บทความทั้งหมด    บทความค้าขาย    การบริหารจัดการร้านค้า    การทำการตลาด การขาย
6.4K
3 นาที
11 เมษายน 2557
เหนือคำบรรยาย! ตลาดนัดจตุจักรยุค 'เงียบเหงา'

จากรายได้วันละไม่ต่ำกว่าหมื่นบาทขาช้อปคับคั่ง ทว่าวันนี้สิ่งที่ผู้ค้าจตุจักรต้องเผชิญคือยอดหายกำไรหด เจ็บสาหัสขนาดที่บางรายต้องขึ้นป้าย'เซ้ง

เกิดอะไรขึ้นกับตลาดนัดจตุจักร แหล่งช็อปปิ้งยอดฮิต ชนิดติด 1 ใน 5 ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติอยากมาเยือนมากที่สุด เมื่อวันนี้แผงค้ากว่า 8,000 ร้านค้า เต็มไปด้วยสภาวะ “เงียบเหงา” เรียกว่าซบเซากันตั้งแต่กลุ่มผู้ซื้อที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งวันธรรมดาและวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เม็ดเงินที่เคยสะพัดก็เหือดหาย ไม่ว่าจะค้าขาย เสื้อผ้า สัตว์เลี้ยง ต้นไม้ อาหาร ไล่ไปจนของเบ็ดเตล็ด ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ขายไม่ดีเหมือนเก่า” และจตุจักรวันนี้ก็ช่าง “เฉา” เอามากๆ

“วันนี้ผมขายได้ 150 บาท น้อยสุดเป็นประวัติการณ์เลยนะ” (หัวเราะ)

“ประสิทธิ์ ปลีสนิท” พ่อค้าต้นไม้ จากชุมพร เจ้าของ “ติ่ง ชุมพรไม้ประดับ” บอกสถานการณ์สุดช้ำที่ทำได้แต่หัวเราะให้กับชะตากรรม หลังกิจการจำหน่าย จันทร์หอม และไม้ประดับทุกชนิด ที่ปักหลักใน ตลาดนัดจตุจักร มาได้กว่า 6 ปี จะมีวันนี้ที่ทำรายได้ทุบสถิติ “150 บาท” ต่อวัน

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ร้านของเขาขายดีชนิด “วันเดียวก็เกลี้ยงแผง” ต้นไม้ที่มีราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจน 3-4 พันบาท ทำรายได้ให้มากถึงหลายหมื่นบาทต่อวัน ขณะที่รายได้ในวันนี้ น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำด้วยซ้ำ!

และที่ทำให้ต้องกุมขมับเอามากๆ ก็คือ การค้าที่มีต้นทุน โดยพ่อค้าต้นไม้ในจตุจักร ส่วนใหญ่จะอยู่ต่างจังหวัด การเปิดร้านแค่อาทิตย์ละ 3 วัน คือ เย็นวันอังคาร จะขายได้เต็มๆ ก็พุธ กับพฤหัส พวกเขาต้องแบกภาระต้นทุนหลายด้าน เรียกว่า ไม่แค่ค่าเช่าแผง แต่ยังรวมถึง ค่าเดินทาง ค่ากิน ค่าอยู่ ที่ล้วนเป็น ต้นทุน “มิใช่น้อย” สำหรับคนหาเช้ากินค่ำ

“ค่าน้ำมันไปกลับ รวมค่ากินค่าอยู่ ต่อการมาขายแต่ละครั้งก็ตกประมาณ 5,000 บาท นี่ยังไม่รวมค่าแผงนะ ที่เช่าแผงต่อเขามา ต้องจ่ายเป็นเดือน เดือนละ 3,000 บาท ซึ่งเมื่อก่อนตอนขายดี ก็มีลูกน้องมาด้วย แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้เลย ไม่คุ้ม ต้องทำคนเดียว แต่ก็ยังขายยากมากๆ ต้องขาดทุนเพราะขายไม่ได้ ผมเชื่อว่าที่อื่นก็เหมือนกัน เงียบเหมือนกันหมด มันเป็นทั้งประเทศ เพราะเศรษฐกิจไม่ดีด้วย ขนาดแม่ค้าขายกับข้าวยังบ่นเลย แม้แต่อาหารที่ต้องกินทุกวันยังขายยาก”

เขาบอกสถานการณ์ “ไม่สู้ดี” ที่ผู้ค้าจตุจักรกำลังเผชิญอยู่ และเห็นตรงกับพ่อค้าจตุจักรหลายราย ที่วิเคราะห์สภาวะ “จตุจักรเฉา” ให้ฟังว่า น่าจะมาจากเศรษฐกิจที่ไม่ดี คนจึงใช้จ่ายน้อยลง คนส่วนหนึ่ง “ไม่มีอารมณ์” จับจ่ายใช้สอย มาบวกปัญหาจากการชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานาน ขณะที่ส่วนหนึ่งก็มองว่า ผู้บริหารโครงการรายใหม่ อย่างการรถไฟแห่งประเทศไทย ยังขาดการบริหารจัดการที่ดี ขาดการโปรโมท จนจตุจักรในวันนี้ต้องกลายเป็นตลาดที่ “เงียบเหงา”

ประสานเสียงรับว่า “หัวอกเดียวกัน” สำหรับ “สวนวันดีพันธุ์ไม้” พ่อค้าต้นไม้จากจังหวัดปราจีนบุรี ที่เคยมีลูกค้าคับคั่งทั้งขาจรขาประจำ ทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นบาทต่อสัปดาห์ (ขาย 3 วัน) และหลายครั้งที่อยู่แค่วันเดียวก็ขายหมดเกลี้ยง ต้องไปขนมาขายรอบสอง

ทว่าบรรยากาศการค้าในวันนี้ มีให้ก็แต่ความเงียบเหงา จนรายได้หดหายไปเกือบ 50%

“ขายยากมาก ปกติวันเดียวก็ขายหมดแล้ว แต่นี่อยู่มาจนวันสุดท้ายขายยันเย็น ก็ยังขายไม่หมด งานที่ลูกค้าเคยสั่ง ครั้งละ 300-400 ต้น เดี๋ยวนี้ไม่มีเลย ขายไม่ดีเหมือนก่อน กว่าจะขายได้เท่าเดิมก็ต้องใช้เวลาถึงสองสามอาทิตย์”

พวกเขาบอกสถานการณ์ที่พบเจอเป็นครั้งแรกในตลาดนัดจตุจักร หลังปักหลักทำการค้าที่นี่มานานหลายปี และมีตลาดนัดจตุจักร เป็นตลาดหลักในการระบายสินค้า ทั้งให้กับลูกค้าทั่วไป และขายส่งให้พ่อค้าคนกลาง

“เราพยายามมองหาตลาดข้างนอกนะ แต่ดูแล้วก็ไม่เวิร์ค เรียกว่าไม่ค่อยดีเหมือนกันหมด อารมณ์การซื้อขายของคน มันไม่เหมือนเมื่อก่อน คนไม่มีอารมณ์จับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจไม่ดี เขามองว่าของพวกนี้ไม่จำเป็น ค่อยซื้อก็ได้ เราก็พยายามปรับตัวนะ อย่างขายถูกลง เอากำไรน้อยหน่อย หาทางของเราไป อย่างบางร้านนี่ ถึงขนาดรอคนมาเหมาแบบหักคอเลย คือขายกันแบบไม่เอากำไร เพราะไม่อยากขนกลับ”

ขณะพ่อค้าบางคน ดิ้นรนกับสินค้าตัวเก่าไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนสินค้า อย่างพ่อค้าต้นไม้ที่อยู่กับจตุจักรมาเกือบ 2 ทศวรรษ บอกว่าวันนี้มาจับอาชีพใหม่ “ขายอาหารตามสั่ง” เพราะมองว่าขายของจำเป็นน่าจะพอขายได้ในสถานการณ์นี้

“เมื่อก่อนขายต้นไม้ ไม่ใช่ไม่เวิร์คนะ แต่มันไม่ไหวเลยแหล่ะ ขายไมได้ ก็เปลี่ยนมาขายอาหารตามสั่ง แต่ก็แค่พออยู่ได้ แต่ยังไงก็จะหยุดไม่ได้ เพราะหยุดก็เท่ากับตาย ก็ต้องดิ้นรนกันไป และไม่ลงทุนเยอะ”

ส่วนคนที่เหนื่อยจะดิ้นรนก็ขอทิ้งไพ่ใบสุดท้าย นั่นคือ ขึ้นป้าย “เซ้ง”

“วันที่ขายได้น้อยที่สุด คือ ขายไม่ได้เลยแม้แต่บาทเดียว”

ใครจะคิดว่านี่คือสถานการณ์จริง ที่เกิดกับพ่อค้าตลาดนัดจตุจักร เจ้าของร้านจำหน่ายสินค้าหัตถกรรม ที่อยู่จตุจักมานานถึง 20 ปี เคยมีรายได้ต่อวันหลายหมื่นบาท จะมีวันนี้ วันที่ขายไม่ได้เลยสักบาท และเป็นอย่างนี้มานับสิบครั้งแล้ว เขาย้ำว่าตั้งแต่เปลี่ยนผู้บริหารโครงการ ไล่มาจนวิกฤติการเมือง คนหมดอารมณ์ซื้อขาย จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ยอดขายก็ยังไม่กระเตื้องขึ้น มีแต่จะซบเซาลงเท่านั้น ที่มาของการขึ้นป้าย “เซ้ง” เตรียมเลิกกิจการ

“ผมถอดใจแล้ว ถึงได้ติดป้ายเซ้ง ซึ่งไม่ใช่มีแค่ผมนะ ลองเดินไปดูสิ ติดป้ายเซ้งกันเยอะมาก เพราะอยู่กันไม่ได้ และขายกันถูกๆ ด้วย ใกล้ๆ กันนี่เขาขายพวกงานศิลปะก็ติดป้ายเซ้ง มันไม่ไหว จตุจักรคนในอยากออก คนนอกอยากเข้า สำหรับคนที่นี่บอกได้แค่ว่า..ยุคที่รุ่งเรืองของมันได้ผ่านไปแล้ว”

ผู้ประกอบการเก่าเริ่มถอดใจ โบกมือลากิจการไปบ้าง แต่กับร้านหนังสือเก่าแก่คู่จตุจักร ที่อยู่มานานสามรุ่นแล้ว พวกเขายังยืนยันที่จะสู้ และยังคงสู้ยิบตา “สมพิศ ทาดวงตา” ทายาทรุ่น 3 ของร้านหนังสือ แผง 40 ตลาดนัดสวนจตุจักร ที่เปิดขายทุกวัน และเคยขายดีเอามากๆ ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ บอกเล่าสถานการณ์จริงว่า ยอดขายหายไปเกินครึ่ง และบางสัปดาห์กำไรก็ติดลบ ทั้งที่สมัยก่อนช่วงขายดี เคยทำรายได้ถึงวันละ 3-4 หมื่นบาท และเอาแบบขายไม่ค่อยไดแลย ก็ยังได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 2 หมื่นบาท แต่วันนี้เอาแค่ “รายได้ต่ำสุด” ที่เคยทำได้ ก็ไปไม่ถึงแล้ว

“เดี๋ยวนี้อยู่ยากขึ้น หมุนเงินเหนื่อยขึ้น พวกหนังสือเรียนที่เคยขายดีก็ขายได้น้อยลง ลูกค้าประจำที่เคยมาซื้อทีละหลายสิบเล่ม เดี๋ยวนี้แค่ 2-3 เล่ม ก็ถือว่าดีมากแล้ว เดี๋ยวนี้คนเดินทางมาไม่สะดวก เขาก็สั่งซื้อผ่านอินเตอร์เน็ตได้ ขณะที่สำนักพิมพ์เองก็ไม่ได้ให้เครดิตเราเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ทุกอย่างต้องจ่ายสด ทำให้การทำธุรกิจยากขึ้นมาก”

แต่นั่นก็คือแรงผลักดันที่ทำให้พวกเขาต้องปรับตัว ตั้งแต่การเริ่มขายหนังสือหายาก เพื่อที่จะสามารถอัพราคาให้สูงขึ้นได้ รวมถึงขยายไปสู่โอกาสใหม่ๆ อย่างการให้เช่าหนังสือสำหรับงานโพรดักชั่น

“เดี๋ยวนี้นอกจากขาย ก็มีให้เช่าหนังสือด้วย สำหรับพวกที่ทำโพรดักชั่น อย่างเอาไปจัดพร็อพ ไปประกอบฉาก โดยคิดค่าเช่าที่ 10% ของราคาหนังสือ ซึ่งเขาสั่งครั้งละประมาณกว่า 100 เล่ม รวมถึงกลุ่มบ้านและคอนโดที่นำไปตกแต่งห้องตัวอย่าง ก็มาซื้อเพื่อไปจัดโชว์มากขึ้น เมื่อตลาดมีความต้องการเราก็ต้องปรับตัว ดีกว่าให้หนังสือมันนอนอยู่เฉยๆ”

พวกเขาบอกการปรับตัว ในยุคที่ย้ำว่า “จตุจักรเหงามาก” และกำลังเผชิญกับสถานการณ์ “สุดสาหัส” ในช่วงชีวิตการทำธุรกิจของพวกเขา

แต่อย่างไรเรายังได้เห็นรอยยิ้ม สะท้อนความเข้มแข็งของผู้ประกอบการที่นี่ เหมือนย้ำกับเราว่า..

“คิดทำการค้า ต่อให้จะเจอกับอะไร ก็ต้องยิ้มให้ได้”

Key to success

สูตรปรับตัวผู้ค้าจตุจักร
  • ปรับกลยุทธ์การขาย ยอมกำไรน้อยลง
  • มองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นช่องว่างและยังมีโอกาส
  • ระมัดระวังในการลงทุน และบริหารรายจ่าย
  • ลดต้นทุน และรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
  • ศึกษาตลาดออนไลน์ สร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจ
  • ไม่จนกับปัญหา ยิ้มให้ได้แม้เจอวิกฤติ
อ้างอิงจาก กรุงเทพธุรกิจ

บทความค้าขายยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ทีมไหน! หา"ทำเล"ก่อนทำธุรกิจ vs เลือก "ธุรกิจ" ก..
406
บทความค้าขายมาใหม่
บทความอื่นในหมวด