บทความทั้งหมด    บทความสร้างอาชีพ    ความรู้ค้าขาย    ความรู้สร้างอาชีพ
3.5K
2 นาที
14 พฤศจิกายน 2559
การเลี้ยงเป็ดเทศ

 
เป็ดเทศเป็นเป็ดพื้นเมืองพันธุ์เนื้อที่เลี้ยงง่าย เติบโตเร็วสามารถใช้อาหารและวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดีให้ผลตอบแทนในระยะเวลาอันสั้น สามารถจำหน่ายได้ง่าย ทั้งที่เป็นเป็ดมีชีวิตและเนื้อเป็ดชำแหละเนื้อเป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภคในท้องถิ่นโดยทั่วไป จึงสามารถจำหน่ายได้ง่ายเป็นตลาดท้องถิ่น เกษตรกรสามารถเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมร่วมกับอาชีพอี่น ๆ ได้ด้วย
 
แต่ทั้งนี้ www.ThaiFranchiseCenter.com  มองว่าผู้ที่สนใจในการเลี้ยงเป็ดเทศนั้นจำเป็นที่ต้องมีตลาดรองรับที่ชัดเจน รวมถึงควรมองหาแหล่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาถูก ที่สำคัญคือเทคโนโลยีของการใช้ตู้ฟักซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการผลิตลูกเป็ดเทศ

ภาพจาก goo.gl/CuF2Vo
 
อุปกรณ์สำคัญที่ต้องจัดเตรียม

โรงเรือน(ควรทำจากไม้หรือวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น หลังคามุงด้วยจาก หญ้าคา หรือแฝก)  เล้าเลี้ยงลูกเป็ด  หลอดไฟให้ความอบอุ่น  รางใส่อาหาร  รางใส่น้ำ
 
แนวทางการเลี้ยงเป็ดเทศแบ่งออกเป็น 3 ช่วงสำคัญ
 
1.ตั้งแต่แรกเกิด - อายุ 3 สัปดาห์

ภาพจาก goo.gl/CuF2Vo
 
การฟักไข่จะใช้เวลาประมาณ 35 วัน  เมื่อลูกเป็ดเทศเกิด นำไปเลี้ยงในเล้า ซึ่งมีผ้าหรือกระสอบป่านตัดเย็บล้อมรอบเล้า เพื่อป้องกันลมโกรกถูกตัวลูกเป็ดพื้นเล้าควรปูด้วยแกลบหรือวัสดุที่สะอาด หนาประมาณ 2-3 นิ้ว จัดวางหลอดไฟให้ความอบอุ่น เตรียมรางใส่อาหาร รางใส่น้ำไว้ในเล้า ให้อาหารเป็ดวันละ 4-5 ครั้ง อุณหภูมิที่เหมาะสมในการกกลูกเป็ด

ควรสังเกตจากปฏิกิริยาของลูกเป็ดด้วย ถ้ามีลูกเป็ดนอนสุมทับกันและมีเสียงร้อง แสดงว่าอุณหภูมิต่ำเกินไป ต้องเพิ่มความอบอุ่นให้ ถ้าลูกเป็ดกระจายอยู่และยืนอ้าปากหอบกางปีก แสดงว่าร้อนเกินไป ต้องลดอุณหภูมิลง ถ้าอุณหภูมิพอเหมาะ ลูกเป็ดจะนอนราบกับพื้นกระจายอยู่ทั่วไป การกกลูกเป็ดควรกกประมาณ 3 สัปดาห์
 
2.อายุ 4 - 12 สัปดาห์
 
โรงเรือนสำหรับเลี้ยงเป็ด ควรแห้งสะอาด ไม่มีน้ำขัง ป้องกันแดดและฝนได้ดี รางอาหารควรวางห่างจากรางน้ำ มีผัก หญ้าสด หรือผักตบชวา ให้เป็ดกิน อาหารควรมีโปรตีนประมาณ 16% ถ้าเลี้ยงเป็ดเทศเพื่อจำหน่าย ควรจำหน่ายอายุ 10-12  สัปดาห์

3.อายุประมาณ 13 - 24 สัปดาห์
 
ช่วงนี้เป็ดจะกินอาหารมากขึ้น การเจริญเติบโตน้อย จึงเลี้ยงด้วยอาหารให้เพียงพอสำหรับรักษาขนาดและน้ำหนักของเป็ดให้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อาหารที่ให้ช่วงนี้ ควรมีโปรตีนประมาณ 14%
 
การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เป็ดเทศ


ภาพจาก goo.gl/CuF2Vo
 
เป็ดที่จะเริ่มไข่เมื่ออายุ 28 สัปดาห์ วันหนึ่งควรให้อาหาร 2 ครั้ง เช้า-เย็น ปริมาณที่ให้แม่พันธุ์ 130-150 กรัม/ตัว/วัน พ่อพันธุ์ 200-250 กรัม/ตัว/วัน อาหารที่ให้ควรมีโปรตีนประมาณ 15-18%  

เป็ดเทศปีหนึ่งจะไข่ประมาณ 4-5 ชุด  ชุดละ 15-20 ฟอง สามารถไข่ได้ 2 ปี ลักษณะเป็ดเทศที่จะไข่มีขนสีดำเป็นมัน หน้าแดง ร้อง แม่เป็ดชอบไข่ในที่มืดสงบ จึงควรมีรังไข่บุด้วยฟางหรือวัสดุแห้ง ๆ จัดไว้ในมุมมืดของเล้าสำหรับแม่เป็ด
 
การป้องกันโรค

โรคที่สำคัญในเป็ดเทศ ได้แก่ โรคอหิวาต์ และโรคดั๊กเพล็ก จึงต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรค 
  1. โรคอหิวาต์ ฉีดวัคซีนเมื่อเป็ดอายุ 1-1 เดือน ครึ่ง   ปีละ 4 ครั้ง โดยฉีดเข้ากล้ามตัวละ 2 ซีซี
  2. โรคดั๊กเพล็ก ฉีดวัคซีนเมื่อเป็ดอายุ 21 วัน ปีละ 2 ครั้ง  โดยฉีดเข้ากล้ามตัวละ 1 ซีซี
ข้อแนะนำที่สำคัญ
  1. ถ้ามีเงินลงทุนน้อย และมีพื้นที่กว้างขวางเป็นที่โล่งใกล้แหล่งน้ำ รวมทั้งเลี้ยงเป็ดจำนวนไม่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องปลูกสร้างโรงเรือน แต่ถ้ามีจำนวนเป็ดมาก ก็สร้างโรงเรือนโดยใช้ตาข่ายล้อมรอบ มุงหลังคาด้วยจาก เพื่อเป็นการประหยัด
  2. เป็ดเทศอายุตั้งแต่ 4 สัปดาห์ ขึ้นไป ควรให้กินผัก หญ้าสด หรือผักตบชวา เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต
เงินลงทุนเบื้องต้น  

ขึ้นอยู่กับจำนวนของเป็ดที่เลี้ยง  โดยแบ่งเป็น
  1. ค่าพันธุ์เป็ดเทศ ตัวละประมาณ 6 - 8  บาท (ราคาจำหน่ายของกรมปศุสัตว์)   
  2. ค่าอาหารเป็ด  (เช่น ปลายข้าว รำ กากถั่วเหลือง ปลาป่น เปลือกหอย เป็นต้น)  ประมาณ  7 กิโลกรัม/ตัว
  3. ค่ายา + ค่าวัคซีน  ประมาณ 1 บาท/ตัว
  4. ค่าโรงเรือนเลี้ยงเป็ด  และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับจำนวนเป็ด และสภาพพื้นที่ที่เลี้ยงเป็ด

ภาพจาก goo.gl/CuF2Vo
 
ราคาจำหน่ายในปัจจุบัน
  1. การจำหน่ายลูกเป็ดเทศที่ผลิตได้ ประมาณ 50 – 60 ตัวต่อตัวต่อปี ซึ่งจะจำหน่ายได้ในราคาตัวละ 20 – 25 บาท คิดเป็นผลตอบแทน 1,200 -1,500 บาท ต่อแม่ต่อปี
  2. การจำหน่ายเป็ดใหญ่ที่เลี้ยงจนโต ขนาดน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตัวละ 2.5 – 3 กิโลกรัม จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 40 -45 บาท คิดเป็นผลตอบแทนตัวละ 90 – 100 บาท
อย่างไรก็ตามต้นทุนและผลตอบแทนการเลี้ยงสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการตลาดและแหล่งที่เลี้ยงเป็นสำคัญ
 
มีปัญหาในการเลี้ยงสามารถติดต่อได้ที่
  1. กรมปศุสัตว์ พญาไท กทม.  โทร. 653-4550-7 ต่อ 3251-2
  2. สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ
มองโดยภาพรวมแล้วถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพน่าสนใจที่ทำรายได้ให้กับผู้ลงทุนได้เป็นอย่างดีทั้งนี้ถ้ายังไม่มีความชำนาญอาจหาประสบการณ์ด้วยการเริ่มต้นที่จำนวนน้อยๆค่อยๆเรียนรู้และเพิ่มจำนวนในภายหลังถ้าขยันหาเทคนิคดีๆ มีการตลาดที่แข็งแกร่งถือเป็นการลงทุนสบายๆที่น่าสนใจอย่างยิ่งทีเดียว
 
บทความสร้างอาชีพมาใหม่
บทความอื่นในหมวด