บทความทั้งหมด    บทความค้าขาย    การบริหารจัดการร้านค้า    การเช่าพื้นที่ หาทำเล เปิดร้าน
12K
3 นาที
25 มิถุนายน 2555

Community Mall New Opportunities for SMEs


ภาพจาก bit.ly/2Kf7656 

กระแสการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกเมืองไทยรุนแรงขึ้นในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาจากการรุกเข้ามาขยายสาขาอย่างต่อเนื่องของบริษัทค้าปลีกข้ามชาติ จนทำให้เกิดแรงต่อต้านเพื่อปกป้องธุรกิจค้าปลีกรายย่อยในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ส่งผลให้บรรดายักษ์ค้าปลีกต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการขยายสาขาให้เป็นมิตรกับชุมชนมากขึ้น

ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคเกิดการเปลี่ยนแปลงจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจและราคาน้ำมันแพง ทำให้เกิดศูนย์สรรพสินค้าหน้าตาแปลกใหม่ที่เรียกว่า Community Mall แฝงตัวอยู่ตามแหล่งชุมชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนที่จะขยายตัวออกสู่หัวเมืองต่างจังหวัด

การเกิดขึ้นของ Community Mall ในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็น “ปรากฏการณ์” เพราะก่อนหน้านี้ แม้จะมีชุมชนร้านค้าในลักษณะนี้บ้างแล้ว แต่ก็เป็นการลงทุนของกลุ่มทุนไทยที่ยังไม่อลังการงานสร้างมากนัก อย่างเช่น ตลาดบองมาเช่ย่านถนนประชานิเวศน์ 1 แหล่งรวมสินค้านานาชนิดที่เปิดบริการมากว่าสิบปี ตลาดยิ่งเจริญย่านสะพานใหม่ที่มีพัฒนาการจากตลาดสดยกระดับให้เป็นตลาดมาตรฐานที่มีการแบ่งพื้นที่ให้ผู้ค้าเช่าขายของอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จากนั้นก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้นเป็นศูนย์สรรพสินค้าครบวงจรมากขึ้น อย่างเช่น เจเจ มอลล์ย่านถนนกำแพงเพชร และตลาดนัดตะวันนา 2 ย่านบางกะปิ โดยโครงสร้างของอาคารออกแบบให้มีความสวยงามพร้อมจัดแบ่งพื้นที่ให้เช่าขายสินค้า 

เหล่านี้คือ ตัวอย่างของศูนย์สรรพสินค้าชุมชนในระยะแรกเริ่มและพัฒนาต่อเนื่องมาจนเข้าสู่ปรากฏการณ์ล่าสุดที่บรรดากลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งเชนห้างสรรพสินค้าและกลุ่มทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จับมือกันสร้างศูนย์สรรพสินค้าชุมชนให้มีรูปแบบทันสมัยเกิดขึ้นทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงบริษัทค้าปลีกข้ามชาติปรับกลยุทธ์มาขยายสาขาในรูปแบบ Community Mall เจาะกลุ่มชุมชนตั้งแต่ระดับรากหญ้าถึงไฮเอ็นด์ ทำให้ถูกจับตาว่า ปรากฏการณ์นี้จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งตามปกติทั่วไป แม้มีไอเดียในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและสินค้าแปลกใหม่ แต่ก็ขาดช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าจะใช้ประโยชน์จากปรากฏการณ์ Community Mall เป็นช่องทางในการแจ้งเกิดธุรกิจได้อีกทางหนึ่ง

ปรากฏการณ์ Community Mall ที่กล่าวมานี้ หากพิจารณาความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่ที่กระโจนเข้าสู่สมรภูมินี้ จะพบความคึกคักของโครงการก่อสร้าง Community Mall ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑลอย่างต่อเนื่อง อาทิ กลุ่มเซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้าสัญชาติไทยที่มีเชนสาขาทั่วประเทศ ได้เปิดให้บริการ ท็อปส์ มาร์เก็ตเพลส ห้างสรรพสินค้าในรูปแบบ Community Mall ในซอยสุขุมวิท 103 (อุดมสุข) ไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา พร้อมประกาศขยายสาขาในรูปแบบนี้เพิ่มอีก 2 แห่งในปีนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล หลังจากนั้นตั้งเป้าหมายขยายสาขารูปแบบ Community Mall เพิ่มอย่างน้อยปีละ 3 แห่ง
   
โดยหากย้อนไปก่อนหน้านี้ก็จะพบว่า Community Mall เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายจากโครงการ เจ อเวนิว ทองหล่อ ของ บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มเมเจอร์กรุ๊ปที่ล่าสุดได้เปิดให้บริการโครงการ Community Mall บริเวณสี่แยกรัชโยธินที่ซื้อพื้นที่ 12 ไร่ ก่อสร้างอาคารขยายพื้นให้เชื่อมต่อกับโรงภาพยนตร์เมเจอร์สาขารัชโยธิน
   
และที่ต้องเอ่ยถึงอีกโครงการ คือ ยูเนี่ยน มอลล์ ที่ตั้งอยู่บริเวณห้าแยกลาดพร้าวตรงข้ามเซ็นทรัลพลาซ่า ผลงานบิ๊กโปรเจ็กต์ของบริษัท สยามจตุจักร จำกัด ที่ในอดีตเคยสร้างชื่อ โบนันซ่า มอลล์ ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามห้างมาบุญครองให้เป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งรวมสินค้าแฟชั่นนานาชนิด นอกจากนี้แล้วโครงการ เซ็นเตอร์ วัน บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิก็เรียกได้ว่าเป็น Community Mall เช่นเดียวกัน

ในด้านของกลุ่มทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อของบริษัท เพียวสัมมากร ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เจ้าของหมู่บ้านสัมมากรก็เป็นที่รู้จักในฐานะผู้พัฒนาพื้นที่ศูนย์สรรพสินค้าในรูปแบบ Community Mall ภายใต้ชื่อโครงการ เพียว เพลส บริเวณหน้าหมู่บ้านสัมมากร รังสิตคลอง 2 ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง Community Mall อีก 2 แห่งบริเวณหมู่บ้านสัมมากร ถนนรามคำแหง และหมู่บ้านสัมมากร ถนนราชพฤกษ์

นอกจากนี้ ยังมีบริษัท เค.อี.แลนด์ จำกัด กลุ่มทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อีกรายที่โดดลงมาสู่ธุรกิจ Community Mall ด้วยการก่อสร้างโครงการ เดอะ คริสตัล บริเวณริมถนนเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา เป็นศูนย์สรรพสินค้าที่เน้นจับกลุ่มระดับไฮเอ็นด์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน Community Mall ที่ถูกกล่าวขานถึงอย่างกว้างขวางในเวลานี้ และอีกผู้ลงทุนสำคัญในการก่อสร้างโครงการ Community Mall ที่ไม่อาจกล่าวถึงไม่ได้ คือ เทสโก้ โลตัส ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกข้ามชาติที่ปรับกลยุทธ์การขยายสาขามาสู่รูปแบบศูนย์สรรพสินค้าที่เป็นมิตรกับชุมชน

โดยเทสโก้ โลตัส ประกาศแผนขยายสาขาในรูปแบบ Community Mall ออกเป็น 3 แบรนด์ คือ @Oasis เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายชุมชนระดับบน @Park เจาะกลุ่มระดับกลาง  และ  @Garden  เจาะกลุ่มระดับล่าง  โดยวางเป้าหมายการก่อสร้างไว้ที่ 5 สาขาในปีนี้ ซึ่งได้ประเดิมเปิดสาขาแรกแล้ว คือ @Oasis บริเวณถนนสามัคคี ซึ่งเทสโก้ โลตัส ตั้งเป้าก่อสร้างเพิ่มอีกในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น ถนนสุขุมวิท 101  ถนนเพชรเกษม  81 และซอยวัดลาดปลาดุก อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ส่วนต่างจังหวัดจะประเดิมที่ จ.ภูเก็ต 2 สาขา ได้แก่ ถนนเจ้าฟ้า และหาดราไวย์

Community Mall แหล่งรวมสินค้าและการนัดพบเมื่อเห็นภาพรวมความคึกคักของปรากฏการณ์ Community Mall ไปบ้างแล้ว คราวนี้ลองมาเจาะลึกศูนย์สรรพสินค้าบางแห่งเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น อาทิ ตลาดบอง มาร์เช่ (Bon Marche) ตลาดขายของดีราคาถูกตามความหมายในภาษาฝรั่งเศส

ปรีดี โอสถสงเคราะห์  ที่ปรึกษา ห้างหุ้นส่วนจำกัด รัจนาการ (2530) บอง มาร์เช่ ผู้มีส่วนรับผิดชอบ Community Mall แห่งนี้ตั้งแต่เริ่มลงเสาเอก กล่าวว่า จุดประสงค์แรกหวังให้เป็นเพียงตลาดสดที่ต้องการลบภาพของตลาดสดเมืองไทยที่ทั้งเฉอะแฉะ สกปรก โหวกเหวก รำคาญใจให้กลายมาเป็นตลาดสดมาตรฐานที่สามารถเดินซื้อของด้วยความสบายใจในราคาที่สมเหตุผล คล้อยหลังเพียง 10 ปี จากเดิมที่มีเพียงของสด อาหารคาวหวานพร้อมรับประทาน กลับพัฒนาขึ้นเป็นอาคารพลาซ่าที่มีผู้ประกอบการอยู่รวมกันมากถึง 615 ห้องจากทั้งหมด 4 อาคาร ซึ่งเกิดจากความต้องการของลูกค้าประจำที่เรียกร้องให้เปิดพื้นที่เพิ่มเพื่อรองรับความต้องการที่มากกว่าการมาหาซื้อของรับประทาน

หากแต่หมายรวมถึงสถานที่ช้อปปิ้งสินค้าในคอนเซ็ปต์เดียวกันนั่นคือ “ของดีราคาถูก” จากความต้องการดังกล่าวผู้บริหารตลาดจึงค่อยๆ เปิดพื้นที่รองรับเพิ่มขึ้น กระทั่งวันนี้สามารถรองรับทุกความต้องการของนักช้อปได้ครบถ้วนบนเนื้อที่ 15 ไร่ ริมถนนเทศบาลสงเคราะห์ และนี่เองที่ทำให้บอง มาร์เช่ คือ Community Mall ระดับแถวหน้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

ส่วน เดอะ คริสตัล (The Crystal) โครงการ Community Mall แห่งแรกบนถนนเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ที่ตอนนี้กลายเป็นแหล่งนัดพบของคนรุ่นใหม่ที่ทำงานหรือพักอาศัยในบริเวณนี้นั้น กวีพันธ์ เอี่ยมสกุลรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค.อี.แลนด์ จำกัด ผู้พัฒนาโครงการบอกว่า จุดเริ่มต้น คือ ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับที่ดิน “แถวนี้หมู่บ้านเยอะครับ แต่ส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก 20-30 ไร่ จับกลุ่มลูกค้า B ขึ้นไป และยังเป็นทำเลของธุรกิจบริการ อย่างธุรกิจบันเทิง สตูดิโอแถวนี้เต็มไปหมด ดาราก็อยู่กันเยอะ ในอดีตไม่มีโครงการไหนรองรับ เราจึงมองไปถึงการสร้าง Community Mall ขึ้นมา มีสถานที่ให้ไปจับจ่ายใช้สอย ทำกิจกรรมต่างๆ เดอะ คริสตัล จะเป็นคล้ายๆ Neighborhood Mall”

คอนเซ็ปต์ของเดอะ คริสตัล คือ ศูนย์สรรพสินค้าที่ไม่มีหลังคา เป็นบรรยากาศสวนให้มานั่งเล่น กินบรรยากาศสบายๆ ซึ่งแตกต่างจาก Community Mall ใจกลางเมืองที่เกิดขึ้นก่อนหน้าตรงที่ความได้เปรียบในเรื่องพื้นที่ที่มากกว่าทำให้สามารถพัฒนาได้เต็มที่ โดยแยกโซนจอดรถไว้รอบนอก แยกออกจากด้านในซึ่งเป็นรูปแบบของ Walking Street เปิดโล่ง 

การเกิด Community Mall ย่านถนนเลียบทางด่วนฯ กวีพันธ์มองว่า ไม่ได้เป็นเทรนด์ ทุกยุคผู้บริโภคต่างต้องการบรรยากาศสบายๆ ขณะที่ชุมชนขยายตัวออกไป การจราจรคับคั่งขึ้น คนไม่อยากเดินทางเข้าเมือง ดังนั้น การสร้างชุมชนใหม่ขึ้นมาจึงตอบสนองกลุ่มเป้าหมายโดยตรง

นอกจากนี้ บริษัทเค.อี.แลนด์ ยังกำลังพัฒนาโครงการศูนย์ค้าปลีกรูปแบบใหม่ คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ (Crystal Design Center) หรือ CDC ในพื้นที่ 70 ไร่บนถนนสายเดียวกัน วางแผนเปิดตัวกลางปี 2552 ซึ่งกวีพันธ์บอกว่า จะเป็นไลฟ์สไตล์มอลล์ในอีกรูปแบบ เน้นเรื่องของตกแต่งบ้าน  

“CDC จะเป็นกลุ่มของตกแต่งบ้านหรือของมีดีไซน์ รวมทั้งของนำเข้าที่เป็นแบรนด์เนม กับสินค้าไทยที่ส่งออก คล้ายๆ กับงาน สถาปนิก, TIFF และ BIG+BIH รวมกัน 3 งาน เป็นสินค้าจากผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของแบรนด์จริงๆ เปิดเป็นบูติกช็อปนำเสนอของที่มีสไตล์ เน้นเป็นไลฟ์สไตล์ มีดีไซน์เก๋ๆ เราโปรโมตไปยังกลุ่ม SMEs ที่มีสินค้าของแต่งบ้านหรืองานประดิษฐ์ต่างๆ อาจจะเป็นกลุ่มที่มีร้านจตุจักรหรือสวนลุมไนท์บาซาร์ เน้นสินค้าดูมีระดับ และได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออกและกลุ่ม Design Object ซึ่งมีแบรนด์ของตัวเอง ผมถือว่าตรงนี้จะเป็นแหล่งรวมสำหรับ SMEs ที่อยู่ในธุรกิจนี้จริงๆ”

อ้างอิงจาก SME Thailand

บทความค้าขายยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ทีมไหน! หา"ทำเล"ก่อนทำธุรกิจ vs เลือก "ธุรกิจ" ก..
406
บทความค้าขายมาใหม่
บทความอื่นในหมวด