บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    ความรู้ทั่วไประบบแฟรนไชส์
8.9K
5 นาที
20 เมษายน 2551
เลือกแฟรนไชส์อย่างไร  
 
สำหรับท่านที่เป็นแฟรนไชซอร์ หัวข้อนี้ก็คงมีประโยชน์สำหรับท่านเช่นกัน หากท่านได้พิเคราะห์พิจารณาดูและปรับปรุงให้มีลักษณะดังกล่าวมากขึ้นเท่าใด ท่านก็จะกลายเป็นแฟรนไชซอร์ที่แฟรนไชซีกำลังมองหามากขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสในการหาแฟรนไชซีของท่านอีกทางหนึ่งด้วยนั่นเอง 
 
  •  สินค้าหรือบริการต้องมีจุดเด่นต่างกับผู้อื่น ลักษณะข้อแรกนี้ถือว่าเป็นตัวที่สำคัญที่สุด และสอดคล้องกับที่กล่าวมาแล้วในการมองหาธุรกิจที่มีอนาคต ทั้งนี้ก็เพราะการที่มีจุดที่แตกต่างจากผู้อื่น ย่อมทำให้กลายเป็นจุดเด่น และมีโอกาสเพิ่มขึ้นในการประกอบธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ที่สำคัญก็คือ จุดเด่นที่แตกต่างนั้นต้องเป็นที่ต้องการของสังคมด้วย การเป็นที่ต้องการของสังคมนี้ บางท่านอาจคิดว่า ในสังคมมีความต้องการหลายอย่าง และธุรกิจแต่ละอย่างก็ล้วนแต่มีจุดเด่นที่ต่างกัน หากเป็นเช่นนี้สิ่งที่ท่านต้องพิจารณาก็คือ จุดเด่นที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดนั่นเอง ตัวอย่างเช่น หากท่านเลือกจะทำธุรกิจอาหารประเภทพิซซ่า ซึ่งมีแฟรนไชส์ตัวที่มีจุดเด่นต่างกัน คือ อันหนึ่งมีจุดเด่นในการบริการที่สามารถให้บริการ แก่ลูกค้าในการส่งอาหารได้ถึงที่บ้าน ขณะที่อีกตัวหนึ่งมีจุดเด่นที่ดีในเรื่องของรสชาติ 
 
สิ่งที่ท่านต้องใช้พิจารณาในการตัดสินใจก็คือ สภาพตลาดหรือสังคมที่ท่านจะประกอบธุรกิจนั้น เช่น หากท่านจะดำเนินธุรกิจในกรุงเทพฯ ซึ่งมีการจราจรติดขัด ค่าเช่าสถานที่ประกอบการก็แพง ความสะดวกที่จะมารับประทานพิซซ่าที่ร้านในทำเลที่ท่านจะทำก็น้อย ท่านไม่มีทำเลที่จะอยู่บนห้างสรรพสินค้าที่เป็นแหล่งรวม หรือหากจะอยู่ก็แพง อาจเสี่ยงต่อการขาดทุนได้โดยง่าย หากแฟรนไชส์พิซซ่าที่มีจุดเด่นด้านการบริการ ไม่ได้มีปัญหาด้านรสชาติมากนัก เพียงแต่ด้อยกว่าเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ถึงกับรสชาติไม่ดี ดังนั้นสภาพตลาดที่ท่านจะทำและจุดเด่นที่จะเป็นที่ต้องการของตลาดนั้นมากกว่าก็คือ การบริการส่งอาหารได้ถึงที่ (Delivery Service)

แต่หากสภาพตลาดของท่านเป็นต่างจังหวัด ซึ่งการจราจรหรือชีวิตของคนยังไม่ค่อยเร่งรัดเช่นคนกรุงเทพฯ และการมาทานอาหารที่ร้านอาหารฝรั่งแบบพิซซ่า เป็นความรู้สึกที่โก้หรูอย่างหนึ่งที่ลูกค้าจะได้รับ ค่าเช่าสถานที่ตามต่างจังหวัดเมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ ก็ต่ำกว่า จุดเด่นของแฟรนไชส์ที่ท่านควรจะเลือกก็คงเป็นด้านรสชาติ เพราะเมื่อลูกค้าจะมาทานที่ร้านและติดใจ ในรสชาติก็จะทำให้เขาอยากมามากขึ้นเมื่อมีโอกาส อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเพื่อการตัดสินใจสุดท้ายก็คงต้องประกอบด้วยลักษณะข้ออื่นๆ ของแฟรนไชซอร์ด้วย

เพื่อดูผลรวมของข้อดีกับข้อเสียลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการเปรียบเทียบเพียงจุดเดียว แต่หากท่านทราบว่า จุดดีและเสียอื่นๆ ไม่ต่างกันมากนัก เมื่อต้องตัดสินใจโดยพิจารณาจากจุดเด่นแล้ว ท่านก็สามารถจะตัดสินใจได้ตามตัวอย่างข้างต้น ทั้งนี้ก็ต้องกล่าวว่า โดยปกติแล้วเรื่องของจุดเด่นของสินค้าและบริการ เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้ ในการพิจารณาตัดสินใจ
 
  •  มีความรู้ หรือ Know-How ที่เป็นระบบ ลักษณะที่ดีของแฟรนไชซอร์ข้อนี้ถือได้ว่า มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าข้อแรก ถ้าจะเปรียบอาจจะกล่าวได้ว่า จุดเด่นของสินค้าหรือบริการก็เป็นเสมือนวัตถุดิบในการผลิตความสำเร็จของธุรกิจ และความรู้ที่เป็นระบบนี้ก็คือ เครื่องจักร ที่จะผลิตความสำเร็จของธุรกิจนั้นออกมา โดยอาศัยวัตถุดิบที่เป็นจุดเด่นนั่นเอง ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะการผลิตใดๆ ที่มีวัตถุดิบที่ดี แต่มีกระบวนการผลิตหรือเครื่องจักรที่ล้าหลังไม่เป็นระบบ ตัวสินค้าสำเร็จรูปที่จะออกมาจาก การผลิตนั้นก็คงไม่สามารถให้คุณภาพได้ดีถึง 100% ดังนั้น จุดเด่นของสินค้าหรือบริการในธุรกิจใดที่ประกอบด้วย ระบบในการจัดการธุรกิจนั้นไม่ดีพอ สินค้าสำเร็จรูปที่ต้องการก็คือ “ผลกำไรทางธุรกิจ” ก็คงเกิดขึ้นได้ยาก ดังตัวอย่างเช่น ถึงแม้ท่านจะมีเนื้อ หรือขนมปัง รวมถึงตัวประกอบอื่นๆ ในการทำแฮมเบอร์เกอร์ดีเพียงใด 
 
แต่หากไม่มีระบบการจัดการ วิธีการปรุง หรือทำแฮมเบอร์เกอร์ที่ดีพอ ยังคงต้องอาศัยความสามารถของคนปรุงที่แต่ละคนแตกต่างกัน ในการสังเกตว่า เนื้อหรือขนมปังที่ปรุงนั้นได้ที่หรือยัง กุ๊กบางคนก็จะทำเนื้อสุกเกินไป บางคนทำดิบเกินไป บางคนก็อาจทำขนมปังไหม้เกินไป ท่านเชื่อไหมว่า แฮมเบอร์เกอร์ที่ได้ซึ่งมีคุณภาพหรือรสชาติที่ต่างกัน จะทำให้ท่านประสบความสำเร็จในการขาย ต่างกับแฟรนไชส์อย่างแมคโดนัลด์ที่ใช้อุปกรณ์และระบบการควบคุม ทั้งความร้อน อุณหภูมิ และเวลาที่ใช้ในการทำอาหารแต่ละชนิด ซึ่งท่านที่เคยเข้าร้านแมคโดนัลด์ คงเคยได้ยินเสียง ปี๊บๆ จากเครื่องปรุงที่คอยเตือนผู้ประกอบอาหารได้ทราบว่าอาหารสุกได้ที่ และสามารถหยิบขึ้นจากเตาได้ เป็นต้น ด้วยระบบดังกล่าวแม้แต่คนที่ตาบอดก็ยังสามารถบอกได้ว่าอาหารสุกแล้ว ท่านคิดว่าระบบแบบนี้จะทำให้ท่านที่ประกอบธุรกิจ สามารถประสบความสำเร็จได้มากกว่าไหม แม้ว่าคุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้อาจจะไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างที่ยกให้เห็นข้างต้นคงไม่สามารถที่จะใช้กับธุรกิจทุกชนิดได้ ทั้งนี้ก็เพราะธุรกิจแต่ละประเภทนั้นมีความแตกต่างกัน แต่หลักการที่ท่านยังคงสามารถใช้ได้ก็คือ การพิจารณาดูว่า ความรู้ หรือ Know – How ที่แฟรนไชซอร์มีนั้น ได้ถูกจัดมาให้เป็นระบบเพื่อการปฏิบัติงานที่ง่ายขึ้น หรือง่ายกว่าแฟรนไชส์อื่นที่เปรียบเทียบหรือไม่ หาก ใช่ ท่านก็คงจะทราบได้ว่าท่านควรจะเลือกแฟรนไชส์ใด
 
  • มีตัวอย่างความสำเร็จแสดงให้เห็น ลักษณะที่ดีข้อนี้ก็เป็นข้อที่ต่อเนื่องมาจากข้อที่แล้ว ในเรื่องของความรู้ หรือ Know – How ที่เป็นระบบ ซึ่งได้เคยกล่าวย้ำมาแล้วหลายต่อหลายครั้งว่า “ความรู้ความสามารถหรือระบบที่บอกว่าดี จะต้องสามารถพิสูจน์ได้ หรือกล่าวคือ ต้องมีตัวอย่างความสำเร็จแสดงให้เห็นได้โดยแฟรนไชซอร์ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่โครงการในแผ่นกระดาษ หรืออธิบายด้วยแค่คำพูดของเจ้าของกิจการ 
 
ทั้งนี้ก็เพราะว่าสิ่งที่ท่านในฐานะไชซีกำลังมองหา ก็คือ ความสำเร็จ ไม่ใช่ไอเดียดีๆ หรือสิ่งที่ดูดี แต่รอการพิสูจน์” ดังนั้น ความสำเร็จที่ท่านต้องการ จึงต้องประกอบไปด้วยความสำเร็จของแฟรนไชซอร์ที่ปฏิบัติมาแล้ว ซึ่งหมายถึงความมั่นใจ และเวลาของท่านที่จะประหยัดโดยท่านไม่ต้องทำการลองผิดลองถูกด้วยตัวท่านเอง และเป็นมูลค่าที่ท่านจะต้องจ่ายคือ ค่าสิทธิที่ให้กับแฟรนไชซอร์ ลองคิดดูว่า ที่ท่านต้องจ่ายคือเงินและชีวิตในการดำเนินธุรกิจซึ่งเปลี่ยนไม่ได้ เหมือนเพชรที่ท่านกำลังจะซื้อ ท่านจะยินดีจ่ายเงินซื้อเพชรที่รอการพิสูจน์ว่าเป็นเพชรเลี้ยงหรือเพชรท้า ซึ่งตัวท่านก็ดูไม่ออก เพราะท่านไม่มีความรู้ในการดูเพชร เช่นเดียวกับที่ท่านไม่มีความรู้ในการประกอบธุรกิจนั้น หรือท่านจะซื้อเพชรที่มีเครื่องหมายการรับประกันว่าเป็นเพชรแท้ เหมือนกับตัวอย่างของความสำเร็จที่แฟรนไชซอร์ ได้ปฏิบัติมาแล้ว อันที่จริงแล้ว ยิ่งตัวอย่างความสำเร็จของแฟรนไชซอร์ที่มีให้ท่านเห็นมากเท่าไร ก็หมายถึงความมั่นใจของท่านที่มีมากขึ้น และเป็นมูลค่าที่ท่านต้องจ่ายมากขึ้นด้วยในเรื่องของการลงทุน 
 
ซึ่งท่านจะสังเกตเห็นได้ว่าแฟรนไชส์ใหญ่ๆ ที่ประสบความสำเร็จมากๆ จึงมักมีราคาค่อนข้างสูง ท่านที่ได้อ่านเรื่องของความเสี่ยงและผลกำไรในการเลือกแฟรนไชส์ในเล่มที่แล้ว (ท่านพร้อมหรือยัง – ถ้าจะทำธุรกิจแฟรนไชส์) คงจะมีความเข้าใจในเรื่องนี้ได้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จที่ต้องมีตัวอย่างแสดงให้เห็นนี้คือ การลดความเสี่ยงที่ดีที่สุด จำไว้เสมอว่า ความเสี่ยงที่ไม่ควรเสี่ยง ก็คือ ความสำเร็จที่ไม่มีตัวอย่างให้ท่านเห็น ทั้งนี้ก็เพราะธุรกิจไม่ใช่เพียงแค่ เงินบาทที่ท่านต้องจ่าย แต่เป็น เวลาที่ท่านต้องเสียไป กับการพิสูจน์ซึ่ง เรียกคืนไม่ได้ อีกเลย
 
  • มีประสบการณ์ในธุรกิจนานพอ ลักษณะข้อนี้เป็นอีกข้อหนึ่งที่จะทำให้ท่านในฐานะแฟรนไชซีมีความมั่นใจมากขึ้น เมื่อแฟรนไชซอร์ที่ท่านเลือกมีประสบการณ์ในธุรกิจที่นานพอ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้ก็เพราะประสบการณ์ที่นานพอเป็นสิ่งที่บอกท่านได้ว่า แฟรนไขซอร์ได้เผชิญทั้งข้อดีและข้อเสียของการให้ระบบหรือจุดต่างๆ ที่เขามีและได้ทำการปรับปรุงจนประสบความสำเร็จมาแล้ว หากระยะเวลาที่ยังไม่นานพอก็เป็นไปได้ว่าสิ่งที่เขาทำหรือใช้นั้น ข้อเสียอาจจะยังไม่ปรากฎ หรือเขาเองก็อาจจะยังเรียนรู้ไม่ได้ทั้งหมดว่าธุรกิจนั้นเป็นอย่างไร ดังสุภาษิตที่ว่า “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน” ฉันใดก็ฉันนั้น ธุรกิจบางอย่างที่อาจประสบความสำเร็จในช่วงแรก อาจไม่ได้หมายความถึงความสำเร็จในระยะยาว แล้วที่ท่านในฐานะแฟรนไชซีต้องการคือธุรกิจระยะยาว หรือระยะสั้น หลายท่านคงเห็นด้วยถึงลักษณะข้อนี้ของแฟรนไชซอร์ว่า ระยะเวลาของประสบการณ์สามารถช่วยเราในการพิสูจน์ความรู้ ความสามารถหรือจุดเด่นต่างๆ ที่แฟรนไชซอร์มี ว่าจะมีอยู่และรองรับกับปัญหาต่างๆ ได้นานหรือมากขนาดไหน ด้วยระยะเวลาและประสบการณ์ของแฟรนไชซอร์ในธุรกิจที่นานพอ หากท่านได้พิจารณาการใช้อย่างถูกต้อง เชื่อว่าท่านจะลดความเสี่ยงในการลงทุนไปได้มาก อันเป็นผลทำให้ท่านมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ดีกว่า 
     
  •  มีชื่อเสียงดี ชื่อเสียงที่ดีของแฟรนไชซอร์ ถือได้ว่าเป็นลักษณะที่ดีและสำคัญที่สุดข้อหนึ่งที่แฟรนไชซีสามารถ ใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินเลือกแฟรนไชส์ ทั้งนี้ เพราะชื่อเสียงที่ดีของแฟรนไชซอร์หมายถึง ความนิยมชมชอบของผู้บริโภคต่อธุรกิจโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นตัวสินค้า ระบบและรูปแบบการให้บริการ รวมถึงความสามารถของบุคลากร ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ชื่อเสียงที่ดีของแฟรนไชซอร์จึงเป็นสัญลักษณ์

    ดังที่กล่าวมาแล้วว่า การพิจารณาตัวของแฟรนไชซอร์จำเป็นต้องดูระบบที่พิสูจน์ได้ โดยมีตัวอย่างแสดงให้เห็นดังนั้น แฟรนไชซอร์ใดที่มีชื่อเสียงในสายตาของผู้บริโภคด้วยแล้ว ย่อมหมายถึงตัวอย่างของความสำเร็จที่เหนือกว่าตัวอย่างอื่นใดที่กล่าวเช่นนั้น เพราะผู้บริโภคเปรียบเสมือนกรรมการตัดสินที่ดีที่สุดสำหรับท่าน ในการพิจารณาดูว่าแฟรนไชซอร์ไหนจะดีกว่ากัน ดังนั้น การดำเนินธุรกิจของท่านด้วยแฟรนไชส์ที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ย่อมหมายถึงความต้องการและความยอมรับที่มีอยู่ในตลาดอยู่แล้ว ทำให้ท่านในฐานะแฟรนไชซีสามารถหาลูกค้าได้ง่ายขึ้น เป็นที่ยอมรับได้ง่ายขึ้นเมื่อดำเนินธุรกิจนั้น ซึ่งหมายถึงความสำเร็จที่ง่ายขึ้นด้วย ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เพราะผลพวงจากชื่อเสียงของแฟรนไชซอร์ที่สร้างมา เพราะผลพวงของชื่อเสียงดังกล่าวที่ส่งผลดีได้โดยตรงกับการดำเนินธุรกิจแฟรนไชซี ทำให้ค่าใช้จ่ายที่แฟรนไชซีจะต้องจ่ายแก่แฟรนไชซอร์จะ เพิ่มมากขึ้นเมื่อชื่อเสียงของระบบมีมากขึ้น แต่หากพิจารณาจากค่าใช้จ่ายเปรียบเทียบกับ ผลสำเร็จที่แฟรนไชซีจะได้จากชื่อเสียงที่ดีนั้น ก็เรียกได้ว่าคุ้มค่ามากกว่า ทั้งนี้ก็เพราะการลงทุนในการสร้างชื่อเสียง เป็นสิ่งที่ต้องใช้ทั้งเวลาและเงินทอง และในฐานะของแฟรนไชซี หากเลือกประกอบการอย่างอิสระนอกระบบแฟรนไชส์แล้ว การสร้างชื่อเสียงด้วยสาขาของตนเพียงแห่งเดีย คงเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับชื่อเสียงของธุรกิจในระบบแฟรนไชส์
  •  ธุรกิจมีการเติบโต ลักษณะข้อนี้เป็นลักษณะที่เคยกล่าวไว้ในเรื่อง การมองธุรกิจที่มีอาณาคตว่า ธุรกิจที่มีอนาคตคือ ธุรกิจที่กำลังเติบโต ดังนั้น การเลือกแฟรนไชซอร์ที่มีธุรกิจที่กำลัง เติบโตก็เท่ากับเลือกแฟรนไชซอร์ที่มีอนาคตนั่นเอง ในเรื่องของธุรกิจที่มีการเติบโต โดยเฉพาะธุรกิจในระบบแฟรนไชส์นั้น เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็ต้องขอย้ำไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งว่าการเติบโตของธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ มิได้หมายถึง การเติบโตของจำนวนสาขา 
 
หากแต่เป็นการเติบโตของปริมาณความต้องการของลูกค้าที่มีอยู่ในตลาด กล่าวคือ แฟรนไชส์ใดก็ตามหากมีปริมาณลูกค้า และความต้องการ หรือชื่อเสียง ความนิยมชมชอบของผู้บริโภคที่มากกว่า ซึ่งอาจดูได้โดยง่ายจากยอดขายที่ทำได้ ถึงแม้จะมีจำนวนสาขาที่น้อยกว่าแฟรนไชส์อื่นอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็หมายความถึงอนาคตที่ดีกว่าของแฟรนไชส์นั้น ด้วยเหตุนี้ การดูลักษณะของแฟรนไชซอร์ที่ดีในเรื่องการเติบโตของธุรกิจ จึงมิใช่การดูที่จำนวนสาขาอย่างที่หลายต่อหลายคนเคยเข้าใจผิด และใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาเลือกแฟรนไชซอร์ แต่การพิจารณาจำนวนสาขา จำเป็นต้องควบคู่ไปกับปริมาณความต้องการของตลาดที่เป็นลูกค้าด้วย ยิ่งตลาดมีความต้องการมาก การเปิดสาขาที่มากขึ้นก็ทำได้โดยง่าย ตรงกันข้ามหากตลาดมีความต้องการที่ไม่มากพอ แม้จะมีสาขามากในช่วงแรก แต่ก็จะลดลงได้ในเวลาต่อมานั่นเอง 
 
  •  มีการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่เสมอ เพราะธุรกิจในโลกที่มีการเคลื่อนไหวไม่เคยหยุดนิ่ง ความต้องการของผู้บริโภคก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งการแข่งขันที่นับวันมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ความจำเป็นในการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพของธุรกิจ จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ทั้งที่เป็นแฟรนไชส์และนอกระบบแฟรนไชส์ ก็ล้วนแต่มีการพัฒนาปรับปรุงระบบ สินค้าการบริการ รวมถึง รูปแบบต่างๆ ให้ดีขึ้นและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอยู่เสมอ 
ดังตัวอย่างของแฟรนไชส์ใหญ่ๆ อย่างแมคโดนัลด์ ที่คอยพัฒนาปรับปรุง ออกสินค้าใหม่ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ลิ้มลอง ไม่ว่าจะเป็น แฮมเบอร์เกอร์ หรือพายสอดไส้ผลไม้ชนิดต่างๆ การจัดกิจกรรมรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้เด็กๆ ที่เป็นลูกค้ารู้สึกสนุกสนาน และอยากที่จะมาบ่อยๆ รวมถึงการตกต่างร้านใหม่ ให้มีความสดใส ทันสมัย เป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้บริโภคอยู่เสมอๆ หรือแม้แต่ตัวอย่างของร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่นอีเลฟเว่น ที่คอยศึกษาพิจารณาดูรายการสินค้าต่างๆ ในร้านอยู่เสมอว่า ชนิดไหนขายดี ชนิดไหนขายไม่ดี และมีสินค้าใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนหรือเสริมเพื่อสร้างรายได้ในร้านให้มากขึ้นได้ไหม การจัดบริการรูปแบบของเคาน์เตอร์เซอร์วิส ที่ทางเซเว่นอีเลฟเว่นกำลังดำเนินงาน ก็เป็นการช่วยเพิ่มการบริการให้แก่ลูกค้าที่มาใช้บริการได้มากขึ้น การพัฒนาปรับปรุงเป็นเรื่องของอนาคตซึ่งยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น การพิจารณาว่าแฟรนไชวอร์ใดมีลักษณะข้อดีนี้หรือไม่ จึงเป็นสิ่งที่อาจจะสังเกตได้ยาก หากใช้ปัจจุบันเป็นเกณฑ์ แต่วิธีการที่ท่านในฐานะ แฟรนไชส์ที่จะทำได้ก็คือ การดูจากประวัติการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า แฟรนไชซอร์มีการปรับปรุ่งสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นหรือไม่ เช่น มีสินค้าใหม่ออกมาไหม มีการพัฒนาระบบให้ทันสมัยขึ้นหรือไม่ หรือได้แต่อยู่กับที่ ไม่มีการพัฒนา จาก 
 
ลักษณะที่ดีของแฟรนไชซอร์ทั้ง 7 ข้อที่ผ่านมา คงจะช่วยให้ท่านเข้าใจลักษณะของแฟรนไชซอร์ที่ท่านกำลังมองหาได้ง่ายขึ้น แน่นอนที่ว่าท่านอาจไม่สามารถหาแฟรนไชซอร์ที่มีลักษณะดีต่างๆ ได้ตามดังที่ต้องการ แต่สิ่งที่ท่านต้องทำก็คือ การมองหาผู้ที่มีคุณสมบัติที่ดีที่สุด เพื่อให้ท่านตัดสินใจได้ในท้ายที่สุดว่า ที่ดีที่สุดที่มีนั้น ดีพอกับการตัดสินใจของท่านหรือยัง
 
ที่มา: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนมิถุนายน 2567
7,566
ส่อง 72 แฟรนไชส์น่าสอยมาลงทุน ครึ่งปีหลัง 2567
4,301
กลับมาแล้วแฟรนไชส์โจ๊ก เฮลตี้ฟู้ดขายง่ายกำไรดี
1,598
เดือดแน่! 6 แฟรนไชส์ไอศกรีมและชาผลไม้ ราคาถูก จ่..
1,353
จริงมั้ย ซื้อแฟรนไชส์ ยืมจมูกคนอื่นหายใจ
815
ซื้อแฟรนไชส์ อย่าให้เป็นทาส แต่ให้เป็นนายตัวเองท..
807
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด