บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    ความรู้ทั่วไประบบแฟรนไชส์
3.1K
2 นาที
20 มิถุนายน 2562
เปิดร้านด้วยตนเอง vs เปิดร้านแฟรนไชส์


ปัจจุบันนี้การลงทุนทำธุรกิจเพื่อสร้างอาชีพ เพื่อหารายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว คำถามสำคัญที่ทุกคนกังวลและอยากรู้คำตอบมากที่สุดก็คือ ธุรกิจนั้นมีความเสี่ยงไหม เสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย แค่ไหน เพราะยิ่งเสี่ยงมาก ผลก็จะยิ่งแย่ ดีไม่ดีจะเป็นเหมือนหนีเสือ ปะจระเข้ แทนที่จะมีรายได้เพิ่ม กลับกลายเป็นสูญเงิน ขาดทุน เป็นหนี้เป็นสิน เสียทั้งเงิน แรงงานและเวลา

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะยุคสมัยนี้ ความไม่แน่นอนมีค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับยุคก่อน ทุกสิ่งทุกอย่าง การดำเนินชีวิต เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ล้วนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะการแข่งขันของธุรกิจต่างๆ ที่ทุกคนต่างพัฒนา สินค้าและบริการ ใหม่ๆออกมาเพื่อเอาใจลูกค้าผู้บริโภค ของที่ดีกว่า บริการที่เร็วกว่า และราคาที่ถูกกว่า ก็ย่อมมีโอกาสขายและประสบความสำเร็จมากกว่า นั่นเอง


ด้วยเหตุนี้ เราต้องรู้ว่าถ้าจะลงทุนทำธุรกิจ สิ่งที่เราจะต้องไปต่อสู้ คือ ความเสี่ยง ซึ่งมีทั้ง เสี่ยงได้ และเสี่ยงเสีย เสี่ยงได้ คือ เราจะขายของได้ไหม เพราะต้องสู้กับคู่แข่งที่มีอยู่มากในตลาด ส่วนเสี่ยงเสีย คือ แม้เราจะขายได้แล้ว ก็ยังต้องจ่ายค่าเช่า ค่าโสหุ้ย ค่าแรง เป็นต้น ทำให้ไม่แน่ว่าจะเหลือเป็นกำไรหรือไม่ ถ้าไม่เราก็ขาดทุน การที่ธุรกิจต้องเผชิญกับความเสี่ยงเหล่านี้


คนที่จะทำจึงต้องเป็น คนที่รู้ คือมีความรู้ในสิ่งที่จะทำ และต้องเป็นคนเก่ง คือ ทำงานออกมาให้ได้ดี แข่งขันกับคนอื่นๆได้  ถึงกระนั้นก็ตามสำหรับใครก็ตามที่รู้ว่า ตัวเองไม่มีความรู้ และก็ไม่เก่ง แต่สามารถหา “ตัวช่วย” ได้ โอกาสที่จะประสบผลสำเร็จก็ยังพอจะเป็นไปได้ โดย “ตัวช่วย” ที่ได้จะต้องช่วย ลดความเสี่ยงได้ กล่าวคือ ช่วยให้ขายของได้ และมีกำไรได้ ในที่สุด 
 
“ตัวช่วย” ในการเริ่มต้นทำธุรกิจสำหรับคนในยุคสมัยนี้ ก็คือ แฟรนไชส์ นั่นเอง แล้วทำไมแฟรนไชส์ถึงเป็นตัวช่วยได้ล่ะ เรามาลองดูจากตัวอย่างที่ได้ยกมาเปรียบเทียบให้เห็นดังต่อไปนี้


จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า การเปิดร้านด้วยตนเอง จะใช้เวลาในการเรียนรู้และจัดเตรียมมากกว่าการซื้อแฟรนไชส์ ทำให้เริ่มการขายได้ช้า ยิ่งไปกว่านั้นแฟรนไชส์มักจะมีสินค้าที่เป็นที่ยอมรับของตลาด และมีประสบการณ์ในการทำงานที่ดีมาก่อน ทำให้การเปิดร้านแฟรนไชส์มีโอกาสประสบความสำเร็จในการขายและมีกำไรได้มากกว่า ซึ่งเท่ากับว่าแฟรนไชส์สามารถลดความเสี่ยงให้กับเราในการเริ่มธุรกิจได้ ดังนั้นถ้าจะกล่าวโดยสรุปว่า แฟรนไชส์ คืออะไร ก็พอจะให้ความหมายเป็นนัยได้ดังต่อไปนี้
  1. แฟรนไชส์ คือ วิธีการทำธุรกิจ แบบสำเร็จรูป ที่ช่วยให้เริ่มต้นได้ ง่าย และ เร็ว
  2. แฟรนไชส์ คือ วิธีการทำธุรกิจ ที่ช่วยลดความเสี่ยง ทำให้ขายของได้ และ มีกำไร
  3. แฟรนไชส์ คือ วิธีการทำธุรกิจ ที่พิสูจน์แล้วว่า ประสบความสำเร็จ 
โดยมีสิ่งที่พิสูจน์มาแล้วในการทำธุรกิจ อยู่ 4 ด้าน คือ สินค้าบริการที่มีคุณภาพ ระบบงานที่ดีมีประสิทธิภาพ ทีมงานที่มีความสามารถ และผลกำไรที่มั่นคง

 
อย่างไรก็ตามแม้แฟรนไชส์จะเป็นตัวช่วยที่ดีดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่ก็มีข้อเสียอยู่เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งข้อเสียสำคัญที่เราควรต้องรู้ในการลงทุนซื้อแฟรนไชส์ ก็คือ การต้องทำตามระบบเขา ทำให้ไม่มีความเป็นอิสระ และใช้เงินลงทุนมากกว่าทำเอง เพราะต้องจ่ายค่าสิทธิ หรือก็คือค่าความรู้ ประสบการณ์ของเขา รวมถึงผลกระทบชื่อเสียงจากผู้อื่นที่ทำผิดพลาด ด้วยข้อเสียเหล่านี้ทำให้การเลือกลงทุนในแฟรนไชส์มีความสำคัญอย่างมาก เพราะถ้าเลือกผิดได้แฟรนไชส์ที่ไม่ดี สิ่งที่จะเป็นผลตามมาก็คือ ปัญหา ความล้มเหลว หรือการสูญเสีย นั่นเอง
 
ดังนั้นหลักในการเลือกลงทุนแฟรนไชส์ให้สำเร็จ จึงประกอบด้วยการพิจารณา 4 เรื่อง สำคัญ ดังนี้
  1. ชื่อเสียง หรือ แบรนด์ (Brand) – แบรนด์ดี มีภาพพจน์ เป็นที่รู้จักกว้างขวาง และชื่อเสียงดี
  2. ระบบ (System) – ต้องเรียนรู้ง่าย อุปกรณ์ใช้งานได้ดี มีการสนับสนุน อบรม และช่วยเหลือดี
  3. ผลกำไร (Profit) – การลงทุนไม่มากเกินไป รายได้ดี มีกำไร และค่าใช้จ่ายไม่เยอะ
  4. การคืนทุน (Return) – ใช้เวลาไม่นานเรื่องคืนทุน ระยะเวลาไม่เกินครึ่งหนึ่งของสัญญา
โดยในการลงทุนกับแฟรนไชส์ จะมีสิ่งที่เราจะได้รับ และสิ่งที่เราต้องเสีย ให้กับแฟรนไชส์ดังนี้

 
สิ่งที่เราควรจะได้รับ จากแฟรนไชส์ คือ 
  1. แบรนด์ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายการค้า – สิทธิในการใช้ ชื่อยี่ห้อ สินค้า/บริการ เพื่อประกอบธุรกิจ
  2. สินค้า และบริการ – จะจัดให้มีเพื่อซื้อหาได้ ทั้งสินค้า/บริการ เพื่อไว้ขาย หรือ วัตถุดิบ เพื่อใช้ผลิต
  3. ระบบ และวิธีทำงาน 
    • มาตรฐานการออกแบบ ตบแต่งร้าน รวมถึง อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ
    • การอบรม ระบบ/วิธีทำงาน และการบริหารงานต่างๆ รวมถึงมีคู่มือปฏิบัติงานให้
    • การบริการสนับสนุนอื่นๆ เช่น การเลือกทำเล การบริการซ่อมแซมอุปกรณ์ เป็นต้น
  4. ผลกำไร และการคืนทุน
    • รายงาน สถิติ ประสบการณ์ การทำธุรกิจ ที่แสดงถึงผลกำไรที่นำมาใช้กล่าวอ้าง
    • แผนงาน หรือ แผนธุรกิจ ตั้งแต่เริ่มเปิดร้าน การจัดโปรโมชั่นและการตลาด เป็นต้น
สิ่งที่เราต้องเสีย หรือจ่ายให้กับแฟรนไชส์ มีดังนี้
  1. ค่าสิทธิ หรือ ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ – เป็นเงินที่จ่ายเพื่อให้ได้สิทธิมาตามสัญญาแฟรนไชส์
  2. ค่ารอยัลตี้ หรือค่าส่วนแบ่งรายได้ – เป็นเงินที่จ่ายเป็น % จากรายได้ในการขายสินค้า/บริการ
  3. ค่าการตลาด – มักเรียกเก็บเป็น % ตามรายได้ เพื่อนำไปใช้ในการทำการตลาดส่วนรวม
  4. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ – เช่น คอร์สอบรมพิเศษ ค่าบริการ ต่างๆตามแต่กรณี
จากที่กล่าวมาข้างต้น หากท่านใดมีความสนใจในการลงทุนเพื่อซื้อแฟรนไชส์ โดยทั่วไปจะมีขั้นตอนต่างๆ ที่ควรทราบและแนะนำไว้ดังต่อไปนี้

  1. ควรหาความรู้ ความเข้าใจเรื่องของแฟรนไชส์ ก่อนเป็นอันดับแรก
  2. ให้พิจารณาดูว่า ตนเองชอบธุรกิจ อะไร มีลักษณะอย่างไร
  3. หาข้อมูลแฟรนไชส์ในธุรกิจที่ตนชอบ และทำการวิเคราะห์ ข้อดี ข้อเสีย ต่างๆ
  4. ติดต่อขอข้อมูล และแสดงความสนใจในแฟรนไชส์ที่จะลงทุน
  5. เยี่ยมชมสาขาแฟรนไชส์ที่สนใจ เพื่อเห็นข้อมูลการทำธุรกิจจริงของแฟรนไชส์
  6. ผ่านการสัมภาษณ์ และเจรจาธุรกิจ กับแฟรนไชส์ที่ต้องการลงทุน
  7. พิจารณา ต่อรอง และตัดสินใจทำสัญญาแฟรนไชส์ที่ตนเองต้องการ
  8. ลงทุน และผ่านการอบรม เตรียมการต่างๆ เพื่อเริ่มเปิดดำเนินงาน
สุดท้ายนี้สิ่งที่ควรระมัดระวังและควรจำไว้ให้ดีในการลงทุนแฟรนไชส์ ก็คือ แฟรนไชส์ ถึงแม้จะเป็นตัวช่วยที่ดี ผ่านประสบการณ์มาก่อนผู้ลงทุนก็ตาม  แต่เพราะแฟรนไชส์ก็ยังคงเป็นธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง

ดังนั้นแฟรนไชส์จึงไม่ใช่ธุรกิจที่มีการประกันอย่างแน่นอนว่า จะประสบผลสำเร็จ มีผลกำไร หรือไม่เจ๊ง การลงทุนที่ประสบความสำเร็จจึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการเลือกแฟรนไชส์ที่ดี และความตั้งใจ ความทุ่มเทจริงจัง ของตัวผู้ลงทุน เท่านั้นที่จะเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุดของตน นั่นเอง
 
 
อ.สิทธิชัย ทรงอธิกมาศ
ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจแฟรนไชส์

https://bit.ly/2WVB0eZ
บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนพฤษภาคม 2567..
22,905
“มูฟ อีวี เอกซ์” สร้างรายได้ดีแค่ไหน! ทำไมถึงน่า..
3,028
รวม 12 แฟรนไชส์โหนกระแส คนไทยไม่เคยลืม!
1,912
จริงมั้ย? กำเงิน 15 ล้านบาท ถึงจะซื้อแฟรนไชส์ DQ..
1,849
กลยุทธ์ “แดรี่ควีน” เจ้าไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเมืองไ..
1,242
จริงมั้ย? 7-Eleven เห็นทำเลไหนดี เปิดเองแข่งสาขา..
1,189
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด