บทความทั้งหมด    บทความค้าขาย    การบริหารจัดการร้านค้า    การบริหารจัดการร้านค้า
2.2K
2 นาที
30 สิงหาคม 2561
4 วิธีลงทุนทำงานประจำก็ทำร้านอาหารได้


ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ระบุว่าในปี 2560 ที่ผ่านมามีจำนวนผู้ประกันตนอยู่ในระบบ14,647,101 คนแบ่งออกเป็นประกันตนตามมาตรา 33  , มาตรา 39 และ มาตรา 40 แต่จำนวนส่วนใหญ่จะอยู่ในระบบของพนักงานประจำหรือคนที่มีรายได้ต่อเดือนแน่นอน

แต่ทั้งนี้คำว่ารายได้ต่อเดือนที่แน่นอนก็ไม่ได้หมายความว่าจะเพียงพอต่อความต้องการ ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นมนุษย์เงินเดือนจำนวนไม่น้อย มองหาอาชีพเสริมทำเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตัวเองและหนึ่งในการลงทุนที่ชัดเจนที่สุดคือ “ธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหาร”

www.ThaiFranchiseCenter.com มีข้อมูลอันน่าสนใจของมูลค่าตลาดธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยที่สูงถึงกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี ดึงดูดให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดร้านอาหารอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2560 มีจำนวนร้านอาหารที่จดทะเบียนนิติบุุคลรวม 12,630 ราย เพิ่มขึ้น 9% จาก ณ สิ้นปี 2559

และสำหรับปี 2561 ที่ก้าวมาถึงช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ ธุรกิจร้านอาหารก็ยังเป็นการลงทุนที่ง่ายและใครก็ทำได้แต่จะสำเร็จหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง สำหรับใครที่ทำงานประจำคงอยากรู้ว่าช่องทางที่ดีที่สุดของการทำธุรกิจอาหารแบบไม่ต้องลาออกนั้นมีวิธีไหนอย่างไรที่น่าสนใจบ้าง ตามไปดูกัน

1.Online  Delivery

ภาพจาก facebook.com/dailycleanfood

น่าจะเป็นวิธีการแรกสุดที่เราจะนึกถึง ยุคนี้เป็นโลกออนไลน์อะไรๆ ก็ง่ายขึ้น หากเรามีร้านอาหารเดี๋ยวนี้สามารถสมัครเป็นสมาชิกกับแอพ Delivery ที่มีมากมายช่วยเพิ่มช่องทางการขายได้ดีขึ้น แต่สำหรับคนมีงานประจำไม่ได้มีร้านอาหาร ไม่มีหน้าร้าน ไม่มีเวลา Online  Delivery ก็ยังน่าสนใจ

เพียงแต่เราอาจต้องมีผู้ช่วยที่คอยดูแลเพจใน Facebook หรือ Instagram จากนั้นก็เพียงอัพโหลดรูปอาหาร พร้อมราคา และค่าจัดส่ง มีร้านค้าในลักษณะนี้มากมายที่ทำแล้วประสบความสำเร็จอย่างดีเช่น เจ๊คิวปูม้านึ่ง หรือ ร้าน My Little Boss  Baby Food อาหารเด็ก ระดับพรีเมี่ยม ส่งตรงถึงบ้าน เป็นต้น
 
แต่ใช่ว่าแค่อัพโหลดรูปอาหาร ใส่ราคา แล้วลูกค้าจะติดใจสั่งซื้อถล่มทลาย สิ่งที่เราต้องทำคือพัฒนาเมนูของเราให้มีความทันสมัยน่าสนใจเป็นอาหารที่ดึงดูดลูกค้าให้อยากลองกิน ซึ่งคนทำงานประจำต้องแบ่งเวลามาหาไอเดียและข้อมูลในสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้สร้างรายได้จากการทำ Online  Delivery ง่ายขึ้น

2.ซื้อแฟรนไชส์แล้วขายตามตลาดนัดตอนเย็น / เสาร์-อาทิตย์


คนขยันไม่มีวันจนเงินใช้ สามารถใช้กับวิธีการนี้ได้ เวลา 08.00-17.00 น.เราอาจทำงานประจำตามหน้าที่ แต่หลังจากเลิกงาน แทนที่จะไปช็อปปิ้ง เดินเที่ยวห้าง สังสรรค์กับเพื่อน ลองเลือกมาขายของตามตลาดนัดตอนเย็น แม้จะดูว่าเหนื่อยเพิ่มขึ้นแต่รายได้ที่เพิ่มขึ้นก็จะทำให้เราหายเหนื่อยได้เช่นกัน

และเดี๋ยวนี้การหาร้านค้าว่าจะขายอะไรก็ไม่ใช่เรื่องยาก มีแฟรนไชส์มากมายให้เราเลือกลงทุน ไม่ว่าจะเป็นลูกชิ้นทอด  เครื่องดื่ม   เครป  ขนมหวาน  ไอศกรีม ทุกธุรกิจมีแบรนด์ที่เป็นแฟรนไชส์ราคาก็เลือกได้ตามความเหมาะสม สำคัญคือต้องหาทำเลในการขาย

โฟกัสเลือกตลาดที่เราสามารถเดินทางไปได้ และหากเพิ่มเวลาในช่วงวันหยุดมาขายด้วย รายได้ก็จะยิ่งเพิ่มพูน แถมยังได้ประสบการณ์ดีไม่ดี รายได้รวมๆ อาจจะดีกว่าทำงานประจำด้วยซ้ำไป
 
3.ลงทุนกับ Food truck


ร้านอาหารประเภท Food truck เหมาะกับคนที่อยากเริ่มต้นในธุรกิจร้านอาหาร แต่อาจจะยังไม่พร้อมในเรื่องของเงินทุน หรือยังไม่แน่ใจว่าคอนเซ็ปต์ที่คิดไว้จะตอบโจทย์ตลาดหรือเปล่า

โดยข้อจำกัดของร้านอาหารประเภทนี้คือ จะไม่มีลูกค้าประจำ เพราะจำเป็นต้องย้ายสถานที่ไปเรื่อยๆ และไม่สามารถขายได้ทุกวัน ทำให้รายได้ไม่มีความแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น ร้าน Mother Trucker Burger, ร้าน Pizza Aroy ฯลฯ

อย่างไรก็ดีปัจจุบัน Food truck มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มและมีการแจ้งข่าวให้ทราบทั่วกันว่าที่ไหนมีการจัดงาน แบบไหน อย่างไร ทำให้สมาชิกในกลุ่มสามารถเลือกเข้าร่วมงานอีเว้นท์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้นซึ่งเสน่ห์ของ Food truck ยังน่าสนใจลูกค้าชอบในบรรยากาศการแต่งรถ ที่ยิ่งเด่นก็ยิ่งขายดี ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเสริมรายได้ที่น่าสนใจไม่น้อย

4.Pop-up store/ร่วมงานอีเว้นท์


สำหรับคนทำงานประจำไม่มีเวลาขายของแต่เราอาจมีแบรนด์อาหารของตัวเองซึ่งข้อดีของการมีแบรนด์อาหารเองคือง่ายในการเข้าร่วมงานอีเว้นท์ต่างๆ ที่เราเลือกได้ว่าจะเข้าร่วมงานไหนอย่างไร งานหลายแห่งมีการจัดในช่วงวันหยุด หรือหากเราไม่ว่างจริงๆ ก็ยังจ้างพนักงานขายหรือให้ญาติพี่น้องไปขายแทนได้

ข้อดีของการเข้าร่วมงานในลักษณะของ Pop-up store คือเป็นการประชาสัมพันธ์แบรนด์ของเราให้คนรู้จักมากขึ้นสัมพันธ์กับการขายในระบบออนไลน์ และนอกจากนี้อาจทำให้เราได้ลูกค้าใหม่ๆ พันธมิตใหม่ๆ ไว้ต่อยอดในการทำธุรกิจอาหารของเราได้ง่ายขึ้นด้วย

ทั้งนี้ข้อจำกัดสำคัญของคนทำงานประจำแต่อยากมีธุรกิจร้านอาหาร คือเวลาที่เราให้กับการทำธุรกิจได้ไม่มากพอ และหากตัดสินใจลาออกมาขายอาหารก็เป็นการแบกความเสี่ยงมากเกินไป

เส้นทางสายกลางที่ดีที่สุดคือประคับประคองทั้งสองงานให้เดินหน้าไปด้วยกันได้ ทีนี้ก็อยู่ที่การบริหารจัดการเวลา และที่สำคัญต้องขยัน อย่าขี้เกียจ ดีไม่ดีธุรกิจอาหารของเราหากมั่นคงมากขึ้น รายได้มากขึ้น เราอาจเลือกลาออกจากงานแล้วมาบริหารเต็มตัวภายหลังก็ยังได้
 

SMEs Tips
  1. Online  Delivery
  2. ซื้อแฟรนไชส์แล้วขายตามตลาดนัดตอนเย็น / เสาร์-อาทิตย์
  3. ลงทุนกับ Food truck
  4. Pop-up store/ร่วมงานอีเว้นท์
สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมาย ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S
บทความค้าขายยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สรุปขั้นตอนเปิดร้านในห้าง ใช้เวลาเท่าไหร่
499
บทความค้าขายมาใหม่
บทความอื่นในหมวด