บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    เรื่องราวความสำเร็จ
10K
5 นาที
11 มกราคม 2556
แนวโน้ม สถานการณ์แฟรนไชส์ไทย ปี 2555 - 2556


 
 
กว่าสองทศวรรษการพัฒนาแฟรนไชส์ไทย
 
การเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจแฟรนไชส์ไทยตั้งแต่ปี 2548 หรือที่เรามักจะเรียกว่ายุค 40 ของ บ้านเราที่ระบบการค้าการขายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ส่งผลต่อธุรกิจระบบค้าปลีกในทุกระดับ

การเข้ามาของนายทุนขนาดใหญ่ รูปแบบการค้าที่เราไม่เคยมีมาก่อน การเปลี่ยนแปลงระบบการจัดจำหน่ายที่ส่งผ่านเป็นระดับ ไร่เรียงจากผู้ผลิตมาสู่ผู้ค้าส่งและส่งมายังผู้ค้าปลีก ถูกวางรูปแบบใหม่เป็นการควบรวมและส่งผลให้ธุรกิจสามารถสร้างอำนาจการต่อรองได้มากขึ้น องค์กรที่เป็นผู้ค้าปลีกกลายเป็นหน่วยสำคัญในระบบการจัดจำหน่ายที่ควบคุมระบบการค้าที่แต่เดิมอยู่ในมือผู้ผลิต 
 
ธุรกิจด้านแฟรนไชส์เริ่มจากการนำเข้าระบบแฟรนไชส์จากต่างประเทศเข้ามา ของเจ้าของห้างที่เป็นเจ้าของพื้นที่และมองธุรกิจเหล่านั้นเป็น “ แม่เหล็ก ” ดึงคนเข้ามาจับจ่ายในห้างร้าน การเน้นสิ่งแปลกใหม่หรือที่ได้รับการนิยมในต่างประเทศเป็นประเด็นหลัก มากกว่าเป็นการกระจายสาขาในรูปแบบของการกระจายการลงทุนไปสู่ผู้ประกอบการอื่น เป็นไปได้ว่าการวางแนวคิดแฟรนไชส์ในลักษณะดังกล่าว ส่งผลให้ในระยะนั้นมูลค่าตลาดในภาพรวมไม่เกิน 4,800 ล้านบาท ( สี่พันแปดร้อยล้านบาท -จากการศึกษาปี 2545 )โดยประมาณ แต่เมื่อเริ่มการเปลี่ยนแนวคิดของระบบแฟรนไชส์ 
 
จากการกระจุกตัวของนักธุรกิจขนาดใหญ่มาเป็นการกระจายการลงทุนต่อในทุกระดับ ทั้งขนาดธุรกิจและพื้นที่ที่ขยายครอบคลุมทั่วประเทศ ลักษณะการสร้างระบบแฟรนไชส์มุ่งเน้นการกระจายสาขาและเพิ่มโอกาสการลงทุนให้กับผู้ประกอบการหน้าใหม่ ในปัจจุบันมูลค่าของธุรกิจที่เป็นยอดขายหมุนเวียนในธุรกิจด้านนี้มีไม่น้อยกว่า 168,000 ล้านบาท ( หนึ่งแสนหกหมื่นแปดพันล้านบาท – จากการทำวิจัยปี 2551 ) แสดงให้เห็นถึงการก้าวกระโดดของธุรกิจแฟรนไชส์ ที่มีขนาดตลาดรองรับขนาดใหญ่หลายเท่าตัวโดยใช้เวลาน้อยกว่าสิบปี
 

แสดงให้เห็นพลังของรูปแบบการขยายธุรกิจเริ่มลงสู่นักลงทุนรายย่อยมากขึ้น และยิ่งเน้นย้ำให้เห็นว่าการขยายระบบธุรกิจ แฟรนไชส์กลายเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบธุรกิจค้าปลีก ( Retail Business ) มุมมองของพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์คือ การพัฒนารูปแบบการลงทุน การสร้างมาตรฐานในระบบการค้า ส่งผลให้เกิดการลงทุน และการจ้างงานต่อเนื่อง ภาพรวมคือการรองรับระบบเศรษฐกิจจากธุรกิจการผลิตลงมาสู่ผู้บริโภคอย่างมีคุณภาพ 
 
ในปี 2555 ที่ผ่านมามีการรวบรวมข้อมูลจากด้านต่างๆ และการทำงานของทีมงานอย่างต่อเนื่อง เราได้สรุปภาพรวมของธุรกิจครั้งนี้เป็นครั้งที่ 9 (การวิจัยเชิงสำรวจปี 2545 ถึง 2555 ) โดยมีบางปีที่ไม่สามารถจัดเก็บข้อมูลได้เนื่องจากสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ด้านการเมืองหรือภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ อย่างไรก็ตามปีนี้    เราสามารถมองสถานการณ์ของธุรกิจแฟรนไชส์ออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนของแฟรนไชส์ซอร์และส่วนของนักลงทุน ทั้งนี้ได้มีการสรุปเป็น 3 ประเด็นหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
 

 
ประเด็นที่ 1 ความต้องการในการลงทุนในระบบแฟรนไชส์
 
ความต้องการในการลงทุนในระบบแฟรนไชส์มีแนวโน้มสูงขึ้น ไม่น้อยกว่า 8 - 10 % จากการทำสำรวจได้ผลออกมาว่า แต่เดิมนักลงทุนจะต้องมีเงินเก็บเพื่อความพร้อมในการลงทุนไม่น้อยกว่า 700,000 - 800,000 บาท จึงตัดสินใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ ( ผลสำรวจปี 2551 ) แต่ในปัจจุบันมูลค่าการสะสมทุนของนักลงทุนโดยเฉลี่ยจะมีเงินเก็บหรือที่เราเรียกว่า " Saving Amount Ratio " ประมาณ 300,000 บาท แสดงให้เห็นถึงจำนวนมูลค่าน้อยลงเกือบครึ่ง ก็เริ่มที่จะมีความสนใจในการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์

การลดลงของมูลค่าเงินทุนแสดงให้เห็นถึงความต้องการของกลุ่มนักลงทุนที่มีเป้าหมายมากยิ่งขึ้น และกระจายตัวสู่กลุ่มนักลงทุนรายใหม่แต่ละระดับมากขึ้น มีผู้ที่จะมาลงทุนกลุ่มระดับกลางเพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นการเร่งภาวะการลงทุนที่สืบเนื่องมาจากผู้ที่จะมาลงทุนมีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจแฟรนไชส์มากยิ่งขึ้น ทั้งจากสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ที่นำเสนอข้อมูลด้านแฟรนไชส์มากยิ่งขึ้น ประกอบกับมีงานวิจัยต่าง ๆ ที่เสริมอย่างถูกต้องกว่าเดิม นอกจากนั้นยังมีปัจจัยที่น่าสนใจ ที่เชื่อว่าเป็นตัวกระตุ้นระบบธุรกิจ ดังนี้
 
 1. ความพร้อมของแหล่งลงทุน มีธนาคารหลายแห่งที่เข้ามาสนับสนุนการกู้ยืมเงิน เพื่อตอบวัตถุประสงค์สำหรับการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ เช่น การพัฒนาสินเชื่อที่ไม่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกัน ก็สามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารมาลงทุนได้ นี่คือส่วนสำคัญที่สร้างความพร้อม ทำให้มีแหล่งลงทุนมากขึ้น
 
2. โอกาสเร่งการลงทุนด้านอื่น
  • จิตวิทยาด้านการลงทุน มีข่าวสารมากมาย เช่น เรื่องของ AEC การขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ ซึ่งธุรกิจขนาดย่อยอย่าง " Retail Business " เริ่มมีปัจจัยทางตรงที่ทำให้คนเห็นโอกาสในการลงทุนมากขึ้น
  • มูลค่าทางการตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้น หมายความว่าธุรกิจขนาดเล็กที่เป็นระบบสาขา มีโอกาสขยายสาขาและกินตลาดมากขึ้น ทั้งในประเทศและใน AEC
  • กำลังซื้อในประเทศจะมีการขยายตัว เนื่องจากการกระตุ้นของรัฐบาลในภาคการเกษตรก็ดี หรือในเรื่องการปรับค่าแรงที่จะทำให้คนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ในภาคอุตสาหกรรมที่ถูกเร่งให้โตขึ้น ทั้งหมดนี้มีผลทำให้วิถีชีวิตประจำวันของคน หรือที่เราเรียกว่า " Social Economy " ถูกเร่งให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น จึงทำให้คนมองถึงโอกาสในธุรกิจแฟรนไชส์มากขึ้น
 
ในปี 2556 นั้น ความต้องการการลงทุนในระบบธุรกิจแฟรนไชส์ มีปัจจัยที่เข้ามาเพิ่มกระแสการลงทุนเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อน โดยคาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัวไม่น้อยกว่า 8% อย่างแน่นอน
 

 
ประเด็นที่ 2 ธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีมาตรฐานจะขาดแคลน
 
สิ่งที่ทำให้ธุรกิจที่น่าจะลงทุนได้หายไปจากตลาด หรือลดจำนวนลงไป แฟรนไชส์ที่เราเรียกว่า ธุรกิจไขอาชีพ ( Business Opportunity ) ซึ่งจะมีลักษณะมูลค่าการลงทุนต่ำ ประมาณ 40,000 - 50,000 บาท เริ่มแสดงถึงรูปแบบธุรกิจที่ไม่เหมาะสมต่อการสร้างเป็นระบบแฟรนไชส์ การออกแบบส่งผลให้ธุรกิจด้านนี้ส่วนใหญ่ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ อาจเนื่องจากผู้ที่ลงทุนไม่สามารถยอมรับกับผลประกอบการที่น้อยเกินไป หรือตัวเจ้าของธุรกิจเริ่มปิดตัวเองลง ไม่สามารถขยายงานต่อเนื่องได้ และสาเหตุที่สำคัญคือ ผู้ลงทุนทั่วไปที่เข้าใจระบบแฟรนไชส์ มีการวางแผนศึกษาธุรกิจก่อนที่จะลงทุน เริ่มยอมรับข้อได้เปรียบและข้อจำกัด เรียกได้ว่ามีความเข้าใจในระบบการบริหารจัดการที่เป็นแฟรนไชส์เต็มรูปแบบมากขึ้น 
 
แม้ว่าจากการสำรวจสภาวะธุรกิจในปี 2555นี้ จะเห็นภาพของธุรกิจแฟรนไชส์ในด้านจำนวนผู้ประกอบการลดลงไปบ้าง จากเดิมที่เคยพบว่ามีธุรกิจแฟรนไชส์อยู่ในระบบประมาณ 504 บริษัท ในปัจจุบันจำนวนดังกล่าวลดลงเหลือ 368บริษัท และมีข้อบ่งชี้ว่าธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีขนาดเล็กเกินไป รวมถึงธุรกิจแฟรนไชส์ที่ขาดมาตรฐานเริ่มหายไป ไม่ว่าจะปิดตัวลงหรือลดปริมาณสาขา
 

ด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงมีผลวิเคราะห์ได้ว่า รูปแบบของธุรกิจแฟรนไชส์ของคนไทยที่จะเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนจะน้อยลงไป สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ อาจเกิดขึ้นต่อเนื่องจากปัญหาหลายด้านของสังคม และระบบเศรษฐกิจที่ผ่านมาในระยะ 2-3 ปี ประกอบกับปัจจัยอื่นเข้ามาเสริม สามารถวิเคราะห์ได้เป็น 2 สาเหตุ ดังนี้
 
1. หน่วยงานที่จะเข้ามาส่งเสริมขาดความจริงจัง ไม่มีแผนพัฒนาที่ชัดเจน จึงทำให้ภาพรวมของธุรกิจลดความเข้มแข็ง ผู้ประกอบการระบบแฟรนไชส์จึงลดจำนวนน้อยลงตามสภาพ แม้ว่าในช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้จะเห็นความเข้มแข็งของหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีการจัดการส่งเสริมด้วยกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปแบบที่ถูกต้อง ส่งผลให้ธุรกิจแฟรนไชส์เติบโต แต่ในช่วงที่ผ่านมาขาดแรงส่งที่สร้างความต่อเนื่องและแผนพัฒนาที่จริงจัง อาจเป็นเหตุให้กระแสการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์มีแนวโน้มลดลง
 
2. ธุรกิจ SME มีปัญหาในการพัฒนาตนเอง ในระยะ 2 - 3 ปี ที่ผ่านมา ทั้งภาวะการเมือง ภาวะทางธุรกิจที่ไม่เอื้อต่อการขยายธุรกิจ ทำให้อัตรากำไรของธุรกิจถูกบีบ อัตรากำไรลดลงและต้นทุนหลาย ๆ ด้านสูงขึ้น อีกทั้งยังไม่สามารถเพิ่มราคาขายได้อีก แล้วในปีหน้ามีการปรับค่าแรงและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ขึ้น ขณะที่ปรับค่าแรงจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกต่าง ๆ ทำให้ขาดแคลนแรงงานบริการ 
 
จุดสำคัญที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ธุรกิจ SME ที่มีความพร้อมของพื้นฐานธุรกิจเหมาะสมในการพัฒนาเป็นธุรกิจ แฟรนไชส์ กลับไม่สามารถพัฒนาหรือขยายกิจการออกไปได้ ส่งผลให้จำนวนธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีมาตรฐานขาดแคลน เป็นที่มาของสภาวะนักลงทุนจำนวนมากต้องการที่จะลงทุนเพิ่มขึ้น แต่กลับไม่สามารถหาธุรกิจที่ดีและมีมาตรฐานเพียงพอต่อการเลือกลงทุน เนื่องจากจำนวนธุรกิจให้เลือกลดน้อยลง นี่คือสภาวะที่สวนทางกันอยู่ในปัจจุบันที่ไม่ควรเกิดขึ้น
 

 
ประเด็นที่ 3 การแข่งขันจากแฟรนไชส์ต่างประเทศสูงขึ้น
 
การเปิดตัวของ AEC ในอีก 2 ปี จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นเป้าหมาย เป็นฐานในการขยายธุรกิจ ในตลาดที่เรียกว่า " C L M V " ประกอบไปด้วย กัมพูชา ลาว เมียนม่าร์ และเวียดนาม 4 ประเทศนี้ฐานสำคัญคือประเทศไทย ถ้าเจาะที่ประเทศไทยจะสามารถขยายตัวออกไปได้ทุกประเทศ เพราะประเทศไทยนั้นอยู่ตรงกลางพอดี ทั้งยังมีขนาดตลาดและการบริโภคดีกว่า ฉะนั้น AEC จะมีฐานที่น่าลงทุนคือ ประเทศไทยของเรา ที่รวมน่าจะเรียกเปลี่ยนจาก C L M V มาเป็น " T C L M V " ( T คือ ประเทศไทย ) ซึ่งน่าจะเหมาะสม การเร่งสร้างระบบแฟรนไชส์ข้ามชาตินั้นจะต้องมีปัจจัยที่เป็นแรงผลักและแรงดึงต่าง ๆ เข้ามาเป็นองค์ประกอบ จากการสำรวจสภาวะธุรกิจแฟรนไชส์ในปีนี้เราพบว่า

1. ปัจจุบัน Case Study ของธุรกิจแฟรนไชส์ต่างประเทศที่เข้ามาในตลาดและได้รับการยอมรับทั้งจากคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่มีอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวมากขึ้น ธุรกิจแฟรนไชส์นั้นเป็นเรื่องของคนเดินทาง คนเดินทางข้ามประเทศได้มาเห็นธุรกิจที่ตัวเองคุ้นเคยก็จะบริโภค ประเทศไทยที่เป็นเมืองท่องเที่ยว ชาวต่างชาติที่มาเห็นธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศตัวเองหรือจากประเทศที่เค้ารู้จักก็จะบริโภค ฉะนั้นธุรกิจแฟรนไชส์หลายตัวที่มาจาก อเมริกา เกาหลี มาเลเชีย สิงคโปร์ หรือญี่ปุ่น เข้ามาในประเทศไทยและประสบความสำเร็จมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้จึงกลายเป็น " Pull Factor " หมายถึงปัจจัยที่จะ ดึงนักลงทุนด้านแฟรนไชส์ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

 2. ประเทศไทยกลายเป็นหน้าต่างของ " เอเชียใต้ " ซึ่งมีความหมายทางการตลาดว่าเป็น Media  ในระบบแฟรนไชส์คือ การเปิดตัว การเปิดร้านต้นแบบ หรือที่เรียกว่า " Flagship Store " ฉะนั้นนักลงทุนที่เมื่อก่อนจะเข้าไปลงทุนในประเทศอื่น ๆ ก็จะเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น และหากมี Brand ใหญ่ ๆ ในเชิงค้าปลีกเข้ามามากขึ้น ก็จะทำให้เกิดการเร่งพัฒนาระบบเชิงรูปแบบ หรือที่เรียกว่า " Business Format " และหาก Business Format เกิดการเปลี่ยนแปลงจะมีผลต่อระบบภาพรวม ธุรกิจแฟรนไชส์ก็จะพัฒนา ส่งผลต่อระบบธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งหมดโดยตรง
 
การสร้างระบบแฟรนไชส์ข้ามเงื่อนไขของการเป็นต่างเขต ต่างพื้นที่ รวมถึงธรรมชาติทางการค้าที่เปลี่ยนไปนั้นเป็นอีกขั้นตอนของการพัฒนาระบบธุรกิจโดยเฉพาะแฟรนไชส์ ข้อสำคัญของธุรกิจด้านนี้เมื่อต้องการขยายธุรกิจออกไป สิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุดคือ ความพร้อมของธุรกิจ ที่จะต้องสร้างความสำเร็จในวงกว้างได้ในประเทศของตนเองเสียก่อน ในความหมายที่ลึกลงไป คือการสร้างความเข้มแข็ง ทั้งในด้านของตราสินค้า ชื่อเสียง เงินทุน ทีมงาน เพื่อให้สามารถผ่านปัญหาที่อาจจะส่งผลต่อธุรกิจในพื้นที่ที่ห่างไกล ทำให้ยากต่อการจัดการ หรือการปรับเปลี่ยนตามภาวะของสังคมและวัฒนธรรมที่ต้องการสร้างตลาด
 
ภาพรวมของธุรกิจแฟรนไชส์ประเทศไทย
 
สำหรับสถานการณ์ทั่วไปจากผลสำรวจธุรกิจแฟรนไชส์ประจำปี 2555 สรุปได้ว่า จำนวนของ  แฟรนไชส์ซอร์ลดลง จากเดิม 504 บริษัทคงเหลือที่ 368 บริษัท ลดลงไปจากเดิมประมาณ 30 % แต่ในขณะเดียวกันในปี 2555 มีจำนวนผู้ยื่นขอซื้อธุรกิจแฟรนไชส์  ที่พบจากธุรกิจด้านนี้มีอัตราส่วนในแต่ละบริษัทจะเพิ่มขึ้นประมาณ 8 - 10 % เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2554  กลายเป็นข้อสังเกตได้ว่ามีนักลงทุนที่เข้ามาเพิ่มขึ้น

คาดการณ์ว่ามีผู้สนใจลงทุนจากปัจจัยความพร้อมด้านบุคคลและความพร้อมในเงินลงทุนในธุรกิจไม่น้อยกว่า 30,000 ราย อย่างไรก็ตามการตัดสินใจลงทุนจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน และถ้าหากกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่เหล่านี้ไม่สามารถเลือกลงทุนได้ถูกต้อง ก็เรียกได้ว่าโอกาสการสร้างนักธุรกิจด้านนี้ถูกผลกระทบโดยตรง และต้องหามาตราการแก้ไขอย่างเร่งด่วน 
 
 
ในปี 2555 พบว่าระบบธุรกิจแฟรนไชส์ยังมีมูลค่าธุรกิจหมุนเวียนอยู่ที่ประมาณ 168,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ นั้นจะเห็นว่ามูลค่าของธุรกิจยังมีอัตราคงที่ ใกล้เคียงกับปี 2552 ที่คาดว่ามูลค่าธุรกิจประมาณการที่ 160,000 - 170,000 ล้านบาท

ปัจจุบันสามารถแบ่งธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศไทยได้เป็น 11 ประเภท มีผู้ประกอบการจำนวนทั้งสิ้น 368 ราย โดยมีรายละเอียดดังนี้
  1. ธุรกิจอาหาร มีจำนวน 89 ราย 
  2. ธุรกิจเบเกอรี่ มีจำนวน 15 ราย
  3. ธุรกิจการศึกษา มีจำนวน 47 ราย
  4. ธุรกิจเครื่องดื่ม มีจำนวน 82 ราย
  5. ธุรกิจบริการ มีจำนวน 35 ราย
  6. ธุรกิจความงาม มีจำนวน 18 ราย
  7. ธุรกิจหนังสือ มีจำนวน 2 ราย
  8. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีจำนวน 2 ราย
  9. ธุรกิจโอกาสทางธุรกิจ มีจำนวน 49 ราย
  10. ธุรกิจค้าปลีก มีจำนวน 12 ราย
  11. ธุรกิจงานพิมพ์ มีจำนวน 17 ราย
     
จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ธุรกิจจำพวกเครื่องดื่มและธุรกิจอาหาร ยังคงมีจำนวนมาก และธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตด้านจำนวนสูงขึ้นเรื่อย ๆ คือ ธุรกิจการศึกษา 
ในขณะนี้มูลค่าลงทุนเฉลี่ยรวมทุกประเภทในธุรกิจแฟรนไชส์จะมีมูลค่าการลงทุนขั้นต้นประมาณ 850,000 บาท ต่อ 1 ธุรกิจ จะสังเกตได้ว่า จำนวนมูลค่าในการลงทุนต่อธุรกิจนั้นมีการเพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัว

เมื่อเทียบกับการลงทุนเฉลี่ยจากปี 2552 ซึ่งมีงบประมาณการลงทุนอยู่ที่ 350,000 บาท ข้อสังเกตจากการที่มีเม็ดเงินทางการลงทุนสูงขึ้น ชี้ให้เห็นว่าคนเลือกลงทุนในธุรกิจที่เพิ่มรายละเอียดในการสร้างธุรกิจที่เป็นมาตราฐานมีมากกว่าเดิม สำหรับค่าบริหารจัดการหรือที่เรียกว่าค่า " รอยัลตี้ ( Royalty ) " นั้นจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3 - 5 % ทั้งนี้มีการให้อนุญาตเป็นสัญญา เป็นระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 5 ปี และมีแนวโน้มการให้ระยะเวลาสัญญายาวนานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะเวลา 3 - 5 ปีที่ผ่านมา

สำหรับการคาดการณ์ในปี พ.ศ. 2556 มีแนวโน้มที่เชื่อว่าจะมีนักลงทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 30 % และจะมีนักลงทุนที่สนใจในระบบแฟรนไชส์ที่มีความพร้อม และไม่น้อยกว่า 40,000 ราย การสนใจของนักลงทุนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจเพิ่มขึ้น จะส่งผลทำให้ธุรกิจภาพรวมมีโอกาสเติบโตได้ถึง 20 - 30 % และอาจส่งผลให้ทั้งจำนวนและประเภทธุรกิจจะมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น แนวโน้มการสร้างธุรกิจใหม่ในปี 2556 คาดว่าจะมีนักธุรกิจที่จะพัฒนาระบบแฟรนไชส์เพิ่มขึ้นในระบบไม่น้อยกว่า 60 ราย จะเร่งให้ภาพรวมของระบบแฟรนไชส์โตในปี 2556 มีมูลค่าธุรกิจเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 17 - 20 %
 
กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาของเส้นทางเดินธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย อาจเรียกได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาปรับปรุงไปสู่จุดที่ดีขึ้นมากจนเห็นได้ชัด การร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ คือปัจจัยที่สำคัญ องค์ประกอบที่ส่งผลต่อธุรกิจด้านนี้คือ ความเข้มแข็งของนักธุรกิจที่จะต้องเข้าใจในรูปแบบธุรกิจที่มีความพิเศษของระบบแฟรนไชส์ การสร้างธุรกิจแบบเข้าใจบางส่วนแล้วอาศัยสัญชาตญาณเดินธุรกิจนั้นอาจจะไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องของการทำธุรกิจในยุคนี้ ดังนั้นจุดสำคัญของความสำเร็จในธุรกิจเปลี่ยนไปอยู่ที่ “ การทำความเข้าใจ คิดได้ถูกต้อง ” ส่งผลทำให้ธุรกิจวางรากฐานการพัฒนาได้ดีกว่า 
 
สรุปได้เลยว่า พื้นฐานดีคิดได้อย่างถูกต้อง " Think Right, Do Right " คือ รากฐานที่สำคัญของนักธุรกิจในวันนี้
 
บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนพฤษภาคม 2567..
24,679
“มูฟ อีวี เอกซ์” สร้างรายได้ดีแค่ไหน! ทำไมถึงน่า..
3,812
รวม 12 แฟรนไชส์โหนกระแส คนไทยไม่เคยลืม!
2,366
จริงมั้ย? กำเงิน 15 ล้านบาท ถึงจะซื้อแฟรนไชส์ DQ..
1,912
กลยุทธ์ “แดรี่ควีน” เจ้าไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเมืองไ..
1,272
จริงมั้ย? 7-Eleven เห็นทำเลไหนดี เปิดเองแข่งสาขา..
1,243
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด