บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    ความรู้ทั่วไประบบแฟรนไชส์
2.2K
3 นาที
25 มีนาคม 2562
กฎหมายกับคุณธรรมของผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์

 
มีนักธุรกิจจำนวนไม่น้อย ที่ยึดถือและเข้าใจผิดๆ ว่า หากมีกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ออกบังคับใช้แล้ว การทำตามกฎหมายหรือระเบียบเท่านั้น ก็เป็น การเพียงพอหรือเป็นการถูกต้อง มีจริยธรรมและจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจแล้ว
 
การตลาดในยุคปัจจุบัน เป็นการตลาดที่ผู้ประกอบกิจการจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม การรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการนั้น จึงจะต้องรับผิดชอบทั้งต่อลูกค้า ต่อพนักงาน ต่อรัฐบาล และต่อสังคมหรือแผ่นดินที่อยู่อาศัยด้วย ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์จะถือเพียงว่าตัวเองได้ทำให้ถูกกฎหมายแล้ว และทำให้ครบถ้วนตามสัญญาแฟรนไชส์ จึงยังไม่เพียงพอดังอุทาหรณ์บางตัวอย่างต่อไปนี้

ตัวอย่างที่ 1


ธุรกิจแฟรนไชส์ฟาสฟูดส์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ขายแฟรนไชส์ให้แก่แฟรนไชส์ซีในต่างจังหวัดที่เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ผู้ซื้อแฟรนไชส์ได้ลงทุนทั้งสถานที่ ค่าตบแต่ง และอื่นๆ ไปกว่าห้าล้านบาท โดยมีเงื่อนไขสัญญาแฟรนไชส์ไว้ข้อหนึ่งว่า หากขายไม่ได้เดือนละห้าแสนบาทต่อกันสามเดือน จะต้องถูกบอกเลิกสัญญาแฟรนไชส์ ปรากฏว่าในระยะแรกที่เปิดขายเป็นช่วงปิดภาคการศึกษา ขายได้เดือนละกว่าล้านบาทตลอด แต่พอช่วงฤดูฝนยอดขายไม่ได้ตามเป้าหมายต่อกัน แฟรนไชส์ซีก็ถูกบอกเลิกสัญญา ได้พยายามขอร้องให้พิจารณาทบทวนโดยให้รอถึงช่วงเทศกาลก่อน แต่ก็ไม่ได้รับการผ่อนผัน

ปรากฏหลังจากนั้นอีกเพียงปีสองปี ห้างสรรพสินค้านี้ได้ถูกห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จากกรุงเทพฯ เช่าพื้นที่ทำกิจการแทน ธุรกิจแฟรนไชส์ฟาสฟูดส์จำนวนมากมายกลับไปเปิดให้บริการ และธุรกิจกลับดำเนินไปด้วยดี มิหนำซ้ำการลงทุนและเงื่อนไข ทางการค้า กลับผิดกับสมัยที่เจ้าของห้างสรรพสินค้าเป็นคนท้องถิ่นอย่างมาก เช่น แฟรนไชส์ซอร์กลับเป็นผู้ลงทุนเองเกือบทั้งหมด และแฟรนไชส์ซียังแบ่งส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์ จากยอดขาย (ค่ารอยัลตี้ฟี) ให้แก่แฟรนไชส์ซอร์ในอัตราที่ต่ำกว่าอีกด้วย

ตัวอย่างที่ 2

 
ผู้ซื้อแฟรนไชส์รายหนึ่ง ได้ลงทุนซื้อแฟรนไชส์ขนมชนิดหนึ่งมาจากต่างประเทศ ทำการลงทุนด้วยการเปิดร้านในย่านการค้าที่ราคาที่ดินสูงมากในกรุงเทพมหานคร สามารถประสบความสำเร็จในการทำตลาดในประเทศไทยอย่างสูง  แต่เนื่องจากสัญญาแฟรนไชส์มีระยะเวลาสิ้นสุด และถึงแม้ว่าสัญญาจะมีกำหนดให้แฟรนไชส์ซีมีโอกาสต่อสัญญา แต่ไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องให้ต่อสัญญาเสมอหากแฟรนไชซ์ซีไม่ได้กระทำผิดสัญญา เมื่อมีลูกชายนักการเมืองต้องการสินค้านั้นไปจำหน่ายแทน ก็มีข่าวว่าจะไม่ได้รับการต่อสัญญาแฟรนไชส์ ทั้งที่ได้ช่วยทำการตลาดให้จนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในไทย
 
ธุรกิจเบเกอรี่เล็กๆ แห่งหนึ่ง ได้มีโอกาสขยายกิจการและสร้างชื่อเสียง จากการได้เข้าไปขายในห้างสรรพสินค้าท้องถิ่นขนาดใหญ่ ในช่วงเวลานั้นห้างสรรพสินค้าดังกล่าวยังขายไม่ดี จนสามารถขยายกิจการและสร้างโรงงานเป็นของตนเอง มีเบเกอรี่ชื่อดังระดับชาติหลายยี่ห้อ ต้องการขอเช่าสถานที่ดังกล่าวแทนเพราะห้างสรรพสินค้านี้มีชื่อเสียงมากแล้ว เจ้าของห้างสรรพสินค้านี้ก็ไม่ยินยอมให้แม้ว่าจะให้ค่าเช่าสูงกว่าเท่าไรก็ตามแม้ว่าจะหมดสัญญาเช่าแล้ว ยังคงให้เบเกอรี่เจ้าเดิมเช่าสถานที่ดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน และเบเกอรี่ท้องถิ่นนี้ปัจจุบันก็ได้ขยายกิจการขายแฟรนไชส์ด้วย โดยจำหน่ายได้ในราคาที่ต่ำกว่าเบเกอรี่จากส่วนกลางแต่คุณภาพทัดเทียมกัน ส่วนเบเกอรี่รายอื่นที่เสนอค่าเช่าสูงกว่า ก็ให้เช่าและใช้สถานที่จุดอื่นแทน ไม่ได้ปิดกั้นแต่ประการใด เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันและให้โอกาสทางเลือกแก่ผู้บริโภค

ตัวอย่างที่ 3

 
แฟรนไชส์ซอร์รายหนึ่ง เปิดให้บริการธุรกิจฟาสฟูดส์ในศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง เมื่อศูนย์การค้า แห่งนี้ขายดีขึ้นจนแทบไม่มีพื้นที่ว่างให้เหลือเช่าอยู่เลย เจ้าของศูนย์การค้านี้ก็อนุญาตให้พ่อค้ามาเช่าพื้นที่ที่ติดกับฟาสฟูดส์นี้ ขายสินค้าโดยนำเสื้อผ้ามาแขวนบังหรือแม้กระทั่งติดกับกระจกของร้านฟาสฟูดส์ เมื่อไปร้องเรียนให้ปรับปรุงแก้ไข เจ้าของศูนย์การค้าก็แจ้งว่า สัญญาเช่าที่ของ แฟรนไชส์ซอร์ เป็นการเช่าสถานที่เพียงภายในร้านเท่านั้น จึงไม่ดำเนินการแก้ไขใดๆ ให้

ตัวอย่างที่ 4

 
แฟรนไชส์ซีรายหนึ่ง ซื้อแฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยวมาเปิดให้บริการ แรกๆ ปรากฏว่าขายดีมาก ต่อมายอดขายเริ่มตกลงเนื่องจากมีสินค้าอาหารอื่นๆ มาขายมากขึ้นในบริเวณใกล้เคียง เนื่องจากสัญญาแฟรนไชส์ไม่ได้เขียนห้ามแฟรนไชส์ซีนำสินค้าอื่นมาขายที่ร้าน นอกจากสินค้าประเภทเดียวกัน แฟรนไชส์ซีจึงนำทั้งขนม เครื่องดื่ม อาหารประเภทอื่น มาขายเพิ่มขึ้นจนเต็มไปหมด ภาพลักษณ์ของก๋วยเตี๋ยวเดิมจึงแทบมองไม่เห็น
 
จากตัวอย่างทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นว่าทั้งแฟรนไชส์ซอร์หรือแฟรนไชส์ซี หรือนักธุรกิจที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ล้วนแล้วแต่ไม่ได้ทำผิดสัญญาหรือทำผิดกฎหมายแต่ประการใด แต่หากพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว จะเห็นว่าน่าจะขาดคุณธรรมในการประกอบกิจการธุรกิจ โดยไม่ได้เข้าใจว่าคำว่า “ความถูกต้อง” นั้น สามารถแบ่งระดับของความถูกต้องได้ถึงสามระดับ
  • ระดับล่างสุด ก็คือ ทำให้ถูกต้องแค่เพียงถูกระเบียบหรือกฎหมายเท่านั้น
     
  • ระดับถัดมา คือ ทำให้ถูกต้องตามหลักการ คือ สามารถอธิบายเป็นเหตุเป็นผลเชิงตรรกะได้เท่านั้น ซึ่งคนทั่วไปและผู้ประกอบจำนวนมากนิยมรักษาความถูกต้องเพียงแค่สองระดับนี้เท่านั้น โดยไม่คำนึงว่าความถูกต้องที่ดีที่สุด
     
  • ระดับสูงสุด คือ ถูกคุณธรรม หมายถึงจะต้องเป็นผลดีต่อทุกฝ่ายหรือสังคมในระยะยาว

ตัวอย่างที่ยกมาทั้ง 4 ตัวอย่างนี้ หากแฟรนไชส์ซอร์หรือแฟรนไชส์ซียึดถือความถูกต้อง โดยถือคุณธรรม (นั่นคือยึดถือคุณธรรมและจริยธรรมในการเป็นผู้ประกอบการ) ก็น่าจะตัดสินใจหรือดำเนินการแตกต่างจากเรื่องที่เล่ามาอย่างแน่นอน

 
นอกจากนี้แล้ว ธุรกิจที่ขนาดใหญ่มักจะมีการจ้างทนายความมาทำหน้าที่ร่างสัญญา ทำนิติกรรม หรือต่อสู้คดีให้กับธุรกิจ จนทำให้แฟรนไชส์ซีที่เป็นเพียงผู้ประกอบการรายย่อยเสียเปรียบในเชิงกฎหมายอยู่บ่อยๆ การทำธุรกิจที่ดีนั้น ไม่ว่าแฟรนไชส์ซอร์หรือแฟรนไชส์ซีควรจะมีความจริงใจช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากกว่า การหาทางเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน โดยอาศัยกฎหมายหรือระเบียบมาช่วยดูแลให้มีการปฏิบัติที่ถูกต้องสมควร

และบางครั้งก็อาจต้องมีการอะลุ้มอล่วยหรือผ่อนปรนกันบ้าง แต่ก็จำเป็นที่ต้องเขียนระเบียบหรือสัญญาที่แน่ชัดไว้ เพื่อมิให้เกิดการเข้าใจกันผิดหรือทำผิดเงื่อนไขข้อตกลงมากกว่าการร่างสัญญาเพื่อเอาเปรียบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การทำสัญญาที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย และการกำหนดระเบียบปฏิบัติที่ไม่เคร่งครัดหรือยืดหยุ่นจนเกินไป จึงเป็นสิ่งที่แฟรนไชส์ซอร์ควรทำ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ที่มีมากกว่าสิ่งที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขหรือสัญญาแฟรนไชส์ ก็จะเป็นการส่งเสริมให้การร่วมกันทำธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ สามารถดำเนินไปด้วยดีและมีโอกาสประสบความสำเร็จในระยะยาว


นอกจากนี้ การทำธุรกิจทุกประเภท นักธุรกิจที่ดีควรจะคำนึงถึงความถูกต้องและผลประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติด้วย โดยหลีกเลี่ยงการเจตนาทำผิดกฎหมายทุกประเภท และหากเป็นไปได้ควรทำในสิ่งที่ดีกว่าและเหนือกว่ากฎหมายบังคับ

อาทิเช่น ให้เงินเดือนหรือสวัสดิการพนักงานดีกว่ากฎหมายแรงงาน จัดงบประมาณเพื่อการพัฒนาความสามารถและความเป็นอยู่พนักงาน จัดงบประมาณเพื่อช่วยเหลือสังคมตามแต่ความสามารถและโอกาส ทำบัญชีและเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฏหมาย และต้องหลีกเลี่ยงการใช้ช่องว่างของกฎหมายเพียงเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนตนหรือธุรกิจ ดังนั้น หากจะสรุปว่า กฎหมายสำคัญสำหรับนักธุรกิจ แต่คุณธรรมนั้นสำคัญและต้องอยู่เหนือกฎหมายก็น่าจะไม่ผิด
 
บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนมิถุนายน 2567
7,748
ส่อง 72 แฟรนไชส์น่าสอยมาลงทุน ครึ่งปีหลัง 2567
4,472
กลับมาแล้วแฟรนไชส์โจ๊ก เฮลตี้ฟู้ดขายง่ายกำไรดี
1,605
เดือดแน่! 6 แฟรนไชส์ไอศกรีมและชาผลไม้ ราคาถูก จ่..
1,376
จริงมั้ย ซื้อแฟรนไชส์ ยืมจมูกคนอื่นหายใจ
819
ซื้อแฟรนไชส์ อย่าให้เป็นทาส แต่ให้เป็นนายตัวเองท..
811
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด