บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    ความรู้ทั่วไประบบแฟรนไชส์
4.1K
4 นาที
17 กรกฎาคม 2560
แนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์ไทยในปี 2560-2561 (รุ่งหรือร่วง) โดย ดร.พีระพงษ์

 
เศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่ฟื้นตัวดีนัก และค่อนข้างนิ่งอยู่กับที่ ตามการคาดหมายของการลงทุนนั้นเชื่อว่าทิศทางน่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ เป็นไปตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งเสริมให้คนมองหาการลงทุนในธุรกิจตัวเองมากขึ้นเพื่อขับเคลื่อนทิศทางเศรษฐกิจให้เติบโต

ทั้งนี้การลงทุนในระบบแฟรนไชส์กลายเป็นสิ่งที่คนพูดถึงกันมากที่สุด ซึ่งระบบแฟรนไชส์นี้มีมานานแล้วในประเทศไทยซึ่งที่ผ่านมาหลายคนรู้จักระบบนี้ดีแต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องของแฟรนไชส์นั้นยังมีแก่นสารที่น่าสนใจอีกมาก

โดย www.ThaiFranchiseCenter.com ซึ่งอยู่ในแวดวงแฟรนไชส์มานานหลายปีได้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของวงการนี้มาอย่างต่อเนื่องและทิศทางที่ควรจะเป็นต่อจากนี้ก็เป็นเรื่องน่าสนใจมากเราจึงได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญแฟรนไชส์ไทยอย่าง ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ ที่คร่ำหวอดในวงการนี้มายาวนานเช่นกัน และจากมุมมองของ ดร.พีระพงษ์ ก็ถือว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้เรามองเห็นทิศทางของการลงทุนแฟรนไชส์ไทยที่ควรจะเป็นนับแต่นี้ต่อไป
 
ประวัติการทำงานของ ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์


ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ ถือได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการแฟรนไชส์ไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษา (Principal Consultant) บริษัท บสิเนส โคช้ แอนด์คอนซัลติ้ง จำกัด ดำเนินธุรกิจที่ปรึกษาด้านการวางระบบการตลาดค้าปลีกและธุรกิจแฟรนไชสให้กับธุรกิจชั้นนำในประเทศและต่างประเทศ จากการทำงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้ ดร.พีระพงษ์นั้นได้รับความไว้วางใจให้เป็นทั้งอาจารย์และที่ปรึกษาทางธุรกิจในองค์กรต่างๆมากมาย

เช่น อาจารย์หลักสูตรปริญญาโทวิชาการบริหารการตลาดค้าปลีก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ การจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ มหาวิทยาลัยมหิดล , ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์(FLA), อดีตนายกสมาคมธุรกจิแฟรนไชส์และ เอสเอ็มอีไทย(FSA) , ผู้อำนวยการโครงการให้กับหน่วยงานรัฐบาลเช่น โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์และโครงการพัฒนาการบริหารจัดการร้านค้าปลีก กระทรวงพาณิชย์ ,กรรมการร่วมคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจแห่งชาติกระทรวงพาณิชย์ปี2554 
 
ภาพรวมแฟรนไชส์ไทยอยู่ในภาวะทรงอยู่กับที่

 
ดร.พีระพงษ์ พูดถึงภาพรวมของแฟรนไชส์ไทยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาว่ายังอยู่ในอัตราการเติบโตแบบคงที่ โดยจำนวนแฟรนไชส์ในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 500 แบรนด์ ซึ่งหากจะให้พูดได้ว่ามีการเติบโตที่แท้จริงต้องมีอัตราการขยายแฟรนไชส์ประมาณ 8-10 % ต่อปี แต่สิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือไม่ได้เป็นไปตามนั้น

แม้จะดูว่ามูลค่าโดยรวมของธุรกิจแฟรนไชส์จะพุ่งสูงขึ้นไปถึงกว่า 5 แสนล้านแต่เมื่อแยกเอาเซเว่นอีเลฟเว่นซึ่งเป็นแฟรนไชส์รายใหญ่สุดที่มีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านออกมาจะพบว่ามูลค่าของแฟรนไชส์โดยทั่วไปมีอยู่ประมาณ 2 แสนกว่าล้าน และคาดหมายการเติบโตในปี 2560-2561 นี้น่าจะเติบโตได้ไม่เกิน 6-8 เปอร์เซ็นต่อปี

เมื่อมองภาพรวมถึงความเหมาะสมของจำนวนแฟรนไชส์ที่เหมาะสมกับจำนวนประชากรแล้ว ดร.พีระพงษ์กล่าวว่าควรจะมีแฟรนไชส์ประมาณ 850 แบรนด์เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนประชากรที่มีอยู่กว่า 68 ล้านคนแต่ในความเป็นจริงคือยังขาดอีกกว่า 300 แบรนด์นั้นหมายถึงทิศทางที่ต้องพัฒนาขึ้นได้มากกว่านี้
 
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ไม่ขยับตัว
 
1.การพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์มุ่งไปพัฒนาธุรกิจขนาดเล็กมากเกินไป

 
แม้ในภาพรวมจะดูเหมือนว่าธุรกิจแฟรนไชส์มีการเติบโตและพัฒนาขึ้นมากแต่ ดร.พีระพงษ์มองว่านั้นคือการเติบโตของแฟรนไชส์ขนาดเล็กที่มีจำนวนมาก ซึ่งการพัฒนาระบบแฟรนไชส์ที่เน้นขนาดเล็กเกินไปในระยะยาวมักไม่ประสบความสำเร็จนัก

โดยดัชนี้ชี้วัดการอยู่รอดของแฟรนไชส์ที่เอามาเป็นเกณฑ์ต้องมีสัดส่วนแฟรนไชส์ที่เหลือมากกว่า 40 % แต่เท่าที่มีการเก็บข้อมูลพบว่า คนปัจจุบันอยากลงทุนก็มองหาแฟรนไชส์ขนาดเล็กแต่จากการขาดทักษะและกระบวนการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของแฟรนไชส์ขนาดเล็กทำให้ขยายสาขาได้มากจริงแต่อัตราการอยู่รอดนั้นน้อยมากสุดท้ายคนที่ลงทุนก็ต้องออกจากระบบนี้ไปคนที่เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ก็ต้องมุ่งหาคนลงทุนใหม่ๆ ในภาพรวมของการพัฒนาจึงถือว่าไม่มีความยั่งยืนเท่าที่ควร
 
2.ราคาแฟรนไชส์ที่ต่ำเกินไป
 

 
สาเหตุที่แฟรนไชส์ไทย ไม่เติบโตไปไกล เกิดจากผู้ประกอบการยังไม่เข้าใจระบบแฟรนไชส์อย่างแท้จริง รวมถึง ขาดระบบจัดการแฟรนไชส์ที่ถูกต้อง เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ เปิดขายแฟรนไชส์ เพื่อหวังเพิ่มช่องทางกระจายสินค้า หรือวัตถุดิบ ซึ่งแนวคิดดังกล่าว จะนำมาสู่การขายแฟรนไชส์ในราคาถูก ลงทุนหลักหมื่น เพราะต้องการกระจายแฟรนไชส์ออกไปให้ได้มากที่สุด

นอกจากนั้น ยังกดราคาลงทุนแฟรนไชส์ให้ต่ำลงอีก ด้วยการไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าดำเนินการ หรือค่าต่ออายุ เป็นต้น ทั้งที่จริง การเก็บค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อแฟรนไชส์ซอร์จะนำเงินทุนไปต่อยอด พัฒนาธุรกิจด้านต่างๆ เช่น สร้างระบบ ทำตลาด ฯลฯ เพื่อช่วยให้แฟรนไชส์ซีประสบความสำเร็จ และสุดท้าย ผลสำเร็จจะย้อนกลับมาถึงแฟรนไชส์ซอในที่สุด
 
ดร.พีระพงษ์กล่าวอีกว่า “การเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ คือ นำไปพัฒนาให้แฟรนไชส์ซีประสบความสำเร็จ เพื่อจะมีประโยชน์ย้อนกลับมา แต่ปัญหาของแฟรนไชส์ซอไทย คือ บางรายนำเงินไปใช้ผิดประเภท หรือบางราย ตั้งใจดี แต่นำเงินไปสร้างโรงงาน ซึ่งมันผิด เขาควรจะมีระบบ มีฐานผลิตสมบูรณ์แล้ว จึงขายแฟรนไชส์ เพื่อจะระดมทุน เพื่อนำไปพัฒนาธุรกิจให้
แฟรนไชส์ซี”
 
ทั้งนี้ ดร.พีระพงษ์ยังได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนในเรื่องของการกำหนดราคาแฟรนไชส์เกิดขึ้นในปัจจุบันว่าการทำธุรกิจทั่วไป ถ้าทำกำไรได้ 20% ของเงินลงทุน ถือว่าประสบความสำเร็จมากแล้ว

ดังนั้น ในกรณีลงทุนซื้อแฟรนไชส์ 50,000 บาท กำไรต่อเดือน 10,000 บาท รายได้แค่นี้ ยากมากที่จะพอเพียงใช้ชีวิตประจำวันยุคนี้ ที่บอกว่า จะคืนทุนได้ใน 3-5 เดือน น้อยรายมากที่จะทำได้ หรือถ้าทำได้จริง แฟรนไชส์ซีรายนั้น ต้องแลกด้วยการทำงานหนักระดับสาหัส

ดังนั้น เมื่อทำกำไรได้น้อย แฟรนไชส์ซีก็จะท้อ แล้วก็ต้องยอมเลิกกิจการตัวเอง กระทบไปถึงชื่อเสียงแบรนด์ และแฟรนไชซอ ถึงที่สุดต้องล้มเลิกไป จะเห็นว่าทุกวันนี้ มีแฟรนไชส์ลงทุนน้อย ล้มหายตายจากไปสูงกว่า 20% และมีแนวโน้มจะค่อยๆ ปิดตัวตามกันไป วงจรธุรกิจดังกล่าว นับว่าน่าเป็นห่วงมาก
 
องค์ประกอบสำคัญที่แฟรนไชส์ควรต้องมี

 
ดร.พีระพงษ์ ระบุว่า รูปแบบที่จะเข้าข่ายเป็นแฟรนไชส์อย่างแท้จริง ควรมีองค์ประกอบ 3 ข้อ คือ
  1. มีการบริหารความเชี่ยวชาญ (KNOW HOW) คือ มีความรู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง สามารถนำมาจัดการบริหารได้ 
  2. มีระบบจัดการธุรกิจ ที่ไม่ใช่แค่การมีรูปแบบร้านแฟรนไชส์แต่ต้องมีกลยุทธ์ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ลงทุนสามารถอยู่รอดในการทำธุรกิจได้นั้นหมายถึงว่าตัวเจ้าของแฟรนไชส์ซอเองก็ต้องมีเงินทุนมาหมุนเวียนจากการเก็บค่าธรรมเนียม ส่วนแบ่งการตลาดและนำเงินส่วนนั้นมาพัฒนาระบบแฟรนไชส์ให้แข็งแรงยิ่งขึ้น
  3. มีตราสินค้าหรือแบรนด์ ของตัวเอง ที่แม้ว่าส่วนใหญ่จะมีโลโก้และยี่ห้อกันอยู่แล้วแต่การมีแบรนด์คือไม่ใช่แค่ตั้งชื่อและมีสัญลักษณ์ร้านค้าแต่สำคัญคือทำอย่างไรให้แบรนด์นั้นเป็นที่พูดถึงของคนในวงกว้างทำอย่างไรให้แบรนด์ที่เราตั้งขึ้นมาจดจำอยู่ในความรู้สึกของคนได้ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้กลยุทธ์การตลาดหลายอย่างมาผนวกรวมกันเพื่อทำให้แฟรนไชส์เกิดความแข็งแรงในด้านการลงทุนมากขึ้น
ภาครัฐควรจะเน้นการส่งเสริมแฟรนไชส์ให้เกิดคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ


 
ดร.พีระพงษ์ ระบุว่า ในความคิดเห็นส่วนตัว ธุรกิจแฟรนไชส์ที่จะประสบความสำเร็จ ควรจะเป็นแฟรนไชส์รายใหญ่พอสมควร มีชื่อเสียงการันตีความสำเร็จ เป็นธุรกิจหรือบริการที่ทำกำไรต่อหน่วยได้สูง อยู่ในกระแสนิยม และหาบุคลากรที่เหมาะสมมาร่วมธุรกิจได้

อย่างไรก็ตาม แฟรนไชส์ที่มีความพร้อมเช่นนี้ มีแค่รายใหญ่ๆ การเข้าเป็นแฟรนไชส์ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง มูลค่าประมาณ500,000 บาทขึ้นไป หาผู้มีกำลังพร้อมมาลงทุนได้ยาก การแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงมีความคิดเห็นว่าสถาบันการเงินของรัฐ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ควรจัดสินเชื่อสำหรับการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์โดยเฉพาะ

ซึ่งต้องเป็นสินเชื่อที่มีวงเงินไม่ควรต่ำกว่า 1 ล้านบาท และสามารถนำแบรนด์แฟรนไชส์ที่ได้มาตรฐานมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทย ยังไม่มีสินเชื่อลักษณะนี้ มีแค่สินเชื่อสำหรับแฟรนไชส์ ให้วงเงินเพียง 20,000 บาท ไม่สามารถให้ผู้กู้ไปลงทุนกับแฟรนไชส์ที่มีคุณภาพได้
 
 
นอกจากนี้ เพื่อยกระดับธุรกิจแฟรนไชส์ไทย สมาคมแฟรนไชส์และเอสเอ็มอีไทย กำลังผลักดันกฎหมายแฟรนไชส์ เพื่อเป็นการสร้างกฎกติกาพื้นฐานให้อยู่ร่วมกันบนความยุติธรรมของผู้ซื้อและ ผู้ขาย เช่น กำหนดขึ้นทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์

โดยบริษัทที่จะจดทะเบียนได้ต้องดำเนินธุรกิจมาไม่น้อยกว่า 2 ปี รวมถึงมีคุณสมบัติ ขยายธุรกิจโดยใช้ชื่อเดียวกัน , มีการเก็บค่าใช้จ่ายในระหว่างธุรกิจต่อกัน รวมถึงบริษัทแม่ต้องมีส่วนเข้าไปช่วยรายย่อยในด้านการบริหารจัดด้วย
       
ทิศทางอนาคตแฟรนไชส์ไทย ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ที่ควรวางให้ชัดเจนนับจากนี้

 
แนวโน้มของแฟรนไชส์ไทยในปัจจุบัน ดร.พีระพงษ์กล่าวว่า “ระบบแฟรนไชส์ของโลกนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนที่มีความพร้อมในการลงทุนได้เริ่มต้นธุรกิจที่ง่ายขึ้นเป็นทางลัดที่ลดความเสี่ยงด้านการลงทุน แต่แฟรนไชส์ไทยที่เราเห็นส่วนมากไปได้ดีคือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ส่วนพวกรายย่อยก็พัฒนาในเชิงปริมาณ

ซึ่งเรื่องพวกนี้ต้องอยู่ที่ยุทธศาสตร์และการกำหนดทิศทาง รัฐบาลวางแผนให้คนสนใจทำธุรกิจ ก็ต้องสอนให้เข้าใจและได้ความรู้ในด้านการลงทุนที่ถูกต้องมากขึ้น มีแต่กิจกรรมในการนำเสนอนั้นยังผิดวิธี เช่นการให้เงินทุนสนับสนุนคนไปซื้อแฟรนไชส์แต่แฟรนไชส์ยังไม่มีระบบการจัดการที่ดีสุดท้ายผลเสียก็อยู่ที่คนลงทุน ระบบนี้ไม่ใช่แฟรนไชส์ไม่ดีแต่วิธีการนำเสนอนั้นผิดไปเราควรให้แฟรนไชส์ซอได้พัฒนาตัวเองสร้างระบบที่ดี
 
ซึ่งทำให้คนลงทุนอยู่รอดได้การกำหนดค่าธรรมเนียม ส่วนแบ่งการตลาด สิ่งเหล่านี้คือเงินหมุนเวียนที่ควรเอาใช้ในระบบ ปัจจุบันถ้าเปรียบเทียบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราถือว่าแฟรนไชส์ของเราอยู่ในระดับกลางๆ นับจากนี้ถ้าพัฒนาถูกทางก็ฉลุย ถ้าผิดทางก็ต้องมาเริ่มกันใหม่ เป็นวังวนแบบนี้ก็อยู่ที่ยุทธศาสตร์และการกำหนดทิศทางซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและ
จำเป็นมาก
 
 
จากมุมมองของผู้คร่ำหวอดในวงการแฟรนไชส์อย่าง ดร.พีระพงษ์ ก็ทำให้เรามองเห็นทิศทางที่แท้จริงของแฟรนไชส์ไทยว่าต่อแต่นี้ไปควรเดินไปในทิศทางไหน แต่สิ่งสำคัญคือการที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ และภาคการศึกษาที่ต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับรูปแบบการลงทุน

วิธีการทำธุรกิจแฟรนไชส์ที่ถูกต้อง จะได้เป็นการพัฒนาในเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณซึ่งสุดท้ายผลดีทั้งหลายก็จะย้อนกลับมาสู่เจ้าของแฟรนไชส์และผู้ลงทุนต่างๆ ระบบแฟรนไชส์นั้นเป็นการทำงานที่ดีและมีประสิทธิภาพก็ขึ้นอยู่กับทิศทางนับแต่นี้ว่าจะมีความชัดเจนอย่างไรต่อไป
 
รายละเอียดในการติดต่อ
บริษัท บิสิเนส โค้ช แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด
โทร.02-450-1335
บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
มัดรวม 70 แฟรนไชส์ โกยรายได้ก่อนใครต้อนรับปี 68
2,065
5 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนธันวาคม 2567
734
สรุปภาพรวมแฟรนไชส์ไทย ไปต่อหรือพอแค่นี้ ปี 68
634
8 ขั้นตอน สร้างธุรกิจแฟรนไชส์อย่างมีระบบ
622
ทำไม ต้องเตรียมเงินถึง 15 ล้านบาท เพื่อเปิดแฟรนไ..
551
มัดรวม 5 แฟรนไชส์ไอศกรีมและชาผลไม้ บุกไทย ไปต่อ..
532
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด