บทความทั้งหมด    บทความค้าขาย    การบริหารจัดการร้านค้า    การเช่าพื้นที่ หาทำเล เปิดร้าน
4.3K
2 นาที
11 เมษายน 2557
เจาะเทรนด์คอมมูนิตี้มอลล์ พิสูจน์ฝีมือ'รายใหม่'แทรกตลาด สำหรับนักลงทุนบางกลุ่มที่มองเป็น "โอกาส"

แนวโน้มธุรกิจศูนย์การค้าขนาดย่อม หรือ คอมมูนิตี้มอลล์ (Community Mall) มาแรง!! แต่ประสบความสำเร็จแค่ไหนยังเป็นคำถาม? อาจเป็น "ดาวรุ่ง" สำหรับนักลงทุนบางกลุ่มที่มองเป็น "โอกาส" รับไลฟ์สไตล์ครอบครัวยุคใหม่นิยมชอปสะดวก ใกล้บ้านช่วงวันหยุด

ขณะที่ทุนค้าปลีกยักษ์ใหญ่ล้วนมองข้ามไม่ร่วมสมรภูมินี้ มุ่งพัฒนาศูนย์การค้าครบวงจร ที่เชื่อว่าผลตอบแทนทางการลงทุนดีกว่า เปิดทางผู้ประกอบการอสังหาฯ เจ้าของที่ดิน ทุนหน้าใหม่ ขยายการลงทุนแทรกตลาด โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาฯ ใช้ "คอมมูนิตี้มอลล์" เป็นแม่เหล็กและสร้าง "มูลค่าเพิ่ม" ให้กับโครงการที่อยู่อาศัย

จะเห็นว่าย่านชุมชนของกรุงเทพฯ ชั้นใน และถนนรอบนอก ทั้งย่านพระราม 2 พระราม 3 รามอินทรา บางนา เกษตร-นวมินทร์ กระทั่งหัวเมืองใหญ่ เมืองรอง ล้วนมีกลุ่มทุนทั้งหน้าเก่า-รายใหม่ ทยอยเปิดตลาดคอมมูนิตี้มอลล์ด้วยคอนเซปต์ที่แตกต่าง เพื่อสร้าง "เอกลักษณ์" ดึงดูดลูกค้าในชุมชนและรัศมีใกล้เคียงเข้าใช้บริการ

กฤษชนก ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด กล่าวว่า คอมมูนิตี้มอลล์ยังเป็นธุรกิจที่น่าลงทุน แต่ "ทำยาก" ซัพพลายหรือปริมาณในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเขตกรุงเทพฯ ทั้งนี้ "ผู้เล่นหน้าใหม่" ส่วนใหญ่เป็น "เจ้าของที่ดิน" ลงทุนเอง มีการพัฒนาโครงการเพียง 2-3 แห่ง

"พื้นที่กรุงเทพฯ คอมมูนิตี้มอลล์ผุดขึ้นจำนวนมาก หลังๆ น่าจะเหนื่อย การคืนทุนค่อนข้างลำบาก การพัฒนาโครงการสำคัญที่สุด คือ ทำเล"

อินเด็กซ์ฯ มีการพัฒนาธุรกิจ "คอมมูนิตี้มอลล์" ภายในชื่อ "เดอะวอล์ค" เป็นอีก "ขาหลัก" ของกลุ่มที่มองว่าเป็นธุรกิจแห่งอนาคต ปัจจุบันมี 2 สาขา ได้แก่ ราชพฤกษ์ และเกษตร-นวมินทร์ ล่าสุดเปิดบริการ "เดอะวอล์ค คอมมูนิตี้มอลล์" นครสวรรค์ บนที่ดิน 25 ไร่ โดยมีพันธมิตรเทสโก้ โลตัส เป็นแม่เหล็กหลักและทำหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่ในรูปแบบการเช่าระยะยาว 30 ปี จากอินเด็กซ์ฯ ในฐานะผู้ลงทุนและเจ้าของที่ดิน

สยามฟิวเจอร์ฯ มั่นใจธุรกิจ "ขาขึ้น"

เชนคอมมูนิตี้มอลล์รายใหญ่ "สยามฟิวเจอร์ดีเวลลอปเมนท์" เชื่อว่ายังเป็นตลาด "ขาขึ้น" แม้การแข่งขันจะทวีความรุนแรงตามจำนวนคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น จากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาใช้กำลังคนทุ่มไปกับโครงการใหญ่ เมกา บางนา หลังจากนี้จะกลับมาสยายปีกตามแผนปกติภายใต้เป้าหมายเปิดคอมมูนิตี้มอลล์ปีละ 1-3 แห่งต่อเนื่อง

ณัฐรินทร์ พยุงวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการขายและการตลาด บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) หรือ เอสเอฟ กล่าวว่า ขยายตัวของชุมชนที่อยู่อาศัยรอบนอกกรุงเทพฯ มีความต้องการสินค้าและบริการ เป็นปัจจัยหนุนธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์เติบโตได้อีกมาก

ในปีนี้เอสเอฟลงทุน 2 โครงการ ได้แก่ ลุมพินี ทาวน์ชิป รังสิต คลอง 1 เปิดบริการไตรมาส 4 อีกโครงการอยู่ระหว่างเจรจาทำสัญญาเช่า เป็นที่ดินย่านใจกลางเมือง เนื้อที่ 4 ไร่ครึ่ง

"ชุมชนใหม่ มีความต้องการสินค้าและบริการตามการเติบโตทางสังคม รายได้ และเศรษฐกิจ ยิ่งมีการพัฒนาเมกะโปรเจคต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นโอกาสของอุตสาหกรรมค้าปลีกในรูปแบบต่างๆ ทั้งโครงการขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก"

การพัฒนาโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ให้มีศักยภาพและประสบความสำเร็จ ต้องมีครบ 3 องค์ประกอบ กล่าวคือ "ทำเลที่ดี" หัวใจสำคัญขอค้าปลีกทุกประเภท "คอนเซปต์" ของโครงการที่ชัดเจนมีความแตกต่างจากคู่แข่งขัน สุดท้าย "การบริหารแบบมืออาชีพ"
 
คอมมูนิตี้มอลล์เพิ่ม2.64แสนตร.ม.

ข้อมูลวิจัยตลาดพื้นที่ค้าปลีกของคอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุด้วยว่า คอมมูนิตี้มอลล์ยังคงขยายตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2550 จนมีสัดส่วนเป็นอันดับสองในตลาดพื้นที่ค้าปลีกกรุงเทพฯ ในสิ้นปี 2556

โดยอุปทานที่มีกำหนดแล้วเสร็จในปีนี้อยู่ที่ 7.79 แสนตร.ม. จำนวน 4.74 แสนตร.ม. เป็นศูนย์การค้า ในพื้นที่ใจกลางมืองและรอบใจกลางเมือง อีก 2.64 แสนตร.ม. เป็นคอมมูนิตี้มอลล์ โดย 69% ของคอมมูนิตี้มอลล์ที่แล้วเสร็จอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอก

อย่างไรก็ดี โครงการใหม่ๆ จำนวนมากที่สร้างเสร็จ และเปิดให้บริการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา "ศูนย์การค้า" ยังคงมีสัดส่วนในตลาดพื้นที่ค้าปลีกมากที่สุด และพื้นที่ส่วนใหญ่ของโครงการในอนาคตที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ก็คือ ศูนย์การค้า
 
กลุ่มทุนแห่ผุดโครงการ

ทั้งนี้กลุ่มผู้ประกอบการต่างๆ เปิดการลงทุนธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์อย่างต่อเนื่อง เช่น "โตโยต้า ทีบีเอ็น" ประสบความสำเร็จจาก "พาซิโอ" คอมมูนิตี้มอลล์สาขาแรกย่านถนนอ่อนนุช ขยายตลาดย่านสุขาภิบาล 3 และกาญจนา

นอกจากนี้ยังมี เดอะ ศาลายา มอลล์ ย่านศาลายา จ.นครปฐม ในแนวคิด อีทดริ๊งฟันอินวันเพลซ" ภายใต้การพัฒนาของบริษัท พรพรหมเม็ททอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีพีเอ็ม ผู้จัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและวัตถุดิบอุตสาหกรรม ที่แตกไลน์สู่ "คอมมูนิตี้ มอลล์" รวมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รองรับโอกาสทางธุรกิจในระยะยาวจากการเติบโตของชุมชน การบริโภค พฤติกรรมและไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่นิยมจับจ่ายใช้สอยในค้าปลีกสมัยใหม่มากขึ้น

เดอะ ศาลายา มอลล์ มีกลุ่มเป้าหมายนักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยมหิดล กว่า 20,000 คน เป็นการต่อยอดทางด้านทำเลซึ่งอยู่ติดมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีหอพักและอพาร์ตเมนต์กว่า 100 แห่ง เป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ ที่พักอาศัยกว่า 9 หมื่นครัวเรือนในรัศมี 10 กิโลเมตร คาดธุรกิจคืนทุนภายใน 7 ปี

ย้ำวันสต็อปชอปปิ้งได้เปรียบดึงลูกค้า

ตะติยะ ซอโสตถิกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไม่มีนโยบายลงทุนคอมมูนิตี้มอลล์ แม้ดูเหมือนจะ "ทำง่าย-เกิดง่าย" แต่ไม่คุ้ม!!

ขณะที่กลุ่มเดอะมอลล์ ยึดมั่นในคอนเซปต์ "ชอปปิงคอมเพล็กซ์" อย่างเหนียวแน่นนเพราะเชื่อว่าบรรจุสินค้าและบริการครบครันเป็น "วันสต็อปเซอร์วิส" มาทีเดียวได้หมด รองรับพฤติกรรมลูกค้าต้องการ "ทางเลือกใหม่" และทางเลือกที่หลากหลาย พร้อมจ่ายเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ ฉะนั้นความครบวงจรคือสิ่งสำคัญต่อการรองรับฐานลูกค้าหลักของเดอะมอลล์ที่ครอบคลุมกลุ่มครอบครัว วัยรุ่น วัยทำงาน ฯลฯ

ไม่ต่างจาก "กลุ่มเซ็นทรัล" ภายใต้บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น มองว่าการลงทุนศูนย์การค้าขนาดย่อม "ไม่คุ้มการลงทุน" ท่ามกลางโอกาสธุรกิจในการขยายศูนย์การค้าขนาดใหญ่รออยู่ทั่วประเทศ โดยซีพีเอ็นจะขยายสาขาในอัตราเร่งใช้งบลงทุนมากกว่า 1.2-1.4 หมื่นล้านบาทต่อปีเปิดศูนย์การค้าใหม่ 3-4 แห่ง

ด้วยกลยุทธ์เชิงรุก “3S” กล่าวคือ STRATEGIC MOVE “รุกเร็ว” เพื่อช่วงชิงโอกาสทางธุรกิจ SECURE PRIME LOCATION หาทำเลที่มีศักยภาพสูงสุด เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ และ SYNERGY กับพันธมิตรร้านค้า ซึ่งจะผลักดันให้ธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด

อ้างอิงจาก กรุงเทพธุรกิจ

บทความค้าขายยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ทีมไหน! หา"ทำเล"ก่อนทำธุรกิจ vs เลือก "ธุรกิจ" ก..
409
บทความค้าขายมาใหม่
บทความอื่นในหมวด