บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    โอกาสทางธุรกิจ    AEC
5.7K
3 นาที
30 พฤษภาคม 2554

ทริค! รุกธุรกิจแฟรนไชส์ในเวียดนาม

2 ปีก่อน แฟรนไชส์ไก่ทอดยอดนิยม เคเอฟซี มีเพียง 17 สาขาในเวียดนาม แต่วันนี้ผู้พันแซนเดอร์ส ยืนตระหง่านอยู่ในดินแดนนี้มากถึง 55 สาขาแล้ว

ขณะที่แฟรนไชส์ร้าน สะดวกซื้อ "แฟมิลี่มาร์ท" ซึ่งใหญ่ติด 1 ใน 3 ของประเทศญี่ปุ่น กำลังจะเปิดสาขาแรกที่เวียดนาม และตั้งเป้าที่จะขยายสาขาไปถึง 300 สาขา ในปี 2014 นี้ ...มีอะไรดีที่เวียดนาม ถ้าคิดจะลงทุนต้องเตรียมใจกับอะไรบ้าง มีคำตอบ

เก็บตกจากเวทีสัมมนา “กลยุทธ์การเจาะตลาดแฟรนไชส์ในประเทศเวียดนาม” ของ สำนักส่งเสริมธุรกิจบริการ กรมส่งเสริมการส่งออก กับเคล็ดไม่ลับ ของแฟรนไชส์ไทยที่คิดจะไปแผ่ขยายสาขาในเวียดนาม เช่นเดียวกับถนนทุกสายทั่วโลกที่มุ่งไปประเทศเดียวกันนี้

มีอะไรน่าสนใจในเวียดนาม ตัวเลขการลงทุนของประเทศนี้ถึงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลการลงทุนในเวียดนาม ระบุเฉพาะภายในปี 2551 มีนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในเวียดนามแล้วนับรวมมูลค่าถึง 60.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นจำนวน 1,171 โครงการ

สำหรับโครงการลงทุนของไทยในเวียดนามเริ่มตั้งแต่ปี 2531 ผ่านมาถึงวันนี้ (ข้อมูล ณ วันที่  22 ธ.ค. 2551) มีทั้งสิ้น 192 โครงการ เงินลงทุนรวม 5.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 12 ของนักลงทุนต่างชาติทั้งหมดในเวียดนาม และเป็นอันดับที่ 4 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน (ที่มา : กระทรวงการวางแผนและการลงทุนเวียดนาม รวบรวมโดย กรมส่งเสริมการส่งออก)

หนึ่งในการลงทุนที่น่าสนใจ มีชื่อของธุรกิจแฟรนไชส์รวมอยู่ด้วย นายอัลเบิร์ต คอง (Albert Kong) ประธานบริษัท เอเชียไวด์ แฟรนไชส์ คอนซัลแทนส์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านแฟรนไชส์ เหยาะความน่าสนใจในธุรกิจนี้ ว่า จาก ศักยภาพของเวียดนาม ที่ยังใหม่ขบเผาะ เศรษฐกิจดี จีดีพีที่ยังโตต่อเนื่อง โดยปีที่แล้วโตถึง 6.3% ตลาดเต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ มีคนในวัยต่ำกว่า 30 ปี ถึง 58% คนที่นี่จึงยังใจกว้างและเปิดรับแบรนด์หลากหลายจากทั่วโลก

เวียดนามกลายเป็นประเทศที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีแฟรนไชส์จำนวนมากพุ่งเป้าไปที่นั่น เพื่อหวังพัฒนาประเทศ

แฟรนไชส์ค้าปลีกและส่งยังมีศักยภาพสูงที่เวียดนาม ล่าสุดร้านสะดวกซื้อ "แฟมิลี่มาร์ท" ที่มีขนาดใหญ่ 1 ใน 3 ของประเทศญี่ปุ่น ก็มาเปิดสาขาที่นี่ ซึ่งผู้บริหารแฟมิลี่มาร์ท ประกาศเป้าหมายที่จะขยายไปถึง 300 สาขาในอีก 5 ปี ข้างหน้า

ขณะที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตชื่อดัง อย่าง บิ๊กซี ,  Metro Cash&Carry และ Lotte Mart ก็วางแผนที่จะรุ่งในเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันเวียดนามมีซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว 400 แห่ง ศูนย์การค้าอีก 60 แห่ง และร้านสะดวกซื้อ 2,000 แห่ง ทั่วประเทศ ธุรกิจร้านค้าปลีกมีมูลค่าสูงถึง 58 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เติบโตเพิ่มขึ้นถึงปีละ 31%

แม้เวียดนามยังใหม่สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์  แต่ก็มีไม่น้อยรายที่ประสบความสำเร็จ อย่าง เคเอฟซี, Lotteria  รวมถึงแฟรนไชส์ท้องถิ่นระดับแถวหน้า อย่าง PHO 24 (เฝอ 24) เป็นต้น

"2 ปีก่อน เคเอฟซี ในเวียดนาม มีเพียง 17 สาขา แต่ 2 ปีผ่านมามีถึง 55 สาขาแล้ว คนเวียดนามใช้จ่ายไปกับแฮมเบอร์เกอร์ของร้าน Lotteria ตกประมาณ 50,000 ด่อง ซึ่งสูงเป็น 2-4 เท่า ของอาหารท้องถิ่น

จากผลสำรวจของ Nielsen 8% ของคนเวียดนาม ชอบเข้าร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดของต่างชาติ มากถึง 1-3 ครั้งต่อเดือน เพราะมองว่ามันเท่"

นี่คือความน่าสนใจที่เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ใครก็จะเข้าไปทำธุรกิจแฟรนไชส์ในเวียดนามได้ และไม่ใช่ทุกรายที่จะประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะผู้ประกอบการจากไทย ที่ล้มหมอนนอนเสื่อไปก็หลายรายแล้ว

ผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษาแฟรนไชส์บอกเราว่า แม้จะยังใหม่ในธุรกิจแฟรนไชส์ แต่เวียดนามก็มี "กฎหมายแฟรนไชส์" ใช้กันแล้ว เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2006 ขณะที่หลายๆ ประเทศในเอเชีย รวมถึงไทย ยังตามหลังไกลในเรื่องนี้ โดยเวียดนามได้รับอิทธิพลมาจากจีน จากการที่จีนมีกฎหมายแฟรนไชส์มาก่อน เวียดนามจึงอยากทำอะไรให้มันถูกต้อง

ความชัดเจนทั้งแง่ของกฎหมาย และการวางกรอบเงื่อนไขที่รัดกุม ทำให้ผู้ประกอบการที่คิดไปลงทุนธุรกิจนี้ในเวียดนามต้องศึกษากันให้มากขึ้น

"คนที่จะเปิดแฟรนไชส์ที่ เวียดนามได้ ก็ต้องดำเนินกิจการมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี และต้องทำตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ อย่าง แฟรนไชซอร์ต้องมีใบอนุญาตประกอบการค้า มีสัญญาการใช้สิทธิแฟรนไชส์ สัญญาการถ่ายทอดเทคนิคด้านบริหารจัดการ สัญญาเกี่ยวกับการเงิน และสัญญาเกี่ยวกับความลับทางการค้า แฟรนไชซอร์ ต้องเตรียมคู่มือให้แฟรนไชซี อย่างการฝึกอบรม ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน มีโนฮาวในกับแฟรนไชซี

และเมื่อสัญญาหยุดลงแฟรนไชซี ต้องหยุดใช้เครื่องหมายการค้า และทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ที่มีในสัญญา เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งที่เขาต้องมีกฎหมายขึ้นมาก็เพื่อป้องกันการฉ้อโกง และทำให้มั่นใจว่าทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของแฟรนไชซอร์จริงๆ ไม่ได้โกงใครมา"

ทริคเล็กๆ ที่เขาฝากไว้ คือ การทำสัญญากับคนเวียดนาม ตามกฎหมายจะถือภาษาเวียดนามเป็นหลัก ฉะนั้นการแปลงภาษาอื่นเป็นภาษาเวียดนามก็ให้มั่นใจไว้ด้วยว่าจะถูกต้องเพื่อ ไม่ให้มีปัญหาในภายหลังได้ ขณะที่แต่ละรัฐมีกฎหมายของตัวเอง และกฎหมายที่บังคับใช้ในรัฐหนึ่งรัฐใดอาจไม่ถูกบังคับในอีกรัฐได้ฉะนั้นต้อง ศึกษาตรวจสอบและทำเรื่องพวกนี้ให้ถูกต้องด้วย

รวมถึงการทำความรู้จักกับกลุ่มที่เรียกว่า  "SATRA GROUP" ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลในเวียดนาม เขาแนะนำว่า ใครจะเข้าไปลงทุนที่เวียดนามอาจต้องทำความรู้จักเอาไว้ เพราะกลุ่มนี้มีความเก่งและเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะเรื่องข้อกฎหมายต่างๆ ที่จะทำให้ผู้ประกอบการลดปัญหาความยุ่งยากต่างๆ ลงได้

แล้วแฟรนไชส์แบบไหนจึงจะประสบความสำเร็จที่นี้ นายเทรเวอร์ แมคเคนซี (Trevor  MacKenzie) ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เอ็กซ์ควิซีน ซิสเท็ม จำกัด Marketing Arm ของ บริษัทโคคา โฮลดิ้งอินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด บอกว่า การนำแบรนด์ "โคคา" หนึ่งในแฟรนไชส์อมตะ สายพันธุ์ไทยไปบุกเบิกที่ประเทศเวียดนาม มาจากเหตุผลสำคัญที่มองเวียดนามเป็นประเทศใกล้ชิดกับคนไทย กระทั่งพฤติกรรมการบริโภคก็ใกล้เคียงกัน

ขณะที่เวียดนามมีกฎหมายแฟรนไชส์ และมีการเปลี่ยนแปลงทุกๆ เดือน ทำให้กฎหมายมีการพัฒนาและทันสมัยอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อ เศรษฐกิจยังดี ที่สำคัญเปิดประเทศเพื่อต้อนรับแบรนด์ต่างๆ จากทั่วโลก

สิ่งเหล่านั้นสนับสนุนการทำธุรกิจของโคคา แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่าการ "รู้เขา-รู้เรา" รู้จักคนเวียดนามให้มากที่สุดก่อนไปเริ่มกิจการ

นายแมคเคนซี บอกเราว่า คนเวียดนามถึง 80% ที่อายุต่ำกว่า 40 ปี และจำนวนมากที่ออกไปแสวงหาโอกาสในต่างประเทศ แล้วกลับเข้ามาทำธุรกิจในเวียดนาม คนกลุ่มนี้จึงมีความเป็นคนรุ่นใหม่ ที่รับเอาวัฒนธรรมใหม่ๆ เข้ามา นี่คือสิ่งที่จะกำหนดเกมธุรกิจของโคคาไปด้วย

"คนเวียดนามชอบอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ธุรกิจของเราจึงต้องปรับตัวเพื่อรับคนกลุ่มนี้ อย่างเช่น การทำโปรโมชั่นสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง จากที่ขายมา พบว่าถ้าไม่ทำโปรโมชั่น ภายใน 6-8 สัปดาห์ ยอดขายสินค้าตัวนั้นจะตกลง แต่ถ้าทำโปรโมชั่นตัวเลขก็จะยังคงที่ เราพยายามทำเมนูให้แตกต่างและหลากหลาย ซึ่งโคคาในไทยอาจมีเมนูที่น้อยกว่าเวียดนามก็ได้ เพราะคนที่นั่นเขาชอบอะไรที่มันแปลกๆ ใหม่ๆ"

ในมุมของการเป็นแฟรนไชซี เขามองว่า ด้วยความมีกลุ่มคนรุ่นใหม่อยู่จำนวนมาก ทำให้คนเวียดนามมีความกระตือรือร้นที่จะทำธุรกิจ เพราะเชื่อว่าสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศของเขาได้ จากการเป็นนักแสวงหาในหลายๆ ประเทศ ทำให้คนเวียดนามพูดได้หลายภาษา ขณะที่ศักยภาพของประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ทำให้การเดินทางจากไทยทำได้สะดวกสบาย และสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ ที่ทำได้ง่ายและรวดเร็ว ทั้งทางทะเล และเครื่องบิน

อย่างไรก็ตาม เขาแนะนำว่า ผู้ที่จะเข้าไปลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ ให้เลือกเฟ้นพาร์ทเนอร์ที่ดี และต้องใช้เวลาในการเลือก อย่าเร่งร้อน อย่าง โคคาเอง พวกเขาต้องใช้เวลาถึง 1 ปีครึ่ง เพื่อจะได้พาร์ทเนอร์ที่ดีที่สุด จากช่วงเริ่มต้นมีคนสนใจถึง 15-20 ราย แต่นานๆ ไป คนกลุ่มนี้ก็หายไปหมด แฟรนไชซอร์จึงต้องใจเย็นๆ และใช้เวลาเพื่อเลือกพาร์ทเนอร์ที่ดีและมุ่งมั่นที่จะทำธุรกิจร่วมกันจริงๆ

สิ่งหนึ่งที่ต้องทำใจคือ คนเวียดนามมีแต่เงินแต่อาจยังไม่รู้เรื่องตลาดดีพอ ดังนั้นแฟรนไชส์ซอร์ต้องศึกษาให้มากๆ และพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจในทิศทางที่ตรงกัน รวมถึงเลือกมองตลาดที่แท้จริง

ไม่ใช่เข้าไปในตลาดที่เพิ่งบูม หรือแห่ไปตามกระแส เท่านี้ก็จะประสบความสำเร็จในประเทศที่ยังสดใสสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์อย่างเวียดนามได้

"ประชากรเขาตื่นเต้นที่จะทำให้ประเทศโตขึ้น เวียดนามในวันนี้ก็เหมือนกับไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ดังนั้นประสบการณ์ต่างๆ ที่เราได้เรียนรู้มาแล้วก็สามารถนำไปปรับใช้กับที่นี่ได้เช่นกัน"


อ้างอิงจาก กรุงเทพธุรกิจ

บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนพฤษภาคม 2567..
24,679
“มูฟ อีวี เอกซ์” สร้างรายได้ดีแค่ไหน! ทำไมถึงน่า..
3,812
รวม 12 แฟรนไชส์โหนกระแส คนไทยไม่เคยลืม!
2,366
จริงมั้ย? กำเงิน 15 ล้านบาท ถึงจะซื้อแฟรนไชส์ DQ..
1,912
กลยุทธ์ “แดรี่ควีน” เจ้าไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเมืองไ..
1,272
จริงมั้ย? 7-Eleven เห็นทำเลไหนดี เปิดเองแข่งสาขา..
1,243
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด