บทความทั้งหมด    บทความค้าขาย    การบริหารจัดการร้านค้า    การบริหารจัดการร้านค้า
3.6K
2 นาที
27 มิถุนายน 2556
ขยายธุรกิจอย่างมั่นคงโดยเริ่มจากสิ่งที่เรามีอยู่
 
การเติบโตขึ้นจากธุรกิจขนาดเล็กเพื่อเป็นธุรกิจขนาดใหญ่นั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ นัก บางคนอาจจะพอใจกับการเป็นธุรกิจขนาดเล็กและรักษา ตลาดที่มีอยู่ให้ธุรกิจเดินไปได้เรื่อยๆ แต่ถ้านั่นไม่เพียงพอสำหรับเรา หรือหากเราคิดว่าการอยู่ไปเรื่อยๆ แบบนี้ไม่สามารถอยู่รอดในตลาดได้ในอนาคต เราก็ต้องตัดสินใจที่จะเดินหน้าพัฒนาธุรกิจ ต่อแม้ว่าจะมีความเสี่ยงก็ตาม
 
การขยายธุรกิจมีหลากหลายวิธี ทั้งขยายอย่างรวดเร็วและเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด เรียกว่า Extensive Growth เช่น การเข้าไปซื้อกิจการ ของบริษัทคู่แข่งที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกันเพื่อเพิ่มกำลังผลิต ขยายตลาด และตัดกำลังคู่แข่งสำคัญออกไป และมีวิธีการขยายธุรกิจอย่างช้าๆ แต่มั่นคงไปทีละขั้น ที่เรียกว่า Intensive Growth ซึ่ง แต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ถ้าหากเลือกวิธีขยายขนาดธุรกิจด้วยวิธีที่รวดเร็ว ถ้าหากประสบความสำเร็จก็จะทำให้ธุรกิจเติบโตรวดเร็ว แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่จะล้มเหลวสูง แต่ถ้าเราเลือกที่จะก้าวไปทีละช้าๆ โดยมีฐานที่เริ่มต้นจากสิ่งที่เรามีอยู่แล้วก็อาจจะพาเราเติบโตไปได้อย่างช้าๆ และค่อยเป็นค่อยไป แต่มีความเสี่ยงที่น้อยกว่า
 
ซึ่งสำหรับธุรกิจ SME แล้ว การค่อยๆ ขยายธุรกิจไปอย่างช้าๆ และมั่นคง โดยขยายขอบเขตธุรกิจโดยเริ่มต้นจากสิ่งที่เรามีอยู่ในมือก่อน จึงถือเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและมั่นคงในระดับหนึ่ง การทำการตลาดเพื่อขยายธุรกิจโดยใช้กลยุทธ์ intensive growth นั้นสามารถทำได้ในด้านต่างๆ ต่อไปนี้
 
ถ้าเราเลือกที่จะก้าวไปทีละช้าๆ โดยมีฐานที่เริ่มต้นจากสิ่งที่เรามีอยู่แล้วก็อาจจะพาเราเติบโตไปได้อย่างช้าๆ และค่อยเป็นค่อยไป แต่มีความเสี่ยงที่น้อยกว่า

1. ขยายส่วนแบ่งทางการตลาดให้ใหญ่ขึ้น (Market Penetration)
 
กลยุทธ์ที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดในการขยายการเติบโตของธุรกิจคือการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด โดยกลยุทธ์นี้จะเน้นการขายสินค้าเดิมที่เรา ขายอยู่แล้ว ให้กับลูกค้ากลุ่มที่ซื้อของกับเราอยู่แล้ว แต่เพิ่มปริมาณให้ได้มากกว่าเดิม ลองคิดดูว่าในปัจจุบันเราแทบหากระดาษชำระแบบแพค 6 ม้วนไม่ได้อีกแล้ว เพราะแพคเกจส่วนมากนั้นจะ บังคับให้เราต้องซื้อขั้นต่ำ 12 ม้วนในครั้งเดียว โดยวิธีนี้สามารถทำได้ด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขนาดแพคสินค้าที่ทำให้ลูกค้าต้องซื้อในปริมาณที่มากขึ้น หรือการทำรีเสิร์ชข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาจูงใจลูกค้าเกิดความต้องการซื้อมากกว่าเดิม เช่น ผลิตภัณฑ์อย่างแปรงสีฟันก็กระตุ้นยอดขายโดยการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคว่า เพื่อสุขภาพฟันที่ดีควรเปลี่ยนแปรงสีฟันทุกๆ 3 เดือนทำ ให้จากบางคนที่เคยซื้อใช้แค่ปีละครั้งสองครั้งเมื่อได้รับทราบข้อมูลแล้วก็เพิ่มปริมาณเป็นปีละ 4 ครั้งแทน
 
สินค้าเดิม ตลาดเดิม
 
2. พัฒนาตลาดที่มีอยู่ให้กว้างขึ้น (Market Development)
 
บันไดก้าวถัดมาก็คือหนทางที่จะขายสินค้าเดิมที่มีอยู่ให้ได้มากกว่าเดิมในตลาดใหม่ที่ใหญ่กว่า โดยการเสนอสินค้าหรือบริการของเราให้กับลูกค้า ในสถานที่อื่นๆ บ้าง หรือเรียกได้ว่าเป็นการขยายสาขาเพิ่มนั่นเอง ซึ่งมีหลายๆ บริษัทที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงสิบปีที่มาจากการใช้กลยุทธ์พัฒนาการตลาดเป็นกลยุทธ์หลักที่สำคัญในการเติบโตขององค์กร ตัวอย่างเช่น ธุรกิจของเถ้าแก่น้อยที่ใช้ผลิตภัณฑ์เดิมอย่างสาหร่ายทอด แต่แทนที่จะขายในประเทศอย่างเดียวก็เพิ่มฐานลูกค้าด้วยการส่งออกขายยังหลายๆ ประเทศในแถบเอเชีย อีกด้วย หรือแม้แต่ร้านขายข้าวแกงก็สามารถใช้นำกลยุทธ์นี้มาปรับใช้ได้ไม่ยาก จากที่เคยขายให้กับผู้ที่รับประทานในร้านและซื้อกลับไปทานที่บ้าน ก็สามารถขยับขยายให้กลายเป็นธุรกิจ ข้าวกล่องที่มีบริการส่งถึงบ้าน หรือรับทำข้าวกล่องส่งตามงานเลี้ยง งานสัมมนาต่างๆ เพื่อขยายฐานลูกค้าเดิมได้มากขึ้น

สินค้าเดิม ตลาดใหม่
 
3. พัฒนาสินค้าที่มีอยู่ (Product Development)
 
นี่คือกลยุทธ์สุดแสนคลาสสิค ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสินค้าใหม่ขึ้นมา โดยอ้างอิงจากสินค้าที่มีอยู่แล้ว เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับลูกค้าที่ปกติใช้สินค้าเดิมของเราอยู่ให้มากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายที่สุดก็เป็นสินค้าตามท้องตลาดทั่วไปอย่างขนมขบเคี้ยวหรือชาเขียวที่ทำออกมาหลายๆ รสชาติเช่น รสดั้งเดิม รสน้ำผึ้งมะนาว รสเก็กฮวย และอื่นๆ การพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลายจะช่วยให้ลูกค้าไม่เบื่อสินค้าที่มีอยู่เพียงไม่กี่แบบ ซึ่งถ้าเราเลือกได้นั้นเราคงอยากที่จะขายสินค้าใหม่ๆ ให้กับลูกค้าเดิมมากกว่า นั่นเป็น เพราะการขายสินค้าต่างๆ ให้กับฐานลูกค้าที่เรามีอยู่แล้วย่อมมีความเสี่ยงน้อยกว่าการที่เข้าไปเรียนรู้และพัฒนาสินค้าใหม่ไปพร้อมๆ กับการศึกษาตลาดใหม่ที่เราต้องการ
 
สินค้าใหม่ ลูกค้าเดิม
 
4. สร้างสินค้าใหม่เพื่อเปิดตลาดใหม่ (New Products for New Customers)
 
ในบางครั้งตลาดก็บังคับให้เราต้องสร้างสินค้าใหม่ขึ้นมาเพื่อลูกค้าใหม่ๆ ไม่ว่าเราจะพร้อมหรือไม่ก็ตาม เหมือนอย่างบริษัท Polaris ที่ขายนวัตกรรม เกี่ยวกับเครื่องยนต์ในรัฐมินนีอาโพลิส สหรัฐอเมริกาเคยประสบมา เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้บริษัทนี้ผลิตแค่รถสำหรับวิ่งบนหิมะโดยเฉพาะเท่านั้น แต่หลังจากที่สภาพอากาศโดยรวมในรัฐอบอุ่นขึ้น และหิมะในฤดูหนาวเริ่มเบาบางลงเรื่อยๆ ก็ทำให้บริษัทต้องตัดสินใจที่จะทำยานพาหนะสี่ล้อชนิดอื่นๆ พร้อมทั้งเปิดตัวในตลาดใหม่เพื่อที่จะยังคงอยู่ในตลาดต่อไปได้
 
บริษัท Apple เองก็ใช้กลยุทธ์นี้ตอนช่วงที่เปิดตัว ipod ใหม่ๆ โดยตัว ipod เองนั้นเป็นสินค้าที่สามารถขายแยกออกมาได้โดยไม่ต้องผูกติดอยู่กับสินค้าคอมพิวเตอร์อื่นๆ ของ Apple ซึ่งการเปิดออกไปสู่ตลาดผู้ฟังเพลงนอกเหนือจากตลาดผู้ใช้คอมพิวเตอร์นี้ ก็ทำให้ ipod กลายเป็นตัวเบิกทางให้ลูกค้าใหม่ๆ ที่สนใจในคอมพิวเตอร์ของ Apple อยู่แล้วเลือกที่จะใช้สินค้าอื่นๆ ของ Apple ตามมา
 
สินค้าใหม่ ลูกค้าใหม่
 
สุดท้ายถ้าเราจะเลือกใช้กลยุทธ์ Intensive Growth แล้วเราควรเลือกใช้แต่ละข้อเป็นเพียงบันไดที่ขั้นในการก้าวต่อไปเท่านั้น ทำออกมาให้ดีทีละขั้น ก่อนที่จะมั่นใจในการก้าวขึ้นไปอีกในขั้นต่อๆ ไป แม้ว่าแต่ละก้าวจะมีความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนเกิดขึ้นมาบ้าง แต่บางทีเราก็ไม่สามารถเลี่ยงได้ อย่างเช่นเมื่อโดนตลาดกดดันให้ต้องคิดสินค้า ใหม่ๆ เพื่อให้อยู่รอดให้ได้ ในเมื่อเราเลี่ยงที่จะเสี่ยงไม่ได้ เราก็ควรที่จะควบคุมในเรื่องความเสี่ยงที่มีอยู่ให้ได้น้อยที่สุด ถึงแม้จะก้าวไปได้ช้าแต่รับความเสี่ยงน้อยๆ ก็ย่อมปลอดภัยกว่าเสมอ

อ้างอิงจาก KSMECare
 
บทความค้าขายยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ทีมไหน! หา"ทำเล"ก่อนทำธุรกิจ vs เลือก "ธุรกิจ" ก..
406
บทความค้าขายมาใหม่
บทความอื่นในหมวด