บทความทั้งหมด    บทความค้าขาย    การเริ่มต้นค้าขาย    การวางแผนค้าขาย
5.5K
2 นาที
7 มีนาคม 2561
7 เทคนิคขายของมีกำไรในสภาวะเงินฝืด

 
ภาวะเงินฝืดเป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการทั่วไปลดต่ำลงเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากอุปสงค์รวมมีน้อยเกินไป ไม่เพียงพอที่จะซื้อสินค้าและบริการทำให้ผู้ผลิตต้องลดราคาสินค้าเพื่อที่จะทำให้ขายได้ และลดการผลิตลงเพราะว่าถ้าผลิตออกมาเท่าเดิมก็ขายได้น้อย ผลที่ตามมาจะก่อให้เกิดผลเลวร้ายต่อเศรษฐกิจเพราะการจ้างงานจะลดลงตามไปด้วย ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน
 
ทั้งนี้ในมุมมองของ www.ThaiFranchiseCenter.com เห็นว่าแม้ภาวะเงินฝืดจะเป็นปัญหาสำคัญของการทำธุรกิจแต่หากเรามีเทคนิคและการปรับตัวให้เหมาะสม รวมถึงมีการวางแผนในการทำธุรกิจที่ดี ธุรกิจก็จะก้าวผ่านวิกฤติเหล่านี้ไปได้ซึ่งเราก็ได้รวบรวมเอาเทคนิคน่าสนใจเหล่านั้นมาฝากกัน
 
1.แจ้งสถานะทางธุรกิจให้ลูกน้องรับทราบ อย่าเก็บไว้คนเดียว
 

เมื่อเกิดปัญหาเงินฝืด ธุรกิจส่วนใหญ่มีรายได้ไม่ดี สิ่งแรกที่คิดทำคือการปลดพนักงานเพื่อลดรายจ่าย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งวิธีนี้ไม่เป็นผลดี ตรงกันข้ามอาจก่อให้เกิดความเสียหายหนักกว่าเดิมเมื่อมีโอกาสรับงานชิ้นใหญ่

ที่สำคัญพนักงานที่ฝีมือดีและเข้าใจองค์กรก็จะหายไป ธุรกิจนั้นก็เหมือนต้องมาเริ่มต้นใหม่ ทางที่ดีกว่าคือแจ้งสถานการณ์ให้พนักงานเข้าใจ และประกาศนโยบายในการรัดเข็มขัดรวมถึงนโยบายในการรักษาลูกค้าเก่า ถ้าธุรกิจสามารถประคองตัวเองให้ผ่านวิกฤตินี้โดยที่บุคลากรที่มีความสามารถยังอยู่ครบ ฟ้าหลังฝนนั้นย่อมสดใสเสมอ
 
2.จัดโปรโมชั่นสินค้าสร้างกระแสเงินสด
 

โดยปกติโปรโมชั่นครั้งใหญ่จะจัดช่วงส่งท้ายปลายปี แต่ในกรณีที่เกิดวิกฤติเงินฝืดควรรีบทำโปรโมชั่นทันที เพื่อระบายสินค้าที่ค้างสต็อก และสร้างกระแสเงินสดให้หมุนเวียนเข้ามาในธุรกิจ แน่นอนว่าการจัดโปรโมชั่นอาจทำให้กำไรต่อชิ้นนั้นลดน้อยลงไป แต่ในวิกฤติแบบนี้หากไม่ขยับตัวสร้างกระแสเงินสดให้เกิดขึ้น จะวิกฤติหนักยิ่งกว่า

3.ปรับ Package สินค้าให้เหมาะสมกับผู้ซื้อ
 

ในช่วงที่กำลังการซื้อของผู้บริโภคลดลง ธุรกิจการค้าต้องปรับตามกลยุทธ์ตามผู้ซื้อ การปรับPackage ของสินค้าให้เล็กลงก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่กระตุ้นการขายได้ เช่นเปลี่ยนจากเป็นแพ็ค มาขายเป็นสินค้าเดี่ยวหรือจับเป็นคู่  จากขายเป็นกิโลก็แบ่งเป็นหน่วยย่อยลง  จากที่ขายเงินสดก็เพิ่มบริการให้จ่ายเงินผ่อนได้ รวมถึงการขายในระบบออนไลน์ที่มีช่องทางการขายที่กว้างขึ้นแต่มีค่าใช้จ่ายที่ไม่แพงเหมือนการตลาดทั่วไป
 
4.ทำตลาดแบบกองโจร
 

หนึ่งในต้นทุนที่ธุรกิจเลือกตัดงบหรือประหยัดคือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่ในความเป็นจริงช่วงตลาดซบเซานี้คือโอกาสที่เราจะนำเสนอสินค้าตัวเองได้มากขึ้น หากแต่ควรเปลี่ยนวิธีทำตลาดจากที่ใช้งบประมาณสูงมาทำการตลาดแบบใช้งบน้อยแต่ได้ผลซึ่งการตลาดแบบกองโจรถือว่าน่าสนใจ เช่น การเข้าถึงลูกค้าแบบตัวต่อตัว  การจัดเวิร์คช็อป  ที่สำคัญตลาดแบบออนไลน์ช่วยเราได้มากในสภาวะแบบนี้
 
5.ใช้นโยบายภาครัฐให้เกิดประโยชน์
 

เรื่องภาวะเงินฝืดเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจที่สำคัญดังนั้นเชื่อได้ว่าภาครัฐเองจะต้องมีการเดินหน้าแก้ไข ด้วยการสร้างโครงการหรือกำหนดกิจกรรมต่างๆ มาสนับสนุนการขาย เพื่อผลักดันให้ธุรกิจเดินหน้าต่อเนื่องได้ ด้วยเหตุนี้ธุรกิจเองจึงควรใช้ช่องทางภาครัฐนี้ให้เกิดประโยชน์ห้ามปล่อยปะละเลย และทำเป็นไม่สนใจ ซึ่งบางทีนโยบายภาครัฐเหล่านี้อาจช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

6.สร้างพันธมิตรทางการค้าไว้บ้าง

 

ไม่ว่าเราคิดจะทำธุรกิจใดหากอยู่ตัวคนเดียวนั้นจะเติบโตได้ยากลำบาก ทางที่ดีควรมีพันธมิตรทางการค้าของตัวเองทั้งในเรื่องการกระจายสินค้าหรือว่าแหล่งวัตถุดิบต่าง ๆ การมีพันธมิตรที่ดีจะทำให้เรามีเครดิตมากขึ้น

เช่น การมีตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศหากในประเทศไทยมีปัญหาก็ยังขอให้พันธมิตรช่วยเหลือในการรับสินค้าไปจำหน่าย หรือหากมีพันธมิตรเป็นแหล่งวัตถุดิบเราก็อาจมีเครดิตที่สามารถชะลอการจ่ายเงินทุนเบื้องต้นทำให้สภาพคล่องการเงินเราดีขึ้นด้วย
 
7.สร้างสีสันให้ร้านค้าและธุรกิจ
 

เศรษฐกิจไม่ดี ยอดขายไม่ดีก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรทำตัวให้ซึมเศร้าตามไปทางตรงกันข้ามในภาวะที่คนต้องการสีสันเพิ่มเติมให้ชีวิต การขายของก็เหมือนกันควรมีสีสันเช่น เปิดเพลงให้ครึกครื้น จัดร้านใหม่ให้มีสีสันน่าสนใจ หรือการแต่งตัวของพนักงานที่ดึงดูดความสนใจ รวมถึงเทคนิคการพูดการขาย วิธีการเหล่านี้จะทำให้คนสนใจและอาจทำให้ร้านค้ามียอดขายที่ดีกว่าเดิมได้
 
อย่างไรก็ดีการค้าการลงทุนทำธุรกิจเราควรมีการวางแผนทางการเงินไว้ให้ดี รายรับที่ได้ต้องมีการจัดสรรปันส่วนไว้ในยามฉุกเฉินส่วนหนึ่ง ซึ่งถ้าเกิดมีปัญหาทางเศรษฐกิจเราก็ยังพอจะมีเงินสำรองเอาไว้ประคับประคองการทำธุรกิจของเราให้อยู่รอดปลอดภัยได้ในเบื้องต้น
 

SMEs Tips
  1. แจ้งสถานะทางธุรกิจให้ลูกน้องรับทราบ
  2. จัดโปรโมชั่นสินค้าสร้างกระแสเงินสด
  3. ปรับ Package สินค้าให้เหมาะสมกับผู้ซื้อ
  4. ทำตลาดแบบกองโจร
  5. ใช้นโยบายภาครัฐให้เกิดประโยชน์
  6. สร้างพันธมิตรทางการค้าไว้บ้าง
  7. สร้างสีสันให้ร้านค้าและธุรกิจ
สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมาย ติดตามได้ที่  goo.gl/Io5k2S
 
บทความค้าขายยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สรุปขั้นตอนเปิดร้านในห้าง ใช้เวลาเท่าไหร่
506
บทความค้าขายมาใหม่
บทความอื่นในหมวด