บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    ความรู้ทั่วไประบบแฟรนไชส์
7.6K
5 นาที
19 มีนาคม 2562
ประเภทของธุรกิจแฟรนไชส์
 
ธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีอยู่มากมายในโลกนี้ โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีสถิติว่า  ในอเมริกานั้นมีธุรกิจที่อยู่ในระบบแฟรนไชส์มากกว่า 320,000 ร้านค้า และในปี ค.ศ. 2000 ธุรกิจ แฟรนไชส์อย่างเดียวมีมูลค่าทางธุรกิจถึง หนึ่งแสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 4.7 ล้านล้านบาท  ถ้านับมูลค่าธุรกิจด้านแฟรนไชส์เปรียบเทียบกับธุรกิจค้าปลีกในอเมริกานั้น แฟรนไชส์มีมูลค่าถึงเกือบ 50% ของมูลค่าธุรกิจค้าปลีกของประเทศ หรือแม้กระทั่งในประเทศไทยเราก็ตาม  ที่มีการเติบโตขยายอย่างรวดเร็วของธุรกิจแฟรนไชส์  ก็จะพบว่าลักษณะของธุรกิจแฟรนไชส์มีแตกต่างกันไปอย่างมากมาย
 

 
วิธีการแบ่งประเภทของธุรกิจแฟรนไชส์  จึงสามารถแบ่งได้หลากหลายวิธี  ขึ้นอยู่กับผู้แบ่งว่าจะแบ่งโดยใช้อะไรเป็นเกณฑ์ตัดสิน การจัดประเภทของธุรกิจแฟรนไชส์ อันที่จริงแล้วอาจไม่ได้สำคัญมาก  เพียงแต่เพื่อให้ผู้ที่ศึกษาได้เข้าใจและเปรียบเทียบ และสะดวกต่อการไปหาข้อมูลมาเพื่อพิจารณาตัดสินใจลงทุน  เพราะหมวดหมู่ที่จัดไว้แล้วอย่างเป็นกลุ่มโดยมีกฎเกณฑ์ที่แน่ชัด ย่อมจะประหยัดเวลามากกว่าไปค้นหาจากข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่ทั้งหมด
 
โดยทั่วไปแล้ว ลักษณะการแบ่งประเภทของธุรกิจที่นิยมใช้กันมากและเข้าใจได้โดยง่าย  วิธีการหนึ่งก็คือ การแบ่งตามลักษณะของธุรกิจที่ทำ เช่น ธุรกิจด้านอาหาร ธุรกิจด้านขนส่ง ธุรกิจด้านการศึกษา ฯลฯ  แต่หากเข้าไปหาข้อมูลตามลักษณะนี้ บางท่านอาจจะไม่ได้รับความสะดวก  เช่น  หากมีเงินลงทุนจำนวนจำกัด แต่ไปได้ข้อมูลแฟรนไชส์ที่ต้องใช้เงินลงทุนนับสิบล้าน ก็เท่ากับเสียเวลาไปในสิ่งที่ไม่ได้สนใจ

ดังนั้น หากเข้าไปในเวปไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์ปัจจุบันจะพบการพัฒนาอย่างมากในเวปไซต์เหล่านี้ ที่มักจะมีตัวกรองให้เลือกก่อนค้นหาข้อมูล  เช่น  ขนาดการลงทุน พื้นที่อาณาเขตที่จะลงทุน ฯลฯ ซึ่งคาดว่าในอนาคตก็น่าจะมีตัวกรองอื่นๆ  เพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ผู้สนใจง่ายและสะดวกมากขึ้น
 
แบ่งตามลักษณะธุรกิจ
 

การจัดธุรกิจแฟรนไชส์โดยแบ่งกลุ่มตามลักษณะของธุรกิจ  ดูเหมือนจะเป็นวิธีที่พบกันมากที่สุด โดยอาศัยลักษณะของธุรกิจที่ประกอบกิจการในระบบแฟรนไชส์เป็นหลักในการแบ่ง ซึ่งพบว่าในปัจจุบัน มีธุรกิจประเภทต่างๆ ที่มีการขายแฟรนไชส์ในประเทศไทยจำนวนมากถึง 11 กลุ่มใหญ่ๆ หรือมากกว่า 100 ชนิดธุรกิจ

หากนับกันจริงๆแล้วธุรกิจแฟรนไชส์ในโลกนี้จะมีมากถึงนับพันชนิดธุรกิจ ซึ่งที่จริงแล้วหากแบ่งให้ละเอียดมากขึ้นก็จะยิ่งมีมากชนิดขึ้นอีก  และในอนาคตยังจะมีธุรกิจลักษณะอื่นๆ  ที่เข้ามาขายแฟรนไชส์เกิดขึ้นตามมาอีกเรื่อยๆ การเข้ามาศึกษาหาข้อมูล แฟรนไชส์โดยดูจากลักษณะธุรกิจ  จะมีข้อดีที่สำคัญคือ  จะได้เลือกลงทุนในธุรกิจที่ตนเองชอบหรือถนัด

อย่างไรก็ตามผู้เขียนขอให้ข้อคิดว่า การจะเลือกทำธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ ไม่ควรพิจารณา แค่เพียงความชอบของผู้ลงทุนเพียงด้านเดียว  การทำธุรกิจมิใช่งานอดิเรก จึงต้องพิจารณาจากธุรกิจที่มีผลตอบแทนที่ดี  และมีอนาคตที่สดใสด้วย  และหากท่านเป็นคนที่เชื่อเรื่องดวงอยู่ด้วย  ก็อาจจะต้องเลือกทำธุรกิจในประเภทที่ตรงกับลักษณะธาตุประจำตัวของท่านด้วย (หลักโหราศาสตร์จีน ทุกคนจะมีธาตุประจำตัว คือ ไฟ ดิน ทอง น้ำ ไม้  ซึ่งเหมาะแก่การประกอบอาชีพที่ไม่เหมือนกัน)
 
จากสถิติธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย  ประมาณครึ่งหนึ่งจะเป็นธุรกิจด้านอาหาร (แบ่งย่อยเป็นอีกหลายหมวด)  แต่เชื่อว่าในอนาคต ธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะด้านบริการจะมีมากขึ้น  เพราะธุรกิจด้านบริการนั้น  จะมีปัญหาด้านการจัดส่งวัตถุดิบน้อยกว่า  แต่ก็ยากกว่าในด้านการควบคุมคุณภาพการให้บริการ  และในปัจจุบัน ธุรกิจในหมวดหมู่บริการที่ขยายกิจการแฟรนไชส์ได้ขยายตัว อย่างรวดเร็ว 

ส่วนหนึ่งเกิดจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี  ทำให้สามารถอาศัยเทคโนโลยีในการควบคุมการให้บริการ  โดยใช้ซอฟแวร์ช่วยการจัดการได้  เช่น ธุรกิจการให้บริการไปรษณีย์  การรับชำระค่าบริการต่างๆ การฝากขายบ้านและที่ดิน และเราจะเห็นศูนย์รับชำระค่าบริการบางแห่ง  ที่สามารถให้บริการรับชำระค่าบริการมากมาย  ตัวอย่างเช่น  แฟรนไชส์บริการวินเซ็นท์ เซ็นเตอร์เซอร์วิส  ได้ให้บริการครอบคลุมในพื้นที่เดียวถึง 12 ชนิด ได้แก่
  1. บริการงานไปรษณีย์ชุมชน (Post office)
  2. บริการจุดรับชำระเงิน (Pay  Counter)บริการจองตั๋วเดินทางด้วยระบบออนไลน์ (Travel Booking)ศูนย์ประกันวินาศภัย และบริการด้านรถยนต์ (Win Sent Insurance)
  3. บริการ ถ่ายรูปด่วน  (Digital Express)ศูนย์ถ่ายเอกสาร (Copy Center Service)บริการเติมเงินออนไลน์ (e-Pay)
  4. บริการขายบัตรเครดิต/  อนุมัติสินเชื่อ (Credit Card)
  5. บริการทางธนาคาร (Bank Services)
  6. ศูนย์บริการเติมหมึกพิมพ์
  7. ตู้เติมเงินมือถืออัจฉริยะ
  8. ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ

อย่างไรก็ตาม จำนวนธุรกิจแฟรนไชส์ในไทยก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น  เพราะมีการเลิกกิจการในแต่ละปีจำนวนมาก จะเห็นได้ชัดว่าในปี พ.ศ. 2555 ธุรกิจแฟรนไชส์ด้านอาหารมีจำนวนลดลงเป็นอย่างมาก  ทั้งนี้อาจเกิดจากปัญหาการแข่งขันที่รุนแรง  แต่ในหมวดอื่นๆ ส่วนใหญ่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น
 
แบ่งตามลักษณะการให้สิทธิ
 
ลักษณะการให้สิทธิแก่แฟรนไชส์ซอร์ในการดำเนินธุรกิจ สามารถนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดกลุ่มประเภทของธุรกิจแฟรนไชส์ได้เช่นกัน ซึ่งอาจแบ่งรูปแบบได้ 3 แบบดังนี้

1.แฟรนไชส์แบบบุคคลหรือแฟรนไชส์หน่วยเดียว ( Individual Franchise or Single Unit Franchise )


แฟรนไชส์ประเภทนี้ เป็นรูปแบบการให้สิทธิแฟรนไชส์แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือนิติบุคคลองค์กรใดในการดำเนินธุรกิจที่ได้รับสิทธิจากแฟรนไชส์ซอร์เพียงแค่ 1 แห่ง ภายในทำเลที่ตั้งหรือพื้นที่ภูมิประเทศที่กำหนดขึ้นตามสัญญา รูปแบบการให้สิทธิแบบนี้ นิยมใช้กันมากในแฟรนไชส์หลายประเภท

ทั้งนี้เพราะเป็นรูปแบบที่ง่ายในการเริ่มต้นโดยแฟรนไชส์ซอร์ โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นของการเริ่มขยายธุรกิจด้วยแฟรนไชส์ อีกทั้งยังช่วยให้แฟรนไชส์ซอร์สามารถให้การสนับสนุนและเรียนรู้ข้อผิดพลาดของการทำแฟรนไชส์ได้โดยตรงจากสาขาต้นๆ ทำให้การปรับปรุงพัฒนา แก้ไข ทำได้

นอกจากนี้การทำแฟรนไชส์ประเภทนี้ยังช่วยให้การหาผู้สนใจเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า เพราะขนาดการลงทุนเพียง 1 แห่ง จะต่ำกว่าการลงทุนหลายๆแห่ง ทำให้แฟรนไชส์ที่มีการลงทุนต่อหน่วย ที่สูง เช่น ร้านฟาสต์ฟู้ดจากต่างประเทศ หรือแม้แต่แฟรนไชส์ที่มีโอกาสทางการตลาดในอนาคตนิยมใช้กันสำหรับแฟรนไชส์ซอร์ ก็มักจะนิยมใช้รูปแบบของแฟรนไชส์ประเภทนี้ เพื่อไม่ให้ แฟรนไชส์ซอร์เสียโอกาสในอนาคต หรือคิดค่าสิทธิสูงเกินไป กับแฟรนไชส์ซี อันเนื่องมาจากรวมค่าเสียโอกาสในอนาคตไว้ด้วย ซึ่งจะเป็นผลให้มูลค่าการลงทุนของแฟรนไชส์ซีแต่ละรายสูงไปด้วย
 
นอกเหนือจากข้อดีของรูปแบบนี้ในด้านการลงทุนแล้ว การหาคุณสมบัติของแฟรนไชส์ซีที่จะบริหารธุรกิจ 1 แห่ง ก็หาได้ง่ายกว่าผู้ที่จะบริหารธุรกิจหลายแห่ง ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการบริหารค่อนข้างสูง
 
2.แฟรนไชส์แบบหลายหน่วยหรือแบบพัฒนาพื้นที่ ( Multiunit Franchise or Area Development Franchise )
 

แฟรนไชส์ประเภทนี้ เป็นรูปแบบการให้สิทธิแก่บุคคลใดแก่บุคคลหนึ่งหรือกลุ่มบุคคล หรือนิติบุคคล องค์กรต่างๆ ในลักษณะการกำหนดเป็นพื้นที่รับสิทธิ ที่จะสามารถดำเนินธุรกิจที่ได้รับสิทธิมาจากแฟรนไชส์ซอร์มากกว่า 1 แห่ง ตามจำนวนที่ได้ตกลงกัน รูปแบบการให้สิทธิเช่นนี้หลายท่านคงเข้าใจได้ง่ายว่า การเติบโตของการขยายตัวในแฟรนไชส์จะเป็นไปได้รวดเร็วกว่าแบบแรก หากแฟรนไชส์ซอร์คัดเลือกได้แฟรนไชส์ซีที่มีกำลังเงินทุนในการเปิดสาขากิจการได้พร้อมๆกัน ในเวลาอันสั้นที่ได้กำหนดไว้

3.แฟรนไชส์แบบ Subfranchise

ภาพจาก goo.gl/899XyF

รูปแบบการให้แฟรนไชส์ประเภทนี้เป็นการให้สิทธิแก่บุคคล หรือ กลุ่มบุคคล หรือนิติบุคคล ในพื้นที่รับสิทธิที่กำหนดเพื่อให้บุคคล กลุ่มบุคคล หรือนิติบุคคลดังกล่าว ทำการขยายการให้สิทธิหน่วยย่อยแบบ Indi - vidual Franchise หรือ Multiunit Franchise แก่บุคคลอื่นในพื้นที่ต่อไป

ในบางกรณีก็มีการเรียกผู้รับสิทธิประเภทนี้ว่า Subfranchise  ก็จัดอยู่ในการให้สิทธิประเภทนี้ด้วย การให้สิทธิในลักษระนี้เป็นการให้สิทธิที่มักจะเหมาะกับพื้นที่อยู่ห่างไกล ซึ่งแฟรนไชส์ซอร์ไม่สามารถให้บริการ หรือให้การสนับสนุนได้ดี จึงจัดรูปแบบการให้สิทธิแก่บุคคลอื่นที่สามารถจะดำเนินงานดูแลงาน สนับสนุนบริการของตนในพื้นที่นั้นในลักษณะ Subfranchise กล่าวคือเป็นตัวแทนของตน จากนั้นทาง Subfranchise จึงดำเนินการจัดหาคัดเลือก แฟรนไชส์ซีอีกต่อหนึ่ง
 
ซึ่งจะเห็นได้ว่าการขยายแฟรนไชส์ประเภทนี้ ต้องการการลงทุนและคุณสมบัติที่สูงจากvแฟรนไชส์ซี ทำให้แฟรนไชส์ใหม่ๆ ที่ยังไม่มีชื่อเสียงหรือไม่มีเอกลักษณ์เป็นที่ยอมรับของตลาด  ยังไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ตรงกันข้ามกับแฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าแฟรนไชส์ซอร์มีจุดมุ่งหมายในการขยายตัวเพื่อรองรับการแข่งขันที่รุนแรงด้วยแล้ว การให้สิทธิในรูปแบบนี้จะช่วยส่งเสริมชื่อเสียงของแฟรนไชส์ให้ดียิ่งขึ้น

อนึ่ง การที่ได้เป็น Master Franchise เพื่อเข้าไปทำธุรกิจในอีกประเทศหนึ่ง  มักจะต้องได้รับสิทธิแบบ Subfranchise พร้อมกับเป็น Multiunit Franchise or Area Development Franchise  ไปด้วยโดยอัตโนมัติ  เพื่อให้สามารถทำการขยายตลาด ในประเทศที่ได้รับสิทธิได้อย่างเต็มที่
 
แบ่งตามขนาดการลงทุน

ภาพจาก www.facebook.com/franchiserosdednoodle/

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่ผู้สนใจสามารถลงทุนได้ ตั้งแต่เงินลงทุนเพียงไม่กี่พันบาท ไปจนถึงหลายๆ ล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีเงินทุนสูง มีความตั้งใจ และมีประวัติการทำธุรกิจที่ดี ก็อาจจะขอรับเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ ที่จะได้รับสิทธิ์ในการขยายสาขาในประเทศนั้นๆ เพียงรายเดียว (หรือหลายราย) ซึ่งมีโอกาสที่จะทำกำไร (หรือขาดทุน)จำนวนมากๆ แต่ในกรณีนี้ก็ต้องยอมรับว่าจะต้องส่งผู้บริหารระดับสูง

แม้กระทั่งเจ้าของกิจการที่จะรับเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ในประเทศไทย ไปอบรมในต่างประเทศก่อนด้วย ซึ่งมักเป็นข้อกำหนดภาคบังคับด้วย ซึ่งผู้เขียนก็ได้เคยมีโอกาสคุยกับมาสเตอร์แฟรนไชส์ธุรกิจฟาสฟูดส์ยี่ห้อดังในเมืองไทยรายหนึ่งเมื่อประมาณปี พ.ศ.2530 และได้เคยเล่าให้ฟังว่า ในวันแรกที่ไปเข้าคอร์สที่ อเมริกานั้น ตัวแทนเจ้าของสิทธิ์หรือผู้ที่มีหน้าที่ให้คำแนะนำและฝึกอบรม ได้บังคับให้เรียนรู้และฝึกภาคปฏิบัติวิธีการทำความสะอาดห้องน้ำของร้านที่ถูกวิธีหนึ่งวันเต็มๆ ทั้งที่ได้ลงทุนซื้อแฟรนไชส์ไปหลายสิบล้านบาท และแม้เป็นผู้ลงทุนเองก็ต้องยอมรับวิธีการฝึกอบรมเข้มของแฟรนไชส์ บริษัทแม่ทุกราย

ในการพิจารณาขนาดการลงทุน ผู้ลงทุนจะต้องพิจารณาเงินลงทุนในทุกๆ ด้านไม่ใช่เฉพาะค่าแฟรนไชส์ฟี หรือค่าธรรมเนียมแรกเข้าเท่านั้น  เพราะเงินลงทุนที่แท้จริงต้องรวมถึงค่าเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ทั้งการผลิต การขาย สำนักงาน ฯลฯ บ่อยครั้งที่ต้องมีค่าออกแบบและค่าตบแต่งอีกมากมาย  ซึ่งบ่อยครั้งที่แฟรนไชส์ซอร์จะบังคับให้แฟรนไชส์ซีใช้ผู้ออกแบบและรับเหมาทำเฟอร์นิเจอร์ หรือขายอุปกรณ์ตามที่แฟรนไชส์ซอร์กำหนด เพื่อรักษามาตรฐานเดียวกัน

ภาพจาก www.facebook.com/franchiserosdednoodle/

นอกจากนี้ การพิจารณาเงินลงทุน ยังเป็นเพียงปัจจัยเดียวในหลายสิบหรือนับร้อยปัจจัยสำคัญที่ผู้ลงทุนจะพิจารณา  อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าผู้ลงทุนจะมีเงินทุนจำกัด ในปัจจุบันก็มีสถาบันการเงิน ที่มีนโยบายสนับสนุนช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ลงทุน  เพียงแต่ว่าจะต้องเข้าหลักเกณฑ์ของการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินนั้นๆ ซึ่งก็จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมในหนังสือนี้เช่นกัน
 
ในการแบ่งประเภทของธุรกิจแฟรนไชส์ตามขนาดของการลงทุน  เวปไซต์ส่วนใหญ่จะมีช่วงของระดับการลงทุนให้ผู้สนใจเลือก  บางเวปไซต์มีตัวเลือกให้เป็นค่าเงินบาทหรือดอลล่าร์ด้วย  สำหรับเวปไซต์ธุรกิจแฟรนไชส์ของต่างประเทศบางเวปไซต์ที่ต้องการหามาสเตอร์แฟรนไชส์หรือหาแฟรนไชส์ซีจากทั่วโลก  สามารถเลือกสกุลเงินได้ตามแต่ถนัด  แต่เพื่อความสะดวกแล้ว  ผู้เขียนขอแบ่งอย่างง่ายๆ  สำหรับการลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยไว้เพียง 5 กลุ่ม คือ
  • จิ๊บจ๊อย (ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท)
  • น้อย (ไม่เกินหนึ่งแสนบาท)
  • ปานกลาง (ไม่เกินหนึ่งล้านบาท)
  • มาก (ไม่เกินสิบล้านบาท)
  • ทุ่มเต็มที่ (เกินสิบล้านบาท)
แบ่งตามวิธีการขอส่วนแบ่งจากการขาย
 

วิธีการนี้ แท้ที่จริงแล้วก็คือแบ่งประเภทของธุรกิจแฟรนไชส์ ตามลักษณะการคิดค่ารอยัลตี้ฟีนั่นเอง และด้วยเหตุที่การคิดค่ารอยัลตี้ฟี แฟรนไชส์ซอร์สามารถจะกำหนดได้ว่า ต้องการจะคิดจากแฟรนไชส์ซอร์จากยอดขาย หรือจากยอดสั่งซื้อสินค้า(หรือวัตถุดิบ) ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าวิธีการใดน่าจะสะดวกและควบคุมได้ดีกว่ากัน

สินค้าที่แฟรนไชส์ซอร์ต้องสั่งจากแฟรนไชส์ซีเสมอหรือต้องอาศัยวัตถุดิบจากแฟรนไชส์ซอร์ จึงอาจใช้วิธีคิดค่ารอยัลตี้ฟีจากแฟรนไชส์ซีเวลาที่มีการสั่งซื้อหรือชำระเงิน บางกรณีแฟรนไชส์ซอร์อาจจะไม่บอกตัวเลขให้แฟรนไชส์ซอร์ทราบ แต่ใช้วิธีบวกลงไปในราคาที่ขายให้แก่แฟรนไชส์ซี  ซึ่งที่จริงแล้วก็คือได้แฝงค่ารอยัลตี้ฟีลงไปเรียบร้อยแล้ว
 
อันที่จริงแล้ว ผู้เขียนมีความเห็นว่าการคำนวณค่ารอยัลตี้ฟีที่ยุติธรรมที่สุดน่าจะคำนวณจากกำไรสุทธิของแฟรนไชส์ฟี เพราะจะได้ไม่เป็นภาระของแฟรนไชส์ซีในกรณีที่ธุรกิจขาดทุน แต่ในทางปฏิบัติมักไม่ค่อยมีการนิยมใช้ ด้วยเหตุเพราะระบบบัญชีของธุรกิจในประเทศไทยจำนวนมากยังขาดความน่าเชื่อถือ  และคงเกรงการสร้างตัวเลขทางบัญชีหลอกลวงเกิดขึ้น แนวทางนี้จึงอาจจะพอทำได้เฉพาะธุรกิจบริการบางประเภทที่มีมาตรฐานทางบัญชีสูงเท่านั้น
 
ในการแบ่งประเภทของธุรกิจแฟรนไชส์ตามวิธีการขอส่วนแบ่งจากการขาย สามารถแบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ  ดังนี้

1.คิดส่วนแบ่งจากการขายโดยตรง


การคิดค่ารอยัลตี้ฟีแบบนี้เป็นวิธีการที่นิยมทำกันทั่วไป ซึ่งโดยปกติแล้วแฟรนไชส์ซอร์ก็จะบังคับให้แฟรนไชส์ซีต้องใช้เอกสารใบเสร็จรับเงิน  หรือเครื่องบันทึกเงินสด (เครื่อง Cash Register)  ตามที่แฟรนไชส์ซอร์กำหนด เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมการคิดคำนวณค่ารอยัลตี้ฟี ภายในระยะเวลาที่กำหนดและอาจให้จ่ายวันต่อวัน หรือเป็นช่วงๆ ต่อครั้งก็ได้

วิธีการนี้ใช้ยังใช้ปฏิบัติสำหรับผู้ซื้อแฟรนไชส์ที่เป็น Master Franchise ที่ได้รับสิทธิจากบริษัทในต่างประเทศในสินค้าหรือบริการบางบริษัทอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากจะต้องส่งสำเนาม้วนกระดาษจากเครื่องบันทึกเงินสดให้กับบริษัทแม่ในต่างประเทศด้วย สำหรับเปอร์เซ็นต์ที่ต้องเสียนั้นมีระดับที่แตกต่างกันมาก ธุรกิจด้านอาหารอาจจะเสียตั้งแต่ประมาณ 5 % ขึ้นไป แต่ธุรกิจบริการบางประเภทอาจเสียสูงกว่านี้มาก

2.คิดส่วนแบ่งจากการสั่งซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบ


วิธีนี้เหมาะสำหรับสินค้าที่จะต้องสั่งโดยตรงจากแฟรนไชส์ซอร์เท่านั้น ด้วยเพราะเป็นสินค้าที่มีคุณสมบัติพิเศษ หรือด้วยเพราะเป็นสัญญาบังคับให้แฟรนไชส์ซีต้องซื้อและรับสินค้าจากแฟรนไชส์ซอร์เท่านั้น

กับอีกกรณีหนึ่งคือ แฟรนไชส์ซีต้องอาศัยวัตถุดิบบางประเภทที่เป็นความลับหรือสูตรพิเศษของแฟรนไชส์ซอร์ในการผลิตสินค้า ซึ่งแม้กระทั่งธุรกิจแฟรนไชส์เล็กๆ ก็สามารถควบคุมให้มีการจ่ายส่วนแบ่งได้อย่างง่ายดาย อาทิเช่น ต้องสั่งลูกชิ้น หรือสั่งแป้งจากแฟรนไชส์ซอร์เท่านั้นจึงจะสามารถผลิตสินค้าออกขายได้
 
วิธีการที่สองนี้  มีอยู่มากเช่นเดียวกันที่แฟรนไชส์ซอร์ใช้วิธีตั้งราคาขายสินค้าหรือวัตถุดิบที่ส่งขายให้แก่แฟรนไชส์ซี โดยบวกกำไรซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นค่ารอยัลตี้ฟีเข้าไปในราคาแล้วโดยอัติโนมัติ  ตัวอย่างเช่น ไก่ย่างห้าดาว กำหนดส่งไก่หมักพร้อมย่างให้แก่แฟรนไชส์ซีในราคาตัวละ 89 บาท โดยกำหนดให้ขายปลีกไก่ย่างตัวละ 109 บาท เป็นต้น
 
3.คิดส่วนแบ่งแบบผสม


คือให้มีการจ่ายค่ารอยัลตี้ฟี  ทั้งจากวิธีที่หนึ่งและวิธีที่สอง ซึ่งดูเหมือนแฟรนไชส์ซีต้องจ่ายซ้ำซ้อน แต่ก็มีการใช้วิธีนี้อยู่บ้างเหมือนกัน  ในการคิดค่ารอยัลตี้ฟีจากแฟรนไชส์ซี  มีอยู่ไม่น้อยเช่นกันที่แฟรนไชส์ซอร์จะมีสัญญาบังคับให้แฟรนไชส์ซีต้องชำระให้แก่แฟรนไชส์ซอร์ ในอัตราไม่น้อยกว่าขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในช่วงระยะเวลาที่กำหนด และมีสัญญา ปรับด้วยหากไม่ชำระให้ตามสัญญา 

ตลอดจนมีข้อบังคับในสัญญาแฟรนไชส์ว่า หากแฟรนไชส์ซี ไม่สามารถทำยอดขายหรือสั่งซื้อได้ตามเป้าหมายในสัญญา ก็จะถูกบอกเลิกสัญญา ซึ่งผู้ซื้อแฟรนไชส์ จะต้องอ่านและศึกษาสัญญาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ เพราะหากถูกบอกเลิกสัญญา ก็เท่ากับว่าเงินลงทุนต้องสูญเสียไป  และหากมีสัญญาที่แฟรนไชส์ซอร์จะรับซื้อคืนสินค้า วัตถุดิบ เครื่องจักรและเฟอร์นิเจอร์ ก็ยังดีกว่าที่จะต้องเสียหายโดยไม่สามารถขายคืนได้
 
บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนมิถุนายน 2567
9,008
ส่อง 72 แฟรนไชส์น่าสอยมาลงทุน ครึ่งปีหลัง 2567
5,485
กลับมาแล้วแฟรนไชส์โจ๊ก เฮลตี้ฟู้ดขายง่ายกำไรดี
1,634
เดือดแน่! 6 แฟรนไชส์ไอศกรีมและชาผลไม้ ราคาถูก จ่..
1,572
จริงมั้ย ซื้อแฟรนไชส์ ยืมจมูกคนอื่นหายใจ
837
ซื้อแฟรนไชส์ อย่าให้เป็นทาส แต่ให้เป็นนายตัวเองท..
829
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด