บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    กฎหมายและข้อบังคับ    ข้อพิพาท และความลับทางการค้า
2.7K
3 นาที
29 สิงหาคม 2558
เจ้านาย...เจ้าขา (ตอนสอง) (บทความกฎหมายแฟรนไชส์)


 
การให้ความช่วยเหลือจากแฟรนไชซอร์  เป็นสิ่งที่อยู่ในความคาดหวังของแฟรนไชซี

เมื่อเขาเข้ามาเป็นแฟรนไชซีของเราแล้ว ก็ต้องช่วยเหลือให้เขาเปิดร้านทำแฟรนไชส์ให้ได้ คือต้องให้แฟรนไชซีตั้งไข่ให้ได้ว่างั้นเถอะ อย่างเช่น การจัดวางสินค้า การจัดเตรียมเอกสารบัญชี หรือการเงิน การจัดทำรายงาน ฯลฯ

การให้ความช่วยเหลือในขั้นต้นนี้ (Initial assistance) จะรวมอยู่ในค่าแฟรนไชส์แรกเข้า แต่แฟรนไชซอร์อาจเรียกเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับค่าพาหนะเดินทาง ถ้าต้องเดินทางไปไกล ๆ

ระยะเวลาของการให้ความช่วยเหลือขั้นต้นเป็นอีกเรื่องที่ต้องคิด จะยาวหรือสั้นคงกำหนดตายตัวได้ยาก แล้วแต่ความซับซ้อนของระบบ ประสบการณ์ของแฟรนไชซี หรือระดับการควบคุมของแฟรนไชซอร์

อันที่จริงความช่วยเหลือเหล่านี้มักเขียนในคู่มือแฟรนไชส์อยู่แล้ว แต่ในระยะแรกแฟรนไชซอร์ก็ต้องใช้ยาสีฟันใกล้ชิดหน่อย คุยกันใกล้ ๆ จะได้หอมสดชื่น แฟรนไชซอร์ยังต้องให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง (Ongoing assistance) อีกด้วย

อันนี่แน่นอนก็ให้เขามาแต่งงานด้วยแล้วนี่นา จะทิ้งขว้างได้ยังไง

บางประเทศถึงกับกำหนดเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของแฟรนไชซอร์ และไม่ต้องจ่ายเพิ่มด้วย เพราะถือว่ารวมอยู่ในค่าสิทธิที่จ่ายเป็นรายเดือนอยู่แล้ว (Ongoing franchise fee) การให้ความช่วยเหลือต่อเนื่องก็เช่น การตรวจสอบว่ามาตรฐานของแฟรนไชซียังดีเหมือนเดิมหรือเปล่า และให้คำแนะนำเพิ่มเติม

ว่าไปแล้วค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ของแฟรนไชซอร์ที่ต้องเดินทางไปตามร้านแฟรนไชส์ต่าง ๆ นะค่อนข้างสูงอยู่เหมือนกัน แต่การไปตรวจเยี่ยมแฟรนไชซีควรจะเป็นสิ่งที่แฟรนไชซอร์ต้องทำอยู่แล้ว จะไปคิดค่าใช้จ่ายหยุมหยิมอีกออกจะน่าเกลียดไป

แต่ถ้าเป็นการออกไปเป็นกรณีพิเศษตามที่แฟรนไชซี ขอการเขียนระบุถึงสิทธิ และค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไว้ในสัญญา หรือเอกสารแนบท้ายสัญญาแฟรนไชส์ก็น่าจะช่วยให้หน้าที่ในส่วนนี้ชัดเจนขึ้น

 

การโฆษณาเป็นการให้ความช่วยเหลืออย่างหนึ่งของแฟรนไชซอร์

การโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นเรื่องสำคัญของแทบธุรกิจ ไม่เฉพาะธุรกิจแฟรนไชส์เท่านั้น แฟรนไชส์เกิดใหม่คงรู้ดีว่า ต้องออกแรงในการโฆษณาประชาสัมพันธ์มากน้อยแค่ไหน บางเจ้าให้พนักงานเดินแจกใบปลิวเป็นแสน…. แสนใบครับไม่ใช่แสนกิโล อย่างนั้นเรียกเดินจนเคาน์เตอร์เพนบาล์มเรียกพี่

เรื่องโฆษณาอาจแยกเป็นสองระดับ คือ การโฆษณาในระดับแฟรนไชส์ทั้งเครือข่าย กับการโฆษณาในระดับท้องถิ่น ในพื้นที่ของแฟรนไชซีแต่ละราย ในระดับแรกเป็นหน้าที่ของแฟรนไชซอร์ เพราะทำเพื่อชื่อเสียงของเครือข่ายแฟรนไชส์ทั้งหมด

แต่สัญญาต้องบอกให้ชัดว่าแฟรนไชซีแต่ละรายต้องร่วมแชร์ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วย ส่วนจะจ่ายแต่ละครั้งเท่าไรอาจต้องว่ากันเป็นครั้ง ๆ ไป บางประเทศบังคับให้แฟรนไชซอร์ต้องแยกและแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายเงินกองนี้ให้แฟรนไชซีรับรู้ด้วย จะได้ไม่เอาเงินไปใช้ผิดประเภท อย่างซื้อบีเอ็มให้อีหนู หรือหิ้วเงินไปเที่ยวเกาะกง

การโฆษณาในระดับที่สอง คงจำเป็นอยู่บ้างที่แฟรนไชซอร์ต้องควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของแฟรนไชซีแต่ละราย เพื่อให้การโฆษณาของแฟรนไชซีแต่ละรายมีมาตรฐานเดียวกัน และไม่ทำอะไรที่กระทบต่อภาพพจน์ของแฟรนไชส์ทั้งระบบ

ระดับการควบคุมอาจเข้มข้นต่างกัน แยกได้เป็นสามระดับคือ แบบที่แฟรนไชซอร์จัดวัสดุอุปกรณ์ในการโฆษณาให้แฟรนไชซีทั้งหมด แฟรนไชซีเพียงแต่เอาไปใช้ตามคำแนะนำเท่านั้น

 

แน่นอน….ต้องจ่ายสตางค์ให้แฟรนไชซอร์

แบบที่สอง แฟรนไชซอร์แค่อนุมัติ เช่น ตรวจดูข้อความ หรือวัสดุที่ใช้ หรือวิธีการในการโฆษณา

วิธีนี้ยังแยกเป็นอนุมัติก่อนโฆษณา คือ ส่งรายละเอียดการโฆษณาให้แฟรนไชซอร์อนุมัติก่อน ถ้าแฟรนไชซอร์ไม่เห็นด้วยก็อาจบอกให้แก้ไข หรือเปลี่ยนแปลง

หรืออนุมัติหลังโฆษณา คือ ถ้าแฟรนไชซอร์ไม่เห็นด้วยกับการโฆษณาก็มีสิทธิสั่งให้แฟรนไชซีหยุดโฆษณานั้นเสีย

แบบสุดท้าย คือ แฟรนไชซอร์แค่แนะนำแนวทางการโฆษณา การใช้วัสดุอุปกรณ์ หรือวิธีการโฆษณา ซึ่งอาจเขียนบอกในคู่มือก็ได้

แบบนี้แฟรนไชซอร์คงจะต้องสงวนสิทธิในการขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงหากไม่เห็นด้วย หรือดูแล้วจะเกิดความเสียหาย

ต้องการควบคุมแบบไหน วิธีไหนก็ต้องเขียนในสัญญาด้วย

เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของแฟรนไชส์ จำเป็นที่แฟรนไชซอร์ต้องดูแลให้สินค้าในร้านมีคุณภาพ และมาตรฐานตามที่กำหนด และต้องมีปริมาณเพียงพอต่อการให้บริการลูกค้า

 

ไม่ใช่แบบโฆษณาบางห้างลดราคาสินค้า พอไปทีไรบอกหมดทุกที คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ไหน ช่วยด้วย

วัสดุอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในร้านก็ต้องได้มาตรฐานและมีคุณภาพด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ลูกค้ากำลังเดินช้อบสบายใจ ชั้นวางของหักโครมลงมาทับขา อย่างนี้ก็เสียชื่อแฟรนไชส์หมด

เคยมีข่าวคนบ้าเข้าไปอึเลอะเทอะในร้านเซเว่น อย่างนี้ไม่เกี่ยวครับ

การควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐานเดียวกันเป็นหัวใจของระบบ แฟรนไชส์ บางแห่งจะมีสายลับของแฟรนไชซอร์ไปตรวจเป็นระยะ คอยดูว่าจัดวางสินค้าถูกต้องไหม มีฝุ่นจับเขรอะหรือเปล่า เปิดไฟสว่างพอไหม แอร์เย็นไหม ฯลฯ เป็นต้น ดูให้ดีครับ คนที่ชอบใส่แว่นสีดำ……. นั่นแหละลูกมือ 007 ข้าวของที่จำเป็นในการประกอบธุรกิจของแฟรนไชซี แบ่งได้เป็นสองพวก คือ ของที่มีไว้ขายลูกค้า

อีกพวกหนึ่ง คือ เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ที่ต้องมีไว้ในร้าน พวกนี้เป็นของที่แฟรนไชซีใช้เอง เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ ตู้ โต๊ะ

 

การหาสินค้าเพื่อขายลูกค้านั้น สัญญาแฟรนไชส์มักกำหนดให้ต้องซื้อจากแฟรนไชซอร์ หรือคนที่แฟรนไชซอร์บอกเท่านั้น ว่าไปแล้ววิธีนี้มีข้อได้เปรียบ คือ แฟรนไชซอร์รักษาคุณภาพสินค้าได้แน่นอน และสินค้าจะเป็นรูปแบบเดียวกันทุกร้าน

วิธีนี้ยังช่วยให้มั่นใจได้ว่าสินค้าจะไม่ขาดแคลน และราคาอยู่ในระดับที่ไม่แพงเกินไป แฟรนไชซีพอรับได้ เพราะแฟรนไชซอร์จะไปตกลงกับผู้ผลิตไว้ก่อน ข้อได้เปรียบอีกอย่าง คือ แฟรนไชซอร์อาจบวกส่วนต่างที่เป็นผลประโยชน์ของแฟรนไชซอร์เข้าไปในราคาสินค้าที่ขายให้แฟรนไชซีก็ได้

แต่ขอให้จำไว้ว่าเงื่อนไขแบบนี้ บางประเทศจะอยู่ภายใต้กฎหมายผูกขาด เพื่อให้เกิดการแข่งขันและเป็น ธรรมต่อแฟรนไชซี เพราะบางครั้งแฟรนไชซีอาจถูกบังคับให้ซื้อของแพงก็ได้

แฟรนไชซอร์จะเลือกวิธีจัดหาสินค้าแบบไหน ต้องบอกคนร่างสัญญาเขาให้ชัดเจน เขาจะได้ให้คำแนะนำทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิธีการนั้น ๆ ให้คุณได้

สิทธิที่ให้ตามสัญญาแฟรนไชส์นั้น แฟรนไชซอร์ต้องรับรองด้วยว่าตนเองเป็นเจ้าของที่แท้จริง หรือถ้าเป็นของคนอื่นก็มีสิทธิที่จะเอามาให้ แฟรนไชซีใช้ได้

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญก่อนแฟรนไชซีตัดสินใจลงทุน เพราะไม่อย่างนั้นทำ ๆ ไป วันดีคืนโหดมีใครสักคนเอาตำรวจมาจับ บอกว่าไปขโมยเครื่องหมายการค้า หรือสิทธิบัตร หรือลิขสิทธิ์ของเขามาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

 

ถ้ามีอย่างนี้แฟรนไชซีปวดหัวตายแน่

ในทางปฏิบัติก็คงต้องเขียนรับรองไว้ในสัญญา แต่ถ้ารับต่อมาจากเมืองนอก อาจโชว์เอกสารจากเจ้าของในเมืองนอกก็ได้ แต่เรื่องนี้เท่าที่เห็นมักจะไม่ค่อยมีในแฟรนไชส์ในประเทศ เข้าใจว่าการตรวจสอบแฟรนไชส์ในประเทศง่ายกว่า และไม่ยุ่งยากเหมือนกับที่มาจากนอก

อย่างเครื่องหมายการค้า หรือสิทธิบัตรก็ไปตรวจที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา จิ้มเครื่องคอมฯ แป๊บเดียวก็รู้ บางครั้งก็เป็นธุรกิจที่แฟรนไชซอร์ทำมานาน เห็นตั้งแต่แฟรนไชซอร์ใส่ขาสั้นวิ่งเตะบอลอยู่เลย อย่างนี้ไม่ต้องรับรองให้เมื่อยตุ้มก็ได้

อ้างอิงจาก ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนพฤษภาคม 2567..
24,277
“มูฟ อีวี เอกซ์” สร้างรายได้ดีแค่ไหน! ทำไมถึงน่า..
3,478
รวม 12 แฟรนไชส์โหนกระแส คนไทยไม่เคยลืม!
2,238
จริงมั้ย? กำเงิน 15 ล้านบาท ถึงจะซื้อแฟรนไชส์ DQ..
1,897
กลยุทธ์ “แดรี่ควีน” เจ้าไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเมืองไ..
1,268
จริงมั้ย? 7-Eleven เห็นทำเลไหนดี เปิดเองแข่งสาขา..
1,228
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด