บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    ความรู้ทั่วไประบบแฟรนไชส์
1.7K
2 นาที
22 มีนาคม 2562
กระแส C.S.R. กับธุรกิจแฟรนไชส์

 
ซีเอสอาร์ เป็นคำย่อจากภาษาอังกฤษว่า Corporate Social Responsibility (C.S.R.) หรือ บรรษัทบริบาล หมายถึง การดำเนินกิจกรรมภายในและภายนอกองค์กร ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมทั้งในระดับใกล้และไกล ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กรหรือทรัพยากรจากภายนอกองค์กร ในอันที่จะทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข เป็นคำที่นักธุรกิจในปัจจุบันทุกรายจะต้องรู้จักและให้ความสำคัญ

เนื่องจากธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นธุรกิจที่มีมากกว่าหนึ่งสาขา อาจมีเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นสาขาก็ได้ ความสำคัญของการรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจในระบบ แฟรนไชส์จึงถือว่าสำคัญมาก ธุรกิจแฟรนไชส์มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้เห็นว่าเป็นธุรกิจที่ตระหนักถึง C.S.R. ซึ่งเหตุผลมีดังต่อไปนี้

1.ภาพพจน์ของยี่ห้อสินค้าหรือบริการ

 
ภาพพจน์มีผลกระทบต่อผลการดำเนินธุรกิจอย่างมาก ในประเทศที่พัฒนาแล้ว สมาคมหรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลคุ้มครองผู้บริโภค หรือแม้กระทั่งพิทักษ์สัตว์ป่า ฯลฯ อาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากองค์กรธุรกิจ หรืออาจประชาสัมพันธ์ออกข่าวจนทำให้ธุรกิจถูกการต่อต้านจากประชาชนในวงกว้างได้

ยิ่งธุรกิจที่เป็นแฟรนไชส์ด้วยแล้ว ไม่ว่าแฟรนไชส์ซีหรือแฟรนไชส์ซอร์เป็นผู้สร้างปัญหา ก็จะเกิดผลกระทบต่อแฟรนไชส์สินค้าหรือบริการนั้นทั้งหมด  และอาจแผ่กระจายไปยังทั่วโลกได้อีกด้วย ซึ่งเคยมีกรณีตัวอย่างมาหลายครั้งแล้ว อาทิเช่น เคยมีการบอยคอตฟาสฟู้ดส์บางยี่ห้อทั่วโลก เนื่องจากมีองค์กรพิทักษ์สัตว์เปิดเผยข้อมูลว่าทำการทารุณกรรมสัตว์ก่อนฆ่า เป็นต้น
 
2.การได้รับการยอมรับหรือต่อต้านจากประชาชนในท้องถิ่น
 
การที่ธุรกิจแฟรนไชส์จะต้องไปเปิดให้บริการยังแตกต่างสถานที่ออกไป อาจถูกการต่อต้านจากประชาชนในท้องถิ่นก็ได้  หากไปดำเนินธุรกิจขัดต่อศีลธรรมหรือสร้างความเสียหายแก่สังคม และก็จะสร้างผลกระทบกลับมายังสินค้าหรือบริการนั้นทั้งหมด โดยเฉพาะสังคมหรือประเทศที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม แฟรนไชส์ซอร์จะต้องระมัดระวังให้มาก จะต้องไม่ไปทำอะไรที่ขัดต่อความเชื่อของคนในท้องถิ่นเป็นอันขาด ธุรกิจแฟรนไชส์บางประเภทอาจได้รับการต่อต้านจากพ่อค้าเดิมในท้องถิ่น เพราะอาจไปแย่งลูกค้าจากนักธุรกิจดั้งเดิม  การตัดสินใจที่รอบคอบและวางแผนประชาสัมพันธ์จึงจำเป็นมาก เพื่อให้เกิดการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ก่อนที่จะไปเริ่มดำเนินกิจการจริง
 
3.กฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติท้องถิ่นที่แตกต่างกันออกไป

 
อาจทำให้บางกิจกรรมที่ทำได้ในแห่งหนึ่ง อาจไปขัดกฎหมายหรือต้องห้ามไม่ให้ทำ หรืออาจทำได้โดยต้องมีค่าใช้จ่ายที่ไม่เท่าเทียมกัน แฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซีควรมีการปรึกษาหารือกันก่อนเริ่มทำธุรกิจร่วมกัน และตลอดเวลาที่ยังร่วมธุรกิจกันอยู่ เพื่อหาทางออกให้เป็นที่ยอมรับของสังคมท้องถิ่นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งออกแฟรนไชส์ไปยังต่างประเทศ จะต้องมีการศึกษาทั้งกฏหมายและขนบธรรมเนียม ประเพณีท้องถิ่นอย่างดีก่อนที่จะไปดำเนินกิจการ และอาจจำเป็นต้องหาผู้ร่วมทุนหรือนักลงทุนท้องถิ่น แทนที่จะอาศัยนักลงทุนจากต่างถิ่นไปทำธุรกิจในที่ใหม่ เพราะนักธุรกิจท้องถิ่นย่อมจะรู้จักลูกค้า รู้จักผู้กว้างขวาง และรู้จักสังคมในท้องถิ่นได้ดีกว่า
 
4.บทบาทของสื่อมวลชน
 
ในการเรียกร้องปกป้องสิทธิผู้บริโภค และรักษาสภาพแวดล้อมของสังคมที่มีมากขึ้นอย่างมากในระยะหลัง ตลอดจนการรวมตัวกันเองหรือการส่งข่าวสารกันเองระหว่างผู้บริโภคผ่านเครือข่ายต่างๆ ที่ออนไลน์หรือสื่อสารมวลชน ทำให้ธุรกิจทุกประเภทรวมทั้งธุรกิจแฟรนไชส์จะต้องระมัดระวังให้มาก อย่าให้เกิดข้อผิดพลาดจนอาจเกิดการแซงชั่นจากผู้บริโภคหรือสังคม บางครั้งแฟรนไชส์ซอร์อาจจะนึกไม่ถึงหรือไม่ทราบข่าวที่มีการโพสต์ข้อความกันบนอินเตอร์เน็ตเลยด้วยซ้ำ

เช่นครั้งหนึ่ง ผู้เขียนเคยอ่านข้อคิดเห็นของผู้ซื้อแฟรนไชส์ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีแฟรนไชส์ซีหรืออาจเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับแฟรนไชส์ซี โพสต์ข้อความเกือบสองร้อยรายบน เวปไซต์หนึ่งในลักษณะตำหนิการดำเนินงานหรือในเชิงคล้ายกับว่าถูกเอาเปรียบในเชิงการทำธุรกิจร่วมกัน ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่ามีคนอ่านแล้วจำนวนกี่พันหรือกี่หมื่นราย และแฟรนไชส์ซอร์ก็ไม่ได้เข้าไปโพสต์ข้อความชี้แจงแต่ประการใด
 
5.การดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

 
 
การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของฝ่ายหัวรุนแรงในบางประเทศยังคงมีอยู่ และแม้กระทั่งในบางยุคบางสมัยหรือบางช่วงเวลาในสังคมไทยก็ยังมีปัญหาการบุกปล้น หรือทำลายร้านค้าจากการมีผู้ยุยง เหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นแม้กระทั่งเร็วๆ นี้ในประเทศฝรั่งเศส ประเทศกรีซ

ดังนั้น แฟรนไชส์ซอร์จะต้องระมัดระวังหากไปดำเนินธุรกิจในประเทศเหล่านั้น ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดก็คือ ธุรกิจแฟรนไชส์จะต้องผูกมิตรและสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ไปให้บริการด้วย อย่าไปคิดเพียงว่าสินค้าหรือบริการที่ดีราคาเหมาะสมแล้วจะไม่เกิดปัญหาจากผู้ก่อกวน
 
วิธีการที่จะสร้างให้ประชาชนเห็นว่าธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคม และสร้างภาพพจน์ที่ดีให้เห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีส่วนช่วยเหลือสังคมนั้นมีอยู่มากมาย แฟรนไชส์ซอร์ที่ดีจะต้องรักษาคุณภาพของสินค้าหรือบริการ และต้องควบคุมแฟรนไชส์ซีให้ทำตามมาตรฐานให้ได้ทัดเทียมกัน มีการปฏิบัติตามกฎหมายท้องถิ่น เสียภาษีตามกฎหมายให้ครบถ้วน และจัดสรรเงินหรือแม้กระทั่งกำลังพนักงานไปช่วยเหลือชุมชนเมื่อมีโอกาส


หากทำเช่นนี้ได้แล้ว การขยายแฟรนไชส์ไปยังท้องถิ่นหรือแม้กระทั่งไปยังต่างประเทศก็ไม่น่าจะเกิดปัญหาประการใด ผู้เขียนเคยสังเกตว่า สำหรับประเทศเพื่อนบ้านของไทยส่วนใหญ่ ไม่ว่า กัมพูชา ลาว เวียตนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ บังคลาเทศ ผู้บริโภคล้วนแล้วแต่เชื่อมั่นและชื่นชอบในสินค้าที่ส่งไปขายจากประเทศไทย สินค้าที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตประเทศต่างๆ เหล่านั้นจำนวนมากส่งไปจากประเทศไทย และถือได้ว่ามีคุณภาพสูงจนได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างดี แต่จะทำอย่างไรที่จะทำให้สินค้าหรือบริการของไทย ที่ไปดำเนินกิจการในรูปแบบของสาขาหรือแฟรนไชส์ซี ได้รับการยอมรับในเรื่องของการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและช่วยเหลือสังคมที่ไปดำเนินธุรกิจอยู่ด้วย 
 
บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนพฤษภาคม 2567..
24,686
“มูฟ อีวี เอกซ์” สร้างรายได้ดีแค่ไหน! ทำไมถึงน่า..
3,828
รวม 12 แฟรนไชส์โหนกระแส คนไทยไม่เคยลืม!
2,366
จริงมั้ย? กำเงิน 15 ล้านบาท ถึงจะซื้อแฟรนไชส์ DQ..
1,914
กลยุทธ์ “แดรี่ควีน” เจ้าไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเมืองไ..
1,272
จริงมั้ย? 7-Eleven เห็นทำเลไหนดี เปิดเองแข่งสาขา..
1,244
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด