บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    การวางแผนธุรกิจแฟรนไชส์
8.2K
4 นาที
23 มิถุนายน 2550
กลยุทธ์เลือกคู่ธุรกิจแฟรนไชส์ 

 
ช่วงนี้แฟรนไชส์ซอร์เกิดขึ้นเยอะมาก และหลายท่านก็เป็นแฟรนไชส์ซอร์ที่สร้างแบรนด์ และมีระบบที่ดี แต่หลายท่านก็เป็นแฟรนไชส์ซอร์ที่เพิ่งเกิดใหม่ ถ้าเราเป็นแฟรนไชส์ซีหรือกำลังจะเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไชส์นั้น การเลือกแฟรนไชส์ซอร์ที่ถูกก็เปรียบ เหมือนกับการได้คู่สามีภรรยาที่ถูกเหมือนกัน แต่ถ้าเกิดเลือกไม่ถูกก็จะไม่ยั่งยืน เพราะสามีเปรียบได้กับแฟรนไชส์ซอร์ ส่วนภรรยาก็เปรียบได้กับแฟรนไชส์ซี และถ้าเราเป็นแฟรนไชส์ซีนั้นก็เปรียบเหมือนภรรยาที่ได้ผู้นำไม่ดี ชีวิตครอบครัวก็ไม่ราบรื่น ดังนั้นการเลือกคู่ธุรกิจแฟรนไชส์จะต้องมีขั้นตอนอยู่ทั้งหมด 7 ขั้นตอนหลักๆ ดังนี้
  • ขั้นตอนที่ 1 เราจะต้องเข้าใจธุรกิจแฟรนไชส์ก่อน เพราะคำว่า “ธุรกิจแฟรนไชส์” นั้น จริงๆ แล้วเป็นคำที่เพิ่งเกิดมาเมื่อหลังปี ค.ศ.1950 ซึ่งในช่วงก่อนปี 1950 นั้น มีแต่คำว่าลูกจ้างบริษัท และเจ้าของบริษัท ซึ่งแน่นอนว่า คำว่าลูกจ้างบริษัทนั้นก็คือผู้มีรายได้ที่แน่นอน มีความรับผิดชอบในงาน กลับบ้านไปก็นอนหลับพักผ่อนได้ แต่คนที่เป็นเจ้าของนั้นจะตรงกันข้าม พอหลังจากยุคปี 1950 ก็จะเริ่มเกิดคำว่า “พันธมิตรธุรกิจ” ขึ้น ซึ่งจะเป็นเรื่องของไลเซนซิ่งหรือการให้สิทธิต่างๆ ซึ่งคำว่าแฟรนไชส์ เป็นธุรกิจสายกลางระหว่างลูกจ้างและเจ้าของ เพราะว่าคนที่ทำธุรกิจกับแฟรนไชส์นั้น คุณเป็นเจ้าของเต็มตัว แต่คุณใช้สิทธิของแฟรนไชส์ซอร์ในเรื่องของแบรนด์ และ Know How และคุณก็จ่ายเงินค่าใช้สิทธิตรงนั้นไป เมื่อหมดอายุสัญญาแล้วคุณก็จะคืนแบรนด์โลโก้ หรือคืนสิทธิต่างๆ ให้กับแฟรนไชส์ซอร์กลับไป เพราะฉะนั้นก็จะทำงานเป็นแบบเจ้าของ เพราะถ้าถามว่าคุณเป็นเจ้าของเต็มตัวหรือไม่ก็ไม่เชิงทีเดียวนัก คุณจะเป็นลูกจ้างเต็มตัวหรือไม่มันก็ไม่ใช่ เพราะคุณมีอิสระเป็นเจ้านายของคุณเอง แล้วคุณก็จะต้องทำการลงทุนและลงแรงเอง เสียสละเวลา ความสุขต่างๆ ไป ดังนั้นคุณจะต้องรู้จักกับค่าว่า “ธุรกิจแฟรนไชส์” ก่อนเพราะนี่คือข้อเริ่มต้น หลายคนมักเข้าใจผิดว่าธุรกิจแฟรนไชส์เป็นเหมือนการซื้อหุ้น คือลงทุนแต่ไม่ต้องลงแรง ซึ่งความเป็นจริงนั้นจะแตกต่างกัน ถ้าเราเริ่มเข้าใจธุรกิจแฟรนไชส์แล้ว และเรารู้ว่าตัวเราเองจะต้องเป็นอย่างไรนั้น ขั้นตอนต่อไปคือ.... 
  • ขั้นตอนที่ 2 เราจะต้องถามว่า ตัวเรานั้นชอบธุรกิจประเภทไหน บางคนชอบทำดอกไม้ ชอบขายอาหาร ชอบเสริมสวย ชอบสปา ชอบเบเกอรี่ เพราะถ้าเกิดเราได้ทำในสิ่งที่เรารักหรือชอบนั้นก็จะได้ผลดี ดังนั้นวิธีที่จะดูว่าเราชอบธุรกิจอะไรนั้น ผมขอยกตัวอย่างเช่น เวลาว่างเราชอบทำอะไรที่ทำแล้วมีความสุข บางคนบอกว่าชอบอ่านหนังสือ ชอบทำอาหาร ชอบนวด ฯลฯ หรือตัวอย่างที่สองคืองานอดิเรก เราชอบทำอะไร เพราะหลายคนทำงานอดิเรกจนเกิดเป็นอาชีพได้ เช่น ทำคุกกี้ทานกันเองในบ้าน แจกเพื่อนบ้าน จนตอนหลังวางขายหน้าหมู่บ้าน และเริ่มกระจายไปอีกหลายหมู่บ้าน เป็นต้น ซึ่งนี่ก็คืองานอดิเรกที่
สามารถกลายเป็นอาชีพได้ หรือแม้กระทั่งงานที่เราใฝ่ฝันไว้ตั้งแต่เกิด งานที่เราทำแล้วมีความสุข เพราะฉะนั้นเราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อน เพราะถ้าเกิดคุณเป็นคนที่มีนิสัยรักสวยรักงาม ชอบเดินเฉิดฉาย ชอบแสดงออกแต่ไม่ชอบที่จะลงคลุก และถ้าคุณเป็นอย่างนั้น ธุรกิจอาหารอาจจะไม่เหมาะกับคุณ คุณอาจจะเหมาะที่จะทำร้านเสริมสวยอย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้าเลือกทำธุรกิจที่เกิดจากที่เราชอบได้นั้นก็จะดี แต่ชีวิตของการเป็นลูกจ้างนั้น บางทีต้องรักในสิ่งที่เราทำ มากกว่าได้ทำในสิ่งที่เรารัก..
 
  • ขั้นตอนที่ 3 ถ้าเรารู้ว่าเราชอบธุรกิจอะไรแล้วทำไมเราถึงจะต้องทำแฟรนไชส์ เพราะคำว่าเราชอบทำธุรกิจอะไรนั้นเราอาจจะเปิดร้านของเราเองได้ เช่นเปิดร้านดอกไม้ ร้านขายเทป หรือแม้แต่ร้านขายกาแฟเราก็สามารถจะเปิดเองได้ ทำไมเราถึงจะต้องซื้อแฟรนไชส์ เราก็ถามตัวเองว่าเราต้องการได้ ความรู้ไหม ต้องการ Know How ไหม เพราะหลายคนอาจบอกว่าทำเองเหนื่อยหน่อยแต่ก็ถือเป็นความภูมิใจ หากเป็นเช่นนั้นก็เดินเส้นทางเจ้าของเลยไม่ต้องเดินเส้นทางแฟรนไชส์ แต่อีกหลายคนก็บอกไม่อยากเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ ไม่ต้องการที่จะนับหนึ่ง ต้องการซื้อ Know How มาเลย เพราะฉะนั้น ในลักษณะอย่างนี้ก็คือตอบโจทย์ได้ว่าทำไมเราถึงต้องซื้อแฟรนไชส์ หรือบางคนอาจจะบอกว่าต้องการทีมงานสนับสนุน เพราะถ้าเกิดทำธุรกิจคนเดียวภายใต้ภาวะการแข่งขันนั้นไม่รอดแน่ ก็ต้องการทีมสนับสนุน ซึ่งทีมสนับสนุนที่มีประสบการณ์นั้นแฟรนไชส์ซอร์จะมีทีมสนับสนุนที่ส่งมาได้ หรือบางคนอาจบอกว่า ธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงต้องการเรื่องแบรนด์มาช่วย หรือต้องการการสนับสนุนในขอบเขตที่กว้างขึ้น อย่างเช่นธุรกิจ ซัก อบ รีด ซึ่งจะต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรมาเองก็คงจะไม่ไหว แต่ถ้าเราเป็นแฟรนไชส์ซีของธุรกิจ ซัก อบ รีด
นั้นเค้ามีโรงงานอยู่แล้ว เราเป็นเพียงหน้าร้านก็จะง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นกับคำตอบที่ว่าทำไมเราถึงจะต้องทำแฟรนไชส์คือ คุณจะสามารถทำกำไรได้มากกว่า และก็เหนื่อยน้อยกว่าคุณทำแฟรนไชส์เอง ซึ่งถ้าเกิดคุณได้คำตอบว่าซื้อแฟรนไชส์แล้วมีความสุขมากกว่า เหนื่อยน้อยลงตรงนี้ก็เป็นสิ่งถูกต้อง แต่คำว่ากำไรมากกว่านั้น ผมจะต้องขยายความว่า กำไรที่มากกว่านั้นเราจะต้องจ่ายค่ารอยัลตี้ฟี ซึ่งบางคนอาจจะบอกว่าได้กำไรในแง่เงินบาทที่มากขึ้น แต่บางคนอาจจะได้กำไรที่เป็นเปอร์เซ็นต์ที่มากขึ้นกว่าที่เราทำเอง.. แต่แน่นอนระหว่างการอยู่เป็นโสดมีความสุขกับอยู่เป็นคู่แล้วมีความสุข ต้องเลือกแบบอยู่เป็นคู่แล้วมีความสุข ซึ่งนั่นก็คือเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไชส์
  • ขั้นตอนที่ 4 เราจะต้องศึกษาแฟรนไชส์ซอร์ด้วยความใจเย็น เพราะในช่วงของการศึกษานั้นก็เหมือนการดูใจกัน ซึ่งจะมีอยู่ 3 ขั้น ขั้นแรกก็คือ หาแบรนด์ที่เหมาะ เช่นถ้าเราต้องการทำธุรกิจร้านกาแฟ ในตอนนี้มีแบรนด์ร้านกาแฟเกิดขึ้นมากมายเป็นหลายร้าน เราก็สามารถเอาหลายสิบร้านนั้นมาศึกษาได้หมดเลยว่าธุรกิจเค้าเป็นอย่างไร มีจุดอ่อน จุดแข็งอย่างไร และอันไหนที่เหมาะกับธุรกิจของเราในสถานที่ที่เราต้องการ ขั้นที่สอง ก็ต้องศึกษาเงื่อนไขของการทำธุรกิจของเขาเองกับลูกค้า เช่นเรื่องของหลักการตลาดกับลูกค้าว่าเป็นอย่างไร การวางแผนธุรกิจ การทำโปรโมชั่น แผนการพัฒนาเรื่องคนเป็นอย่างไร รวมทั้งศึกษาเงื่อนไขที่เค้าจะทำกับเราคือในแง่ของแฟรนไชส์ซอร์กับแฟรนไชส์ซี เพราะฉะนั้นจะมีอยู่ 2 มุม มุมแรกคือธุรกิจนั้นกับลูกค้า และมุมที่สองคือธุรกิจนั้นกับแฟรนไชส์ซี โดยการดูเงื่อนไขนั้น เราก็จะต้องเปรียบเทียบโดยเอาแต่ละแบรนด์มาเปรียบเทียบกัน เราควรจะขอรายชื่อของแฟรนไชส์ซีแล้วโทรคุยกับแฟรนไชส์ซี ถามถึงความพร้อมของแต่ละแบรนด์ โดยโทรคุยกับหลายๆ รายเพื่อดูว่าคนที่เป็นแฟรนไชส์ซีก่อนหน้านั้น เค้ามีความประทับใจและพอใจมากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าแฟรนไชส์ซอร์รายไหนไม่ยอมบอก 
 
คุณก็ต้องสงสัยไว้ก่อนเลยว่าทำไมมีดีแล้วถึงปกปิด แต่ถ้าแฟรนไชส์ที่เค้าดี เค้าจะเปิดเผยหมด และกล้าบอกให้ด้วยความจริงใจ อีกประการหนึ่งก็คือ ขอคุยกับเบอร์หนึ่งของบริษัทเพื่อรู้ถึงนโยบาย แผนธุรกิจ และแนวคิด เพราะการที่คุณเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไชส์นั้น คุณจะต้องทำสัญญาระยะยาวกับเค้า และถ้าเกิดคุณยังไม่รู้ว่าเบอร์หนึ่งคิดอย่างไร เพราะลูกทีมเค้าสามารถจะเปลี่ยน เข้าๆ ออกได้ แต่เบอร์หนึ่งจะเป็นหลักให้คุณเพราะเป็นคนที่กำหนดนโยบายและทิศทาง และเรื่องนี้มันจะสอดคล้องกับระยะเวลาการลงทุน ส่วนคำถามที่จะต้องถามกับเบอร์หนึ่ง ก็คือ ถ้าเลิกก่อนอายุสัญญาจะต้องทำอย่างไร หรือถ้าหมดอายุสัญญาแล้วจะต่อใหม่อย่างไร คนไทยหลายคนบอกว่าไม่ควรคุยเรื่องของอายุสัญญา ก่อนที่จะหมดอายุสัญญาเพราะถือเป็นลางไม่ดี แต่เรื่องของลางเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้นในการที่คุณจะทำธุรกิจนั้นมันเป็นไปได้ครับ เพราะธุรกิจทุกอย่างมีความเสี่ยง ถ้าทุกอย่าง Happy Ending ก็จบ แต่ถ้าเกิดมันไม่ Happy และจะเลิกกลางคัน เราก็ต้องตกลงกันก่อนว่าจะแบ่งสินสมรสกันอย่างไร เพราะฉะนั้นการทำธุรกิจและการลงทุนนั้นก็เหมือนกัน แต่ถ้าเกิดเราทำจนตลอดอายุสัญญาแล้ว ถ้าดีแฟรนไชส์ซอร์อาจจะปรับราคาขึ้นในบางข้อหรือบางเงื่อนไขในสัญญา ทำให้เราเสียเปรียบในอนาคต ซึ่งข้อนี้จะต้องคุยไว้ก่อนเลยและจะต้องทำเป็นเอกสารแนบท้ายสัญญาด้วย ดังนั้นการที่เราศึกษาแฟรนไชส์ซอร์ด้วยความใจเย็นนั้น คำตอบสุดท้ายของเรื่องนี้ก็คือ ควรจะเป็นการลงทุนระยะยาว ไม่ใช่เป็นการดูว่าถูกแล้วค่อยตัดสินใจเลือกแบรนด์ เพราะคำว่าแบรนด์นั้นจะต้องเป็นแบรนด์ที่มีประสบการณ์และมีความสำเร็จอยู่ในอดีต เช่น ถ้าคุณจะลงทุนกับแบรนด์ร้านกาแฟแบล็คแคนยอน ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาว การจ่ายเงินอาจจะสูงหน่อย แต่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ดีกว่าที่จะลงทุนในแบรนด์ที่เกิดใหม่ เป็นต้น 
  
  • ขั้นตอนที่ 5 ให้ลงมือเจรจาต่อรอง ซึ่งเงื่อนไขของการเจรจาจะมีอยู่ 2 เรื่องเสมอ คือเจรจาทุกเรื่องที่เป็นตัวเลข และทุกเรื่องที่ไม่ใช่ตัวเลข ซึ่งคำว่าทุกเรื่องที่เป็นตัวเลขนั้นหมายถึงทุกอย่างที่เป็นตัวเงิน ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลา เปอร์เซ็นต์ของค่าธรรมเนียม, ราคาสินค้า และ Credit Term ส่วนเงื่อนไขที่ไม่ใช่ตัวเลขก็สามารถเจรจาได้หมด เช่น เรื่องของแบบฟอร์มต่างๆ, เรื่องของการ Support ว่าจะให้คนนั้นคนนี้เข้ามาคุยกรณีที่มีปัญหาหรือมีข้อซักถามใดๆ เป็นต้น กล่าวคือให้เจรจาในทุกๆ เรื่องให้หมด อีกประการหนึ่งที่สำคัญในการเจรจาต่อรอง ให้คุณใช้เหตุผลไปเจรจาต่อรอง คุณไม่ควรแสดงถึงความอยากได้ เพราะคุณจะตกเป็นรองทันที คุณขออะไรเค้าก็จะไม่ให้ แต่ถ้าคุณลองที่จะเป็นเจ้าสาวที่มีเสน่ห์ มีฟอร์มนิดๆ ก็จะทำให้ฝ่ายชายเค้ารู้สึกว่าเรานั้นมีคุณค่า และเค้าก็อยากได้เราเพราะเราทำงานท่ามกลางหลักการและเหตุผล 
  • ขั้นตอนที่ 6 เตรียมตัวเปิดร้าน โดยการหาคนมา และส่งไปอบรมกับแฟรนไชส์ซอร์ และเมื่ออบรมเสร็จแล้วเราก็จะต้องมีอบรมเสริมเพื่อปรับจูน ให้เข้ากับทำเลให้เข้ากับเราซึ่งเป็นหัวหน้างาน มีการศึกษาเรื่องของ Operation Manual หรือคู่มือการปฎิบัติการ มีการเซ็นต์เรื่องของสัญญาในส่วนของ Promotion ของการเปิดร้าน เป็นต้น เพราะฉะนั้นเรื่องของการเตรียมตัวนั้นคุณจะต้องศึกษาให้ดีอย่างละเอียดทีเดียว
  • ขั้นตอนที่ 7 การสนับสนุนตลอดอายุสัญญา หรือศัพท์ทางเทคนิคจะเรียกว่า On Going Support เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญ แฟรนไชส์ซอร์หลายรายเปิดร้านเสร็จแล้วก็ให้คุณช่วยตัวเองทุกเรื่อง ซึ่งก็มีส่วนจริงและก็ไม่จริง ซึ่งในส่วนจริงก็คือคุณเป็นเจ้าของร้านแล้ว คุณก็ควรจะมีการช่วยเหลือตัวเอง เพราะในการทำการตลาด และในการบริหารจัดการในร้านจะขึ้นอยู่แต่ละทำเลๆ แต่ในการ Support จากภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นการทำ Corporate Marketing การทำ Training ฯลฯ จะต้องมีการ Support ในภาพรวมของทางแฟรนไชส์ซอร์ด้วยสุดท้ายก่อนจะจบ ผมขอเรียนว่าธุรกิจแฟรนไชส์นั้นเหมือนสามีภรรยา เพราะการที่เป็นสามีภรรยามีหลายส่วนที่เหมือนกันเป๊ะ ก็แต่งงานกันได้ไม่ต้องปรับตัวเข้าหากัน แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นจะเป็นส่วนที่ต้องปรับตัวเข้าหากัน สามีต้องปรับตัวเข้าหาภรรยาและภรรยาต้องปรับตัวเข้าหาสามี เพราะฉะนั้นกลยุทธ์ของการเลือกคู่ที่ผิดแฟรนไชส์นั้น จะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่ตัวคุณเป็นคนเลือก ตัวคุณเป็นคนตัดสิน เหมือนกันกับว่าการที่เราจะแต่งงานนั้น คุณพ่อ คุณแม่ของเรามีส่วนช่วยเราแสดงความคิดเห็น แต่การตัดสินใจและวิธีคิดนั้นอยู่ที่ตัวเรา ดังนั้นขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านเจอคู่ที่เหมาะสม เจอแฟรนไชส์ซอร์ที่เหมาะสม และถ้าเจอแล้วขอให้ปรับตัวเข้าหากัน ยอมรับ และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แล้วธุรกิจของคุณก็จะประสบความสำเร็จแน่นอนครับ โชคดี มีเงินใช้กันทุกท่าน สวัสดีครับ....
 
 
ที่มา : สุภัค หมื่นนิกร
บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนพฤษภาคม 2567..
23,282
“มูฟ อีวี เอกซ์” สร้างรายได้ดีแค่ไหน! ทำไมถึงน่า..
3,125
รวม 12 แฟรนไชส์โหนกระแส คนไทยไม่เคยลืม!
2,031
จริงมั้ย? กำเงิน 15 ล้านบาท ถึงจะซื้อแฟรนไชส์ DQ..
1,853
กลยุทธ์ “แดรี่ควีน” เจ้าไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเมืองไ..
1,246
จริงมั้ย? 7-Eleven เห็นทำเลไหนดี เปิดเองแข่งสาขา..
1,201
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด