บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    ความรู้ทั่วไประบบแฟรนไชส์
6.0K
5 นาที
17 กันยายน 2555
วิธีการเลือกแฟรนไชส์ อย่างไร? ให้ถูกใจ
 

สำหรับท่านที่เป็นแฟรนไชซอร์ (Franchisor) หัวข้อนี้ก็คงมีประโยชน์สำหรับท่านเช่นกัน หากท่านได้พิเคราะห์พิจารณาดูและปรับปรุงให้มีลักษณะดังกล่าวมากขึ้นเท่าใด ท่านก็จะกลายเป็นแฟรนไชซอร์ (Franchisor) ที่แฟรนไชซี (Franchisee) กำลังมองหามากขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสในการหาแฟรนไชซี (Franchisee) ของท่านอีกทางหนึ่งด้วยนั่นเอง
 
1. สินค้าหรือบริการต้องมีจุดเด่นต่างกับผู้อื่น 
 
ลักษณะข้อแรกนี้ถือว่าเป็นตัวที่สำคัญที่สุดและสอดคล้องกับที่กล่าวมาแล้วในการมองหาธุรกิจที่มีอนาคต ทั้งนี้ก็เพราะการที่มีจุดที่แตกต่างจากผู้อื่น ย่อมทำให้กลายเป็นจุดเด่นและมีโอกาสเพิ่มขึ้นในการประกอบธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ที่สำคัญก็คือจุดเด่นที่แตกต่างนั้นต้องเป็นที่ต้องการของสังคมด้วย การเป็นที่ต้องการของสังคมนี้ บางท่านอาจคิดว่า ในสังคมมีความต้องการหลายอย่างและธุรกิจแต่ละอย่างก็ล้วนแต่มีจุดเด่นที่ต่างกัน หากเป็นเช่นนี้สิ่งที่ท่านต้องพิจารณาก็คือ จุดเด่นที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดนั่นเอง ตัวอย่างเช่น หากท่านเลือกจะทำธุรกิจอาหารประเภทพิซซ่า ซึ่งมีแฟรนไชส์ (Franchise) ตัวที่มีจุดเด่นต่างกัน คือ อันหนึ่งมีจุดเด่นในการบริการที่สามารถให้บริการแก่ลูกค้าในการส่งอาหารได้ถึงที่บ้าน ขณะที่อีกตัวหนึ่งมีจุดเด่นที่ดีในเรื่องของรสชาติ
 
สิ่งที่ท่านต้องใช้พิจารณาในการตัดสินใจก็คือ สภาพตลาดหรือสังคมที่ท่านจะประกอบธุรกิจนั้น เช่น หากท่านจะดำเนินธุรกิจในกรุงเทพฯ ซึ่งมีการจราจรติดขัด ค่าเช่าสถานที่ประกอบการก็แพง ความสะดวกที่จะมารับประทานพิซซ่าที่ร้านในทำเลที่ท่านจะทำก็น้อย ท่านไม่มีทำเลที่จะอยู่บนห้างสรรพสินค้าที่เป็นแหล่งรวม หรือหากจะอยู่ก็แพง อาจเสี่ยงต่อการขาดทุนได้โดยง่าย หากแฟรนไชส์พิซซ่าที่มีจุดเด่นด้านการบริการ ไม่ได้มีปัญหาด้านรสชาติมากนัก เพียงแต่ด้อยกว่าเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ถึงกับรสชาติไม่ดี

ดังนั้นสภาพตลาดที่ท่านจะทำและจุดเด่นที่จะเป็นที่ต้องการของตลาดนั้นมากกว่าก็คือ การบริการส่งอาหารได้ถึงที่ (Delivery Service) แต่หากสภาพตลาดของท่านเป็นต่างจังหวัด ซึ่งการจราจรหรือชีวิตของคนยังไม่ค่อยเร่งรัดเช่นคนกรุงเทพฯ และการมาทานอาหารที่ร้านอาหารฝรั่งแบบพิซซ่า เป็นความรู้สึกที่โก้หรูอย่างหนึ่งที่ลูกค้าจะได้รับ ค่าเช่าสถานที่ตามต่างจังหวัดเมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ ก็ต่ำกว่า

จุดเด่นของแฟรนไชส์ที่ท่านควรจะเลือกก็คงเป็นด้านรสชาติ เพราะเมื่อลูกค้าจะมาทานที่ร้านและติดใจ ในรสชาติก็จะทำให้เขาอยากมามากขึ้นเมื่อมีโอกาส อย่างไรก็ตามการพิจารณาเพื่อการตัดสินใจสุดท้ายก็คงต้องประกอบด้วยลักษณะข้ออื่นๆ ของแฟรนไชซอร์ (Franchisor) ด้วย เพื่อดูผลรวมของข้อดีกับข้อเสียลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการเปรียบเทียบเพียงจุดเดียว

แต่หากท่านทราบว่า จุดดีและเสียอื่นๆ ไม่ต่างกันมากนัก เมื่อต้องตัดสินใจโดยพิจารณาจากจุดเด่นแล้ว ท่านก็สามารถจะตัดสินใจได้ตามตัวอย่างข้างต้น ทั้งนี้ก็ต้องกล่าวว่า โดยปกติแล้วเรื่องของจุดเด่นของสินค้าและบริการ เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้ ในการพิจารณาตัดสินใจ
 
2. มีความรู้ หรือ Know-How ที่เป็นระบบ 

ลักษณะที่ดีของแฟรนไชซอร์ (Franchisor) ข้อนี้ถือได้ว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าข้อแรก ถ้าจะเปรียบอาจจะกล่าวได้ว่า จุดเด่นของสินค้าหรือบริการก็เป็นเสมือนวัตถุดิบในการผลิตความสำเร็จของธุรกิจและความรู้ที่เป็นระบบนี้ก็คือ เครื่องจักรที่จะผลิตความสำเร็จของธุรกิจนั้นออกมา โดยอาศัยวัตถุดิบที่เป็นจุดเด่นนั่นเอง ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะการผลิตใดๆ ที่มีวัตถุดิบที่ดี แต่มีกระบวนการผลิตหรือเครื่องจักรที่ล้าหลังไม่เป็นระบบ ตัวสินค้าสำเร็จรูปที่จะออกมาจาก การผลิตนั้นก็คงไม่สามารถให้คุณภาพได้ดีถึง 100%

ดังนั้น จุดเด่นของสินค้าหรือบริการในธุรกิจใดที่ประกอบด้วย ระบบในการจัดการธุรกิจนั้นไม่ดีพอ สินค้าสำเร็จรูปที่ต้องการก็คือ “ผลกำไรทางธุรกิจ” ก็คงเกิดขึ้นได้ยาก ดังตัวอย่างเช่น ถึงแม้ท่านจะมีเนื้อหรือขนมปัง รวมถึงตัวประกอบอื่นๆ ในการทำแฮมเบอร์เกอร์ดีเพียงใด แต่หากไม่มีระบบการจัดการ วิธีการปรุงหรือทำแฮมเบอร์เกอร์ที่ดีพอ ยังคงต้องอาศัยความสามารถของคนปรุงที่แต่ละคนแตกต่างกัน ในการสังเกตว่าเนื้อหรือขนมปังที่ปรุงนั้นได้ที่หรือยัง กุ๊กบางคนก็จะทำเนื้อสุกเกินไป บางคนทำดิบเกินไป บางคนก็อาจทำขนมปังไหม้เกินไป ท่านเชื่อไหมว่า แฮมเบอร์เกอร์ที่ได้ซึ่งมีคุณภาพหรือรสชาติที่ต่างกัน จะทำให้ท่านประสบความสำเร็จในการขาย ต่างกับแฟรนไชส์อย่างแมคโดนัลด์ที่ใช้อุปกรณ์และระบบการควบคุม ทั้งความร้อน อุณหภูมิ และเวลาที่ใช้ในการทำอาหารแต่ละชนิด

ซึ่งท่านที่เคยเข้าร้านแมคโดนัลด์ คงเคยได้ยินเสียง ปี๊บๆ จากเครื่องปรุงที่คอยเตือนผู้ประกอบอาหารได้ทราบว่าอาหารสุกได้ที่ และสามารถหยิบขึ้นจากเตาได้ เป็นต้น ด้วยระบบดังกล่าวแม้แต่คนที่ตาบอดก็ยังสามารถบอกได้ว่าอาหารสุกแล้ว ท่านคิดว่าระบบแบบนี้จะทำให้ท่านที่ประกอบธุรกิจ สามารถประสบความสำเร็จได้มากกว่าไหม แม้ว่าคุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้อาจจะไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างที่ยกให้เห็นข้างต้นคงไม่สามารถที่จะใช้กับธุรกิจทุกชนิดได้

ทั้งนี้ก็เพราะธุรกิจแต่ละประเภทนั้นมีความแตกต่างกัน แต่หลักการที่ท่านยังคงสามารถใช้ได้ก็คือ การพิจารณาดูว่า ความรู้ หรือ Know–How ที่แฟรนไชซอร์ (Franchisor) มีนั้น ได้ถูกจัดมาให้เป็นระบบเพื่อการปฏิบัติงานที่ง่ายขึ้น หรือง่ายกว่าแฟรนไชส์ (Franchise) อื่นที่เปรียบเทียบหรือไม่ หาก ใช่ ท่านก็คงจะทราบได้ว่าท่านควรจะเลือกแฟรนไชส์ (Franchise) ใด
 
3. มีตัวอย่างความสำเร็จแสดงให้เห็น 

ลักษณะที่ดีข้อนี้ก็เป็นข้อที่ต่อเนื่องมาจากข้อที่แล้ว ในเรื่องของความรู้ หรือ Know–How ที่เป็นระบบ ซึ่งได้เคยกล่าวย้ำมาแล้วหลายต่อหลายครั้งว่า "ความรู้ความสามารถหรือระบบที่บอกว่าดี จะต้องสามารถพิสูจน์ได้ หรือกล่าวคือ ต้องมีตัวอย่างความสำเร็จแสดงให้เห็นได้โดยแฟรนไชซอร์ (Franchisor) ไม่ใช่เป็นเพียงแค่โครงการในแผ่นกระดาษหรืออธิบายด้วยแค่คำพูดของเจ้าของกิจการ ทั้งนี้ก็เพราะว่าสิ่งที่ท่านในฐานะแฟรนไชซี (Franchisee) กำลังมองหา ก็คือความสำเร็จ ไม่ใช่ไอเดียดีๆ หรือสิ่งที่ดูดีแต่รอการพิสูจน์” ดังนั้นความสำเร็จที่ท่านต้องการ จึงต้องประกอบไปด้วยความสำเร็จของแฟรนไชซอร์ (Franchisor) ที่ปฏิบัติมาแล้ว

ซึ่งหมายถึงความมั่นใจ และเวลาของท่านที่จะประหยัดโดยท่านไม่ต้องทำการลองผิดลองถูกด้วยตัวท่านเองและเป็นมูลค่าที่ท่านจะต้องจ่ายคือ ค่าสิทธิที่ให้กับแฟรนไชซอร์ (Franchisor) ลองคิดดูว่า ที่ท่านต้องจ่ายคือเงินและชีวิตในการดำเนินธุรกิจซึ่งเปลี่ยนไม่ได้ เหมือนเพชรที่ท่านกำลังจะซื้อ ท่านจะยินดีจ่ายเงินซื้อเพชรที่รอการพิสูจน์ว่าเป็นเพชรเลี้ยงหรือเพชรท้า ซึ่งตัวท่านก็ดูไม่ออก เพราะท่านไม่มีความรู้ในการดูเพชร เช่นเดียวกับที่ท่านไม่มีความรู้ในการประกอบธุรกิจนั้น หรือท่านจะซื้อเพชรที่มีเครื่องหมายการรับประกันว่าเป็นเพชรแท้ เหมือนกับตัวอย่างของความสำเร็จที่แฟรนไชซอร์ (Franchisor) ได้ปฏิบัติมาแล้ว อันที่จริงแล้วยิ่งตัวอย่างความสำเร็จของแฟรนไชซอร์ (Franchisor) ที่มีให้ท่านเห็นมากเท่าไร ก็หมายถึงความมั่นใจของท่านที่มีมากขึ้นและเป็นมูลค่าที่ท่านต้องจ่ายมากขึ้นด้วยในเรื่องของการลงทุน
 
ซึ่งท่านจะสังเกตเห็นได้ว่าแฟรนไชส์ (Franchise) ใหญ่ๆ ที่ประสบความสำเร็จมากๆ จึงมักมีราคาค่อนข้างสูง แต่อย่างไรก็ตามความสำเร็จที่ต้องมีตัวอย่างแสดงให้เห็นนี้คือ การลดความเสี่ยงที่ดีที่สุด จำไว้เสมอว่า ความเสี่ยงที่ไม่ควรเสี่ยงก็คือ ความสำเร็จที่ไม่มีตัวอย่างให้ท่านเห็น ทั้งนี้ก็เพราะธุรกิจไม่ใช่เพียงแค่ เงินบาทที่ท่านต้องจ่าย แต่เป็นเวลาที่ท่านต้องเสียไปกับการพิสูจน์ซึ่งเรียกคืนไม่ได้อีกเลย
 
4. มีประสบการณ์ในธุรกิจนานพอ
 
ลักษณะข้อนี้เป็นอีกข้อหนึ่งที่จะทำให้ท่านในฐานะแฟรนไชซี (Franchisee) มีความมั่นใจมากขึ้น เมื่อแฟรนไชซอร์ (Franchisor) ที่ท่านเลือกมีประสบการณ์ในธุรกิจที่นานพอ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้ก็เพราะประสบการณ์ที่นานพอเป็นสิ่งที่บอกท่านได้ว่า แฟรนไขซอร์ (Franchisor) ได้เผชิญทั้งข้อดีและข้อเสียของการให้ระบบหรือจุดต่างๆ ที่เขามีและได้ทำการปรับปรุงจนประสบความสำเร็จมาแล้ว หากระยะเวลาที่ยังไม่นานพอก็เป็นไปได้ว่าสิ่งที่เขาทำหรือใช้นั้น ข้อเสียอาจจะยังไม่ปรากฎหรือเขาเองก็อาจจะยังเรียนรู้ไม่ได้ทั้งหมดว่าธุรกิจนั้นเป็นอย่างไร

ดังสุภาษิตที่ว่า “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน” ฉันใดก็ฉันนั้น ธุรกิจบางอย่างที่อาจประสบความสำเร็จในช่วงแรก อาจไม่ได้หมายความถึงความสำเร็จในระยะยาว แล้วที่ท่านในฐานะแฟรนไชซี (Franchisee) ต้องการคือธุรกิจระยะยาวหรือระยะสั้น หลายท่านคงเห็นด้วยถึงลักษณะข้อนี้ของแฟรนไชซอร์ (Franchisor) ว่า ระยะเวลาของประสบการณ์สามารถช่วยเราในการพิสูจน์ความรู้ ความสามารถหรือจุดเด่นต่างๆ ที่แฟรนไชซอร์ (Franchisor) มี ว่าจะมีอยู่และรองรับกับปัญหาต่างๆ ได้นานหรือมากขนาดไหน ด้วยระยะเวลาและประสบการณ์ของแฟรนไชซอร์ (Franchisor) ในธุรกิจที่นานพอ หากท่านได้พิจารณาการใช้อย่างถูกต้อง เชื่อว่าท่านจะลดความเสี่ยงในการลงทุนไปได้มาก อันเป็นผลทำให้ท่านมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ดีกว่า
 
5. มีชื่อเสียงดี 

ชื่อเสียงที่ดีของแฟรนไชซอร์ (Franchisor) ถือได้ว่าเป็นลักษณะที่ดีและสำคัญที่สุดข้อหนึ่งที่แฟรนไชซี (Franchisee) สามารถใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินเลือกแฟรนไชส์ (Franchise) ทั้งนี้เพราะชื่อเสียงที่ดีของแฟรนไชซอร์ (Franchisor) หมายถึงความนิยมชมชอบของผู้บริโภคต่อธุรกิจโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นตัวสินค้า ระบบและรูปแบบการให้บริการ รวมถึงความสามารถของบุคลากร ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าชื่อเสียงที่ดีของแฟรนไชซอร์ (Franchisor)

จึงเป็นสัญลักษณ์ ดังที่กล่าวมาแล้วว่า การพิจารณาตัวของแฟรนไชซอร์ (Franchisor) จำเป็นต้องดูระบบที่พิสูจน์ได้ โดยมีตัวอย่างแสดงให้เห็นดังนั้น แฟรนไชซอร์ (Franchisor) ใดที่มีชื่อเสียงในสายตาของผู้บริโภคด้วยแล้ว ย่อมหมายถึงตัวอย่างของความสำเร็จที่เหนือกว่าตัวอย่างอื่นใดที่กล่าวเช่นนั้น เพราะผู้บริโภคเปรียบเสมือนกรรมการตัดสินที่ดีที่สุดสำหรับท่าน ในการพิจารณาดูว่าแฟรนไชซอร์ (Franchisor) ไหนจะดีกว่ากัน

ดังนั้นการดำเนินธุรกิจของท่านด้วยแฟรนไชส์ (Franchise) ที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ย่อมหมายถึงความต้องการและความยอมรับที่มีอยู่ในตลาดอยู่แล้ว ทำให้ท่านในฐานะแฟรนไชซี (Franchisee) สามารถหาลูกค้าได้ง่ายขึ้น เป็นที่ยอมรับได้ง่ายขึ้นเมื่อดำเนินธุรกิจนั้น ซึ่งหมายถึงความสำเร็จที่ง่ายขึ้นด้วย

ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เพราะผลพวงจากชื่อเสียงของแฟรนไชซอร์ (Franchisor) ที่สร้างมา เพราะผลพวงของชื่อเสียงดังกล่าวที่ส่งผลดีได้โดยตรงกับการดำเนินธุรกิจแฟรนไชซี (Franchisee) ทำให้ค่าใช้จ่ายที่แฟรนไชซี (Franchisee) จะต้องจ่ายแก่แฟรนไชซอร์ (Franchisor) จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อชื่อเสียงของระบบมีมากขึ้น แต่หากพิจารณาจากค่าใช้จ่ายเปรียบเทียบกับ ผลสำเร็จที่แฟรนไชซี (Franchisee) จะได้จากชื่อเสียงที่ดีนั้นก็เรียกได้ว่าคุ้มค่ามากกว่า ทั้งนี้ก็เพราการลงทุนในการสร้างชื่อเสียง เป็นสิ่งที่ต้องใช้ทั้งเวลาและเงินทองและในฐานะของแฟรนไชซี (Franchisee) หากเลือกประกอบการอย่างอิสระนอกระบบแฟรนไชส์ (Franchise) แล้ว การสร้างชื่อเสียงด้วยสาขาของตนเพียงแห่งเดียว คงเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับชื่อเสียงของธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ (Franchise)
 
6. ธุรกิจมีการเติบโต 

ลักษณะข้อนี้เป็นลักษณะที่เคยกล่าวไว้ในเรื่องการมองธุรกิจที่มีอาณาคตว่า ธุรกิจที่มีอนาคตคือ ธุรกิจที่กำลังเติบโต ดังนั้นการเลือกแฟรนไชซอร์ที่มีธุรกิจที่กำลังเติบโตก็เท่ากับเลือกแฟรนไชซอร์ (Franchisor) ที่มีอนาคตนั่นเอง ในเรื่องของธุรกิจที่มีการเติบโต โดยเฉพาะธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ (Franchise) นั้น เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็ต้องขอย้ำไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งว่าการเติบโตของธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ (Franchise) มิได้หมายถึงการเติบโตของจำนวนสาขา หากแต่เป็นการเติบโตของปริมาณความต้องการของลูกค้าที่มีอยู่ในตลาด

กล่าวคือแฟรนไชส์ (Franchise) ใดก็ตามหากมีปริมาณลูกค้าและความต้องการ หรือชื่อเสียง ความนิยมชมชอบของผู้บริโภคที่มากกว่า ซึ่งอาจดูได้โดยง่ายจากยอดขายที่ทำได้ ถึงแม้จะมีจำนวนสาขาที่น้อยกว่าแฟรนไชส์ (Franchise) อื่นอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็หมายความถึงอนาคตที่ดีกว่าของแฟรนไชส์ (Franchise) นั้น

ด้วยเหตุนี้การดูลักษณะของแฟรนไชซอร์ (Franchisor) ที่ดีในเรื่องการเติบโตของธุรกิจ จึงมิใช่การดูที่จำนวนสาขาอย่างที่หลายต่อหลายคนเคยเข้าใจผิด และใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาเลือกแฟรนไชซอร์ (Franchisor) แต่การพิจารณาจำนวนสาขา จำเป็นต้องควบคู่ไปกับปริมาณความต้องการของตลาดที่เป็นลูกค้าด้วย ยิ่งตลาดมีความต้องการมาก การเปิดสาขาที่มากขึ้นก็ทำได้โดยง่าย ตรงกันข้ามหากตลาดมีความต้องการที่ไม่มากพอ แม้จะมีสาขามากในช่วงแรก แต่ก็จะลดลงได้ในเวลาต่อมานั่นเอง
 
7. มีการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่เสมอ 
 
เพราะธุรกิจในโลกที่มีการเคลื่อนไหวไม่เคยหยุดนิ่ง ความต้องการของผู้บริโภคก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งการแข่งขันที่นับวันมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ความจำเป็นในการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพของธุรกิจ จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ทั้งที่เป็นแฟรนไชส์ (Franchise) และนอกระบบแฟรนไชส์ (Franchise) ก็ล้วนแต่มีการพัฒนาปรับปรุงระบบ สินค้า การบริการ รวมถึงรูปแบบต่างๆ ให้ดีขึ้นและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอยู่เสมอ

ดังตัวอย่างของแฟรนไชส์ (Franchise) ใหญ่ๆ อย่างแมคโดนัลด์ ที่คอยพัฒนาปรับปรุง ออกสินค้าใหม่ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ลิ้มลอง ไม่ว่าจะเป็นแฮมเบอร์เกอร์หรือพายสอดไส้ผลไม้ชนิดต่างๆ การจัดกิจกรรมรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้เด็กๆ ที่เป็นลูกค้ารู้สึกสนุกสนาน และอยากที่จะมาบ่อยๆ รวมถึงการตกต่างร้านใหม่ ให้มีความสดใส ทันสมัย เป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้บริโภคอยู่เสมอๆ หรือแม้แต่ตัวอย่างของร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่นอีเลฟเว่น ที่คอยศึกษาพิจารณาดูรายการสินค้าต่างๆ ในร้านอยู่เสมอว่า ชนิดไหนขายดี ชนิดไหนขายไม่ดี และมีสินค้าใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนหรือเสริมเพื่อสร้างรายได้ในร้านให้มากขึ้นได้ไหม

การจัดบริการรูปแบบของเคานเตอร์เซอร์วิส ที่ทางเซเว่นอีเลฟเว่นกำลังดำเนินงาน ก็เป็นการช่วยเพิ่มการบริการให้แก่ลูกค้าที่มาใช้บริการได้มากขึ้น การพัฒนาปรับปรุงเป็นเรื่องของอนาคตซึ่งยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นการพิจารณาว่าแฟรนไชวอร์ (Franchisor) ใดมีลักษณะข้อดีนี้หรือไม่ จึงเป็นสิ่งที่อาจจะสังเกตได้ยาก หากใช้ปัจจุบันเป็นเกณฑ์ แต่วิธีการที่ท่านในฐานะแฟรนไชส์ (Franchise) ที่จะทำได้ก็คือ การดูจากประวัติการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า แฟรนไชซอร์ (Franchisor) มีการปรับปรุ่งสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นหรือไม่ เช่น มีสินค้าใหม่ออกมาไหม มีการพัฒนาระบบให้ทันสมัยขึ้นหรือไม่ หรือได้แต่อยู่กับที่ ไม่มีการพัฒนา
 
จากลักษณะที่ดีของแฟรนไชซอร์ทั้ง 7 ข้อที่ผ่านมา คงจะช่วยให้ท่านเข้าใจลักษณะของแฟรนไชซอร์ (Franchisor) ที่ท่านกำลังมองหาได้ง่ายขึ้น แน่นอนที่ว่าท่านอาจไม่สามารถหาแฟรนไชซอร์ (Franchisor) ที่มีลักษณะดีต่างๆ ได้ตามดังที่ต้องการ แต่สิ่งที่ท่านต้องทำก็คือ การมองหาผู้ที่มีคุณสมบัติที่ดีที่สุด เพื่อให้ท่านตัดสินใจได้ในท้ายที่สุดว่า ที่ดีที่สุดที่มีนั้น ดีพอกับการตัดสินใจของท่านหรือยัง
 
บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนมิถุนายน 2567
7,561
ส่อง 72 แฟรนไชส์น่าสอยมาลงทุน ครึ่งปีหลัง 2567
4,288
กลับมาแล้วแฟรนไชส์โจ๊ก เฮลตี้ฟู้ดขายง่ายกำไรดี
1,598
เดือดแน่! 6 แฟรนไชส์ไอศกรีมและชาผลไม้ ราคาถูก จ่..
1,353
จริงมั้ย ซื้อแฟรนไชส์ ยืมจมูกคนอื่นหายใจ
815
ซื้อแฟรนไชส์ อย่าให้เป็นทาส แต่ให้เป็นนายตัวเองท..
807
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด