บทความทั้งหมด    บทความค้าขาย    การบริหารจัดการร้านค้า    การเช่าพื้นที่ หาทำเล เปิดร้าน
4.6K
2 นาที
15 ตุลาคม 2555
ตามไปดู คนซื้อพอใจ คนขายมีความสุข ตลาดนัดชุมชน ของคน “บางปิด”

“ตลาด”หมายถึงสถานที่สำหรับการค้าขาย ซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายได้มาพบกัน แม้โดยความหมายคือสถานที่แลกเปลี่ยนสินค้ากับเงินตรา แต่โดยนัยยะทางสังคม ตลาดกลับมีความหมายมากกว่านั้น
 
“ตลาดนัดชุมชน”ของ ตำบลบางปิด อำเภอแหลมงอม จังหวัดตราด เป็นตลาดที่เกิดขึ้นจากการส่งเสริมขององค์การบริหารส่วนตำบลบางปิด โดยในช่วงแรกนั้น มีลักษณะเป็นเพียงเพิงเล็กๆ และมีผู้มาค้าขายเพียงไม่กี่ราย แต่ในเวลาต่อมา เมื่อมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านนำสินค้ามาขายอย่างจริงจัง และได้รับงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ตลาดชุมชนของตำบลบางปิดจึงได้พัฒนามาจนเป็นตลาดนัดขนาดใหญ่ ที่เปิดสัปดาห์ละ 3 วันคือ วันอังคาร วันพฤหัสบดี และวันเสาร์ กลายเป็นตลาดที่เป็นที่รู้จักในพื้นที่ 
 
จรัญ ทองปาน ผู้จัดการตลาดนัดชุมชน เล่าว่า การดำเนินการของตลาดนัดชุมชน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการส่งเสริมให้คนในตำบลบางปิดได้มีสถานที่สำหรับขายสินค้า โดยตนเองพยายามจะส่งเสริมให้ชาวบ้านได้มาค้าขายที่ตลาดเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว
 
“ผมจะดูว่าตลาดยังขาดอะไร และชาวบ้านคนไหนมีของอะไรที่เอามาขายได้ อย่างบางคนปลูกผักไว้ที่บ้านหลายอย่าง ผมก็จะชวนให้มาขายที่ตลาด บางคนอาจจะเลี้ยงปลาส่งขายที่อื่น ผมก็จะชวนให้มาขายที่ตลาดนัดชุมชน เขาก็จะได้ขายเอง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง สินค้าก็จะมีราคาไม่แพง  มีผู้สูงอายุหลายคนที่อยู่บ้านเฉยๆ ผมก็จะชวนเขามาขายของ คือไม่ใช่แค่มีรายได้เพิ่ม แต่จะได้มีกิจกรรมทำ ได้เจอผู้คน เขาก็จะสนุกสนานด้วย แต่ถ้าเป็นคนที่อื่นมาขอเช่าที่ขายของ ผมก็จะต้องพิจารณาหลายๆ อย่าง ดูสินค้าว่าเป็นของปลูกเอง ทำเองมั้ย มีสารเคมีที่เป็นอันตรายมั้ย ดูว่าเป็นใครมาจากไหน คือถ้าไม่เหมาะผมก็จะไม่ให้ขายนะ เพราะอยากให้ตลาดของชุมชน ดำเนินงานไปด้วยดี ”
 
ผู้จัดการตลาดนัดชุมชน ยังกล่าวเสริมว่า แม่ค้าที่เป็นผู้สูงอายุบางคน มีฐานะดี ไม่ต้องทำอะไรเลยก็อยู่ได้สบายๆ แต่เลือกที่จะมาค้าขายของเพราะว่าไม่ต้องการอยู่บ้านเฉยๆ และการมาขายของก็ทำให้ตัวเองรู้สึกว่ามีคุณค่า
 
รัง พรติโพธิ์ แม่ค้าวัย 73 ปี เล่าว่า ที่บ้านก็ปลูกผักไว้หลายอย่าง ตนเองไม่อยากอยู่บ้านเฉยๆ เพราะเบื่อ เมื่อได้มาขายของแล้วมีความสุข ได้เจอเพื่อนฝูงได้คุยกับผู้คน ทำให้ไม่เหงา รวมทั้งยังได้มีรายได้ในวันที่มาขายของ 
 
"ป้าก็ขายมาหลายปีแล้วล่ะ ขายมาตั้งแต่ลุงยังอยู่ เมื่อก่อนก็ทำสวนยางแล้วก็ปลูกผัก พอลุงเสียไปก็ไม่รู้จะไปไหน อยู่บ้านก็เบื่อๆ ก็ปลูกผักคะน้า ผักกวางตุ้งอะไรไป พอทาง อบต.เขามาส่งเสริม ผู้จัดการตลาดเขาชวนมา ก็เลยเอาผักมาขาย ผักที่เอามาขายส่วนใหญ่ก็จะปลูกเองนะ อยากปลูกอะไรเราก็ปลูกไป อย่างละนิดอย่างละหน่อย อะไรออกก็เอามาขาย"
 
"บางอย่างก็ซื้อมา เพื่อนบ้านเขาจะมาขายให้...คืออยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้น่ะ ต้องทำนู่นทำนี่ไปเรื่อย ลูกๆ หลานๆ เขาก็บอกว่า ไม่ต้องทำแล้ว อยู่เฉยๆ เถอะ เราก็บอกว่า ให้อยู่เฉยๆ ไม่ได้หรอก รำคาญ ก็อยากทำน่ะ ได้ออกกำลังกายด้วย ได้เงินใช้ด้วย บางที ลูกก็มายืมตังค์นะ(หัวเราะ) เราก็ให้ไป ไม่ได้ว่าอะไร...เรายังมีแรงอยู่ ก็อยากจะทำไปเรื่อยๆ น่ะ ไม่ไหวค่อยหยุด"
 
"มาขายนี่ก็สนุกนะ ได้คุยได้เจอคน ถ้าอยู่บ้านเฉยๆ แล้วมันเงียบ เพราะบ้านอยู่ในซอยลึก วันไหนหยุดก็ทำสวน วันไหนมีตลาดนัดเราก็มาขาย ได้วันสองร้อยสามร้อยมันก็ดีกว่าอยู่เฉยๆ นะ..."
 
แม้ตลาดส่วนใหญ่จะมุ่งที่การค้าขายเป็นหลัก แต่ตลาดนัดชุมชนบางปิดกลับยึดหลักว่า ความเป็นอยู่และความสุขของผู้คนในชุมชนต้องมาก่อน ด้วยรูปแบบการจัดการที่น่าสนใจนี้ ตลาดนัดชุมชนบางปิด ได้รับการสนับสนุนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของตำบลบางปิด โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 
 
ตลาดนัดชุมชนแห่งนี้ นอกจากจะเต็มไปด้วยสินค้าที่ชาวบ้านทำเอง ขายเองแล้ว ยังเต็มไปด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขของชาวชุมชนบางปิดอีกด้วย

อ้างอิงจาก ผู้จัดการออนไลน์
 
บทความค้าขายยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ทีมไหน! หา"ทำเล"ก่อนทำธุรกิจ vs เลือก "ธุรกิจ" ก..
408
บทความค้าขายมาใหม่
บทความอื่นในหมวด