บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    ความรู้ทั่วไประบบแฟรนไชส์
4.2K
4 นาที
25 มีนาคม 2562
หลักการที่สำคัญของธุรกิจแฟรนไชส์


ภาพจาก facebook.com/zappagrills
 
หากนับตั้งแต่เริ่มมีการคิดค้นและทดลองทำธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ในโลกนี้ จวบจนปัจจุบัน ธุรกิจแฟรนไชส์ยังเพิ่งมีการก่อตัวและพัฒนามาเพียงร้อยปีเศษ ยิ่งในประเทศไทยด้วยแล้วเพิ่งมีมาเมื่อไม่กี่สิบปีนี้เอง หน่วยงานทั้งของรัฐบาลและภาคเอกชนที่จะเข้ามาดูแลและกำกับก็เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้

ดังนั้น วิธีการปฏิบัติในการซื้อขายแฟรนไชส์จึงยังเป็นไปอย่างไม่มีรูปแบบที่แน่นอน ไม่ว่าผู้ลงทุนซื้อแฟรนไชส์หรือแม้ผู้ขายแฟรนไชส์เองก็ยังมีความรู้ไม่มากนักในการดำเนินธุรกิจนี้ ต่างฝ่ายก็ต่างคาดหวังในอีกฝ่ายหนึ่งสูง ขณะที่การปฏิบัติจริงมักจะทำได้น้อยกว่าที่อีกฝ่ายคาดหวังไว้ สิ่งสำคัญที่แฟรนไชส์ซีควรระลึกอยู่เสมอคือ การลงทุนทำธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ไม่ใช่หลักประกันในการที่จะประสบความสำเร็จในธุรกิจที่จะลงทุน เป็นเพียงวิธีการทางลัดในการเริ่มต้นทำธุรกิจ แต่ก็อาจจะประสบความสำเร็จอย่างสูงก็ได้หากปัจจัยต่างๆ เหมาะสม

ขณะเดียวกันแฟรนไชส์ซอร์ก็จะต้องคำนึงถึงเสมอเช่นกันว่า แฟรนไชส์ซีนั้นถึงแม้ไม่ได้มีหน้าที่ตามกฎหมายเป็นตัวแทนให้แก่แฟรนไชส์ซอร์ก็ตาม แต่ก็อาจนำพาความเจริญและแม้กระทั่งความย่อยยับ หากมีการจำหน่ายหรือให้บริการ หรือแม้กระทั่งการจัดการดำเนินงานภายในที่ผิดพลาดได้เช่นเดียวกัน
 
วิธีนิยมปฏิบัติของการร่วมทำธุรกิจแฟรนไชส์


ภาพจาก goo.gl/images/eZ1H6H
 
จากการสอบถามพบว่า ผู้ลงทุนซื้อแฟรนไชส์หรือแฟรนไชส์ซีส่วนใหญ่ในเมืองไทย ได้ทราบข่าวจากการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ โดยบางรายอาจจะมีความคิดอยู่แล้วที่อยากเข้ามาทำธุรกิจในประเภทนั้นๆ หรือบางรายก็ไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการแล้วเกิดติดใจ จึงตัดสินใจขอซื้อแฟรนไชส์นั้นมาทำเสียเอง และมีอยู่ไม่น้อยที่ผู้ลงทุนบังเอิญมีห้องแถวหรือสถานที่ว่างอยู่โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ จึงคิดว่าทำให้พื้นที่ดังกล่าวก่อเกิดประโยชน์ในเชิงธุรกิจ หรือแม้กระทั่งเพื่อให้บริเวณโดยรอบของพื้นที่ดังกล่าว ได้เกิดการพัฒนาในเชิงอสังหาริมทรัพย์ รวมๆ เหล่านี้คือเหตุผลหลักของการตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์

 
ในภาคปฏิบัติแล้ว ส่วนใหญ่ของแฟรนไชส์ซอร์ก็จะมีพนักงานขายหรือตัวแทน ออกไปพบปะลูกค้านั่นคือผู้ที่คิดจะลงทุน เพื่อให้ข้อมูลเบื้องต้น มีอยู่บ้างที่มีการเชิญนักลงทุนเข้าไปดูโรงงานหรือร้านค้าต้นแบบของแฟรนไชส์ซอร์ก่อนทำสัญญาร่วมธุรกิจกัน ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแทนของแฟรนไชส์ซีและแฟรนไชส์ซอร์ที่ไปพบปะติดต่อกันในขั้นศึกษาข้อมูลนี้แหละที่มีส่วนสำคัญมากต่อการสรุปร่วมหัวจมท้ายในการมาทำธุรกิจร่วมกันในระบบแฟรนไชส์


และโดยทั่วไปแล้ว นอกจากธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียงแล้ว ส่วนใหญ่การพิจารณาประวัติ ความสามารถ ตลอดจนข้อจำกัดของแฟรนไชส์ซี ก็จะเป็นไปอย่างง่ายๆ ไม่ได้ใช้หลักเกณฑ์หรือข้อมูลวิชาการมาตัดสินใจ ในทางกลับกันผู้ที่คิดจะซื้อแฟรนไชส์ส่วนใหญ่ ก็จะเชื่อตามข้อมูลที่ตัวแทนของ แฟรนไชส์ซอร์ให้มา โดยไม่ได้ออกไปหาข้อเท็จจริงในตลาดเปรียบเทียบกับการโฆษณาชวนเชื่อ
 
นอกจากนี้ยังพบว่า จำนวนนักลงทุนที่เป็นแฟรนไชส์ซี ที่สนใจเข้าไปอบรมหาความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจในระบบแฟรนไชส์  ที่หน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนจัดขึ้นเป็นประจำ ที่มีทั้งหลักสูตรระยะสั้นวันเดียวจบ และหลักสูตรต่อเนื่อง (มักไม่เกินยี่สิบชั่วโมง) อาทิเช่น  หลักสูตรอบรมของศูนย์วิจัยพัฒนาธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์สากล (IRF) ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์จริง ยังเทียบสัดส่วนเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก ยิ่งกว่านั้น วิชาการจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ ก็ยังมีเปิดสอนกันไม่มากนักในสถาบันการศึกษา ทำให้พื้นฐานความรู้ของผู้ที่เข้ามาสู่ระบบธุรกิจแฟรนไชส์ยังมีอยู่น้อยมาก
 
ข้อดีของการทำธุรกิจด้วยการซื้อแฟรนไชส์


ภาพจาก goo.gl/CESGMm
  1. ลดความเสี่ยง
    ซึ่งหลายๆ คนได้บอกว่า ต้องการซื้อทั้งแพ็กเกจ ต้องการซื้ออะไร ที่สำเร็จรูป คือ ซื้อแฟรนไชส์แล้วไม่ขาดทุน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เขาคาดหวังว่า ถ้าซื้อแล้วต้องกำไรแน่นอน แต่ไม่ได้ดูถึงปัจจัยอะไรหลายๆอย่างซึ่งต้องมีการวิจัยตลาดก่อน
     
  2. ได้ประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าและส่วนประสมทางการตลาด
    เช่น ถ้าเขาจะทำร้านอาหาร เห็นป้ายนี้แล้วจะต้องอร่อย
     
  3. ประหยัดเวลาและเงิน
    ใช้แบบระบบบัญชี คือ First in – First out เงินเข้ามาเราต้องเก็บให้นานที่สุดแต่เงินจะออกให้พยายามดึงให้นานที่สุด คือแฟรนไชส์ซีสามารถซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบจากแฟรนไชส์ซอร์แล้วให้แฟรนไชส์ซอร์มาวางบิลเพื่อเรียกเก็บเงินอีกที นอกจากนี้ยังช่วยให้ประหยัดไม่จำเป็นต้องสต็อคสินค้าหรือวัตถุดิบจำนวนมากเพราะสามารถสั่งเท่าที่จำเป็นจากแฟรนไชส์ซอร์ได้
     
  4. ได้รับความรู้ทางลัด
    คือ หนึ่งหรือสองวัน หรือสัปดาห์ที่ไปอบรม แล้วก็กลับมาทดลองทดลองปฏิบัติ แล้วก็สามารถเปิดให้บริการลูกค้าได้
     
  5. ได้รับสินค้าและระบบธุรกิจที่มีการวิจัยและพัฒนาใหม่
    ก็คือ ต้องแฟรนไชส์ซอร์มักจะมี Research และ Development และแฟรนไชส์ซีก็ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาของเขา
     
  6. การเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยการซื้อแฟรนไชส์ ในสินค้าหรือบริการที่ไม่ต้องลงทุนมาก
    ช่วยให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการได้โดยง่าย แทนที่จะต้องไปเป็นลูกจ้างกินเงินเดือนตลอดไป
     
  7. ชื่อเสียงของแฟรนไชส์ซอร์
    ทำให้แฟรนไชส์ซีรายใหม่สามารถติดต่อขอความร่วมมือจากคู่ค้าธุรกิจ หน่วยราชการ หรือสถาบันการเงิน ได้ง่ายกว่าการเริ่มต้นประกอบธุรกิจที่คิดค้นขึ้นเอง
     
  8. สะดวกในการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักร ฯลฯ
    ซึ่งอาจได้ในราคาที่ยุติธรรมกว่า (หากไม่เจอกลโกงของแฟรนไชส์ซอร์) เพราะอาจจะซื้อต่อจากแฟรนไชส์ซอร์ที่สั่งคราวละมากๆ หรือแฟรนไชส์ซอร์ให้ข้อมูลแหล่งและราคาแก่แฟรนไชส์ซีไปซื้อเอง
ข้อเสียของการทำธุรกิจด้วยการซื้อแฟรนไชส์


ภาพจาก facebook.com/Sumofishball
  1. มีข้อจำกัดในการทำงาน
    ขาดความเป็นอิสระในการเป็นตัวของตัวเอง คือ ตามสัญญา ที่ระบุ ดังนั้น แม้แฟรนไชส์ซีอาจจะมีความตั้งใจเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาบางอย่าง ก็อาจ ไม่สามารถทำนอกรูปแบบได้ เพราะต้องปฏิบัติตามแบบอย่างที่แฟรนไชส์ซอร์กำหนด และยังต้องเปิดดำเนินกิจการตลอดเวลาตามที่แฟรนไชส์ซอร์กำหนดในบางธุรกิจอีกด้วย โดยไม่สามารถหยุดกิจการได้ เช่น กรณีเซเว่นอีเลฟเว่น ต้องเปิดยี่สิบสี่ชั่วโมง ทุกวันตลอดปี
     
  2. ค่าใช้จ่ายสูงในการชำระค่าธรรมเนียมและผลตอบแทน
    ข้อนี้สำคัญเพราะเงินแต่ละบาทที่เขาได้จ่ายไปแล้วเขาได้อะไรกับเรามาบ้าง ค่าธรรมเนียมแรกเข้าหรือค่าแฟรนไชส์ฟี บางครั้งจำนวนสูงถึงหลักแสนหรือล้านบาท และค่าใช้จ่ายบางอย่าง เช่น ค่ารอยัลตีฟี ค่าแอดเวอร์ไทซิ่งฟี แฟรนไชส์ซียังต้องจ่ายให้แฟรนไชส์ซอร์ตลอดไป
     
  3. มีโอกาสถูกบอกเลิกสัญญาได้ง่าย
    หากทำผิดสัญญา หรือแม้กระทั่งหากทำยอดขายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ก็จะเกิดปัญหาเหมือนกัน และก็เคยเกิดปัญหามาแล้ว กรณีที่เข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่น เช่น ฤดูฝน ทำให้ยอดขายตกลง แล้วแฟรนไชส์ซอร์ก็เอามาข้ออ้างในการบอกเลิกสัญญาแฟรนไชส์ ดังนั้น จึงเป็นความเสี่ยงที่แฟรนไชส์ซีอาจจะไม่ได้คาดคิดไว้ล่วงหน้าก็ได้
     
  4. ความผิดพลาดของผู้ขายแฟรนไชส์
    ที่ผ่านมาคนขายแฟรนไชส์จะมองว่าเห็นโอกาสธุรกิจดี เร่งขายโดยไม่มีระบบที่ถูกต้อง ในฐานะที่เราจะเป็นคนขายแฟรนไชส์ เราจะต้อง มองว่าคนซื้อเขาจะมองเราอย่างไร มองว่าเรามีแผนอะไรได้บ้าง สิ่งที่เขามองก็คือ เจ้าของกิจการมีวิสัยทัศน์อย่างไร วิสัยทัศน์ที่จะมองในระยะสั้น ระยะยาว เพื่อเขาจะได้มั่นใจว่า แฟรนไชส์ที่เขาซื้อมีแผนพัฒนาที่ถูกต้อง และที่เลวร้ายที่สุดก็คือ หากแฟรนไชส์ซอร์ ประสบปัญหาจนเลิกกิจการ หรือไม่สามารถดำเนินธุรกิจให้ดีได้ ผลเสียหายอย่างร้ายแรง ก็จะมาสู่แฟรนไชส์ซี และก็ไม่คุ้มค่าต่อการที่แฟรนไชส์ซีจะไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากแฟรนไชส์ซอร์ ทั้งที่เป็นความผิดพลาดของแฟรนไชส์ซอร์เอง
     
  5. ข้อกำหนดบางอย่างอาจทำให้แฟรนไชส์ซีรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบในวันหลัง
    อาทิเช่น แฟรนไชส์ซีต้องซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบจากแฟรนไชส์ซอร์เท่านั้น หรือ แฟรนไชส์ซอร์จะต้องรับซื้อใบปลิวโฆษณาหรือสื่อโฆษณาจากแฟรนไชส์ซอร์ตามแต่จำนวนและราคาที่ แฟรนไชส์ซอร์จัดส่งมาให้ หรือ แม้กระทั่งแฟรนไชส์ซอร์จะสามารถให้มีแฟรนไชส์ซีเพิ่มขึ้นในธุรกิจเดียวกันในบริเวณที่ใกล้เคียงกันเกิดขึ้นในอนาคตก็ยังได้ ซึ่งจะกระทบกระเทือนต่อรายได้ของแฟรนไชส์ซีอย่างมาก
     
  6. ภาพพจน์ที่ตกต่ำลงของธุรกิจแม่ส่งผลต่อผลประกอบการของแฟรนไชส์ซี
    หากมีชื่อเสียงที่เสียหายเกิดขึ้นไม่ว่าที่ใดในโลก หากเราเป็นผู้ซื้อแฟรนไชส์ก็ยังมีผลทำให้ผู้บริโภคลดความนิยมและลดการอุดหนุนสินค้าหรือบริการของเราไปด้วย บางครั้งสามารถเกิดปัญหาขึ้นได้จากความขัดแย้งด้านศาสนาหรือการเมืองระหว่างประเทศ จนทำให้ประชาชนในประเทศของ แฟรนไชส์ซีแอนตี้สินค้าหรือบริการ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับความผิดพลาดของแฟรนไชส์ซีเลยแม้แต่น้อย
     
  7. แฟรนไชส์ซีมักจะต้องทำบัญชีและเสียภาษีในระบบที่แฟรนไชส์ซอร์กำหนด
    สำหรับธุรกิจหลายๆ ประเภทยังต้องเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้แฟรนไชส์ซีต้องมีค่าใช้จ่ายในการทำบํญชีและภาษีสูงกว่าการประกอบกิจการของตนเอง และสรรพากรก็ง่ายต่อการตรวจสอบการเลี่ยงภาษี เพราะสามารถประมาณยอดขายจากแฟรนไชส์ซีอื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันได้

ภาพจาก facebook.com/FruiturdayThailand

สัญญาที่ทำระหว่างแฟรนไชส์ซีกับแฟรนไชส์ซอร์ มักเป็นสัญญาที่ฝ่ากฎหมายของ แฟรนไชส์ซอร์ร่างขึ้น และเป็นสัญญามาตรฐาน ทำให้แฟรนไชส์ซีแทบจะไม่สามารถขอต่อรองแก้ไขได้เลย บางครั้งข้อความในสัญญาก็ไม่เป็นธรรมแก่แฟรนไชส์ซี แต่ก็ต้องจำยอมเซ็น (แต่ แฟรนไชส์ซีอาจจะใช้กฎหมาย พรบ.สัญญาไม่เป็นธรรมในการสู้คดีได้ในปัจจุบัน แต่ก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายมาก)

ข้อดีของระบบแฟรนไชส์ต่อระบบเศรษฐกิจ


ภาพจาก goo.gl/nEeiBw
 
ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ถึงแม้ว่าระบบแฟรนไชส์อาจจะมีปัญหาในภาคปฏิบัติอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้ว ธุรกิจแฟรนไชส์มีส่วนดีอย่างมากต่อการพัฒนาการค้าและเศรษฐกิจในทุกสังคม แม้ว่าธุรกิจแฟรนไชส์จำนวนไม่น้อย ที่เป็นแฟรนไชส์จากต่างประเทศ จะทำให้ประเทศไทยของเราต้องสูญเสียเงินตราออกไปยังต่างประเทศโดยไม่จำเป็น และบ้างก็ยังทำให้เกิดค่านิยมในการบริโภคที่ผิดๆ

เช่น การบริโภคฟาสฟู้ดส์ที่เป็นอาหารขยะหรือ Junk Foods ทำให้เด็กไทยจำนวนมากขาดสารอาหารและเป็นโรคอ้วน แต่การที่มีสินค้าและบริการที่เป็นมาตรฐานโลก ก็ทำให้ประเทศชาติดูมีการพัฒนาเป็นสากลมากขึ้น และก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในระบบเศรษฐกิจ ทุนนิยม และในกระแสโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน


ภาพจาก facebook.com/Shipsmileservices
 
หากพิจารณาถึงข้อดีของธุรกิจแฟรนไชส์ต่อระบบเศรษฐกิจไทยแล้ว ก็พอจะหาข้อดีที่สำคัญได้หลายประการ  เช่น
  1. สร้างให้โอกาสเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กได้ง่ายขึ้น
    โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันที่การหางานทำเป็นไปได้ยากขึ้น และลูกจ้างจำนวนมากก็เบื่อต่อชีวิตลูกจ้างอยากหันมาทำธุรกิจของตนเอง ซึ่งมีอิสระและมีโอกาสร่ำรวยมากกว่าการมีธุรกิจแฟรนไชส์ในท้องตลาดไทยมากมายจึงเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ยังขาดประสบการณ์และมีทุนไม่มาก
     
  2. ให้มีการพัฒนารูปแบบและวิธีการทำธุรกิจ
    การมีธุรกิจแฟรนไชส์จากต่างประเทศเข้ามาสู่เศรษฐกิจไทย และแม้กระทั่งการที่ธุรกิจคนไทยจำนวนมากพัฒนาสู่ธุรกิจแฟรนไชส์ ทำให้เกิดการแข่งขันและพัฒนารูปแบบการทำธุรกิจ ไม่ว่าด้านเทคนิคการผลิต การบริหาร ระบบงาน ฯลฯ
     
  3. ธุรกิจขยายกิจการได้รวดเร็วขึ้นผ่านวิธีการ Franchising
    มีธุรกิจจำนวนมากที่สร้างเครือข่ายและเติบโตอย่างรวดเร็วได้ผ่านวิธีการแฟรนไชส์  เป็นการลดข้อจำกัดทั้งทางด้านการเงินและการบริหารของเจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์
     
  4. สามารถนำเข้าธุรกิจใหม่ๆ เพื่อให้ประเทศชาติทันสมัย
    เพราะในปัจจุบันคงแทบมีเหลือไม่กี่ประเทศในโลกแล้ว ที่ไม่ยินยอมให้สินค้าหรือบริการที่ทันสมัยเข้ามาในประเทศ ดังนั้นหากประเทศใดที่มีเศรษฐกิจดี การเมืองมั่นคง ก็ย่อมจะเป็นสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศมาขยายกิจการในประเทศนั้นอย่างมากมาย เพียงแต่ว่าสินค้าหรือบริการในท้องถิ่นประเทศนั้นจะสามารถแข่งขันและอยู่รอดร่วมกันได้หรือไม่เท่านั้นเองที่เป็นปัญหา
     
  5. สามารถส่งออกธุรกิจบางประเทศไปหารายได้เข้าประเทศ
    สินค้าและบริการของไทยจำนวนไม่น้อย เป็นที่ยอมรับและชื่นชมของชาวต่างชาติ เช่น อาหารไทยถือว่าเป็นอาหารที่ดีที่สุดในโลกนี้ไม่เป็นรองจากอาหารจีน ดังนั้น จึงเห็นกิจการร้านอาหารหรือภัตตาคารของไทยจำนวนไม่น้อย  ได้ขยายสาขาไปยังต่างประเทศ  ทั้งโดยการไปลงทุนเองและขยายผ่านระบบแฟรนไชส์ และในอนาคตสินค้าและบริการอื่นๆ อีกมาก คงจะทยอยกันออกไปหารายได้กลับสู่ประเทศไทย
     
  6. รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้ดีขึ้น ฐานภาษีมีมากขึ้น (ส่วนใหญ่เข้าระบบ VAT - Value added tax)
    ด้วยเหตุที่แฟรนไชส์ซอร์ที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มักจะต้องเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะยอดขายมีมากกว่าฐานภาษีตามกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม การที่แฟรนไชส์ซอร์ส่งสินค้าหรือวัตถุดิบให้แก่แฟรนไชส์ซีด้วยราคาที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ธุรกิจของแฟรนไชส์ซีจำเป็นต้องหรือเห็นประโยชน์ของการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และปัจจุบันรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากรก็สูงขึ้นจนอาจจะทะลุปีละหนึ่งล้านล้านบาทในอนาคตไม่กี่ปีข้างหน้า และยังสามารถจัดเก็บได้เกินกว่าประมาณการอยู่เสมอ ทั้งที่รายได้จากภาษีอื่นมักจะจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ
บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนพฤษภาคม 2567..
24,771
“มูฟ อีวี เอกซ์” สร้างรายได้ดีแค่ไหน! ทำไมถึงน่า..
3,882
รวม 12 แฟรนไชส์โหนกระแส คนไทยไม่เคยลืม!
2,369
จริงมั้ย? กำเงิน 15 ล้านบาท ถึงจะซื้อแฟรนไชส์ DQ..
1,918
กลยุทธ์ “แดรี่ควีน” เจ้าไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเมืองไ..
1,279
จริงมั้ย? 7-Eleven เห็นทำเลไหนดี เปิดเองแข่งสาขา..
1,264
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด