บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    ความรู้ทั่วไประบบแฟรนไชส์
4.1K
6 นาที
6 มกราคม 2564
ส่อง! ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยยุค Covid ปี 2021 ปรับให้รอด เปลี่ยนให้รุ่ง!

 
สถานการณ์ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 จนกระทั่งถึงปี 2564 ที่หลายคนมองว่ามูลค่าตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยจะเติบโต 3 แสนล้านบาท หากรัฐบาลสามารถควบคุมการระบาดโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากกลุ่มคนว่างงานและคนที่อยากมีรายได้เพิ่ม จะหันมาลงทุนแฟรนไชส์แทนการสร้างธุรกิจขึ้นมาด้วยตัวเอง ขณะที่แฟรนไชส์แบรนด์ไหนปรับตัวได้ ก็มีโอกาสเติบโตสูง
 
วันนี้ www.ThaiFranchiseCenter.com จะพาไปส่องแนวโน้มและสถานการณ์ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยยุคโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ในปี 2564 จากการสัมภาษณ์ 6 กูรูแฟรนไชส์ชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของกิจการที่อยากทำแฟรนไชส์ เจ้าของแบรนด์แฟรนไชส์ แฟรนไชส์ซี และผู้ที่กำลังจะซื้อแฟรนไชส์ทุกท่านครับ 

คุมโควิดอยู่หมัด ดันแฟรนไชส์โต 3 แสนล้านบาท


ภาพจาก bit.ly/2LjHF2h
 
คุณบุญประเสริฐ พู่พันธ์ นายกสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ กล่าวถึงสถานการณ์และแนวโน้มธุรกิจแฟรไชส์ในประเทศไทยปี 2564 จะมีทั้งธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีการเติบโตอย่างมาก และธุรกิจแฟรนไชส์ที่แย่ลง หรือเติบโตลดลง แต่ถ้าแบรนด์แฟรนไชส์ไหนสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีก็จะมีโอกาสเติบโตสูง เนื่องจากนักลงทุนยังให้ความสนใจลงทุนแฟรนไชส์ เพราะเป็นทางลัดในการทำธุรกิจ มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง 
 
สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่จะได้รับความนิยมและมีโอกาสเติบโตสูงในปี 2564 ประกอบด้วย แฟรนไชส์อาหาร แต่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้สามารถบริการลูกค้าแบบเดลิเวอรี่ เพื่อสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายและจำนวนมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการแฟรนไชส์อาจต้องปรับขนาดธุรกิจให้เล็กลง ให้ค่าเช่าถูกลง การลงทุนถูกลง เพื่อให้ขยายสาขาได้มากขึ้น 


 
ส่วนธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษาก็มีโอกาสเติบโตเช่นเดียวกัน หากผู้ประกอบการแฟรนไชส์สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนมาเป็นแบบออนไลน์ ซึ่งจะมีโอกาสเติบโตได้แบบกระโดด เนื่องจากเด็กจะได้ไม่ต้องเดินทางไปเรียนที่สถาบัน   
 
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจแฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก ที่มีการเติบโตมาตั้งแต่ปี 2563 ก็ยังจะเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2564 เนื่องจากเป็นแฟรนไชส์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบาย มีความเร่งรีบ อีกทั้งผู้ประกอบการสามารถติดตั้งเครื่องซักผ้าเหล่านี้ไว้ที่ไหนก็ได้ หากมีผู้คนสัญจรและอาศัยอยู่ใกล้เคียง 


 
คุณบุญประเสริฐ กล่าวต่อว่า ในส่วนการปรับตัวของผู้ประกอบการแฟรนไชส์ โดยเฉพาะผู้ซื้อแฟรนไชส์ หรือแฟรนไชส์ซี ในปี 2564 จะต้องทำการศึกษาและเรียนรู้ว่าตัวเองจะลงทุนแฟรนไชส์แบบไหน หากไม่มีความรู้เรื่องแฟรนไชส์ก็จะเกิดความเสี่ยง แต่ถ้าเลือกแฟรนไชส์ที่ดีก็เป็นโอกาส โดยเลือกแบรนด์ไหนที่ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ดี และใช้เงินลงทุนที่ไม่สูงมาก 
 
สำหรับมูลค่าทางการตลาดของธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยปี 2564 คุณบุญประเสริฐ มองว่า มูลค่าตลาดแฟรนไชส์ในเมืองไทยน่าจะเติบโตมากกว่าปี 2563 เนื่องจากผู้ประกอบการแฟรนไชส์มีการปรับตัว และมีประสบการณ์จากวิกฤตมาก่อนแล้ว โดยคาดว่ามูลค่าตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ในเมืองไทยจะเติบโตถึง 3 แสนล้านบาท แต่ต้องขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ หากรัฐบาลให้การส่งเสริมและสนับสนุนแฟรนไชส์ไทยอย่างต่อเนื่อง จะสามารถช่วยสร้างงาน สร้างความมั่นคง สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้น โดยธุรกิจแฟรนไชส์ไทย เช่น มวยไทย สปา อาหารไทย ยังคงได้รับความนิยมจากนักลงทุนต่างประเทศ  
 

อยากขายแฟรนไชส์...นำเสนอสินค้าที่ใช่ สร้างความคุ้มค่าแก่ผู้บริโภค  

 
อาจารย์สุชาติ กิติเฉลิมเกียรติ ที่ปรึกษาอาวุโส ธุรกิจ SMEs และแฟรนไชส์ มองว่า สถานการณ์และแนวโน้มแฟรนไชส์ในประเทศไทยปี 2564 จะมีโอกาสเติบโตและได้รับความนิยมลงทุนมากขึ้น

เนื่องจากในช่วงปี 2563 โควิดได้ทำให้รู้ว่าแฟรนไชส์แบรนด์ไหนอยู่ได้หรืออยู่ไม่ได้ โดยคนที่อยากซื้อแฟรนไชส์เริ่มต้นทำธุรกิจมีจำนวนมาก และมีเงินทุนพอสมควร แต่สิ่งที่สำคัญขึ้นอยู่กับแฟรนไชส์ซอร์เอง ว่าได้ร่วมทุกข์อะไรกับแฟรนไชส์ซีบ้าง เพราะตลอดเวลาที่เกิดวิกฤตนั้น การดำเนินธุรกิจมีความยากลำบาก แฟรนไชส์ซอร์มีการช่วยเหลืออะไรแฟรนไชส์ซีบ้าง ขณะเดียวกันแฟรนไชส์ซอร์ก็ต้องมีการปรับธุรกิจของตัวเองให้เข้ากับยุคสมัย เพราะฉะนั้น แฟรนไชส์ซอร์ที่อยู่รอดมาได้ตั้งแต่ปี 2563 ก็จะยืนหยัดอยู่รอดต่อไปในปี 2564 
 
อย่างไรก็ตาม แฟรนไชส์ซอร์จะต้องทำงานหนักขึ้นในปี 2564 เพราะว่าโควิด-19 ก็คงจะไม่หายไปจากเมืองไทยง่ายๆ ถึงแม้จะมีวัคซีนเข้ามาแล้วก็ตาม แต่โควิด-19 ก็สามารถกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ และคงจะมีการระบาดไปอีกยาวนาน 
 
อาจารย์สุชาติ กล่าวว่า หากแฟรนไชส์ซอร์ต้องการปรับเปลี่ยนหรือทำอะไรที่แตกต่างจากเดิม สิ่งที่ไม่ควรลืมก็คือ ต้องไปศึกษาประกาศของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่องแนวทางปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ ว่าสิ่งที่คิดใหม่ขึ้นมานั้นเข้ากับหลักเกณฑ์ของประกาศฯ ดังกล่าวหรือไม่ เพราะถือเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแฟรนไชส์โดยตรง 


นอกจากนี้ แฟรนไชส์ซอร์ต้องเรียนรู้แนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่ปรับเปลี่ยนมาระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้นในยุคโควิด เพราะฉะนั้น ต้องนำเสนอธุรกิจที่ให้ความคุ้มค่าแก่ผู้ซื้อแฟรนไชส์มากที่สุด ดังนั้น ตัวธุรกิจเองต้องนำเสนอสินค้าหรือบริการที่ผู้บริโภคเปรียบเทียบไปแล้วว่าใช่ ซึ่งไม่ได้เป็นการแข่งขันกันที่ราคา แต่ต้องพิจารณาว่าคุณค่าที่ธุรกิจให้แก่ผู้บริโภคตรงกับความต้องพวกเขาหรือไม่ มีความแตกต่าง และแปลกใหม่จากแบรนด์อื่นหรือไม่ 
 
ในปี 2564 สิ่งที่แฟรนไชส์ซอร์ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก คือ การควบคุมต้นทุน ทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการควบคุมต้นทุนไม่ใช่การลดต้นทุน สิ่งที่ต้องพิจารณา ก็คือ ต้นทุนไหนที่สร้างประโยชน์และคุณค่าให้กับกิจการต้องดูแลเป็นพิเศษ จัดกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของโลจิสติกส์และซัพพลายเชน 
 
อาจจะต้องนำมาทบทวน ทั้งระบบการทำงานใหม่ ขั้นตอนการทำงานจะต้องให้การส่งมอบสินค้าและบริการได้รวดเร็ว เพราะเวลานี้แข่งขันกันด้วยความรวดเร็ว ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม พร้อมกับได้คุณภาพงานตามที่ลูกค้าคาดหวัง ดังนั้น สิ่งที่แฟรนไชส์ซอร์ต้องดูแลเพื่อให้มีคนอยากซื้อแฟรไชส์ คือ ต้องสร้างยอดขาย ดูแลเรื่องต้นทุน สร้างแบรนด์ให้คนรู้จัก


ส่วนผู้ซื้อแฟรนไชส์ หรือแฟรนไชส์ซี อย่าไปมองว่าธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีจำนวนสาขาเยอะ จะประสบความสำเร็จมากกว่าแบรนด์แฟรนไชส์อื่น แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ แฟรนไชส์ซอร์ได้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องอะไรแก่แฟรนไชส์ซีบ้าง เพราะฉะนั้น ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะต้องไปพูดคุยเรื่องมาตรฐานแฟรนไชส์ ระบบแฟรนไชส์ที่มีคุณภาพ การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โควิด-19 ว่ามีแบรนด์แฟรนไชส์ไหนบ้าง และให้การช่วยเหลือด้านไหนบ้าง นี่คือสิ่งที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องพิจารณาอย่างรวบคอบ 
 
สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีโอกาสเติบโตในปี 2564 อาจารย์สุชาติ มองว่า ธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร เครื่องดื่ม เบเกอรี่ รวมถึงแฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก โดยเฉพาะแฟรนไชส์สะดวกซักมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เมื่อเทียบกับจำนวนของประชากรไทย ประกอบกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเมือง ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ถ้าหากจะซื้อเครื่องซักผ้าใหม่ เงินทุนอาจไม่พอ
 

แฟรนไชส์ “เวนดิ้ง แมชชีน” โตต่อเนื่องในปี 64


ภาพจาก bit.ly/38gjURB
 
คุณกวิน กิตติบุญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท กวิน อินเตอร์เทรด จำกัด กล่าวว่า ก่อนจะพูดถึงแนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์ในเมืองไทยปี 2564 ขอย้อนกลับไปในปี 2563 เข้าใจว่าการเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์มีการเติบโตในอัตราที่ลดลง เนื่องจากคนว่างงานเยอะ จำเป็นต้องซื้อแฟรนไชส์ไปลงทุน ขณะเดียวกันก็มีทั้งธุรกิจแฟรนไชส์ที่ไปรอดและไม่รอดเช่นเดียวกัน 
 
ส่วนแนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์ในเมืองไทยปี 2564 มองว่า น่าจะมีการเติบโตมากกว่าปี 2563 แต่จะเติบโตในอัตรามากน้อยแค่ไหนยังไม่สามารถตอบได้หากไทยยังไม่ได้วัคซีน แต่ถ้าในครึ่งปีหลังมองว่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากความมั่นใจของประชาชนกลับมา โดยในช่วงครึ่งปีแรกจะเติบโตในแง่ของการขยายสาขา เนื่องจากคนว่างงานในช่วงครึ่งปีแรกอยากมีอาชีพ 


 
สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่จะได้รับความนิยมในปี 2564 คุณกวินจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่ม 1. เป็นกลุ่มเวนดิ้งแมชชีน เครื่องหยอดเหรียญ เนื่องจากเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ที่คนลงทุนไม่ต้องออกจากงานก็ได้ อีกทั้งสามารถตั้งที่ไหนก็ได้ นอกจากนี้ยังมีเครื่องซักผ้าแม้การลงทุนจะสูงถึงหลักล้าน แต่เชื่อว่ามีคนลงทุนและสนใจอีกมาก เพราะสามารถทำเงินได้ตลอดปี
 
กลุ่มที่ 2. อาหารเครื่องและดื่มที่ไม่มีวันตาย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่คนยังต้องกิน แม้คนจะไม่ออกไปกินนอกบ้าน แต่ก็ยังต้องสั่งกลับบ้านหรือเดลิเวอรี่ ขณะที่กลุ่มอื่นๆ ต้องขึ้นอยู่กับสินค้าตอบโจทย์ลูกค้าได้มากแค่ไหน มีกลุ่มลูกค้าเฉพาะได้มากแค่ไหน โดยเฉพาะกลุ่มการศึกษาก็ยังเป็นกลุ่มที่มีลูกค้าเฉพาะ สามารถเติบโตได้ ลูกค้าส่วนใหญ่ลูกค้าเป็นกลุ่มเด็กๆ 
 
กลุ่มที่ 3. โลจิสติกส์ และรับ-ส่งพัสดุ โดยได้รับความนิยมมาตั้งแต่ปี 2563 ยิ่งโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ในปี 2564 ก็จะยิ่งเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากคนจำเป็นต้องอยู่บ้าน ทำงานจากที่บ้าน มีการซื้อขายออนไลน์มากขึ้น 


สำหรับการปรับตัวของเจ้าของแฟรนไชส์ คุณกวินมองว่า คนซื้อมีความรู้มากขึ้น หลายคนทำการบ้าน และเข้าไปนั่งพูดคุยกับเจ้าของแฟรนไชส์ เพื่อดูว่าธุรกิจนี้เป็นอย่างไรบ้าง ส่วนผู้ประกอบการแฟรนไชส์หากอยากอยู่ยาวต้องไม่ทำแบบฉาบฉวย ต้องเตรียมความพร้อมของตัวเองให้มากขึ้น ระบบหลังบ้านต้องดี หากไม่ดีโอกาสที่จะไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนก็มีเยอะ
 
ดังนั้น เจ้าของแฟรนไชส์ต้องปรับตัวในเรื่องของระบบตัวเองต้องแน่น วิสัยทัศน์ต้องชัดเจน อย่าทำแฟรนไชส์แบบฉาบฉวยตีหัวเข้าบ้าน คิดว่าเจ้าของแฟรนไชส์เหล่านี้อยู่ไม่ได้ยั่งยืนแน่นอน เนื่องจากความนิยมถดถอยลง คนซื้อแฟรนไชส์ไปแล้วมีการบอกต่อปากต่อปากว่าแบรนด์นี้ไม่ดูแลหลังซื้อแฟรนไชส์ไปเปิดแล้ว สุดท้ายก็ส่งผลเสียต่อแบรนด์แฟรนไชส์  
 

ปี 64 ผู้ซื้อแฟรนไชส์มีความรู้ มีเงินลงทุน ต้องการแฟรนไชส์มาตรฐาน


ภาพจาก bit.ly/3okUCYb
 
อาจารย์พงศ์พันธ์ วีรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิสิเนส โค้ช แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด มองว่า แนวโน้มแฟรนไชส์ในปี 2564 ผู้ซื้อแฟรนไชส์มีความคาดหวังว่าจะได้แฟรนไชส์ที่ดี มีระบบที่เป็นมาตรฐาน ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะมีความรู้มากขึ้น เป็นกลุ่มเกษียณจากหน่วยงานหรือองค์กรใหญ่ๆ มีเงินลงทุน มีความรู้ในเรื่องการลงทุนแฟรนไชส์มากขึ้น มีการศึกษา ยอมลงทุนแฟรนไชส์ที่สูงขึ้น ขณะที่แฟรนไชส์ซอร์จะต้องทำแฟรนไชส์ที่เป็นระบบมากขึ้น ไม่ใช่โปรดักส์แฟรนไชส์ สินค้าไม่ใช่แฟชั่น 
 
โดยคาดการณ์ว่าโอกาสในการลงทุนแฟรนไชส์ในปี 2564 หากไม่มีโควิด-19 น่าจะเริ่มช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป ซึ่งต้องดูสถานการณ์อีกทีว่ารัฐบาลจะควบคุมโควิดได้มากน้อยแค่ไหน ขณะที่โอกาสของธุรกิจแฟรนไชส์ขนาดเล็กมีมากขึ้นเช่นกัน 
 
ขณะเดียวกันแฟรนไชส์ Street Food ก็มีโอกาสเติบโตหากมีคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน ลูกค้าไม่ต้องไปเดินซื้ออาหารตามห้าง สามารถเปิดร้านขายตามแหล่งชุมชน หรือตลาด จะได้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่าย โดยทำเลเปิดร้านแฟรนไชส์จะขยับออกนอกห้างมากขึ้น 


อาจารย์พงศ์พันธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่คาดว่าจะได้รับความนิยมในปี 2564 ยังคงเป็นแฟรนไชส์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม แม้จะมีการระบาดโควิด-19 แต่คนยังต้องกินต้องใช้ และยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่เข้ามาปรึกษา อาทิ ธุรกิจเกี่ยวกับงานบริการ และธุรกิจที่เป็นรีเทล ค้าปลีก หากรัฐบาลคุมโควิด-19 ได้ แฟรนไชส์อาหารก็จะมาแรง งานบริการ ไปรษณีย์ รับส่งพัสดุ
 
สำหรับการปรับตัวของแฟรนไชส์ซอร์ ในปี 2564 ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ต่างมีประสบการณ์มาก่อนแล้วในปีที่ผ่านมา พอมีข่าวการระบาดโควิดอีกครั้งมีการประชุมทางไกล เพื่อหามาตรการมารองรับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้น ที่สำคัญหากคุมโควิด-19 ได้จริง แฟรนไชส์ที่มีรูปแบบการลงทุน 5 แสน ถึง 3 ล้านบาท จะได้รับความนิยมในการลงทุน เพราะคนลงทุนมองว่าจะมีความยั่งยืน โดยรวมแล้วทิศทางแฟรนไชส์ในปี 2564 จะดีกว่าปี 2563 เพราะคนไม่ต้องลองผิดลองถูก เป็นทางลัดในการทำธุรกิจ
 

สะดวกซัก สะดวกส่ง สะดวกทาน มาแรง!


ภาพจาก bit.ly/3bbwaF5
 
คุณเศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์ CFE, กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีโนซิส จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มและสถานการณ์แฟรนไชส์ในปี 2564 จะมีแนวโน้มเติบโตตามสภาวะแวดล้อมและพฤติกรรมของผู้บริโภคในแบบ New Normal โดยภาพรวมของธุรกิจแฟรนไชส์น่าจะดีขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการแฟรนไชส์รู้จักการปรับตัว รวมถึงมีการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ 
 
เห็นได้จากในปี 2563 แม้สภาวะเศรษฐกิจไม่ดี แต่การเติบโตของแฟรนไชส์ดีมาก เนื่องจากผู้คนตกงาน อยากหารายได้เสริม จึงมองไปที่ธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งในปี 2564 หากแฟรนไชส์ซอร์ปรับตัวได้ดีก็จะมีโอกาสเติบโต และได้รับความนิยม ขณะเดียวกันก็จะมีธุรกิจที่ยังไม่ประสบความสำเร็จเข้ามาขายแฟรนไชส์มากขึ้น อาจส่งผลเสียทำให้ภาพลักษณ์ของแฟรนไชส์ไทยเสียหาย 
 
สำหรับการลงทุนในแฟรนไชส์ขนาดใหญ่ คาดว่าจะมีไม่มากนัก เนื่องจากแฟรนไชส์ขนาดใหญ่ที่ใช้พื้นที่เยอะๆ ได้ปรับรูปแบบให้มีขนาดเล็กลง ทำเลจะอยู่นอกห้างมากขึ้น ส่วนธุรกิจแฟรนไชส์มาแรงในปี 2564 ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์ในเรื่องของความสะดวก เข้าถึงง่าย ใช้งานผ่านดิจิตอลและเทคโนโลยีได้ดี ลดการสัมผัส และคุ้มค่ากับการลงทุนในระยะสั้น อาทิเช่น  
  1. ร้านสะดวกซัก ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก แม้จะมีการแข่งขันสูง แต่จะอยู่ในทำเลที่แตกต่างไปจากเดิมที่อยู่ตามหอพัก
  2. ร้านสะดวกส่ง รับ-ส่งสินค้า บริการแพ็กของ ให้เช่าเก็บสินค้า มีการขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์มากขึ้น   
  3. ร้านสะดวกทาน ประเภทร้านอาหารไทยตามสั่ง เน้นความสะอาด ความคุ้มค่า ใช้พื้นที่ที่ไม่ใหญ่มาก เปิดขายนอกห้าง ให้บริการเดลิเวอรี่ ทานง่าย ทานสะดวก อร่อยคุ้มค่า แต่ต้องเมนูที่สร้างสรรค์ แตกต่างจากคู่แข่งในตลาด 
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจร้านขนมปัง เครื่องดื่ม แบบซื้อกลับไปทานที่บ้าน ซึ่งน่าจะเห็นมากขึ้นในปี 2564 แต่ผู้ประกอบการต้องฉีกกฎรูปแบบขนมปัง และแพ็กเกจจิ้งดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค 


สำหรับการปรับตัวของแฟรนไชส์ซอร์ในปี 2564 ต้องมีแผนสำรองหรือแผนฉุกเฉิน เพื่อรองรับความเสี่ยงต่างๆ หากมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ดังนั้น แฟรนไชส์ซอร์อาจต้องปรับการเขียนคู่มือปฏิบัติการใหม่ ที่จะช่วยให้แฟรนไชส์ซีมีทางออกหลายๆ ทาง ขณะเดียวกันแฟรนไชส์ซอร์จะต้องรักษาฐานลูกค้าไว้ให้แฟรนไชส์ซีได้ เร่งสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ
 
ส่วนผู้ซื้อแฟรนไชส์หรือแฟรนไชส์ซีจะต้องรีบติดต่อประสานงานกับแฟรนไชส์ซอร์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้รู้ว่าแนวโน้มและสถานการณ์ของวิกฤตและการแข่งขันของธุรกิจเป็นอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันแฟรนไชส์ซีจะต้องรู้จักบริหารเงินสดของตัวเองให้ได้ โดยจะต้องมีเงินสดสำรองเผื่อไว้ประมาณ 5-6 เดือน เพื่อจะได้อยู่รอดและเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้
 
คุณเศรษฐพงศ์ ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับคนที่อยากนำเข้าแฟรนไชส์จากต่างประเทศในช่วงโควิด-16 สามารถใช้การประชุมออนไลน์ได้ อาจต้องใช้เวลาเพิ่มมากขึ้น และมีต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะที่แฟรนไชส์ร้านอาหารไทยก็ยังเป็นที่นิยมของต่างประเทศ
 
สำหรับมูลค่าตลาดแฟรนไชส์ในปี 2564 น่าจะเติบโต 3 แสนล้านบาท โดยมีปัจจัยมาจากจำนวนสาขาแฟรนไชส์ 1 แสนสาขา ทั้งรายย่อย รายกลาง รายใหญ่ โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 2.5 แสนบาท จึงทำให้มีมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท 
 

แฟรไชส์ซอร์ควรปรับ Business Model เพิ่มช่องทางการขาย ปรับไซส์ให้เล็กลง 


ภาพจาก bit.ly/2UHilpj
 
อาจารย์สุภัค หมื่นนิกร Chairman & Founder สถาบันธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร มองว่า แนวโน้มและสถานการณ์แฟรนไชส์ในประเทศไทยปี 2564 จะมีแนวโน้มเติบโตอย่างแน่นอน โดยธุรกิจแฟรนไชส์ที่ใช้เงินลงทุนต่ำกว่า 50,000 บาท จะมีโอกาสและได้รับความนิยมลงทุนอย่างมากในปี 2564 เนื่องจากธนาคารออมสินได้เข้ามาช่วยในเรื่องของรายย่อยเยอะ อีกทั้งคนตกงานจากโควิด-19 ก็หันมาเริ่มต้นธุรกิจด้วยการซื้อแฟรนไชส์ ขณะที่เจ้าของกิจการก็จะเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ต่อเนื่อง 
 
สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่ใช้เงินลงทุนหลักล้านบาทขึ้นไป ก็จะมีการลงทุนมากขึ้น โดยมีทำเลนอกห้าง ตามปั้มน้ำมัน ยิ่งหากมีวัคซีน ก็จะทำให้คนกล้าหันมาลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์หลักล้านมากขึ้น 
 
ส่วนแฟรนไชส์ที่ใช้เงินลงทุนหลักแสนบาท ที่มีระบบงานเข้มแข็ง มีมาตรฐาน จะมีโอกาสเติบโตในปี 2564 เพราะมีระบบให้การสนับสนุนแฟรนไชส์ซีที่ดี เช่น ร้านกาแฟ ชานมมุก คนที่ตัดสินใจลงทุนเพราะมองว่าแฟรนไชส์เป็นแบรนด์ที่มีความมั่นคง ยิ่งธุรกิจแฟรนไชส์แบรนด์ไหนมีรูปแบบการให้บริการเดลิเวอรี่ ออนไลน์ในช่วงโควิด-19 ก็จะได้รับความนิยมจากนักลงทุน


สำหรับแฟรนไชส์มาแรงในปี 2564 ยังคงเป็นกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม เบเกอรี่ ขนมหวาน มีการเติบโตอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังมีธุรกิจร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ จะเติบโตเช่นเดียวกัน แต่กลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ โรงเรียนสอนเทรนนิ่งต่างๆ เช่น สอนอังกฤษ คอมพิวเตอร์ น่าเป็นห่วง เพราะคนจะหันไปเรียนออนไลน์แทน ส่วนสอนเด็กเล็กจะเติบโตได้ดี เจาะตลาดเฉพาะกลุ่มจะโตได้ 
 
ในส่วนการปรับตัวของแฟรนไชส์ซอร์ ในปี 2564 ต้องปรับเปลี่ยน Business Model อย่าหวังให้ลูกค้าเดินมาซื้อหน้าร้านอย่างเดียว ต้องมีเดลิเวอรี่ หรือออนไลน์เข้ามาช่วย นำสินค้าขายในแพลตฟอร์มอื่นๆ ให้มีความหลากหลาย และธุรกิจแฟรนไชส์ต้องปรับขนาดเล็กลง ใช้เงินลงทุนต่ำลง เพราะคนมีเงินทุนน้อยลง นอกจากนี้แฟรนไชส์ซอร์ต้องมีแผนอย่างน้อยๆ 1 ปี เพื่อบริหารจัดการงานให้ราบรื่น เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมในการรับมือ สร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพ พร้อมสนับสนุนแฟรนไชส์ซี 
 
สุดท้าย อาจารย์สุภัค กล่าวเสริมว่า แม้ว่าจะมีการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงปี 2564 แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยทุกท่านจะมีภูมิต้านทานที่แข็งแกร่งมากกว่าเดิม เนื่องจากมีประสบการณ์มาตั้งแต่ครั้งแรกแล้ว หากรู้จักปรับตัว มองหาโอกาส เชื่อว่าธุรกิจแฟรนไชส์ไทยจะก้าวข้ามวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ไปได้อีกครั้ง
 
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
 
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
 

 
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ www.thaifranchisecenter.com/document
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
 
บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนมิถุนายน 2567
9,841
ส่อง 76 แฟรนไชส์น่าสอยมาลงทุน ครึ่งปีหลัง 2567
6,311
เดือดแน่! 6 แฟรนไชส์ไอศกรีมและชาผลไม้ ราคาถูก จ่..
1,804
กลับมาแล้วแฟรนไชส์โจ๊ก เฮลตี้ฟู้ดขายง่ายกำไรดี
1,653
จริงมั้ย ซื้อแฟรนไชส์ ยืมจมูกคนอื่นหายใจ
863
ซื้อแฟรนไชส์ อย่าให้เป็นทาส แต่ให้เป็นนายตัวเองท..
835
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด