บทความทั้งหมด    บทความค้าขาย    ขายตรง เครือข่าย    การบริหาร การจัดการ
6.4K
5 นาที
28 พฤศจิกายน 2555
บทบาทหน้าที่ของผู้เอาประกัน ต้องทำยังไง?

 
 
1. การตัดสินใจก่อนการจัดทำประกันภัย ควรพิจารณาดังนี้
  • พิจารณาถึงความต้องการของตนเองที่จะเลือกซื้อความคุ้มครองที่ตนเองคิดว่ากำลังเผชิญกับความเสี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นได้เวลาใดเวลาหนึ่ง
  • ปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านประกันภัยถึงความต้องการของตนเอง เพื่อที่ผู้เชี่ยวชาญด้านประกันภัยจะให้คำแนะนำหรือจัดหารูปแบบของการประกันภัยให้ตรงกับความต้องการ
  • พิจารณาคัดเลือกบริษัทประกันภัยที่ตนเองจะทำประกันภัย โดยอาจจะพิจารณาจากองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น สถานะภาพของบริษัทประกันภัย หรือบริการหลังการขายเป็นอย่างไรเป็นต้น
 
2. เมื่อพิจารณาเลือกบริษัทประกันภัยแล้ว ควรดำเนินการดังนี้
  • จะต้องแถลงข้อเท็จจริงถึงรายละเอียดของทรัพย์สินที่จะเอาประกันภัย ตลอดจนรายละเอียดต่าง ๆ ให้ครบถ้วน เพื่อประโยชน์เมื่อมีความเสียหาย
  • ตรวจสอบความถูกต้องของกรมธรรม์ประกันภัย ว่าเป็นไปตามข้อตกลงหรือไม่ รวมทั้งรายละเอียดของทรัพย์สิน หรือเงื่อนไขความคุ้มครองถูกต้องหรือไม่
  • เก็บรักษากรมธรรม์ประกันภัยเพื่อประโยชน์ในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน
  • ในกรณีที่มีประกันภัยโดยยกผลประโยชน์ให้กับบุคคลในครอบครัว ควรแจ้งให้บุคคลในครอบครัวทราบ เพื่อสิทธิ์ในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย
  • จะต้องดูแลทรัพย์สินที่ได้จัดให้มีประกันภัยไว้ให้อยู่ในสถานที่ปลอดภัย และจะต้องกระทำทุกวิถีทางที่จะป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น สำหรับประเด็นนี้จะเป็นประเด็นที่บริษัทประกันภัย ใช้เป็นจุดในการพิจารณา โดยมองถึงเจตนาของผู้เอาประกันภัย
  • ไม่ควรจัดทำประกันภัยซ้ำซ้อน เพราะไม่เกินประโยชน์ ถ้าหากมีประกันภัยไว้กับบริษัทอื่นแล้ว ควรแจ้งให้บริษัทประกันภัยทราบ เพื่อพิจารณาเรื่องการประกันภัยร่วม (Coinsurance)
  • หากมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ควรแจ้งให้บริษัทประกันภัยทราบ เช่น
    • การเปลี่ยนชื่อที่อยู่
    • การยกเลิกหรือเลิกถอนกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างปี
    • การเปลี่ยนแปลงรายการทรัพย์สิน
    • การเปลี่ยนแปลงสถานที่เก็บรักษาทรัพย์สิน
    • การเปลี่ยนแปลงในอาชีพ
    • การโอนกรรมสิทธิ์
    • ถ้าหากการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดขึ้นมีผลทำให้ความเสี่ยงภัยของบริษัทประกันภัยมีมากขึ้น ทางบริษัทประกันภัยก็จะพิจารณาปรับปรุงเพื่อประกันภัยตามสภาวะความเสี่ยง ซึ่งอาจเพิ่มหรือลดลง

3. เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ควรปฏิบัติดังนี้
  • จะต้องแจ้งให้บริษัททราบโดยทันที ควรตรวจสอบในกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งบางกรมธรรม์อาจมีกำหนดระยะเวลาเอาไว้ เช่น กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยกำหนดไว้ไม่เกิน 15 วัน บางกรมธรรม์อาจใช้ข้อความว่า “แจ้งความสูญเสียหรือเสียหายดังกล่าวต่อบริษัทโดยไม่ชักช้า” หรือบางกรมธรรม์โดยเฉพาะกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล จะมีข้อความเพิ่มเติมว่า “…..โดยไม่ชักช้า ในกรณีที่มีการเสียชีวิตต้องแจ้งให้บริษัททราบทันที เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามีเหตุจำเป็นอันควร จึงไม่อาจแจ้งให้บริษัททราบ…..”
  • สำหรับการประกันภัยบางประเภท อาจต้องมีการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และคัดประจำวันประกอบหลักฐาน เช่น กรมธรรม์ประกันภัยโจรกรรม หรือกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับเงิน เป็นต้น
  • ให้ความร่วมมือแจ้งเจ้าหน้าที่ของบริษัทประกันภัย หรือเจ้าหน้าที่ของกรมการประกันภัยกระทรวงพาณิชย์ ที่มาทำการสำรวจประเมินความเสียหาย
  • จะต้องระมัดระวังรักษาซากทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย เพื่อแสดงต่อบริษัทประกันภัยหรือผู้สำรวจภัย
  • จัดเตรียมเอกสารที่จะใช้ในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน หากเป็นไปได้ควรจัดทำบัญชีรายการทรัพย์สินที่มีอยู่เพื่อประโยชน์ในการเรียกร้อง
  • เพียงเท่านี้ ท่านก็จะได้รับความคุ้มครองตามที่ท่านต้องการ อีกทั้งเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่ได้ทำประกันภัยไว้ ก็จะได้รับพิจารณาชดใช้ค่าเสียหายด้วยความเป็นธรรมจากบริษัทประกันภัย


 
การกำหนดทุนประกันภัย 
 
ในการตัดสินใจทำประกันภัยของผู้เอาประกันภัย โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว จะละเลยที่จะคำนึงถึงการกำหนดวงเงินประกันภัยที่ต้องการว่ามีมูลค่าเท่าใด ไม่ว่าจะเป็นในด้านการประกันชีวิต หรือการประกันวินาศภัยในทรัพย์สินของตนเอง ส่วนใหญ่มักจะคิดกันง่ายๆ ว่าจะทำเท่านี้เท่านั้น

โดยขาดความระมัดระวังในการกำหนดวงเงินที่จะเอาประกันภัยตามมูลค่าที่แท้จริง และมักจะเกิดปัญหาเมื่อมีความสูญเสียหรือความเสียหายเกิดขึ้น โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ทั้งนี้ เนื่องจากหลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันโดยทั่ว ๆ ไป จะใช้หลักการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ที่ได้รับความเสียหาย ณ วันที่เกิดเหตุ หรือวันที่ได้รับความสูญเสีย หรือความเสียหาย

ดังนั้นปัญหาที่จะติดตามมาก็คือ การกำหนดวงเงินเอาประกันภัยสูงเกินไป (OverSuminsured) หรือกำหนดวงเงินเอาประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง (Under Suminsured) ส่วนในประเด็นของการจัดทำประกันภัยในวงเงินที่สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง มักจะเกิดปัญหาก็คือ การจ่ายเบี้ยประกันภัยสูงเกินความจำเป็น

ทั้งนี้เพราะบริษัทประกันภัยจะชดใช้ความเสียหายไม่เกินมูลค่าทรัพย์สินที่จัดหาได้ในขณะนั้นและไม่เกินมูลค่าทุนประกันภัยที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ สมมุติว่าทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ในขณะนั้นมีมูลค่า1,000,000 บาท ต่อมาได้รับความเสียหาย และมีผลคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยที่จัดไว้ ปรากฏว่ามูลค่าความเสียหายที่แท้จริงที่สามารถจัดหาทรัพย์สินที่มีสภาพคล้ายคลึงกัน ประสิทธิภาพใกล้เคียงกันมาทดแทน (Replacement Value) มีมูลค่าเพียง 500,000 บาท บริษัทประกันภัยก็จะชดใช้ให้เพียง 500,000 บาทเท่านั้น ก็เท่ากับว่า จัดทำประกันภัยไว้ในวงเงิน 1,000,000 บาท ก็จะสูญเสียค่าใช้จ่ายสูงเกินความจำเป็นส่วนประเด็นของการจัดทำประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง (Under Insurance) มักจะพบในประเด็นที่เกิดความเสียหายบางส่วนเท่านั้น (Partial Loss)

กล่าวคือ บริษัทประกันภัยจะชดใช้ตามอัตราส่วนรับผิดชอบ(Average Payment) สมมุติว่า ทรัพย์สินที่จะเอาประกันภัยมีมูลค่าที่แท้จริง 1,000,000 บาท แต่ได้จัดทำประกันภัยไว้เพียง 500,000 บาท หรือ 50% ของมูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริง เมื่อเกิดความเสียหายบางส่วนขึ้นมาบริษัทประกันภัยก็จะชดใช้ตามสัดส่วนที่ทำประกันภัยไว้จริง ไม่ว่าการจัดประกันภัยจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม ผู้เอาประกันภัยควรให้ความสำคัญ เพื่อป้องกันความสูญเสีย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในวันข้างหน้า

ซึ่งไม่อาจจะคาดการณ์ได้ว่า หากเกิดภัยพิบัติขึ้นแล้ว ผลจะเป็นอย่างไร อย่าฝากความหวังไว้กับอนาคตสำหรับหลักการในการกำหนดทุนประกันภัยของบริษัทประกันภัย แต่ละบริษัทจะมีหลักการที่คล้ายคลึงกันโดยอาศัยทฤษฎีหรือหลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเกณฑ์ในการกำหนด

ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซม หรือจัดหาทรัพย์สินมาทดแทนทรัพย์สินเดิมที่ได้รับความเสียหาย รวมกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ภาษีอากร ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เป็นต้น ในประเด็นนี้เป็นการพิจารณาจากปลายทาง ซึ่งในทางปฏิบัติมักจะทำได้ยาก เพราะไม่มีใครที่จะทราบว่าจะเกิดเหตุเมื่อใด ดังนั้น หลักเกณฑ์ในการกำหนดทุนประกันภัย หรือวงเงิน เอาประกันภัยจะใช้หลักการอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าคิด ทั้งนี้เนื่องจากวิธีการประเมินมูลค่ามีที่มาของตัวเลขแตกต่างกันคือ
  1. การประเมินมูลค่าตามบัญชี (Book Value)
  2. การประเมินมูลค่าตามราคาตลาด (Market Value)
  3. การประเมินมูลค่าตามราคาจัดหาทรัพย์สินมาทดแทน (Replacement Value)
  4. การประเมินมูลค่าตามราคาที่ตกลง (Agree Value)
 
ทฤษฎีการกำหนดราคาหรือมูลค่าทรัพย์สิน แต่ละวิธีการจะมีวิธีการคิดแตกต่างกัน ในทางบัญชีก็จะคำนวณBook Value โดยการใช้วิธีการตัดค่าเสื่อมราคา โดยแต่ละบริษัทจะมีหลักเกณฑ์ในการตัดค่าเสื่อมราคาที่แตกต่างกัน ความแตกต่างระหว่างราคาทรัพย์สินตามมูลค่าบัญชี กับมูลค่าทรัพย์สินตามราคาตลาด ก็ตรงที่ว่าการประเมินมูลค่าทรัพย์สินตามราคาตลาด จะมีการนำเอาค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเข้ามารวมด้วย

จึงทำให้ Market Value จะสูงกว่าราคา Book Value ส่วนมูลค่าทรัพย์สินที่จัดหามาทดแทน (Replacement Value)หากคิดง่าย ๆ ควรจะมีมูลค่าเท่าใด อาจลองนึกดูว่า ถ้าเราซื้อ TV สีขนาด 24 นิ้ว มูลค่า 20,000 บาท เมื่อปี2536 ณ เวลานี้ มูลค่า TV สีรุ่นเดียวกัน ราคาอาจถูกกว่าหรือสูงกว่าที่ซื้อมา
 

 
ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไป ปัญหาในการกำหนดวงเงินในลักษณะ Replacement Value มักจะเกิดความยุ่งยากในการพิจารณามากพอสมควร จะต้องมีปัจจัยที่ใช้ในการกำหนดแตกต่างกันตามสภาพที่แท้จริงอาจลองยกตัวอย่างดูสักเรื่อง ที่อาจเข้าใจง่าย ๆ

คือ นาย ก. ซื้อบ้านพร้อมที่ดินมาเมื่อปี 2530 ในราคา1,500,000 บาท (ซึ่งเป็นราคาที่ดินประมาณ 750,000 บาท) ต่อมาในปี 2538 นาย ก. ได้ขายบ้านไปในราคา3,000,000 บาท (ซึ่งเป็นราคาที่ดินประมาณ 2,000,000 บาท) นั่นหมายความว่า Market Value ของสิ่งปลูกสร้างได้เพิ่มจากปี 2530 ซึ่งซื้อมาในราคา 750,000 บาท (ไม่รวมราคาที่ดิน) และสามารถขายไปในปี 2538 ในราคา 1,000,000 บาท ตามสภาพของอาคาร 8 ปี

หากคำนวณตามราคา Book Value กลับได้ราคาสูงถึง1,000,000 บาท ส่วน Replacement Value ในกรณีนี้อาจพิจารณาว่า ถ้าปลูกบ้านหลังนี้ใหม่ตามระบบเดิมราคาค่าก่อสร้างอาจสูงถึง 2,000,000 บาท ทั้งนี้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าในหมวดวัสดุก่อสร้างหรือผันแปรตามอัตราแรงงาน
 
ส่วนในประเด็นของการประเมินราคาตาม Agree Value มักจะพบในกรณีของอาคารสูงโดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ยิ่งสูงเท่าใด ราคาต่อตารางเมตรก็จะยิ่งสูงขึ้นมาก ดังนั้น การประเมินราคาอาจยึดถือตามราคาที่มีการตกลงซื้อขายกัน

แต่โดยทั่วไปแล้ว บริษัทประกันภัยไม่นิยมที่จะกำหนดทุนประกันในลักษณะดังกล่าวในการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์ในการจัดทำประกันภัย เห็นว่า หลักการในการกำหนดการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัยมีลักษณะใกล้เคียงกับเงื่อนไข Replacement Value ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดต่อไป ว่ากันว่า การกำหนดทุนประกันภัยแบบจัดหาทรัพย์สินมาทดแทนทรัพย์สินเดิมที่เสียหายไปหรือที่เรียกว่า Replacement Value จะมีหลักการในการกำหนดกันอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประชาชนทั่ว ๆ ไป ที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย พอตัวแทนหรือนายหน้ามาขายประกันบอกให้ทำประกันเท่าไรก็ยอมทำ

โดยหารู้ไม่นั่นจะเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นในภาคของรัฐบาล หรือกรมการประกันภัย หรือบริษัทประกันภัย ควรจะให้คำแนะนำหรือแนวทางในทางปฏิบัติให้กับตัวแทนหรือนายหน้า เพื่อลดข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน เราในฐานะผู้บริโภค ควรที่จะพิจารณาจากองค์ประกอบใด ๆ บ้าง ที่จะเป็นตัวกำหนดทุนประกันภัย มีวิธีการที่สามารถจะนำมาพิจารณาดังนี้
 
1. ถ้าเป็นอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง ให้คำนึงถึงจำนวนพื้นที่ของอาคาร และราคาค่าก่อสร้างในปัจจุบันตามแบบอาคารเดิมที่อยู่ปัจจุบัน เอาผลลัพธ์ที่คำนวณได้มากำหนดทุนประกันภัย
 
2. ถ้าเป็นเครื่องจักรในอาคารหรือโรงงานอุตสาหกรรม อาจจะยุ่งยากกว่าการคำนวณ Replacementของอาคาร เพราะต้องใช้ดัชนีราคามาเป็นตัวประกอบในการคำนวณ ซึ่งในปัจจุบันอาจต้องใช้Nelson Index Price ที่ USA มาประกอบ ซึ่งดูแล้วจะยุ่งยากพอสมควร แต่มีวิธีการง่าย ๆ ที่อาจนำมาใช้ในการกำหนดทุนประกันภัยของเครื่องจักรก็คือ ทุนประกันภัย = ราคาเครื่องจักรในปัจจุบัน (Market Price) + ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและรื้อถอน + ค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่อาจเกิดขึ้น + ค่าธรรมเนียมหรือภาษีศุลกากร (ถ้ามี)
 
 
 
3. ถ้าเป็นเครื่องอีเล็คโทรนิคส์ อาจจะยุ่งยากมากกว่าการกำหนดทุนประกันภัยของเครื่องจักร เพราะการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบหรือ Model ของเครื่องมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งประสิทธิภาพของเครื่องดีขึ้น แต่ราคาถูกลง ในบางครั้ง ราคาใหม่อาจต่ำกว่าราคา Book Value ในปีแรก ๆ เสียอีก วิธีการง่าย ๆ จะใช้หลักการเดียวกับการคำนวณทุนประกันภัยเครื่องจักร ส่วนที่แตกต่างกันก็คือ ราคา Markup Price ของเครื่องอีเล็คโทรนิคส์จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ส่วนเครื่องจักรการเปลี่ยนแปลงมีไม่ค่อยมากนัก
 
4. ถ้าเป็นสต็อกสินค้า ผู้เอาประกันภัยที่ได้จัดทำประกันภัยสำหรับสต็อกสินค้า ควรจัดทำบัญชีสต็อกสินค้าอย่างมีระบบ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยืนยันกับบริษัทผู้รับประกันภัยว่า จำนวนสินค้าคงคลัง ณ วันที่เกิดเหตุมีจำนวนเท่าใด นอกจากนี้ ผู้เอาประกันภัยควรจะทราบว่าในแต่ละเดือน หรือแต่ละฤดูกาลมีจำนวนสินค้าคงคลังสูงสุดเท่าใด เพื่อใช้เป็นตัวกำหนดทุนประกันภัย ถ้าหากว่าท่านมีจำนวนสินค้าสูงกว่า 5,000,000 บาท และต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องเบี้ยประกันท่านสามารถติดต่อกับบริษัทประกันภัย เพื่อขอทำประกันภัยแบบกระแสรายวันได้ การกำหนดราคาสินค้าโดยทั่วไป จะใช้ราคาต้นทุน แต่ถ้าหากท่านต้องการที่จะทำในราคาขายส่งจะต้องมีการตกลงเป็นกรณี ๆ ไป
 
ฟังดูแล้วก็น่าเวียนศรีษะไม่ใช่น้อย ดูเหมือนว่าจะยุ่งยาก แต่ท่านไม่ควรมองข้ามสิ่งนี้ไป ถึงแม้ว่าท่านจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการคำนวณมูลค่าตาม Replacement Value ได้ แต่บางครั้งการคำนึงถึงองค์ประกอบอื่น ๆ อาจทำให้ผลการคำนวณหรือประเมินผิดพลาด ดังนั้นผู้เอาประกันภัยควรจะต้องใช้ความระมัดระวังเท่าที่ควร เพื่อผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดที่จะได้รับหากเกิดความสูญเสียหรือเสียหายเกิดขึ้น และถึงแม้ว่าผู้เอาประกันภัยจะปฏิบัติตามแนวทางที่กล่าวไว้แต่ต้น ก็เป็นเพียงการป้องกันระดับหนึ่งเท่านั้น

ทั้งนี้เนื่องจากว่า การกำหนดมูลค่าทรัพย์สินที่จะเอาประกันภัยนั้น ได้ถูกกำหนดขึ้นก่อนการทำประกันภัย แต่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่เกิดความเสียหายนั้น จะเกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้จัดทำประกันภัยไว้

การเปลี่ยนแปลงในด้านดัชนีราคาผู้บริโภคหรือการเปลี่ยนแปลงในด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ย่อมมีผลกระทบต่อราคาสินค้า ดังนั้น วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การปรับปรุงเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อความสมบูรณ์แห่งกรมธรรม์ประกันภัย โดยการเพิ่มเติมเงื่อนไขพิเศษที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดทุนประกันภัยที่สำคัญ ๆ พอสรุปได้ดังนี้
 
1. Escalation Clause เป็นเงื่อนไขที่ว่าด้วยการกำหนดวงเงินทุนประกันเพิ่มแบบอัตโนมัติ

โดยทั่วไปจะกำหนดวงเงินเป็นเปอร์เซ็นต์เช่นเพิ่มขึ้น 10-20% ของทุนประกันภัยที่กำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มทำหากเกิดความเสียหายขึ้นต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อทรัพย์สินที่เอาประกัน จะชดใช้สูงสุดไม่เกินเปอร์เซ็นต์ที่กำหนดไว้ โดยบริษัทประกันภัยจะเรียกเก็บค่าเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมเฉพาะส่วนต่างที่เกิดขึ้น แต่ไม่เกินวงเงินที่กำหนดไว้ตามเงื่อนไขดังกล่าว
 
2. Reinstatement of Suminsured เป็นเงื่อนไขที่จะใช้ในการปรับปรุงทุนประกันภัยให้กลับคืนสู่สภาพเดิมก่อนเกิดการเสียหาย

ทั้งนี้เนื่องจากว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่ได้เอาประกันภัยไว้ และบริษัทได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริษัทประกันภัยก็จะดำเนินการจัดทำสลักหลังลดทุนประกันภัย (สำหรับกรณีเสียหายบางส่วน) เมื่อผู้เอาประกันภัยได้จัดทำการซ่อมแซมปรับปรุงให้ทรัพย์สินที่เสียหายกลับคืนสู่สภาพเดิมเรียบร้อยแล้ว อาจลืมแจ้งบริษัทประกันภัยให้ทุนประกันภัยกลับคืนสู่มูลค่าที่แท้จริง ก็อาจเกิดปัญหาได้ ดังนั้น เงื่อนไขพิเศษนี้จะช่วยให้การกำหนดทุนประกันภัยกลับคืนสู่สภาพเดิมได้อย่างอัตโนมัติ
 
 
 
3. Replacement Value Clause เป็นเงื่อนไขที่ว่าหลักเกณฑ์การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

โดยบริษัทประกันภัยตกลงที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามมูลค่าความเสียหายจริงที่จะเกิดขึ้น โดยการจัดซ่อมแซม หรือจัดหาทรัพย์สินที่มีขนาดหรือสภาพใกล้เคียงกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ ก่อนเกิดความเสียหายให้กลับคืนสู่สภาพเดิม แต่หลักการดังกล่าวจะนำมาใช้ได้ก็ต่อเมื่อการกำหนดทุนประกันภัยใช้หลักการเดียวกันคือ กำหนดแบบ Replacement Value

4. Capital Additions Clause ในเงื่อนไขพิเศษนี้ จะเป็นเงื่อนไขที่จะนำมาใช้ในกรณีที่ระหว่างปีที่เอาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยได้จัดซื้อหรือจัดหาทรัพย์สินเข้ามาใช้ในกิจการของตนเอง

ซึ่งจะมีผลทำให้มูลค่าทรัพย์สินที่มีอยู่ มีมูลค่าสูงกว่าทุนประกันภัยที่กำหนด ดังนั้น เงื่อนไขพิเศษนี้ก็จะจัดความคุ้มครองให้อย่างอัตโนมัติ แต่ไม่เกินวงเงินที่กำหนด โดยทั่ว ๆ ไปจะกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ไว้ประมาณ 5-10% แล้วแต่กรณี

5. Property Under Care, Custody and Control Clause เงื่อนไขพิเศษนี้จะนำมาคุ้มครองต่อทรัพย์สินของบุคคลอื่น ๆ ที่อยู่ในความดูแลของผู้เอาประกันภัย


โดยเฉพาะธุรกิจการค้าที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม ร้านซักรีดเสื้อผ้า อู่ซ่อมรถยนต์ หรือร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ หากผู้เอาประกันภัยรายใดมีทรัพย์สินที่อยู่ในความดูแล และต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียหรือเสียหาย ก็สามารถกำหนดมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าวรวมอยู่ในทุนประกันภัยได้จากบทความข้างต้น อาจทำให้ท่านในฐานะผู้บริโภคเกิดความเข้าใจในเรื่องหลักการกำหนดทุนประกันภัยได้มากยิ่งขึ้น เพื่อถือประโยชน์สูงสุด

ไม่มีใครที่อาจจะทราบล่วงหน้าได้ว่า ภัยจะเกิดขึ้นเมื่อไร ป้องกันเสียแต่เนิ่น ๆ ก่อนความสูญเสียหรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้

อ้างอิงจาก วารสารการประกันภัย
 
บทความค้าขายยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สรุปขั้นตอนเปิดร้านในห้าง ใช้เวลาเท่าไหร่
467
บทความค้าขายมาใหม่
บทความอื่นในหมวด