บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    วางแผนขยายธุรกิจ    โลจิสติกส์ ขนส่ง AEC
3.3K
2 นาที
26 เมษายน 2555
AEC = ANTI ECONOMIC COMMUNITY ?
 
เสน่ห์ของภาษาและตัวอักษรมีอยู่หลายจุด แต่ที่น่าสนใจไม่น้อยอยู่ตรงที่ว่าจะสามารถสื่อความหมายอีกด้านหนึ่งของตัวย่อนั้นๆ ได้อย่างไร และจะยิ่งโดนใจมากขึ้นถ้าความหมายอีกด้านหนึ่งของตัวอักษรย่อเหล่านั้นมาจากความจริง และเกิดขึ้นจริง!
 
ประเทศอินโดนีเซีย ถือได้ว่าเป็นประเทศที่ใหญ่ใน ประชาคมอาเซียน  ไม่ว่าจะเป็นด้วยทั้งพื้นที่ของประเทศที่นับรวมกันกว่า 7,000 เกาะ ก็มีขนาดใหญ่ที่สุด อินโดนีเซียยังมีประชาชนชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก และย่อมแน่นอนว่ามากที่สุด ในกลุ่มอาเซียน สุดท้ายคือ เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจ หรือจีดีพีใหญ่มากในกลุ่มอาเซียน เมื่อพี่ใหญ่มีอำนาจทางเศรษฐกิจใหญ่โตขนาดนี้ ย่อมต้องมีบทบาท อำนาจ และลีลาในการเจรจา

หรือปฏิบัติต่อประเทศต่างๆ ที่ต้องการมาทำมาค้าขายด้วยอย่างแน่นอน จริงอยู่ในหลักการของการรวมตัวกันเป็น AEC ซึ่งหนึ่งในหลักการนั้นคือ ต้องลดภาษีเป็น 0% ของสินค้าของทั้ง 10 ชาติสมาชิกก่อนจะถึงเส้นตายในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่ที่ไม่ได้อยู่ในหลักการคือ ทำยังไงจะลดมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษีลงควบคู่กันไปด้วย นี่จึงเป็นที่มาของความจริงที่ว่า การค้าระหว่างสมาชิกกลุ่ม AEC ด้วยกันจะได้เห็นมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบอื่นๆอย่างน่าเป็นห่วงมากขึ้น
 
ผมต้องพูดถึงแดนอิเหนาอีกครั้ง เมื่อทีมงานรายการจอโลกเศรษฐกิจ ครอบครัวข่าว 3 เดินทางไปทำข่าวที่ประเทศอินโดนีเซียในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ทีมงานเล่าให้ฟังว่า อินโดนีเซียใช้มาตรการกีดกันการค้ากับข้าวไทยอย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบางอย่างที่ผมได้ยินก็แทบไม่น่าเชื่อว่าจะมีมาตรการกีดกันแบบนี้เกิดขึ้นกับพี่เบิ้มในกลุ่ม AEC ยกตัวอย่างเช่น แฟนๆ ที่ติดตามคอลัมน์ผมประจำคงจำกันได้ว่า ผมเขียนถึงการรณรงค์ให้คนอินโดนีเซียไม่กินข้าวสายทุกวันอังคาร เพราะเหตุว่า รัฐบาลอิเหนาแก้ปัญหาไม่ตกกับการขาดดุลการค้าข้าวมานานแสนนาน

ถึงแม้ในช่วงกว่า 5 ปีผ่านมา จะใช้มาตการจำกัดโควตานำเข้าข้าวจากคู่ค้าข้าวทั่วโลกรวมถึงพี่ไทยด้วย แต่ก็หมดปัญญาแก้ รัฐมนตรีพาณิชย์อินโดนีเซียจึงใช้โครงการไม่กินข้าวทุกวันอังคารมาแก้ปัญหาดังกล่าว หากฟังดูในภาพรวม โครงการนี้ยอดเยี่ยม แต่เมื่อมองให้ลึก และเรียงเหตุการณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ก็จะพบว่ามาตรการกีดกันทางการค้าข้าวเกิดขึ้นอย่างแนบเนียนแล้ว มีผลครับ มีผลกระทบกับคนไทยที่เป็นเจ้าของร้านอาหารในกรุงจาการ์ตา ที่ต้องปรับเมนูกันใหม่ในทุกวันอังคาร
 
นอกจากนี้ หากได้มีโอกาสไปอินโดนีเซีย แล้วเกิดอยากจะไปหาซื้อข้าวสวยจากเมืองไทยคุณภาพสูง เพื่อไปทำกินกันแล้วล่ะก็ วันนี้ตามห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่ห้างโมเดิร์นเทรดก็ไม่มีวางขาย เพราะรัฐบาลอินโดนีเซียสั่งห้ามวางขายข้าวหอมจากเมืองไทยผ่านช่องทางดังกล่าว เท่าที่รู้มาเพิ่มเติมคือ ไม่เพียงแค่ข้าวไทยเท่านั้น ผลไม้จากเมืองไทยคุณภาพและราคาสูง เช่น ทุเรียน ลำไย ก็ถูกหางเลขด้วย
 
รัฐบาลอินโดนีเซีย ยังมีมาตรการกีดกันเด็ดๆ ต่อไป ด้วยการประกาศให้การนำเข้าสินค้าที่มาจากต่างประเทศให้ไปเทียบท่าเรือที่ เมืองสุราบายา จากเดิมที่สามารถเข้าจอดเพื่อขนถ่ายสินค้าได้ที่กรุงจาการ์ตา แน่นอนว่าต้นทุนขนส่งเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย ตามติดด้วยโครงการล่าสุดที่พยายามสื่อสารไปยังชาวอินโดนีเซียให้ใช้สินค้าและบริการที่ผลิตจากภายในอินโดนีเซีย 100% ด้วยวิธีคิดที่ว่า สินค้าที่ผลิตขึ้นมาต้องขายให้คนในประเทศก่อนเป็นอันดับแรก ไม่เน้นส่งออกเหมือนอย่างบ้านเรา นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงวันนี้ในอินโดนีเซีย และยังมีในอีกหลายประเทศในกลุ่ม AEC
 
เมื่อ AEC บนหลักการแปลว่า ASEAN Economic Community แต่หลักความจริงในทางปฏิบัติ น่าจะแปลได้อีกอย่างว่า Anti Economic Community หรือไม่?
 
อ้างอิงจาก  บัญชา ชุมชัยเวทย์ :thairatch
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
799
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
713
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
642
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
529
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
447
เจ้าของธุรกิจกุมขมับ! วิกฤตเด็กไทยเกิดน้อยกระทบธ..
432
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด