรเกี่ยวกับแฟรนไชส์ซอร์


7.1 ภูมิหลังของแฟรนไชส์ซอร์
 
ตรวจสอบชื่อเสียงและประวัติย้อนหลังของแฟรนไชส์ซอร์ ในธุรกิจที่ทําแฟรนไชส์ ในเรื่องของเอกสารที่แสดงความเป็นเจ้าของสิทธิ์ที่ถูกต้องจากหลักฐานในการจดทะเบียนพาณิชย์ การจดลิขสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้า หรือในกรณีที่ซื้อสินค้าจากผู้อื่นมาอีกต่อหนึ่ง ก็ควรมีหลักฐานแสดงการได้รับอนุญาตเป็นตัวแทนในการจําหน่าย 
 
นอกจากนี้ อาจสอบถามเกี่ยวกับเหตุผลหรือแรงจูงใจ ความมุ่งมั่นมั่นในการริเริ่มกิจการนั้น เพื่อที่จะแน่ใจว่าแฟรนไชส์ซอร์มีพันธะต่อธุรกิจที่ดําเนินอยู่ อายุของการทําธุรกิจ จํานวนสาขาที่เป็นของแฟรนไชส์ซอร์เอง และจํานวนแฟรนไชส์ซีที่มีอยู่ในปัจจุบันก็มีความสําคัญ เพราะเป็นตัวบอกถึงความสําเร็จและความเชี่ยวชาญในธุรกิจนั้นๆ รวมถึงการผ่านประสบการณ์ ในการแก้ปัญหา จนสามารถมีข้อสรุปที่นํามาให้คําแนะนําได้ 
 
7.2 โครงสร้างการบริหารงาน
 
การศึกษาโครงสร้างการบริหารงานและความรับผิดชอบของแต่ละส่วนงานภายในของแฟรนไชส์ซอร์ จะช่วยให้ผู้ที่สนใจจะซื้อแฟรนไชส์ในอนาคต ตัดสินใจได้ว่าบริษัทดังกล่าวมีการจัดองค์กรที่ดีหรือไม่ มีพนักงานที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ หรือมีทีมงานด้านแฟรนไชส์ ที่สามารถให้บริการสนับสนุนอย่างได้ระบุไว้หรือไม่ 
 
หากสามารถระบุตัวเจ้าหน้าที่ที่จะต้องติดต่อ ในการประกอบการแฟรนไชส์ได้ ก็จะเป็นการดีในการตรวจสอบความสามารถของทีมงาน ที่สําคัญแฟรนไชส์ที่ดีควรมีระบบงานอย่างเป็นมืออาชีพ อย่างน้อยที่สุดจะต้องมีแผนการอบรมเพื่อ ถ่ายทอดการทําธุรกิจ มีการจัดทําคู่มือการปฏิบัติงานในส่วนงานต่างๆ มีสายด่วนให้คําปรึกษา หรืออาจค้นคว้าเกี่ยวกับภูมิหลังของผู้บริหารของบริษัทเพื่อให้แน่ใจว่าบุคคลนั้นมีความน่าเชื่อถือ และมีความรับผิดชอบต่อธุรกิจแฟรนไชส์ 
 
7.3 การเยี่ยมชมบริษัท 
 
อาจไม่เป็นการเพียงพอที่จะรับฟังหรืออ่านจากสิ่งที่แฟรนไชส์ซอร์เสนอเท่านั้น การเยี่ยมชมบริษัทถ้าเป็นไปได้มากกว่าหนึ่งครั้ง จะเป็นผลดีอย่างมาก เนื่องจากเราจะสามารถตรวจสอบการจัดการภายใน การจัดการพนักงานและระบบสนับสนุนต่างๆ ทั้งนี้ พึงระลึกไว้เสมอว่า ควรระมัดระวังแฟรนไชส์ซอร์ที่ไม่อนุญาตให้มีการเยี่ยมชม 
 
7.4 การสอบถามจากผู้ที่เป็นแฟรนไชส์ซีในปัจจุบัน 
 
ควรขอรายชื่อและที่อยู่ของผู้ที่เป็นแฟรนไชส์ซีของธุรกิจดังกล่าวในปัจจุบันและหา โอกาสที่จะพบปะพูดคุยกับแต่ละรายให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม ควรขออนุญาต จากแฟรนไชส์ซอก่อนเสมอ ทั้งนี้ แฟรนไชส์ซีที่กําลังประกอบการจะให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ ยอดขายและกําไรที่คาดว่าจะได้รับอย่างดี 
 
7.5 การสอบถามจากผู้ที่เป็นแฟรนไชส์ซีในอดีต 
 
ควรสอบถามจากแฟรนไชส์ซอร์และผู้เคยเป็นแฟรนไชส์ซีในอดีตว่า เพราะเหตุใดแฟรนไชส์ซีในอดีตจึงออกจากธุรกิจ สาเหตุอาจเกิดจากเหตุผลส่วนตัว หรืออาจจะเกี่ยวข้องกับตัวผลิตภัณฑ์ หรือเกี่ยวกับแฟรนไชส์ซอร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการประเมินและเพื่อความแน่ใจใน คุณภาพของแฟรนไชส์ซอรายนั้น ๆ 
 
7.6 สถานะทางการเงินและงบดุลของแฟรนไชส์ซอในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา 
 
ควรประเมินสถานะทางการเงินของแฟรนไชส์ซอร์ โดยพิจารณาจากงบกําไรขาดทุนและงบดุลของบริษัท และควรตรวจสอบย้อนหลังไปประมาณ 3 ปี ซึ่งข้อมูลนี้สามารถขอได้จากแฟรนไชส์ซอโดยตรง และควรสอบถามเกี่ยวกับสาเหตุของการขาดทุนที่เกิดขึ้น หรือยอดหนี้สินของบริษัท 
 
ถ้าหากพบว่างบดุลของบริษัทมียอดหนี้สินสูงมากกว่ายอดทรัพย์สิน แสดงว่า บริษัทประสบปัญหาเกี่ยวกับเงินทุน หรือมีการดําเนินธุรกิจบนสัดส่วนของหนี้สินที่สูง อาจเป็นสัญญาณว่าแฟรนไชส์ซอร์ไม่มีเสถียรภาพทางการเงินเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมีปัญหาในการทําความเข้าใจสถานะทางการเงิน ควรปรึกษาผู้รู้ 
 
7.7 ส่วนต่างสําหรับสินค้าและบริการที่จะต้องจ่าย 
 
ควรสอบถามเกี่ยวกับส่วนต่าง (Margin) ที่ชัดเจนของค่าสินค้าและบริการที่จะต้องจ่ายให้กับแฟรนไชส์ซอร์ ในฐานะผู้ป้อนสินค้าเมื่อเปรียบเทียบกับแฟรนไชส์ซอร์รายอื่น เพื่อการตัดสินใจ ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้รับสามารถตรวจสอบกับแฟรนไชส์ซีในปัจจุบันของธุรกิจนั้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมตัว เพื่อทราบกระแสเงินสดในระหว่างที่เริ่มประกอบกิจการ รวมทั้งสามารถเข้าใจผลตอบแทนในอนาคต 
 
7.8 เงื่อนไขหลักบางประการของข้อตกลง 
 
ควรขอรายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงในสัญญาของแฟรนไชส์และอาจขอให้มีการชี้แจงเงื่อนไขหลักที่สําคัญ เช่น ค่าใช้จ่ายต่างๆ เงินรายงวด ระยะเวลาของสัญญา สิทธิ์ในขอบเขตการประกอบการอื่นๆ ทั้งนี้ ถ้าหากเป็นไปได้ ควรเปรียบเทียบกันระหว่างแฟรนไชส์ในธุรกิจที่คล้ายกันหลายๆ บริษัท
 
8. ทำไมเราต้องซื้อแฟรนไชส์?


 
8.1 แฟรนไชส์มีแบรนด์เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว 
 
ผู้เลือกซื้อแฟรนไชส์ส่วนมาก มักเลือกจากชื่อเสียงและความสำเร็จของแบรนด์ที่ต้องการจะเป็นผู้รับสิทธิ์ (Franchisee) ด้วยเพราะเครื่องหมายการค้า ที่จะได้รับสิทธิ์ได้มาถือเป็นเครื่องรับประกันความน่าเชื่อถือ คุณภาพ มาตรฐาน และความพอใจที่ผู้บริโภคทั้งหลายได้พิสูจน์มาแล้ว ทำให้ผู้รับสิทธิ์ไม่ต้องเสียเวลาสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ไม่ต้องลงทุนทำการตลาดใหม่แต่ต้น ซึ่งไม่เหมือนการสร้างแบรนด์เอง ที่อาจต้องใช้เวลาหลายต่อหลายปี กว่าจะเป็นที่รู้จัก 
 
8.2 บริหารแฟรนไชส์ได้ 
 
แม้ไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน เราสามารถทำธุรกิจแฟรนไชส์ได้ ขอแค่รักที่จะเรียนรู้ มีความเป็นผู้นำ มีความสามารถด้านการจัดการ สนใจการตลาด หรือมีความสามารถด้านธุรกิจอื่นๆ เราก็สามารถทำธุรกิจแฟรนไชส์ได้แล้ว เพราะระบบแฟรนไชส์นั้น มีข้อดีที่เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ได้ทลองผิดลองถูกมาเป็นเวลานาน เขาคิดค้นสูตรสำเร็จในการทำธุรกิจนั้นๆ ได้แล้ว และพร้อมถ่ายทอดให้แก่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ ทำให้เราสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว แม้ไม่เคยจับงานด้านนี้มาก่อนเลยก็ตาม 
 
8.3 มีการถ่ายทอด และอบรมการทำแฟรนไชส์ให้ 
 
แฟรนไชส์ที่ดีนั้นเจ้าของแฟรนไชส์ จะทำการบันทึกข้อมูลการพัฒนาและขั้นตอนการทำให้ธุรกิจ ที่ประสบความสำเร็จไว้ในคู่มือ แต่ที่ดีกว่านั้นคือเจ้าของแฟรนไชส์จะสอนสิ่งเหล่านั้น ให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ผ่านการอบรม ถือเป็นการให้ข้อมูลและคำแนะนำอันมีประโยชน์อย่างยิ่งในระยะเวลาสั้นๆ เพราะข้อมูลทั้งหมดนี้ เจ้าของแฟรนไชส์ได้ทำการลองผิดลองถูกจนได้วิธีที่ดีที่สุดด้วยตนเองแล้ว ผู้รับแฟรนไชส์จึงประหยัดเวลาในการเรียนรู้มากกว่า จะมาเริ่มต้นทำธุรกิจที่คิดขึ้นเอง ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะพบวิธีทำให้ประสบความสำเร็จได้ 
 
8.4 ได้รับการสนับสนุนระหว่างดำเนินธุรกิจ 

 
เจ้าของแฟรนไชส์ จะให้ความช่วยเหลือผู้แฟรนไชส์ในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้ 
  • การดำเนินการขั้นต้น บริษัทเจ้าของแฟรนไชส์ จะมีพนักงานประจำคอยให้คำปรึกษาเรื่องการดำเนินการ สำหรับนักธุรกิจมือใหม่ ทำให้เราไม่รู้สึกว่าต้องแก้ปัญหาเพียงลำพัง เจ้าของแฟรนไชส์มีการอบรมให้ อีกทั้ง ถ้าเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์มีการทำการตลาดที่ดีก็จะช่วยทุ่นแรงในการโปรโมทกิจการของเราได้อีกมาก 
  • การตลาด บริษัทเจ้าของแฟรนไชส์จะจัดเตรียมที่ปรึกษาทางการตลาดไว้ให้ โดยที่ปรึกษาทางการตลาดจะจัดหาเครื่องมือ หรือกลวิธีดึงดูด รับมือลูกค้าในแบบต่างๆ ให้เรา วิธีเหล่านั้นได้ผ่านการใช้งานจริงมาแล้ว ที่ปรึกษายังช่วยคำนวณค่าใช้จ่ายขั้นเริ่มต้น และช่วยพัฒนาแผนการตลาดในปัจจุบัน เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของเราประสบความสำเร็จ 
  • การหาทำเลที่ตั้ง แฟรนไชส์ส่วนใหญ่มักมีคู่มือ และที่ปรึกษาคอยช่วยเราหาทำเล เพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจและช่วยต่อรองราคาค่าที่ให้ ทำให้เราเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง การก่อสร้าง บริษัทเจ้าของแฟรนไชส์ยังช่วยเหลือ เรื่องการออกแบบร้าน หรืออาคารที่ให้เหมาะสมกับพื้นที่ และงบประมาณภายใต้รูปแบบที่บริษัทกำหนด ทั้งยังเลือกผู้รับเหมาที่ไว้ใจได้ให้กับเราด้วย รวมไปถึงออกความคิดเรื่องการใช้สาธารณูปโภคที่เรามีอยู่แล้ว ให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้นในการทำธุรกิจใหม่ 
  • การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การทำแฟรนไชส์ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดการ (Royalty Fee) เป็นรายเดือน 2 หรือ 3 เดือนตามแต่ที่ได้ตกลงกันไว้ ซึ่งค่าธรรมเนียมอาจหมายรวมถึงการที่เจ้าของแฟรนไชส์ จะทำการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ให้กับเราด้วย และหากเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์มีการทำการตลาดที่ดี ก็จะช่วยโปรโมทธุรกิจเราได้เยอะ 
8.5 ช่วยกดความเสี่ยงในการเริ่มต้นธุรกิจ 
 
ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการซื้อแฟรนไชส์เลยก็ได้ เพราะธุรกิจแฟรนไชส์ถือเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ เพราะเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาก่อนแล้ว ผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้ว อีกทั้งมีเทคนิค มีระบบการทำงานที่เป็นสูตรสำเร็จ และกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ทั้งยังเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคมาก่อนแล้ว 
 
เงินทุนที่ใช้ลงทุนในการดำเนินการเป็นจำนวนที่แน่นอน ผิดกับการเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยตัวเอง ที่มักใช้เงินเกินงบประมาณที่วางแผนเอาไว้เสมอ แม้ว่าการทำธุรกิจแฟรนไชส์จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์ รวมไปถึงค่าธรรมเนียมต่างๆ ในแต่ละเดือนเป็นจำนวนไม่น้อย แต่ก็อาจดีกว่าการที่เราต้องไปหมดเงินไปกับข้อผิดพลาดต่างๆ ในการเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยต้นเอง ซึ่งนอกจากจะเสียเงินแล้ว บางครั้งยังเสียความรู้สึก และความตั้งใจด้วย หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้น
 
9. แฟรนไชส์ขายระบบ หรือขายเครื่องหมายการค้า?

 
ธุรกิจในระบบแฟรนไชส์เป็นการทำธุรกิจในรูปแบบ ที่ต้องอาศัยการช่วยเหลือกันอย่างเป็นระบบ มีรูปแบบการทำงานชัดเจน และแฟรนไชส์เป็นการดำเนินธุรกิจ ที่สามารถจะสร้างร้านค้าเล็กๆ ให้รวมตัวกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ขึ้นมาได้ 
 
ธุรกิจระบบแฟรนไชส์ (Franchising) คือ กระบวนการทางธุรกิจซึ่งกลุ่มบุคคลที่ได้พัฒนาวิธีการอันได้รับการพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จในการประกอบการ และการจัดการธุรกิจ ได้ถ่ายทอดสิทธิในการประกอบการธุรกิจรูปแบบดังกล่าวให้กับกลุ่มบุคคลอื่นภายใต้ตราสินค้าหรือบริการ หรือเครื่องหมายการค้าอันหนึ่งอันใดโดยกระบวนการนี้เกี่ยวข้องกับการทำข้อตกลงทางกฏหมายระหว่างกลุ่มบุคคล 2 กลุ่มในข้างต้น
 
ในมุมของผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจ นักลงทุน ก็คือ การขยายตลาดโดยการค้าปลีกของผู้ประกอบการ ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าเพื่อแลกกับการชำระค่าธรรมเนียม มีประโยชน์ในด้านของมีคนมาช่วยขายโดยที่ไม่ต้องลงทุนเสี่ยงในการเริ่มธุรกิจเอง มีคนมาช่วยทำตลาดให้ เป็นวิธีการขยายสาขาโดยไม่ต้องลงทุน และยังสร้างรายได้จากแฟรนไชส์ซี เช่น การเก็บค่าแรกเข้า และ ค่าโฆษณาหรือค่าการส่งเสริมการตลาดที่เกิดขึ้น
 
มุมมองของกฎหมาย ก็คือ แฟรนไชส์ซีได้รับมอบสิทธิในการเสนอ จำหน่ายสินค้าและบริการภายใต้แผนการตลาดที่ระบุไว้เป็นสำคัญ เช่น เครื่องหมายการค้า ช่องทางการค้าและโฆษณา ในเมื่อ แฟรนไชส์ซีซื้อระบบธุรกิจของ แฟรนไชส์ซอร์แล้ว สิ่งที่แฟรนไชส์ซอร์ต้องมีให้คือ ระบบธุรกิจและแผนงานต่างๆในการจัดการด้านต่างๆให้พร้อม แฟรนไชส์ซอร์ต้องช่วยในเรื่องต่างๆเพื่อการเริ่มธุรกิจ เช่น เรื่อง การตกแต่ง การออกแบบร้าน ให้ความช่วยเหลือการประกอบการช่วงการเริ่มธุรกิจ
 
10. อยากทำธุรกิจตัวเองให้เป็นแฟรนไชส์ เริ่มต้นอย่างไร?

 
มีหลายคนอยากจะทำธุรกิจเป็นของตัวเองเป็นระบบแฟรนไชส์ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร และจะต้องทำอย่างไรบ้าง ข้อแนะนำต่อไปนี้ จะทำให้คุณมีแนวความคิดเบื้องต้น และ คำแนะนำปฏิบัติ ที่พอจะช่วยคุณได้ 
 
ขบวนการแฟรนไชส์เริ่มอย่างไร
 
10.1. ประเมินธุรกิจเรื่องจำเป็นที่สุด
 
ก่อนทำการใดๆ จะต้องทำการตรวจสอบ ธุรกิจที่มีอยู่ของคุณก่อนว่า มีวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจอย่างไร เช่น ต้องการซัพพลายสินค้า ต้องการขายความรู้ และการจัดการ และตรวจสอบดูว่า อะไรคือ คอนเซ็ปต์ของธุรกิจคุณ ที่เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ธุรกิจคุณประสบผลสำเร็จ โดยหลักการแล้ว การประเมินความเป็นไปได้จะคำนึงถึง
 
10.1.1 ธุรกิจที่คุณทำอยู่มีกำไรหรือไม่
 
ถ้าหากกิจการของคุณ ไม่ใช่ธุรกิจที่ทำกำไรต่อเนื่อง ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะขายระบบที่ยังไม่ประสบผลสำเร็จสู่ผู้อื่น ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่คุณจะตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา พิสูจน์จนมั่นใจว่า ธุรกิจที่คุณกำลังขาย เป็นธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้
 
10.1.2 อายุและความเพียงพอในธุรกิจนั้นคุณมีเพียงพอหรือไม่
 
จะเห็นกันอยู่ว่ากิจการหลายแห่ง เพิ่งเริ่มจะดำเนินการก็คิดขยายแล้ว อย่างนี้เป็นไปไม่ได้เลย ที่จะประสบผลสำเร็จ คุณจะต้องมีความรู้ และความชำนาญในธุรกิจนั้นอย่างเพียงพอ ที่จะให้คำปรึกษาแนะนำการแก้ปัญหา แก่แฟรนไชส์ซีของคุณ ถ้าชั่วโมงบินของคุณยังไม่เพียงพอ คุณต้องล้มเหลวในที่สุดอย่างแน่นอน
 
10.1.3 จำนวนร้าน หรือสาขาของคุณว่ามีอยู่เท่าไหร่
 
แม้ว่าคุณอาจจะประสบความสำเร็จอย่างมาก และมีกำไรมากมายทุกปี แต่คุณทำแค่เพียง 1 แห่ง ก็ยังไม่เพียงพอ สำหรับการพิสูจน์ความสำเร็จของคุณ คุณควรที่จะทดลองในแห่งต่อๆไป จนเห็นชัดว่าโอเคจริงๆ คุณจึงค่อยดำเนินการขั้นต่อไป
 
10.1.4 ระบบยากเกินไปหรือไม่
 
ระบบที่ประสบผลสำเร็จของคุณนั้นดูๆ แล้ว คนอื่นจะทำตามได้ยากใช่หรือไม่ 
 
ขั้นต่อไปคือการประเมินโครงสร้าง จะต้องทำอย่างไรบ้าง?
 
1. วิเคราะห์การเงินล่วงหน้า 5 ปี
 
งานขบวนการสร้างแฟรนไชส์ จะต้องอยู่บนพื้นฐานของธุรกิจคุณ ที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ยอมรับ ก่อนที่จะลงมือในส่วนอื่นๆ จำเป็นอย่างยิ่ง ที่คุณจะต้องเตรียมผู้ช่วยที่สำคัญ คือ นักกฎหมาย และนักบัญชี จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้อง วิเคราะห์เงินสดหมุนเวียน ของแต่ละเดือนที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า โดยข้อมูลนี้จะมาจาก ประวัติการดำเนินงานของคุณ ซึ่งเมื่อทำออกมาแล้ว ก็จะเป็นการเห็นชอบร่วมกัน และเขียนเอาไว้เป็นเอกสารสำคัญ ประกอบกับ แฟ้มโปรแกรมแฟรนไชส์ของคุณ
 
2. ทำแผนธุรกิจ
 
การทำแผนธุรกิจ เพื่อสร้างสูตรของระบบต่างๆ โดยหัวข้อที่อยู่ในแผนธุรกิจนั้น จะครอบคลุมเรื่องประวัติของบริษัท การตลาดเพื่อขายสินค้าและบริการ สภาพแวดล้อมการแข่งขัน ขบวนการพัฒนาแฟรนไชน์ และบุคคลากร และแหล่งเงิน
 
3. ศึกษาความเป็นไปได้
 
ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำการศึกษา แน่นอนว่ายังไม่มีธุรกิจไหน ได้ลงมือศึกษาในจุดสำคัญ หรือจุดผิดพลาดได้อย่างครบถ้วน มีอะไรบ้าง ที่คุณจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม ในธุรกิจที่มีอยู่ของคุณเองอย่างเข้มข้น เพื่อมุ่งหาคอนเซ็ปต์ที่ประสบผลสำเร็จ
  • รายละเอียดรูปแบบที่ประสบผลสำเร็จของคุณเป็นอย่างไร
  • ตัวสินค้าและบริการของคุณ อะไรที่ทำให้ลูกค้าพอใจและซื้อซ้ำ
  • มีการวางแผนเป้าหมายการเติบโตอยู่ที่ระดับไหน
  • ทำการศึกษาตลาดที่เป็นเป้าหมายอันดับ 2 ว่า คือใครและอยู่ที่ไหน
  • ตรวจดูปัญหาที่เกิดวิกฤต และแนวโน้มของตลาด 
11. ระบบแฟรนไชส์ ตอบโจทย์นักธุรกิจรุ่นใหม่จริงหรือ?

 
ระบบแฟรนไชส์สามารถตอบโจทย์นักธุรกิจรุ่นใหม่ได้จริง เพราะคนรุ่นใหม่ล้วนมีความฝันอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ซึ่งธุรกิจแฟรนไชส์ถือเป็นลัดที่สามารถมีกิจการเป็นของตัวเองได้เร็วขึ้น ไม่ต้องสร้างแบรนด์เองให้ติดตลาด เพียงแค่มีความรู้และมีเทคนิคในการเลือกลงทุนแฟรนไชส์ที่ดีเป็นที่ต้องการของตลาด ก็จะประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น 
 
จากการสำรวจของสมาคมแฟรนไชส์ไทย พบด้วยว่า มีผู้ลงทุนทำธุรกิจแฟรนไชส์อยู่แล้วกว่า 80% พอใจต่อการประกอบอาชีพจากการซื้อแฟรนไชส์ และ 90% ระบุด้วยว่าถ้าจะลงทุนใหม่อยากจะซื้อแฟรนไชส์อีกมากกว่าลงทุนทำธุรกิจเอง เพราะการซื้อระบบแฟรนไชส์ ถือเป็นการเริ่มต้นธุรกิจที่ง่ายและสะดวก 

12. ภาวะธุรกิจแฟรนไชส์ของไทย ในปัจจุบัน เป็นอย่างไร?

 
กระแสธุรกิจแฟรนไชส์ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ด้วยแรงสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ รวมถึงการสนับสนุนและพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดอาเซียน ก่อนที่จะพัฒนาศักยภาพธุรกิจของตัวเองก้าวไกลสู่ตลาดโลก 
 
โดยปัจจัยที่ทำธุรกิจแฟรนไชส์ได้รับความนิยมในการลงทุน เพราะเป็นธุรกิจที่ได้ผ่านการลองผิดลองถูกในการทำธุรกิจมาแล้ว จนสามารถประสบความสำเร็จได้ในวันนี้ ทำให้ผู้ลงทุนไม่ต้องใช้เวลาในการสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เปรียบเสมือนว่าเป็น “การรียนลัด” ของนักลงทุนหรือผู้ซื้อแฟรนไชส์ นั่นเอง 
 
รายงานโดยสมาคมแฟรนไชส์ไทย ระบุว่า ปัจจุบันมีแฟรนไชส์กว่า 90,000 ราย เกิดใหม่วันละ 20 แห่ง และจากการศึกษาของ สสว.และฐานข้อมูลเอสเอ็มอี คาดว่าจะมีจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์เพิ่มเป็น 850 บริษัท และตลาดแฟรนไชส์จะมีมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท ในปี 2560 
 
ดังนั้น ธุรกิจแฟรนไชส์จึงเป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง ว่าสามารถทำให้คนธรรมดาเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ ขยายตัวและส่งเสริม GDP ให้กับประเทศได้อีกทางหนึ่ง
 
สำหรับแบรนด์ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศ น่าจะมีโอกาสในการขยายธุรกิจของตัวเองได้อย่างราบรื่น เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารยังต่ำมาก ไม่ถึง 2% ตรงนี้จะทำให้คนที่มีเงินออมได้มองหาทางเลือกของการลงทุนใหม่ๆ ซึ่งเชื่อว่าธุรกิจแฟรนไชส์ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกของคนเหล่านั้น ประกอบกับคนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษามาก็อยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจกันมากขึ้น ดังนั้น การไปซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ก็น่าจะส่งผลให้ธุรกิจแฟรนไชส์มีเติบโตในปี 2560
 
13. แฟรนไชส์ไทย เทียบกับ แฟรนไชส์ต่างประเทศ ต่างกันอย่างไร?

 
Key Success ของธุรกิจแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ไทยหรือแฟรนไชส์ต่างประเทศ อยู่ที่ “ระบบ” กับ “คน” โดยปัญหาที่ผ่านมาของธุรกิจแฟรนไชส์ของไทย อยู่ที่การขาดองค์ความรู้ พื้นฐานไม่แน่น และไม่มีระบบที่แข็งแกร่ง 
 
โดยธุรกิจแฟรนไชส์ไทยที่ยังไม่พร้อมทำแฟรนไชส์ ไม่ต้องคิดเรื่องการขยายสาขา เอาแค่ร้านที่มีอยู่ จะทำอย่างไรให้อยู่รอด แค่นั้นพอ ที่สำคัญแฟรนไชส์ไทยต้องสร้างพื้นฐานให้แน่น ถ้าระบบปฏิบัติการยังไม่ได้ ยังทำไม่สำเร็จ ไม่ยั่งยืน หรือมีแค่ 1-2 สาขา ก็ไม่ควรคิดขายแฟรนไชส์ให้กับคนอื่น 
 
แตกต่างจากแบรนด์แฟรนไชส์ต่างประเทศ ที่เขามีความพร้อมทุกๆ ด้าน ก่อนขายแฟรนไชส์ โดยเฉพาะเรื่องของ “ระบบ” และ “คน” เขามีการอบรมให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์เป็นปีๆ เป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ได้รับความนิยมในตลาด เห็นได้จากธุรกิจแฟรนไชส์กลุ่มอาหารต่างๆ ที่เข้ามาปักธงในตลาดเมืองไทย ขณะที่แฟรนไชส์ไทยออกไปต่างแดนยังน้อยมาก 
 
ทั้งหมดเป็นคำถามและคำตอบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแฟรนไชส์ โดยผู้ประกอบการธุรกิจหรือแฟรนไชส์ซอร์ และผู้ซื้อแฟรนไชส์หรือแฟรนไชส์ซี จำเป็นต้องรู้เอาไว้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ให้สำเร็จครับ
 
อ่านบทความทั้งหมดเกี่ยวกับแฟรนไชส์ คลิก goo.gl/VyJ92n
หรือสนใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ต่างๆ คลิก goo.gl/8pzn7i
 
บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนพฤษภาคม 2567..
24,673
“มูฟ อีวี เอกซ์” สร้างรายได้ดีแค่ไหน! ทำไมถึงน่า..
3,785
รวม 12 แฟรนไชส์โหนกระแส คนไทยไม่เคยลืม!
2,357
จริงมั้ย? กำเงิน 15 ล้านบาท ถึงจะซื้อแฟรนไชส์ DQ..
1,911
กลยุทธ์ “แดรี่ควีน” เจ้าไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเมืองไ..
1,272
จริงมั้ย? 7-Eleven เห็นทำเลไหนดี เปิดเองแข่งสาขา..
1,242
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด