บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    การวางแผนธุรกิจแฟรนไชส์
1.2K
2 นาที
15 กรกฎาคม 2567
ซื้อแฟรนไชส์ ดูแลเอง vs จ้างผู้จัดการร้าน สูตรไหนปัง
 

หลายคนถามเข้ามาว่า ซื้อธุรกิจแฟรนไชส์มาเปิดต้องลงมือทำเอง หรือจ้างผู้จัดการร้านมาช่วยดูแลแทน ก่อนอื่นต้องดูก่อนว่าธุรกิจแฟรนไชส์ที่ซื้อมาเป็นประเภทไหน โดยธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้รับความนิยมลงทุนในปัจจุบัน มีอยู่ 2 ประเภท คือ Product Franchise ใช้คนน้อย ทำเองได้ และ Business Format Franchise .ใช้คนมาก ต้องจ้างคนช่วย 
 
 
Product Franchise แฟรนไชส์ผลิตภัณฑ์ เช่น ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว, โกเด้ง โฮเด้ง, ไจแอ้นลูกชิ้นปลาระเบิด, ไก่ย่างห้าวดาว, ร้านสะเต็ก, หมูย่าง, ชานมไข่มุก ฯลฯ แฟรนไชส์พวกนี้ต้องซื้อวัตถุดิบหลักบางส่วนจากแบรนด์ จะได้เป็นมาตรฐาน 

 
Business Format Franchise แฟรนไชส์ระบบ เช่น 7-Eleven, ท็อปส์ เดลี่, เชสเตอร์, คาเฟ่ อเมซอน, อินทนิล, กาแฟพันธุ์ไทย, เคเอฟซี, แมคโดนัลด์, เบอร์เกอร์คิง, แดรี่ควีน, สเวนเซ่นส์, สตาร์บัคส์, ฯลฯ 
 
ผู้ซื้อแฟรนไชส์พวกนี้จะได้ระบบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทุกอย่างจากแบรนด์ เช่น กระบวนการทำธุรกิจ การบริหารจัดการ การทำการตลาด การบริการลูกค้า ตลอดจนเทคโนโลยีการขายทั้งหน้าร้าน-หลังร้าน โดยที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องปฏิบัติตามคู่มือแฟรนไชส์และคำแนะนำจากเจ้าของแบรนด์ทุกอย่าง เพื่อคุณภาพและความเป็นมาตรฐานเดียวกัน
 
 
Product Franchise จะมีความยืดหยุ่นในเรื่องของการดำเนินธุรกิจ เปิดร้านได้เร็ว ใช้คนน้อย ผู้ซื้อแฟรนไชส์สามารถลงมือทำเองได้ รายได้ขึ้นอยู่กับปริมาณการขายของสินค้า ขายมากได้มาก ขายน้อยได้น้อย เพราะกำไรการขายต่อชิ้นไม่มากนัก คนที่ซื้อแฟรนไชส์ประเภท Product Franchise ส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วๆ ไป ไม่ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล  
 
Business Format Franchise ร้านสาขาแฟรนไชส์ดำเนินธุรกิจตามระบบที่เป็นมาตรฐานของแบรนด์แฟรนไชส์ เจ้าของแบรนด์จะสนับสนุนการทำตลาด จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพิ่มยอดขายให้แต่ละสาขา ใช้คนมาก ผู้ซื้อแฟรนไชส์สามารถจ้างผู้จัดการร้านดูแลและบริหารร้านแทนได้ เพราะแฟรนไชส์พวกนี้มีระบบการจัดการช่วยให้ทำงานได้ง่าย พนักงานอีกคนไม่มา คนอื่นก็ทำแทนได้ จึงทำให้แต่ละสาขาแฟรนไชส์ Business Format Franchise มีผู้จัดการร้านช่วยบริหารดูแลแทน 
 
 
คนที่ซื้อแฟรนไชส์ประเภท Business Format Franchise ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนที่มีความพร้อมทางด้านเงินลงทุน มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจอื่นมาก่อน และต้องจดทะเบียนนิติบุคคล (บริษัท) ด้วย ที่สำคัญคนกลุ่มนี้จะมีลงทุนแฟรนไชส์หลายสาขาอีกต่างหาก เพราะจะช่วยให้มียอดขายและรายได้เพิ่มขึ้น 
 
ลองสังเกตให้ดีทุกสาขาแฟรนไชส์ไม่ว่าจะเป็น 7-Eleven, คาเฟ่ อเมซอน ในปั้ม จะมีผู้จัดการร้านเป็นผู้ดูแลบริหารจัดการร้านในแต่ละสาขา เพราะเจ้าของร้านเป็นเจ้าของปั้ม มีธุรกิจอื่นที่ต้องดูแลไปด้วย จึงต้องจ้างผู้จัดการร้านช่วยดูแลแทน   
 
ทำไม ต้องมีผู้จัดการร้าน
 
ผู้จัดการร้านสามารถช่วยเจ้าของร้าน ดูแลร้านในภาพรวม ตั้งแต่การเข้าทำงานของพนักงาน คนครัว การดูแลเรื่องจำนวนวัตถุดิบ การจัดซื้อ การขนส่งอาหาร ทำความสะอาด ไปจนถึงบริการลูกค้าให้มีความพึงพอใจ ประสานงาน การสื่อสาร สามารถทำงานได้หลายอย่าง มีใจบริการ ใจเย็น อดทน ที่สำคัญควรมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในการพูดคุยกับลูกค้าอีกด้วย
 
 
หน้าที่รับผิดชอบผู้จัดการร้าน 
  • บริหารงานและควบคุมดูแลความเรียบร้อยภายในร้าน
  • ควบคุมดูแลพนักงานในร้าน และประสานกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการสั่งของและจัดเก็บสต็อกสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การบริการดำเนินไปตามเป้าหมายและนโยบายของร้าน
  • บริหารยอดขายให้เป็นไปตามเป้าหมาย สร้างผลกำไรให้กับร้าน บริหารต้นทุนในส่วนที่ควบคุมได้
  • สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ
  • ฝึกสอนงานแก่พนักงาน พร้อมทั้งให้คำแนะนำดูแลช่วยเหลือ
  • สามารถทำงานทดแทนพนักงานได้ ในกรณีที่พนักงานลาหยุด

สรุปก็คือ ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ลงมือทำเองกับจ้างผู้จัดการร้านดูแลร้านแทน มีทั้งข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกัน ถ้าเป็นร้านแฟรนไชส์เล็กๆ หากจ้างคนอื่นขายแทนจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม หักลบยอดขายกำไรแล้ว แทบจะไม่เหลือ ลงมือทำเองจะดีกว่า แต่ถ้าเป็นร้านแฟรนไชส์ใหญ่ๆ ถ้าลงมือทำเองจะไม่มีเวลาคิดและวางแผนการดำเนินงาน มัวแต่ยุ่งดูแลร้าน กว่าจะปิดร้านก็เหนื่อยแล้ว ถ้าจ้างผู้จัดการร้านมาช่วยก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่จะแบ่งเบาภาระหน้าที่ สามารถไปทำภาระอย่างอื่นได้อีก 

ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
 
 

ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)