บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การเริ่มต้นธุรกิจใหม่    การวางแผนธุรกิจ
6.9K
3 นาที
5 ตุลาคม 2553

เวลาที่ควรจัดทำแผนธุรกิจ สำหรับSMEs

ในการที่ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่จะต้องมีการจัดทำแผนธุรกิจ ส่วนใหญ่แล้วมักจะมาจากภาวะบังคับหรือภาวะจำเป็นที่จะต้องมีการจัดทำแผน ธุรกิจขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องการขอวงเงินสินเชื่อจากทางธนาคารหรือสถาบันการเงิน ซึ่งแผนธุรกิจถือเป็นเอกสารสำคัญประกอบการพิจารณา หรือในกรณีที่ผู้ประกอบการนั้นเข้าศึกษาหรืออบรมในโครงการต่างๆ

เช่น โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneur Creation - NEC) หรือโครงการบ่มเพาะวิสาหกิจ (Business Incubation) ที่เมื่อเสร็จสิ้นการอบรมผู้ประกอบการที่เข้ารับการอบรมจะต้องมีการจัดทำแผน ธุรกิจ และทำการนำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการหรือผู้ทรงคุณวุฒิ
 
เพื่อประเมินว่าผู้ประกอบการที่เข้ารับ การอบรมรายดังกล่าว มีความรู้ในการวางแผนธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพจากความรู้ที่ได้รับการอบรมมา หรือไม่ แต่แท้จริงแล้วการจัดทำแผนธุรกิจ ถือว่าเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อผู้ประกอบการหรือต่อธุรกิจเอง ซึ่งมิได้ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาจำเป็นหรือภาวะที่ถูกบังคับให้จัดทำแต่อย่างใด โดยช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการสมควรมีการจัดทำแผนธุรกิจนั้น มักเป็นไปตามสภาพการณ์หรือภาวะต่างๆที่เป็นอยู่ของธุรกิจ

เพราะการจัดทำแผนธุรกิจจากการวางแผนธุรกิจอย่างถูกต้อง รัดกุม และมีประสิทธิภาพ จะเป็นกลไกในการสร้างความสามารถและประสิทธิผลในการดำเนินธุรกิจให้เกิดขึ้น โดยช่วงเวลาที่ควรมีการจัดทำแผนธุรกิจและข้อพิจารณาจากการจัดทำ รวมถึงความสำคัญที่ควรมีการจัดทำแผนธุรกิจในช่วงเวลาดังกล่าวประกอบด้วย

ยังไม่เคยมีการจัดทำแผนธุรกิจ

สำหรับผู้ประกอบการหรือธุรกิจที่ยังไม่เคยมีการจัดทำแผนธุรกิจ การจัดทำแผนธุรกิจถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อธุรกิจ เนื่องจากถ้าธุรกิจหรือตัวผู้ประกอบการได้มีการวางแผนอย่างรอบคอบรัดกุม และมีประสิทธิภาพ

การจัดทำแผนธุรกิจจะช่วยให้ธุรกิจสามารถ ใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการ วิเคราะห์ ติดตาม ทบทวน และประเมินผลการดำเนินของธุรกิจ และสามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจในอนาคต เพื่อให้ธุรกิจสามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง หรือความเสี่ยงต่างๆที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจได้เป็นอย่างดี แต่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่มีผู้ประกอบการหรือธุรกิจของไทยจำนวนน้อยราย ที่คิดจะมีการจัดทำแผนธุรกิจถ้าธุรกิจของตนเองยังไม่เคยมีการจัดทำแผนธุรกิจ มาก่อน

ซึ่งในบางกรณีเกิดจากการที่ผู้ประกอบการสามารถ ดำเนินธุรกิจให้เติบโตมีผลกำไรได้ด้วยตนเอง โดยไม่เคยต้องมีการจัดทำแผนธุรกิจในการบริหารจัดการมาก่อน ทำให้ไม่ตระหนักถึงความสำคัญถึงความจำเป็นของการต้องมีการจัดทำแผน ซึ่งมักเกิดขึ้นกับธุรกิจขนาดเล็กที่ตัวผู้ประกอบการเป็นผู้วางแผน บริหารหรือตัดสินใจด้วยตนเอง และมีจำนวนบุคลากรไม่มากนัก

แต่เมื่อธุรกิจเริ่มขยายตัว ตัวผู้ประกอบการก็มักจะไม่สามารถหาแนวทางที่มีประสิทธิภาพ ในการบริหารองค์กรที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ หรือไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง ซึ่งมีที่มาจากการที่ไม่เคยได้มีการวางแผนธุรกิจอย่างถูกต้อง และเป็นระบบมาก่อน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็จะมีการจัดทำแผนต่อเมื่อธุรกิจของตนเองประสบปัญหา หรือมีภาวะจำเป็นจนต้องขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากทางธนาคารหรือสถาบัน การเงิน เนื่องจากเป็นข้อบังคับที่ต้องมีแผนธุรกิจประกอบการขอวงเงินสินเชื่อ

ซึ่งผู้ประกอบการหรือธุรกิจในลักษณะเหล่านี้ก็มักจะประสบปัญหาในการจัดทำ เนื่องจากตนเองหรือธุรกิจไม่เคยได้มีการวางแผนที่ดี หรือวางแผนอย่างถูกต้องมาก่อน รวมถึงการขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนการวางแผนธุรกิจหรือจัดทำแผนธุรกิจ ทำให้เมื่อต้องเร่งรีบในการจัดทำแผนธุรกิจในภาวะจำเป็น แผนธุรกิจที่จัดทำขึ้นมีข้อบกพร่อง และไม่สามารถบอกได้ถึงความสามารถในการวางแผนของธุรกิจหรือตัวผู้ประกอบการ จนอาจเป็นสาเหตุให้พลาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ต้องการได้

หรือ ในอีกกรณีที่เมื่อต้องเข้ารับการอบรมในโครงการต่างๆ ที่ต้องมีการจัดทำแผนและนำเสนอแผนธุรกิจเพื่อให้ผ่านหลักสูตร ผู้ประกอบการบางส่วนจึงมักมีการจัดทำแผนธุรกิจแบบขอไปที หรือเพียงกรอกหัวข้อให้ครบตามโครงสร้างของแผนธุรกิจ เพียงเพื่อให้จบหลักสูตรตามที่ทางโครงการกำหนด โดยมิได้นำความรู้จากการอบรมมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนธุรกิจของตนเองเลย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นสำหรับธุรกิจที่ยังไม่เคยมีการจัดทำแผนธุรกิจมาก่อน การจัดทำแผนธุรกิจที่ถูกต้องถือเป็นก้าวแรกในการบริหารธุรกิจให้เติบโต ก้าวหน้าและเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในอนาคต

ต้องการกู้เงิน

ถือเป็นช่วงเวลาบังคับที่ผู้ประกอบการต้องมีการจัดทำแผนธุรกิจ และแผนธุรกิจส่วนใหญ่หรืออาจเรียกได้ว่าเกือบทั้งหมดที่ถูกจัดทำขึ้น ล้วนแล้วแต่มาจากวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประกอบการขอวงเงินสินเชื่อแทบทั้งสิ้น โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการหรือธุรกิจต้องการหรือคาดหวังจากแผนธุรกิจที่จัดทำ ขึ้นก็คือ แผนธุรกิจดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สามารถขอวงเงินสินเชื่อได้ตาม ที่ตนเองต้องการ

นอกเหนือจากความคาดหวังจากทางธนาคารหรือ สถาบันการเงิน ที่ใช้แผนธุรกิจในการประเมินความสามารถในการบริหารจัดการของธุรกิจหรือผู้ ประกอบการ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการอนุมัติสินเชื่อให้ธุรกิจดังกล่าว นอกเหนือจากหลักประกันที่ถือเป็นเครื่องมือหลักในการลดความเสี่ยงจากการสูญ เสียของการผิดนัดชำระหนี้

แต่ในข้อเท็จจริงแล้วการจัดทำ แผนธุรกิจในช่วงเวลาดังกล่าวสำหรับผู้ประกอบการ นอกจากใช้เป็นเอกสารประกอบการขอสินเชื่อแล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบการหรือธุรกิจต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการจัดทำแผน ก็คือการวางแผนในการใช้เงินกู้ที่ได้รับมาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับ ธุรกิจ ซึ่งบ่อยครั้งมักพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีการวางแผนเกี่ยวกับจำนวน เงินทุนที่ต้องการใช้อย่างถูกต้อง แม้ว่าตัวผู้ประกอบการหรือธุรกิจจะมีหลักประกัน ที่มีมูลค่าเพียงพอในการค้ำประกันวงเงินสินเชื่อดังกล่าวก็ตาม

ทำให้ในบางกรณีวงเงินสินเชื่อที่ขอก็มีจำนวนน้อยเกินไป หรืออาจมีต้นทุนค่าใช้จ่ายบางส่วนที่ผู้ประกอบการละเลย หรือมิได้คาดคะเนไว้ก่อนหน้า ทำให้วงเงินสินเชื่อที่ได้รับไม่เพียงพอในการดำเนินธุรกิจ หรือเมื่อดำเนินธุรกิจไปช่วงเวลาหนึ่งเงินกู้ที่ได้รับกลับถูกใช้หมดไปเสีย ก่อน ซึ่งจะเกิดปัญหาสำหรับผู้ประกอบการเป็นอย่างยิ่ง

หรือ อีกกรณีหนึ่งคือขอวงเงินสินเชื่อมากเกินกว่าความจำเป็น ทำให้มีเงินสดเหลืออยู่ในมือเกินกว่าที่ธุรกิจจำเป็นต้องใช้ เนื่องจากผู้ประกอบการคิดว่าถ้ามีเงินสดคงเหลืออยู่ จะเป็นการสร้างความปลอดภัย และความมั่นใจให้เกิดขึ้นในการดำเนินธุรกิจในอนาคต โดยตนเองยอมเสียดอกเบี้ยในของเงินกู้ส่วนเกินดังกล่าว

แต่สิ่งที่มักพบได้อยู่เสมอก็คือเมื่อผู้ประกอบการมีเงินสดส่วนเกินที่มาจาก เงินกู้ดังกล่าวนั้น มักจะนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อรถยนต์ใหม่ การซื้ออสังหาริมทรัพย์ การซื้อหลักทรัพย์ ค่าใช้จ่ายส่วนตัวของกรรมการหรือผู้บริการ การเก็งกำไรต่างๆ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการใช้เงินผิดประเภท หรือผิดวัตถุประสงค์จากการกู้เงินเพื่อทำธุรกิจนั่นเอง ซึ่งมักมีข้ออ้างว่าเป็นการ "ลงทุน" ที่ให้ผลตอบแทน ดีกว่าที่จะทิ้งเงินสดไว้ในธนาคารเฉยๆเพื่อรอรับดอกเบี้ย

โดยมักพบว่ามีผู้ประกอบการเพียงจำนวนน้อยราย ที่จะประสบความสำเร็จจากวิธีดังกล่าว และเมื่อมีความจำเป็นต้องการใช้เงินทุนในการทำธุรกิจจริงๆ ก็มักจะไม่สามารถนำเงินจากการ "ลงทุน" ของธุรกิจมาใช้ได้ ซึ่งก็จะเกิดปัญหาเช่นเดียวกัน โดยสิ่งที่พึงระลึกอยู่เสมอคือเงินที่ได้รับมานั้นมาจากการกู้ยืม คือการมีเจ้าหนี้ซึ่งเป็นธนาคารหรือสถาบันการเงินเกิดขึ้นในธุรกิจ ซึ่งแตกต่างจากเจ้าหนี้การค้าของธุรกิจ ที่อาจเจรจาผลัดผ่อนหรือประวิงเวลาการชำระหนี้ทางการค้าได้ถ้าธุรกิจของตน กำลังประสบปัญหา

ดังนั้นไม่ว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลว จะมีกำไรหรือขาดทุน ธุรกิจมีหน้าที่ที่จะต้องชำระหนี้คืน ให้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ให้เงินกู้ยืมมาตามกำหนด ดังนั้นการจัดทำแผนธุรกิจเมื่อต้องการขอกู้เงินหรือขอวงเงินสินเชื่อ จึงต้องให้ความสำคัญในการใช้เงินกู้ที่ได้รับมาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ต้องสามารถสร้างผลกำไร และธุรกิจต้องมีเงินสดเพียงพอ ที่จะสามารถชำระเงินกู้คืนได้สม่ำเสมอตามกำหนดหรือตามข้อสัญญาเงินกู้ เนื่องจากการผิดนัดชำระหนี้กับทางธนาคารหรือสถาบันการเงิน จนกลายเป็น NPL ถือเป็นสิ่งที่ส่งผลร้ายอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินธุรกิจ เพราะจะทำให้ธุรกิจไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นๆอีกได้เลยในอนาคต


อ้างอิงจาก รัชกฤช คล่องพยาบาล
ที่ปรึกษาส่วนบริการปรึกษาการเงินและการร่วมลงทุน
ฝ่ายประสานและบริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
799
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
711
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
642
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
528
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
446
เจ้าของธุรกิจกุมขมับ! วิกฤตเด็กไทยเกิดน้อยกระทบธ..
432
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด