บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การตลาด บริหารธุรกิจ    ความรู้ทั่วไปทางการตลาด
4.8K
2 นาที
27 กันยายน 2554

ผ่ากึ๋นเอสเอ็มอี อยู่อย่างเฮงในปีวิกฤต ต้องทำยังไง?

ยังไม่มีสัญญาณใดบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยจะคืนชีพในเร็ววันนี้ แถมผลงานเอสเอ็มอีที่ผ่านมา เต็มไปด้วยข่าวร้าย วิกฤติข้ามปี เอสเอ็มอีสาหัส เช่นนี้แล้วเอสเอ็มอีต้องอยู่แบบไหน ถึงจะพอมีโอกาส "เฮง" ในปีวิกฤติกับเขาได้ “ฝ่าวิกฤต ปีวัวดุ...กับศูนย์เตือนภัยทางธุรกิจ” บนเวทีนี้มีคำตอบ

เสวนา “ฝ่าวิกฤต ปีวัวดุ...กับศูนย์เตือนภัยทางธุรกิจ” ที่จัดโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการเปิดตัวศูนย์เตือนภัยทางธุรกิจ (Business Warning Center) และการทำสื่อสาธารณะ (SMEs Corner) ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีข้อคิดดีๆ เก็บตกเป็นไอเดียให้ผู้ประกอบการใช้ปรับตัว

“ศุภชัย สายวิรัช” ผู้บริหารส่วน ส่วนวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บอกว่า อุตสาหกรรมหลักของภาคอีสาน คือการเกษตรแปรรูป และใช้แรงงาน นับเป็นภูมิภาคที่มีแรงงานสูงสุดในประเทศ ในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจอีสานเติบโตที่ประมาณ 4%

แต่ในปีนี้ พวกเขาคาดว่าตัวเลขจะอยู่ที่ 1-2% เท่านั้น ด้วยวิกฤติการณ์จากนอกประเทศ ที่ส่งผลกับธุรกิจอีสานทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างไรก็ตามเขาเชื่อว่า ในวิกฤติยังมีโอกาส ถ้าผู้ประกอบการรู้จักคิดให้แตกต่างจากคนอื่น ก็จะยังสามารถใช้ความต่างฝ่าวิกฤตินี้ไปได้

ศุภชัย เสนอให้สู้ด้วยความ “ต่าง” ขณะ ผศ. ดร. กัลปพฤษ์ ผิวทองงาม คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แนะให้ใช้สถานการณ์นี้ปรับตัวเองเพื่อพร้อมรับโอกาสรุ่งในอนาคต

เธอมองว่า วิกฤติปี 40 แม้เศรษฐกิจในประเทศแย่ลง แต่ผู้ประกอบการก็ยังมีโอกาสจากตลาดต่างประเทศ สามารถส่งออกสินค้าไปได้ หากปัจจุบัน ลูกค้านอกประเทศไม่มีเงิน ขณะที่ในประเทศก็ระวังการใช้จ่ายมากขึ้น จึงมองว่าในสถานการณ์ 1-2 ปีนี้

เอสเอ็มอีต้องปรับตัวให้เป็นประโยชน์ เพื่อผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ โดยการใช้เวลานี้เตรียมความพร้อมของตัวเอง ปรับองค์กรให้แข็งแกร่ง แม้ปีนี้อาจจะเหนื่อยหนัก แต่เชื่อว่าใน 1-2 ปีข้างหน้า ผู้ประกอบการที่ปรับตัวได้เร็ว ก็จะพร้อมรุกตลาดได้ทันที เมื่อสถานการณ์ของยอดขายดีขึ้น

ในขณะที่ประสบการณ์ในวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ก็ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่มีบทเรียนและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้เอาตัวรอดในปีนี้ได้ “สามารถ อังวราวงศ์” ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดขอนแก่น บอกว่า ในปี 40-41 คนที่ได้รับผลกระทบหนักคือผู้ประกอบธุรกิจ แต่ปีนี้ นักธุรกิจส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันจากปีวิกฤติมาบ้างแล้ว จึงไม่น่าจะสาหัสขนาดล้มฟุบ

“เขารับรู้สัญญาณอยู่บ้างแล้ว และพร้อมที่จะกันเงินส่วนหนึ่งไว้ดูแลตัวเอง อย่างไรก็ตามวิกฤติที่ผ่านมามันยังดีกว่าครั้งนี้ตรงที่เหมือนเจอพายุแค่ลูกเดียว แบบนั้นอุตสาหกรรมจะฟื้นได้เร็ว มีโอกาสตั้งต้นใหม่ง่ายกว่า เพราะรอบบ้านเราดีหมด แต่ปีนี้มันเหมือนพายุที่เข้ามาลูกแล้วลูกเล่า ไม่รู้ว่าลูกสุดท้ายจะเข้ามาเมื่อไร ธุรกิจจึงฟื้นตัวยากขึ้น”

นี่คือเหตุผลที่ทำให้ผู้ร่วมเสวนาหลายคนเห็นตรงกันว่า ปีนี้ไม่เหมาะที่เอสเอ็มอีจะขยายแขนขา หากธุรกิจไหนทำท่าจะไปไม่รอด ก็อาจต้องตัดใจทิ้งส่วนที่ไม่มีประโยชน์ไป และรักษาธุรกิจที่เป็นหัวใจของตัวเองไว้เท่านั้น เหมือนที่ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขา สสว. บอกว่า

“ธุรกิจไหนที่ไม่เหมาะสม หรือไปไม่รอด ก็ให้ตัดทิ้ง กิจการไหนเลวร้าย สู้ต่อไปไม่ได้ ก็อย่าไปฝืนให้เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ให้ลองมองหาโอกาสธุรกิจใหม่ ในสาขาที่ยังมีศักยภาพ เช่นกลุ่มพลังงานทดแทน ซึ่งหากภาครัฐช่วยส่งเสริมภาคเอกชนอีกแรง ธุรกิจนี้ก็จะยังมีโอกาสเติบโตได้”

เช่นเดียวกับ ดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยสายบริหารความเสี่ยงไทย ธนาคารไทยธนาคาร บอกว่า เศรษฐกิจไทยอาจยังไม่ฟื้นใน 1-2 ปีนี้ เพราะยังไม่มีสัญญาณบวกใดๆ เข้ามา แนวทางการรับมือของผู้ประกอบการคือ ต้องดูแลเรื่องกระแสเงินสดให้ดี ดูต้นทุนไม่ให้สูงเกินไป เรียกว่าควรให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ที่สำคัญต้องรักษาจุดแข็ง หรือ core business เอาไว้ ถ้าธุรกิจไหนไม่ดีอาจต้องยอมกัดฟันขายทิ้งไป แล้วเอาหัวใจตัวเองให้รอด

สถานการณ์ดูไม่สู้ดีแต่ยังมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ นอกเวทีเสวนายังมีมุมมองของผู้ประกอบการอีสานแท้ๆ อย่าง “จอมพจน์ เกษมรุ่งชัยกิจ” ผู้บริหารบริษัท อาร์ซีเค อะกริ มาร์เกตติ้งจำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ข้าวเพื่อสุขภาพ (ข้าวฮาง ,ข้าวกล้องงอก) แบรนด์ “Green Leaf” เขาเชื่อว่าการเติบโตด้วยสินค้าเกษตรน่าจะเป็นแนวทางที่ดีสำหรับเอสเอ็มอีในยุคนี้ ผู้ประกอบการจึงควรใช้โอกาสนี้ดึงวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาผลิตสินค้า และพัฒนาให้มีนวัตกรรม เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้

และแม้เศรษฐกิจจะดูเลวร้าย แต่ยังมีโอกาสให้เห็น อย่างเช่นเวลานี้ราคาวัสดุก่อสร้างลดลงมาก หากผู้ประกอบการสามารถคาดการณ์ตลาดในอนาคตได้ ก็อาจใช้โอกาสจากตรงนี้ สร้างโรงงานใหม่ ขยายโรงงาน แล้วใช้ “จุดแข็ง” ขององค์กรที่มี เป็นธงนำธุรกิจต่อไปในอนาคต

ส่วนแรงงานที่ตกงาน อาจใช้โอกาสนี้กลับเข้าสู่ภาคเกษตร แล้วนำความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ในโรงงานอุตสาหกรรมมาใช้ เช่นนำเครื่องจักรเข้ามาเพิ่มผลผลิตเป็นต้น หรืออาจเบนเข็มไปทำสินค้าโอทอปก็ได้ ขณะที่ยังมีหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษามากมาย พร้อมให้เอสเอ็มอีใช้โอกาสนี้ พัฒนาศักยภาพตัวเอง ให้ “เฮง เฮง เฮง” รับวิกฤติ

“มองว่าทุกวันนี้โอกาสรายล้อมเอสเอ็มอีไปหมด เรียกว่าตั้งแต่เริ่มตั้งกิจการ จนเติบโตในระดับสากลได้เลย อย่างเราเองใช้การเข้าหาหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่เริ่มทำวิจัยกับสกว. สถาบันการศึกษา ตั้งโรงงาน ทุนไม่พอก็มีหน่วยงานร่วมลงทุนของสสว. มาช่วย พอเริ่มผลิตอยากยกระดับประสิทธิภาพก็ยังมีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมาช่วยอีกด้วย เราได้ธุรกิจขึ้นมาก็ด้วยวิธีการนี้ ทั้ง ข้าวฮาง และโรงงานผลิต ดีที่สุดคือผู้ประกอบการที่ตั้งใจและมุ่งมั่นพัฒนาองค์กร ให้เริ่มเข้าหาสิ่งเหล่านี้ เพื่อใช้สิ่งที่มีพลิกวิกฤติเป็นโอกาสขึ้นมาให้ได้” ดีที่สุดของการหลุดพ้นบ่วงวิกฤติ คือ มองหาโอกาสต่อยอดธุรกิจ

อ้างอิงจาก จีราวัฒน์ คงแก้ว

บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
จับเทรนด์ยุคใหม่ เลิกกลัว AI แย่งงาน แต่ให้กลัวค..
2,791
รวมธุรกิจเสือลำบาก ปี 2567/2024 โหดจัด ไปไม่รอด!
1,403
โหดจัด! ฟาสต์ฟู้ดจีน ไล่แซงแบรนด์ตะวันตก
700
เศรษฐกิจทรุดครึ่งปี! เลิกจ้างงานนับหมื่น บริษัทฯ..
634
รวมวิธีคิดเหนือชั้นทำให้รู้ว่า “ธุรกิจติดตลาด” ห..
560
10 ไอเดียแคมเปญโปรโมชั่น ร้านอาหาร เพิ่มยอดขาย ฉ..
490
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด