บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    เรื่องราวความสำเร็จ
17K
5 นาที
12 สิงหาคม 2553

ปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจแฟรนไชส์ : สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีที่เพิ่งเริ่มต้น 

 

ปัจจุบัน มีบุคคลเป็นจำนวนมาก ทั้งบุคคลทั่วไป หรือที่ทำงานเป็นพนักงาน ลูกจ้างบริษัท รับราชการรัฐวิสาหกิจอยู่แล้ว รวมไปถึงผู้ที่ได้ลาออกหรือเกษียณอายุออกมา โดยมีความใฝ่ฝันและตั้งใจอยากจะเป็นเจ้าของกิจการ เพื่อสร้างฐานะและความมั่นคงของครอบครัว

แต่ปัญหาสำคัญก็คือ การเลือกว่าจะทำธุรกิจประเภทใดจึงจะมีโอกาสประสบความสำเร็จ เนื่องจากแต่ละรายอาจจะไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน หรือบางรายอาจมีอุปสรรคทางด้านเงินลงทุน ดังนั้นธุรกิจแฟรนไชส์จึงกลายเป็นทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความสนใจในระดับต้นๆ 

เพราะถือเป็นช่องทางธุรกิจที่มีโอกาสประสบความสำเร็จ มากกว่าการเริ่มต้นธุรกิจด้วยตนเอง เพราะเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์หรือบริษัทแม่โดยส่วนใหญ่นั้น จะเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของตลาดอยู่แล้ว ผู้ที่ซื้อสิทธิรายใหม่จึงไม่ต้องสร้างชื่อเสียงเอง ทำให้ช่วยลดงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านส่งเสริมการตลาดลงไปได้มาก

นอกจากนี้ ผู้ซื้อสิทธิยังได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์การบริหารงาน และความช่วยเหลือบริหารจัดการด้านการผลิตและการตลาดจากเจ้าของแฟรนไชส์อีกด้วย ประการสำคัญ ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นจำนวนมาก ใช้เงินลงทุนในการเริ่มต้นกิจการไม่มากนัก จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีเงินทุนจำกัด ที่สามารถประกอบธุรกิจแบบขนาดกลางขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีได้

อย่างไรก็ตาม หนทางดำเนินธุรกิจในแต่ละก้าว มิใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป เพราะยังคงมีผู้ประกอบการในรูปแบบแฟรนไชส์เป็นจำนวนมาก ที่ไม่ประสบความสำเร็จและต้องออกจากตลาดไป เนื่องจากพวกเขาเหล่านั้นขาดประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ดังนั้น ผู้ที่สนใจเข้ามาในธุรกิจนี้ ก็ควรจะต้องศึกษาข้อมูลให้ถ่องแท้และเข้าใจอย่างลึกซึ้งเสียก่อน เพื่อที่จะดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงในตลาด และประสบความสำเร็จในธุรกิจแฟรนไชส์ได้อย่างที่ตั้งใจไว้

นิยามของธุรกิจแฟรนไชส์ นั้นพอจะสรุปได้ว่าเป็นกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดวิธีหนึ่ง โดยบริษัทแม่หรือผู้เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ (Franchisor) ให้สิทธิแก่ตัวแทนรายย่อย(Franchisee) ในการประกอบธุรกิจในลักษณะเหมือนหรือตามขอบเขตที่บริษัทแม่กำหนดไว้ ซึ่งสิทธินี้อาจอยู่ในรูปของการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า สิทธิในการใช้ชื่อสินค้าหรือเครื่องหมายการค้าของบริษัทแม่ หรือสิทธิที่จะนำเทคนิคในการผลิต การตลาด หรือวิธีการดำเนินธุรกิจของบริษัทแม่มาใชัในกิจการของตน ซึ่งโดยมากแล้ว สัญญาแฟรนไชส์มักจะรวมสิทธิต่างๆดังกล่าวไว้ด้วยกัน

ทั้งนี้ บริษัทผู้ขายแฟรนไชส์จะมีการช่วยเหลือด้านต่างๆอาทิ การเลือกทำเลที่ตั้ง การตกแต่งร้านค้า สถานที่ การจัดส่งวัตถุดิบและอุปกรณ์ต่างๆ การฝึกอบรมวิธีการปฏิบัติงาน ตลอดจนการช่วยส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินธุรกิจให้ลุล่วงไป

โดยสิ่งที่บริษัทแม่ที่เป็นเจ้าของแฟรนไชส์จะได้รับก็คือ ค่าธรรมเนียมเริ่มต้นหรือแรกเข้า(Franchise Fee) และค่าธรรมเนียมการจัดการประจำงวดที่เก็บตามยอดขาย ซึ่งอาจเก็บเป็นรายเดือน รายไตรมาสหรือรายปี หรือที่เรียกว่า ค่ารอยัลตี้(Royalty Fee) รวมถึงค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ และค่าฝึกอบรมต่างๆ
 

 

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยพัฒนาธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์สากล มหาวิทยาลัย ศรีปทุม พบว่า ในปี 2549 มีผู้ขายแฟรนไชน์ (Franchisor) ในประเทศไทยประมาณ 456 กิจการ เป็นของคนไทย 375 กิจการและต่างประเทศ 81 กิจการ โดยกิจการประเภทอาหารมีสัดส่วนมากที่สุดร้อยละ 31.4 ของประเภทกิจการที่ขายแฟรนไชส์ รองลงมาได้แก่ เครื่องดื่มร้อยละ 15.6 และบริการร้อยละ 11.8
 

ประเภทธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย

ประเภทธุรกิจ จำนวน(กิจการ) สัดส่วน(ร้อยละ)
1.อาหาร 143 31.36
2.เครื่องดื่ม 71 15.57
3.บริการ 54 11.84
4.การศึกษา 48 10.54
5.ความงาม 36 7.80
6.ร้านสะดวกซื้อ 31 6.70
7.งามพิมพ์ 19 4.17
8.ของว่าง/เบเกอรี่ 17 3.70
9.หนังสือ/วีดิโอ 11 2.40
10.อสังหาริมทรัพย์ 3 0.42
11.อื่นๆ 23 5.04
รวม 456 100.00

ที่มา : ศูนย์วิจัยพัฒนาธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์สากล มหาวิทยาลัย ศรีปทุม
 


สำหรับข้อดีของการทำธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์นั้น มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

ธุรกิจแฟรนไชส์ให้โอกาสกับผู้ที่มีเงินลงทุนไม่มาก ปัจจุบัน ผู้ประกอบธุรกิจสามารถที่จะเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ตามกำลังเงินทุนที่มี ซึ่งมีทั้งที่เริ่มต้นด้วยเงินลงทุนน้อยกว่า 1 แสนบาท ไปจนถึงแฟรนไชส์ที่ใช้เงินลงทุนมากกว่า 1 ล้านบาท ดังนั้น ผู้ที่มีเงินทุนน้อยก็สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจแบบเอสเอ็มอีได้ และยังช่วยประกันความเสี่ยงต่อความล้มเหลวของธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง

ลดความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจ โดยปกติ เจ้าของแฟรนไชส์ต่างๆ มักจะเป็นผู้ที่ประกอบธุรกิจมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร จนตราสินค้า รวมทั้งสินค้าหรือบริการ เป็นที่ยอมรับของตลาด ดังนั้น ช่องทางตลาดสำหรับผู้ที่เข้ามาซื้อสิทธิแฟรนไชส์ จึงใช้เวลาไม่นานก็สามารถขยายและเติบโตได้อย่างไม่ยากเย็นนัก เนื่องจากบริษัทแม่ที่จำหน่ายแฟรนไชส์ ช่วยลดระยะเวลาในการทำให้สินค้าหรือบริการเป็นที่รู้จักของลูกค้าอยู่แล้ว
 

 

การถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยปกติ ผู้ประกอบการที่สนใจเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆด้วยตนเอง มักจะขาดความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจ ฉะนั้น จึงต้องมีการลองผิดลองถูกมาเป็นระยะเวลาหนึ่งกว่าธุรกิจจะเข้าที่เข้าทาง แต่สำหรับระบบแฟรนไชส์นั้น ด้วยประสบการณ์ของบริษัทแม่ที่เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ ที่มีการวิจัยและพัฒนาสินค้าหรือบริการ รวมทั้งเทคนิคทางด้านการผลิตและการตลาดมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสามารถนำมาถ่ายทอดให้กับธุรกิจที่ซื้อแฟรนไชส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงช่วยลดระยะเวลาที่ต้องเรียนรู้ธุรกิจให้สั้นลง ในขณะเดียวกัน ยังสามารถให้คำปรึกษา และแก้ไขปัญหาแก่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ได้ถูกต้องและได้ผลเป็นอย่างดี ดังนั้น รูปแบบดังกล่าว จึงเหมาะสมกับผู้ประกอบการที่เริ่มต้นกิจการ ซึ่งไม่มีความรู้ ความชำนาญทางด้านธุรกิจหรือตัวสินค้าและบริการมากนัก

ต้นทุนการผลิตต่ำ ธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีสมาชิกในเครือข่ายที่มากจะทำให้ปริมาณการสั่งซื้อวัตถุดิบ ตลอดจนอุปกรณ์การผลิตต่างๆมีสูง ซึ่งจะได้ราคาที่ต่ำกว่าการสั่งซื้อสินค้าทีละน้อย และเป็นปัจจัยทำให้ธุรกิจมีต้นทุนต่ำลงและมีศักยภาพการแข่งขันที่สูงขึ้น

ต้นทุนด้านการตลาดต่ำ ถึงแม้ว่าธุรกิจแฟรนไชส์จะมีต้นทุนดำเนินการต่างๆ ซึ่งบริษัทแม่เป็นผู้เรียกเก็บ อาทิ ค่าธรรมเนียมเริ่มต้นหรือแรกเข้า(Franchise Fee) และค่าธรรมเนียมการจัดการประจำงวดที่เก็บตามยอดขาย ซึ่งอาจเก็บเป็นรายเดือน รายไตรมาสหรือรายปี หรือที่เรียกว่า ค่ารอยัลตี้(Royalty Fee) รวมถึงค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ และค่าฝึกอบรมต่างๆ แต่ค่าใช้จ่ายดังกล่าว บริษัทเจ้าของแฟรนไชส์จะนำไปใช้วิจัยและพัฒนาสินค้า ตลอดจนใช้เพื่อส่งเสริมการตลาด
 


ซึ่งหากเป็นผู้ประกอบการทั่วไป งบประมาณการตลาดที่มีจำกัด ย่อมไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้โฆษณาประชาสัมพันธ์ตามสื่อหลักต่างๆที่มีค่าใช้จ่ายสูงเช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ แต่หากรวมรายได้จากธุรกิจแฟรนไชน์ที่เป็นสมาชิกเข้าด้วยกัน บริษัทแม่จะสามารถนำไปเป็นค่าใช้จ่ายจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

และเมื่อได้ทราบถึง ข้อดีของการดำเนิธุนกิจในรูปแบบแฟรนไชส์แล้ว สิ่งที่จะกล่าวถึงในลำดับถัดไปก็คือ การเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาปัจจัยต่างๆ ก่อนตัดสินใจซื้อแฟรนส์ไชส์มาทำธุรกิจ เพื่อที่ธุรกิจจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด โดยมีหลักการสำคัญสรุปได้ ดังนี้

การพิจารณาประเภทธุรกิจ ปัจจุบันมีธุรกิจเป็นจำนวนมากที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ ทั้งในส่วนของร้านอาหาร เครื่องดื่ม เบเกอรี่ สุขภาพ ความงาม การศึกษา ไอที ร้านสะดวกซื้อ หนังสือ/วีดิโอ คาร์แคร์ เป็นต้น ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับว่า ผู้ประกอบการจะเลือกเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์ในรูปแบบประเภทใด ซึ่งอาจเลือกประเภทธุรกิจตามความชอบ หรือตามประสบการการณ์ และความเชี่ยวชาญที่ผู้ประกอบการธุรกิจมีอยู่เดิม

การพิจารณาเงินทุนดำเนินการ ในบางครั้ง ผู้ประกอบการอาจชอบรูปแบบของธุรกิจแฟรนไชส์ประเภทหนึ่ง แต่ปัญหาก็คือต้องใช้ทุนดำเนินการที่สูงเกินกว่างบประมาณที่เตรียมไว้ ซึ่งหากว่า ผู้ประกอบการมีความมุ่งมั่นที่จะทำ ก็ต้องใช้วิธีกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ทำให้เพียงเริ่มต้นธุรกิจก็ต้องมีภาระหนี้สินจำนวนมากเกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ยังต้องมีภาระในการจ่ายค่าซื้อสิทธิแฟรนไชส์ ตลอดจนค่าดำเนินการต่างๆ จนอาจทำให้เกิดความท้อถอยได้ ดังนั้น ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ควรเริ่มแบบค่อยเป็นค่อยไป โดย พิจารณาแฟรนไชส์ที่ใช้ทุนดำเนินการที่เหมาะสม สอดคล้องกับงบประมาณที่มี เพื่อให้กิจการดำเนินไปได้ด้วยความราบรื่น และมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
 

 

การพิจารณาชื่อเสียงของบริษัทแม่ที่เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ บริษัทที่มีชื่อเสียง ทั้งทางด้านความน่าเชื่อถือ รวมทั้งการมีส่วนแบ่งในตลาดที่สูง ย่อมมีประสบการณ์ทางด้านการทำธุรกิจ และมีการลองผิดลองถูกมาระยะหนึ่ง รวมทั้งมีระบบจัดการด้านการบริหารการผลิต การตลาดที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน การมีชื่อเสียงที่ดีย่อมก่อให้เกิดความนิยมชมชอบของลูกค้า ดังนั้น โอกาสที่ธุรกิจที่เข้าไปซื้อแฟรนไชส์จะประสบความสำเร็จย่อมมีเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับแฟรนไชส์ต่างๆ สามารถหาได้จากหลายๆแหล่ง เพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือ เช่น จากหนังสือพิมพ์ นิตยการ โทรทัศน์ หรือตัวบริษัทที่ทำแฟรนไชส์เอง และหากต้องการลงลึกในรายละเอียด อาจสอบถามจากผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ไปประกอบการรายก่อนๆว่า ประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด

การพิจารณาเงื่อนไขในการซื้อแฟรนไชส์ บริษัทแม่ผู้เป็นเจ้าของสิทธิ มักจะมีการกำหนดค่าลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า ค่าธรรมเนียม ค่าฝึกอบรมพนักงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านการส่งเสริมการตลาดต่างๆ ในขณะเดียวกัน บางธุรกิจ อาจมีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ ต้องใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ รวมทั้งวัตถุดิบต่างๆ จากบริษัทแม่เท่านั้น ดังนั้น ผู้ที่จะประกอบธุรกิจจึงควรศึกษาถึงเงื่อนไข สัญญาต่างๆให้รอบคอบก่อนตัดสินใจเลือกลงทุนแฟรนไชส์นั้นๆ

การพิจารณาถึงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เมื่อดำเนินธุรกิจไปสักระยะหนึ่ง สินค้าหรือบริการอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งอาจเกิดจากสภาพเศรษฐกิจ รายได้ รสนิยม ความเชื่อ วัฒนธรรมและประเพณี ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้รูปแบบ ตลอดจนคุณภาพสินค้าหรือบริการ สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่บริษัทแม่ผู้จำหน่ายแฟรนไชส์ที่ดี ต้องปฏิบัติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

การพิจารณาด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยปกติ เจ้าของแฟรนไชส์จะเก็บค่าธรรมเนียมดำเนินการต่างๆ รวมทั้งค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมทั้งการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มความรู้และทักษะให้กับผู้ซื้อแฟรนไชน์ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาถึงนโยบายการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและการตลาดของบริษัทที่เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ไปสู่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ว่ามีมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า ผู้ประกอบการธุรกิจในรูปแบบการซื้อแฟรนไชส์มาเปิดดำเนินการธุรกิจ จะมีศักยภาพและโอกาสในการประสบความสำเร็จเมื่อเทียบกับการเปิดดำเนินธุรกิจโดยลำพังตนเอง แต่เนื่องจากธุรกิจแฟรนไชส์ ไม่ใช่สูตรสำเร็จหรือสมการทางคณิตศาสตร์ที่เป็นเครื่องการันตีว่า เมื่อซื้อแฟรนไชส์มาเริ่มต้นทำธุรกิจแล้ว จะต้องประสบความสำเร็จทุกรายเสมอไป เพราะยังมีปัจจัยแวดล้อมหลายประการที่เป็นความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจ ที่ผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ๆไม่ควรมองข้าม ซึ่งมีรายละเอียดพอสรุปได้ ดังนี้

ต้องเป็นธุรกิจที่ถนัดหรือชอบ การเลือกทำธุรกิจตามความชอบหรือสนใจและมีความถนัดหรือเชี่ยวชาญในธุรกิจนั้นอยู่บ้าง จะช่วยให้ผู้ประกอบการ ไม่เกิดความท้อถอยแม้จะพบอุปสรรค ในขณะเดียวกัน ก็พร้อมจะเรียนรู้หาทางแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ นอกจากนี้ การทำธุรกิจที่ถนัดหรือชอบจะทำให้สามารถเรียนรู้หลักการบริหารจัดการต่างๆ จากบริษัทแม่ผู้ขายแฟรนไชส์ได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าผู้ประกอบการที่ไม่มีความถนัดอยู่เดิม เช่น หากเดิมเคยประกอบธุรกิจร้านอาหารเล็กๆมาก่อน การซื้อแฟรนไชส์ร้านอาหารที่มีชื่อเสียงมาเปิดดำเนินการก็จะทำได้ง่าย  เนื่องจากมีความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารร้านอาหารและเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคอยู่พอสมควรแล้ว
 
ทำเลที่ตั้งมีความเหมาะสม แม้ว่าสินค้าหรือบริการจะมีความโดดเด่น หรือมีความน่าสนใจ และเป็นที่ต้องการของผู้ซื้อ แต่หากเลือกทำเลที่จะเปิดดำเนินการไม่เหมาะสม เช่น สถานที่ที่มีลูกค้าสัญจรไปมาน้อย หรือสถานที่ซึ่งลูกค้าเดินทางมาไม่สะดวก  ประการสำคัญ พื้นที่นั้นมีผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจคล้ายหรือใกล้เคียงกัน เปิดกิจการอยู่เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ก็อาจส่งผลกระทบต่อยอดขาย หรือการแข่งขันที่รุนแรง และส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของธุรกิจในท้ายที่สุด
 


ดังนั้น การเลือกทำเลที่เหมาะสม จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สามารถบ่งบอกถึงความสำเร็จ หรือการเติบโตของธุรกิจ โดยในเบื้องต้น ผู้ประกอบการควรใช้เวลาเสาะแสวงหาทำเลที่จะเปิดดำเนินการโดยไม่รีบร้อน และต้องพิจารณาทำเลหลายๆแห่ง โดยเฉพาะทำเลที่สอดคล้องกับสินค้าหรือบริการที่จะจำหน่าย เช่นทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้กับอาคารสำนักงาน สถานีรถไฟฟ้า หมู่บ้านจัดสรร หรือตั้งอยู่ในศูนย์การค้า เป็นต้น ทั้งนี้ หากจำเป็น ก็อาจต้องมีการศึกษา ทำวิจัย พฤติกรรมผู้ซื้ออย่างละเอียดประกอบการเลือกทำเล

เจ้าของต้องมีเวลาบริหารกิจการเอง มีหลายกรณีที่ผู้ประกอบการธุรกิจที่มีศักยภาพทางด้านเงินทุนดำเนินการ แต่มีข้อเสียคือ ไม่มีเวลาที่จะบริหารเอง และเมื่อลงทุนซื้อแฟรนไชส์ไปแล้วก็มักจ้างคนมาทำหรือให้ญาติพี่น้องมาดูแล ซึ่งอาจส่งผลทำให้กิจการดำเนินไปได้ด้วยความไม่ราบรื่น เนื่องจากความเอาใจใส่ต่อการดูแลจัดการธุรกิจ จะมีน้อยกว่ากรณีที่เจ้าของลงมือทำเอง เนื่องจากการขาดจิตสำนึกของการเป็นเจ้าของกิจการนั่นเอง ในขณะเดียวกัน การให้ผู้อื่นเข้ามาบริหารกิจการแทนนั้น อาจประสบกับปัญหาค่าใช้จ่ายหรือรายได้ที่รั่วไหลออกไป จนส่งผลกระทบต่อผลกำไรของธุรกิจก็เป็นได้
 
มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการหากไม่มีความจริงจังในการทำธุรกิจ. การที่จะประสบความสำเร็จก็ค่อนข้างลำบาก เพราะหากเจอปัญหาและอุปสรรคต่างๆก็จะรู้สึกท้อถอย ซึ่งต่างจากผู้ประกอบการที่มีความมุ่งมั่นและจริงจังในการประกอบธุรกิจ ที่จะทุ่มเทให้กับการบริหารและจัดการองค์กรให้สามารถฝ่าปัญหาและอุปสรรคต่างๆไปได้ รวมทั้งยังมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ พัฒนา และเข้ารับการฝึกอบรมทางด้านการผลิต การตลาด รวมถึง การบริหารจัดการต่างๆตามที่บริษัทแม่เจ้าของแฟรนไชส์จัดให้

 

 กล่าวโดยสรุปแล้ว  การดำเนินธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในทุกธุรกิจ ผู้ประกอบการรายใหม่เป็นจำนวนมาก ต่างสนใจเข้าสู่วงจรธุรกิจด้วยวิธีการนี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี เนื่องจาก การเข้าสู่ธุรกิจนั้นทำได้ค่อนข้างง่าย เพราะบริษัทผู้ขายแฟรนไชส์นั้น ได้มีการวางระบบต่างๆ โดยเฉพาะการบุกเบิกตลาดไว้พอสมควรแล้ว ในขณะเดียวกัน ยังมีธุรกิจที่ดำเนินการในรูปแบบแฟรนไชส์ให้เลือกหลากหลายประเภท ประการสำคัญคือ สามารถใช้เงินทุนดำเนินการที่ไม่สูงมากนักก็เป็นเจ้าของกิจการได้
 
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจแฟรนไชส์ก็เหมือนกับธุรกิจทั่วๆไป ที่ย่อมมีความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากผู้ประกอบการรายใหม่ๆที่มีศักยภาพที่จะเข้ามาทำธุรกิจแข่งขัน ความเสี่ยงจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาด เนื่องจากการไม่เคยทำธุรกิจ ดังนั้น หนทางสู่ความสำเร็จของแฟรนไชส์จึงย่อมมีอุปสรรค ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนรายใหม่ คงต้องมีการทำการบ้านมาเป็นอย่างดี คือ ต้องศึกษาตัวผลิตภัณฑ์ ช่องทางการตลาด คู่แข่งทั้งทางตรงและทางอ้อม ผู้บริโภค และผู้ที่มีประสบการณ์หรือผู้ที่อยู่ในธุรกิจอยู่แล้ว ทั้งนี้เพื่อให้ความเสี่ยงทางธุรกิจลดน้อยลงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  

อ้างอิงจาก KSME Care

บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนพฤษภาคม 2567..
24,713
“มูฟ อีวี เอกซ์” สร้างรายได้ดีแค่ไหน! ทำไมถึงน่า..
3,846
รวม 12 แฟรนไชส์โหนกระแส คนไทยไม่เคยลืม!
2,367
จริงมั้ย? กำเงิน 15 ล้านบาท ถึงจะซื้อแฟรนไชส์ DQ..
1,916
กลยุทธ์ “แดรี่ควีน” เจ้าไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเมืองไ..
1,278
จริงมั้ย? 7-Eleven เห็นทำเลไหนดี เปิดเองแข่งสาขา..
1,244
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด