บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    ความรู้ทั่วไประบบแฟรนไชส์
8.1K
5 นาที
25 มีนาคม 2562
จริยธรรมและจรรยาบรรณของผู้ประกอบการแฟรนไชส์

 
ในการทำธุรกิจทุกประเภท เป้าหมายของนักลงทุนมักจะมีสองด้านใหญ่ๆ คือ การแสวงหา กำไร และการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะหากไม่ประสบความสำเร็จทั้งสองอย่างนี้แล้ว โอกาสอยู่รอด ในระยะยาวก็ย่อมจะเป็นไปได้ยาก แต่นักธุรกิจที่ดีย่อมจะต้องมีความรับผิดชอบต่อกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ตลอดจนต้องมีความรับผิดชอบที่ดีต่อสังคมด้วย บางครั้งผลประโยชน์ของธุรกิจกับผลประโยชน์ของสังคมก็อาจจะขัดแย้งกัน จึงไม่แปลกใจที่เราจะได้เห็นธุรกิจจำนวนหนึ่งที่ประกอบ กิจกรรมอันเป็นที่รังเกียจของสังคม หรืออาจถูกต่อต้านจากคนบางกลุ่มบางพวก บางครั้งก็มีข่าวคราว เกี่ยวกับความไม่ดีไม่งามของผู้ประกอบการธุรกิจ ที่ร่ำรวยขึ้นโดยไม่คำนึงถึงความสงบสุขในสังคม เช่น ขายสินค้าหรือบริการในราคาแพงหรือไม่ได้คุณภาพ ทำลายสิ่งแวดล้อม มีการกดขี่แรงงาน มีการบริหารงานที่ไม่มีคุณธรรม ฯลฯ

และในจำนวนผู้ประกอบการที่ไม่มีคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณเหล่านี้ บางกรณีก็เป็นผู้ประกอบกิจการในระบบแฟรนไชส์ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภค สังคม หรือผู้เกี่ยวข้องแล้ว ยังทำให้ระบบธุรกิจแฟรนไชส์ ที่นับได้ว่าเป็นระบบที่มีการพัฒนามานานและเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่าเป็นระบบธุรกิจที่ค่อนข้างมีคุณภาพ มีระเบียบ แบบแผน ชัดเจน ต้องได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงและการยอมรับของสังคมไปด้วย

ความหมายของจริยธรรมและจรรยาบรรณ

 
จริยธรรม (Morality) มาจากคำ 2 คำ คือ จริย และธรรม
 
จริย หมายถึง ความประพฤติ กริยาที่ควรประพฤติ   ธรรม แปลว่า คุณความดี คำสั่งสอนในศาสนา หลักปฏิบัติในทางศาสนา ความจริง ความยุติธรรม ความถูกต้อง (ราชบัณฑิตสถาน, 2546, หน้า 291) เมื่อนำคำสองคำมารวมกัน
 
จริยธรรม แปลว่า ความประพฤติ กริยาที่ควรประพฤติ (ราชบัณฑิตสถาน, 2546, หน้า 291)
 
ส่วนจรรยาบรรณ (Etiquette) เป็นอีกคำหนึ่งที่มักจะมีผู้กล่าวถึงไม่น้อยกว่าจริยธรรม โดยตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน (2546, หน้า 289) ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้
 
จรรยา หมายถึง ความประพฤติ กริยาที่ควรประพฤติในหมู่คณะ เช่น จรรยาแพทย์ นิยมใช้ในทางทีดี เช่น มีจรรยา หมายความว่ามีความประพฤติที่ดี
 
จรรยาบรรณ  หมายถึง  ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างกำหนดขึ้น เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียงและฐานะของสมาชิก อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้
 
เมื่อพิจารณาตามความหมายนี้แล้ว ผู้ประกอบการธุรกิจทุกรายจำเป็นที่จะต้องมีจริยธรรมส่วนตัวในการทำธุรกิจ และต้องรักษาจรรยาบรรณในวิชาชีพของตนด้วย เพราะการที่ผู้ประกอบการธุรกิจมีจริยธรรมและรักษาจรรยาบรรณไว้อย่างดีแล้ว ย่อมจะได้รับการสรรเสริญจากผู้คนโดยทั่วไป และผลของการประกอบกรรมทำดีนี้ ก็จะช่วยส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจด้วย

ความสัมพันธ์ของผู้ประกอบการแฟรนไชส์กับกลุ่มบุคคลต่างๆ

 
ในการเป็นผู้ประกอบการแฟรนไชส์ ย่อมจะต้องมีบทบาทหน้าที่ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลต่างๆ  ทั้งภายในและภายนอกองค์การ ดังนี้ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รวบรวมจรรยาบรรณอาจารย์และจรรยาบรรณวิชาชีพ, 2534, หน้า 50)

1.ลูกค้า ผู้ประกอบการพึงประพฤติปฏิบัติ ดังนี้
  • พึงขายสินค้าและบริการในราคาที่ยุติธรรม
  • พึงขายสินค้าและบริการให้ถูกต้อง ตามจำนวนคุณภาพ ราคาที่ตกลงกัน
  • พึงดูและให้บริการแก่ลูกค้าทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
  • พึงละเว้นการกระทำใดๆ ที่จะควบคุมการตัดสินใจของลูกค้า
  • พึงละเว้นการกระทำใดๆ เพื่อทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้นโดยไม่มีเหตุผล
  • พึงปฏิบัติต่อลูกค้าและให้บริการอย่างมีน้ำใจไมตรี มีอัธยาศัยที่ดีต่อกัน
2.คู่แข่งขัน ผู้ประกอบการพึงประพฤติปฏิบัติ ดังนี้
  • พึงละเว้นการกลั่นแกล้ง ให้ร้ายป้ายสี ทับถมไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยอ้อม หรือด้วยการข่มขู่และกีดกัน อันจะทำให้คู่แข่งขันเสียโอกาสอย่างไม่เป็นธรรม
  • พึงให้ความร่วมมือในการแข่งขัน เพื่อสร้างสภาวะตลาดที่ดี
3.พนักงาน ผู้ประกอบการพึงประพฤติปฎิบัติ ดังนี้

  • พึงให้ค่าจ้างและผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและลักษณะงาน
  • พึงเอาใจใส่ในสวัสดิการ สถานที่ทำงาน สภาพการทำงาน และสภาพความเป็นอยู่ของพนักงาน
  • พึงพัฒนา ให้ความรู้เพื่อเพิ่มความชำนาญและประสบการณ์ของพนักงาน
  • พึงให้ความเป็นธรรม ในการปกครองและพิจารณาผลตอบแทน
  • พึงศึกษาและทำความเข้าใจ กับลักษณะนิสัยใจคอ รวมทั้งความถนัดของพนักงานแต่ละคน
  • พึงเคารพสิทธิส่วนบุคคล และความสามารถของพนักงาน และเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวของพนักงานไว้อย่างดี
  • พึงให้ความเชื่อถือไว้วางใจ มอบหมายงานที่มีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น
  • พึงให้คำแนะนำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือเมื่อได้รับการร้องขอ หรือเมื่อเห็นว่ามีความจำเป็นทั้งในเรื่องของงานและเรื่องส่วนตัวตามความเหมาะสม
  • พึงสนับสนุนให้พนักงานได้ประพฤติตนเป็นพลเมืองดี มีโอกาสทำประโยชน์ต่อสังคม
4.หน่วยราชการ ผู้ประกอบการพึงประพฤติปฏิบัติ ดังนี้
  • พึงทำธุรกิจกับหน่วยราชการอย่างตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์สุจริตและเป็นธรรม
  • พึงปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายในการทำธุรกิจ ทำบัญชี เสียภาษีให้รัฐอย่างถูกต้องตรงตามลักษณะของธุรกิจ
  • พึงละเว้นจากการติดสินบน จ้างวานข้าราชการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ตนในการประกอบธุรกิจใดๆ
  • พึงละเว้นการให้ความร่วมมือ สนับสนุนการกระทำของข้าราชการที่มีต่อเจตนาทำการทุจริต
  • พึงละเว้นจากการให้ของขวัญ หรือของกำนัลใดๆ แก่ข้าราชการ เว้นแต่จะเป็นแต่สิ่งของเล็กน้อยที่คนส่วนใหญ่ให้กันตามประเพณีนิยม
  • พึงให้ความร่วมมือกับหน่วยราชการในการทำตามหน้าที่พลเมืองดี
  • พึงมีทัศนคติที่ถูกต้องและมีความเชื่อถือต่อหน่วยราชการ
5.สังคม ผู้ประกอบการพึงประพฤติปฏิบัติ ดังนี้

  • พึงละเว้นจาการประกอบธุรกิจที่ทำให้สังคมเสื่อม ทั้งความเสื่อมของจิตใจและความเสื่อมทางศีลธรรม
  • พึงละเว้นจากการประกอบธุรกิจที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • พึงดูแลเอาใจใส่การประกอบกิจการของตน ป้องกันมิให้เป็นต้นเหตุก่อมลภาวะให้สิ่งแวดล้อมและสังคม
  • พึงให้ความเคารพในสิทธิทางปัญญาของผู้อื่นหรือธุรกิจอื่น ไม่ลอกเลียนความคิด การผลิตลอกเลียนของต้นแบบของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
  • พึงให้ความร่วมมือกับทุกฝ่าย ในชุมชนเพื่อการสร้างสรรค์สังคม โดยการสละเวลา กำลังบุคลากร กำลังทรัพย์ ตามความเหมาะสมของธุรกิจ
  • พึงให้ความสนใจในการสร้างงานแก่คนในชุมชน ให้สอดคล้องกับศักยภาพของชุมชนนั้นๆ
 
จะเห็นได้ว่า หากคิดจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นแฟรนไชส์ซีหรือแฟรนไชส์ซอร์แล้ว จะมีจรรยาบรรณหรือข้อพึงปฏิบัติของการเป็นนักธุรกิจอยู่ไม่น้อย และผู้ประกอบการแฟรนไชส์จะต้องไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของธุรกิจจนละเลยจรรยาบรรณที่พึงมีและปฏิบัติ และนอกเหนือจากผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ จะต้องให้ความสำคัญกับลูกค้า คู่แข่ง พนักงาน หน่วยราชการ สังคมแล้ว นักธุรกิจที่ดียังต้องให้ความสำคัญกับครอบครัวด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหลังบ้านอย่างเช่นที่นายแพทย์วิทยา นาควัชระได้เคยทำผลการสำรวจปัญหาของผู้นำนักธุรกิจไทย ว่าส่วนใหญ่จะมีปัญหาความสัมพันธ์กับคู่ครองและบุตรไม่ราบรื่น

ข้อควรปฏิบัติของแฟรนไชส์ซี

 
การเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยการซื้อแฟรนไชส์หรือเป็นแฟรนไชส์ซีนั้น หลายคนเข้าใจว่าหากมีเงินลงทุนก็เป็นการเพียงพอแล้วในการเริ่มต้นทำธุรกิจ ซึ่งน่าจะเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดอย่างมาก การที่จะเป็นแฟรนไชส์ซีที่ดีนั้น มีข้อควรระมัดระวังไม่ปฏิบัติและข้อควรปฏิบัติมากมาย ทั้งในช่วงก่อนซื้อแฟรนไชส์ และหลังจากเป็นแฟรนไชน์ซีแล้ว  อาทิเช่น
  1. ควรตระเตรียมความพร้อม ทั้งทางด้านความรู้ที่จำเป็นในการประกอบการทำธุรกิจ อาทิเช่น ด้านการตลาด การบัญชี การบริหาร การผลิต ฯลฯ และความพร้อมในการเป็นผู้ประกอบการ ทุกด้าน อาทิเช่น การเงิน สถานที่ ทีมงาน ฯลฯ ตลอดจนเวลาที่จะต้องมีให้อย่างเต็มที่ ก่อนตัดสินใจ ลงทุนซื้อแฟรนไชส์  เพื่อมิให้เกิดปัญหาสะดุดหรือติดขัดในการร่วมงานกับ แฟรนไชส์ซอร์
     
  2. ศึกษา หาข้อมูล เปรียบเทียบ ให้ละเอียดและเข้าใจถ่องแท้ ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อแฟรนไชส์ เมื่อจะตัดสินใจควรเป็นการตัดสินใจที่แน่วแน่ และมั่นใจที่จะไปร่วมทำธุรกิจกับ แฟรนไชส์ซอร์ เพราะการจะต้องประสานงานทำงานร่วมกันในระยะยาว จะเกิดความสำเร็จและราบรื่นด้วยดี ต้องเกิดจากความเชื่อมั่นในทั้งสองฝ่ายร่วมกันก่อนเสมอ
     
  3. ควรศึกษาข้อตกลง ตลอดจนระเบียบ สัญญาต่างๆ ให้ละเอียด และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากมีสิ่งใดไม่เข้าใจหรือไม่เห็นด้วย จะต้องปรึกษาหารือกับแฟรนไชส์ซอร์ เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขหรือข้อสรุป ไม่ควรดำเนินการแตกต่างไปจากข้อกำหนดโดยพละการ
     
  4. รักษาคุณภาพของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการจัดการงานในทุกๆ ด้านให้ตรงเวลา และได้มาตรฐาน ตามที่แฟรนไชส์ซอร์กำหนด หรือดีกว่ามาตรฐานที่แฟรนไชส์ซอร์กำหนดไห้ได้
     
  5. ควรให้ข้อมล ตลอดจนความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงกิจการ แก่แฟรนไชส์ซอร์ ตามที่ตนเองรับทราบหรือคิดขึ้นได้ เพื่อให้แฟรนไชน์ซอร์นำไปพิจารณาดำเนินการหากทำได้ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อกันทุกฝ่ายในระยะยาว
     
  6. ควรให้ความร่วมมือแก่แฟรนไชส์ซอร์ ในการขอความร่วมมือทุกครั้ง หากไม่เป็นการสุดวิสัย เพราะถึงแม้ว่าการขอความร่วมมือบางอย่าง อาจจะอยู่นอกเหนือสัญญาที่บังคับให้แฟรนไชส์ซีต้องปฏิบัติ  แต่หากแฟรนไชส์ซีหลายๆ รายไม่ให้ความร่วมมือแล้ว ก็จะทำให้การบริหารงานหรือแผนงานของแฟรนไชส์ซอร์ไม่สำเร็จได้
     
  7. จะต้องรักษาความลับทางการค้าที่ได้มาจากแฟรนไชส์ซอร์อย่างเข้มงวด เพื่อมิให้ความลับรั่วไหลไปยังคู่แข่ง หรือผู้ที่ต้องการเลียนแบบสินค้าหรือบริการของ แฟรนไชส์ซอร์ และไม่ยินยอมให้ผู้ใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของแฟรนไชส์ซี เข้ามาเรียนรู้ศึกษาการปฏิบัติงานของแฟรนไชส์ซีอย่างเด็ดขาด
     
  8. ต้องไม่กระทำการใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของแฟรนไชส์ซีหรือแฟรนไชส์ซอร์ ตลอดจนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทางราชการ และสังคมที่แฟรนไชส์ซีตั้งอยู่อย่างดี เพื่อช่วยกันเผยแพร่ชื่อเสียงที่ดีให้แก่ธุรกิจ แฟรนไชส์นั้นๆ
     
  9. พึงเก็บรักษาสัญญา คู่มือ ระเบียบ ข้อมูลที่จำเป็น ฯลฯ และหมั่นนำมาทบทวนศึกษา เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้อง และพัฒนาการทำงานให้ดียิ่งขึ้น และสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จำเป็นที่จะต้องให้ผู้ปฏิบัติงานหรือพนักงานที่เกี่ยวข้องรับทราบด้วย ตลอดจนควรมีการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับบุคลากรของแฟรนไชส์ซีอย่างสม่ำเสมอ
     
  10. แฟรนไชส์ซีจะต้องพยายามหาทางลดปัญหาความขัดแย้ง หรือความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันกับแฟรนไชส์ซอร์ โดยหาทางประสานผลประโยชน์ให้เหมาะสมแก่ทั้งสองฝ่าย และจะต้องไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ฝ่ายเดียวหรือเกียรติยศศักดิ์ศรี จนทำให้ไม่สามารถเจรจาหาข้อสรุปที่พอใจด้วยกันทั้งสองฝ่ายได้
เหล่านี้เป็นเพียงข้อแนะนำอันเป็นจรรยาบรรณที่แฟรนไชส์ซีควรปฏิบัติและในฐานะ ผู้ประกอบกาธุรกิจแฟรนไชส์ ยังจะต้องรักษาจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพธุรกิจดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นบทนี้ด้วย

ข้อควรปฏิบัติของแฟรนไชส์ซอร์


สำหรับแฟรนไชส์ซอร์แล้ว จะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า แฟรนไชส์ซีทุกรายนั้นได้นำชีวิตและอนาคตมาฝากไว้กับแฟรนไชส์ซอร์ การเข้ามาร่วมธุรกิจกับแฟรนไชส์ซอร์นั้น แฟรนไชส์ซีต้องลงทุนทั้งกำลังเงิน  กำลังกาย  กำลังใจ ฯลฯ โดยคาดหวังว่าจะเติบโตไปร่วมกับธุรกิจของ แฟรนไชส์ซอร์

ดังนั้น หากธุรกิจของแฟรนไชส์ซอร์ล้มเหลวหรือมีอันต้องเป็นไป ย่อมจะต้องกระทบต่อธุรกิจของแฟรนไชส์ซีทุกรายเป็นวงกว้างด้วย ดังนั้น การที่จะเป็นแฟรนไชส์ซอร์ที่ดีนั้น จึงมีข้อควรระมัดระวังไม่ปฏิบัติและข้อควรปฏิบัติมากมาย อาทิเช่น
  1. ควรมีการเตรียมความพร้อมก่อนเป็นแฟรนไชส์ซอร์มาเป็นอย่างดี ก่อนจะเริ่มทำการขายแฟรนไชส์ให้แก่ผู้ที่สนใจลงทุน และควรมีการทดสอบการขยายกิจการมาแล้วว่าสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยดี และไม่ติดปัญหาในการดำเนินงานให้ความสนับสนุนสาขาที่เปิดใหม่
     
  2. เปิดเผยข้อมูล วิธีการดำเนินงาน ฯลฯ ที่จำเป็นให้แก่ผู้ที่สนใจเป็นแฟรนไชส์ซอร์ โดยไม่ปิดบังหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง ตลอดจนให้โอกาสในการซักถามปัญหา ตลอดจนตอบข้อสงสัยในทุกประเด็นปัญหาที่แฟรนไชส์ซอร์ต้องการทราบ
     
  3. ไม่บังคับ หรือหลอกลวงให้แฟรนไชส์ซอร์วางเงินมัดจำ หรือเร่งให้ทำสัญญา โดยที่แฟรนไชส์ซียังไม่เข้าใจอย่างดีพอ เพียงเพื่อต้องการเร่งการขยายกิจการหรือเพื่อต้องการายได้จากค่าแฟรนไชส์ฟี   และแฟรนไชส์ซอร์ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะร่างสัญญาแฟรนไชส์ที่เป็นการเอารัดเอาเปรียบฝ่ายเดียว
     
  4. แฟรนไชส์ซอร์จะต้องให้คำแนะนำ ความช่วยเหลือ ตลอดจนช่วยเหลือแก้ไขปัญหาต่างๆ ในการทำธุรกิจให้แก่แฟรนไชส์ซีด้วยความรวดเร็วและเต็มใจเสมอ
     
  5. แฟรนไชส์ซอร์จะต้องมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนระบบงานต่างๆ และนำมาให้แฟรนไชส์ซีใช้งานโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือคิดค่าใช้จ่ายเพียงเท่าที่เหมาะสมและจำเป็น
     
  6. แฟรนไชส์ซอร์จะต้องให้ความสำคัญ และให้ความช่วยเหลือสนับสนุนแก่แฟรนไชส์ซีทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
     
  7. แฟรนไชส์ซอร์จะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริง ข่าวสาร ตลอดจนความรู้วิทยาการใหม่ๆ ที่แฟรนไชส์ซีควรจะรับรู้ด้วย อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว เพื่อประกอบการตัดสินใจตลอดจนการพัฒนากิจการของแฟรนไชส์ซี
     
  8. แฟรนไชส์ซอร์ไม่ควรจะปรับเปลี่ยนราคาสินค้า บริการ วัสดุ อุปกรณ์ ฯลฯ ที่ส่งให้แก่แฟรนไชส์ซีโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าระยะหนึ่ง ตลอดจนไม่ควรจะเพิ่มราคาโดยไม่มีเหตุผลอันควร
     
  9. แฟรนไชส์ซอร์ไม่ควรจะเปิดรับแฟรนไชส์ซีเพิ่มในอาณาเขต ที่อาจทำให้กระทบกระเทือนยอดขายของแฟรนไชส์ซีรายเดิม โดยปราศจากการแจ้งให้ทราบและได้รับความยินยอมจากแฟรนไชส์ซีรายเดิม
     
  10. แฟรนไชส์ซอร์จะต้องพยายามหาทางลดปัญหาความขัดแย้ง หรือความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันกับแฟรนไชส์ซี โดยหาทางประสานผลประโยชน์ให้เหมาะสมแก่ทั้งสองฝ่าย และจะต้องไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ฝ่ายเดียวหรือเกียรติยศศักดิ์ศรี จนทำให้ไม่สามารถเจรจาหาข้อสรุปที่พอใจด้วยกันทั้งสองฝ่ายได้

เหล่านี้เป็นเพียงข้อแนะนำอันเป็นจรรยาบรรณที่แฟรนไชส์ซอร์ควรปฏิบัติ และในฐานะ ผู้ประกอบกาธุรกิจแฟรนไชส์ ยังจะต้องรักษาจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพธุรกิจดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นบทนี้ด้วยเช่นกัน
 
สรุปแล้วในการทำธุรกิจของแฟรนไชส์ซีและแฟรนไชส์ซอร์ หากทั้งสองฝ่ายมีจริยธรรมและจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ ก็ย่อมจะเชื่อได้ว่าจะสามารถทำธุรกิจร่วมกันไปได้ด้วยความราบรื่น ปราศจากความขัดแย้งระหว่างกัน และยังจะได้รับความยอมรับจากทั้งผู้บริโภคและสังคมด้วยดีด้วย ดังนั้น ผู้เขียนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยจะเติบโตไปพร้อมกับความเจริญของประเทศไทยในอนาคต  และความยอมรับของประชาชนคนไทย ดังเช่นที่ประสบความสำเร็จอย่างดีมาแล้วในยุโรปและอเมริกา
 
บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนพฤษภาคม 2567..
24,686
“มูฟ อีวี เอกซ์” สร้างรายได้ดีแค่ไหน! ทำไมถึงน่า..
3,820
รวม 12 แฟรนไชส์โหนกระแส คนไทยไม่เคยลืม!
2,366
จริงมั้ย? กำเงิน 15 ล้านบาท ถึงจะซื้อแฟรนไชส์ DQ..
1,914
กลยุทธ์ “แดรี่ควีน” เจ้าไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเมืองไ..
1,272
จริงมั้ย? 7-Eleven เห็นทำเลไหนดี เปิดเองแข่งสาขา..
1,244
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด